ThaiPublica > คอลัมน์ > “เฮทสปีช” ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (3)

“เฮทสปีช” ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (3)

13 กุมภาพันธ์ 2017


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนหยิบยกบางตอนของงานวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” โดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย รศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ เผยแพร่ปี พ.ศ. 2556 มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเห็นว่าเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจที่สุดชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ “เฮทสปีช” ในสังคมออนไลน์ไทย และเนื้อหาส่วนใหญ่ยังร่วมสมัยอยู่มาก

คณะวิจัยพบว่า “เฮทสปีช” ในสังคมออนไลน์ไทยมีสี่ “ระดับความรุนแรง” คร่าวๆ ได้แก่ 1) การแบ่งแยกแบบไม่ตั้งใจต่อกลุ่มเป้าหมาย 2) การตั้งใจแบ่งแยก/กีดกัน/สร้างความเป็นเขา-เราต่อกลุ่มเป้าหมาย 3) การยั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย และ 4) การยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับวิธีกำกับดูแลเฮทสปีชออนไลน์นั้น คณะวิจัยเสนอว่าควรแยกแยะตาม “ระดับความรุนแรง” ข้างต้น สรุปได้ดังต่อไปนี้

การแสดงความเกลียดชังซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน คนพูดอาจมีหรือไม่มีเจตนาก็ได้ (ระดับที่ 1 และ 2 ข้างต้น) – การแสดงออกระดับนี้คณะวิจัยเสนอว่า ไม่จำเป็นจะต้องให้รัฐเข้ามากำกับดูแล ใช้เพียงการกำกับตัวเองโดย “เน้นไปที่ตัวผู้ใช้ที่เป็นปัจเจก ผ่านการสร้างเสริมศักยภาพให้ผู้ใช้ เน้นให้การศึกษากับผู้ใช้หรือการให้ความรู้ในระดับสาธารณะเกี่ยวกับการสร้างความเกลียดชังออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้มีความรับผิดชอบและร่วมกันส่งเสริมวัฒนธรรมการไม่เฉยชา หรือยินยอมต่อการสร้างความเกลียดชังออนไลน์”

ระดับต่อมา คือ “การโน้มน้าวใจผู้อื่นให้เกลียดชังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง บนฐานของอัตลักษณ์ที่แตกต่างในด้านต่างๆ” (ระดับที่ 3 ข้างต้น) คณะวิจัยเสนอว่า ควรเน้นการกำกับดูแลผ่านตัวกลาง (intermediaries เช่น บริษัทโซเชียลมีเดีย เจ้าของเว็บบอร์ด และเจ้าของพื้นที่ที่เปิดให้คนแสดงความคิดเห็น) ในลักษณะ “ป้องกันไว้ก่อน” โดยวิธีต่างๆ เช่น การสอดส่องและจับตาดู, การกำหนดเงื่อนไขการให้บริการเพื่อสร้างความรับผิดชอบ, การให้การศึกษาเกี่ยวกับ “เฮทสปีช” และเสริมอำนาจแก่ผู้ใช้ และการแสดงความโปร่งใสตรวจสอบได้ของผู้ให้บริการ

ส่วน “เฮทสปีช” ขั้นรุนแรงที่สุด นั่นคือ “การโน้มน้าวหรือยุยงให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจเป็นการใช้ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชัง” (ระดับที่ 4 ข้างต้น) นั้น คณะวิจัยเสนอว่า ควรใช้วิธีกำกับดูแลแบบ “ป้องกันไว้ก่อน” ผ่านตัวกลางเช่นเดียวกันกับเนื้อหาที่รุนแรงระดับ 3 แต่เพิ่มเติมมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงจริงๆ เช่น การปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหา (block access) การเอาเนื้อหาออก (remove or take down) และ/หรือการกลั่นกรองเนื้อหาตามกรอบของกฎหมาย

13119132_732658476837198_8342374596118232446_n

ผู้เขียนจะยกยอดข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับดูกันเอง ทั้งที่เน้นตัวกลาง และที่เน้นตัวผู้ใช้ปัจเจกเอง ไปพูดถึงในตอนหน้า โดยจะเปรียบเทียบกับสถานการณ์การแสดงออกในสังคมออนไลน์ไทย แต่ก่อนหน้านั้น ข้อเสนอของคณะวิจัยนำโดย ดร. พิรงรอง เกี่ยวกับการกำกับโดยกฎหมายนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง และค่าแก่การนำมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนจึงได้หยิบยกบางส่วนจากงานวิจัยดังกล่าวมาถ่ายทอด ดังต่อไปนี้ –

(สรุปโดยสังเขปก่อนว่า คณะวิจัยเสนอให้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อกำกับดูแล “เฮทสปีช” ขั้นที่รุนแรงที่สุด นั่นคือ การโน้มน้าวให้ใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็น “ไฟท์บังคับ” ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ)

“ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งกล่าวถึงพันธะกรณีของรัฐด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตร สหประชาชาติ รวมทั้งหน้าที่ของภาครัฐที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ประชาชนได้รับสิทธิทั้งด้านพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย สิทธิในชีวิต เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิในการเลือกตั้ง เป็นต้น

“…ในมาตราที่ 20 ของ ICCPR เรียกร้องให้ห้าม “การสนับสนุนความเกลียดชังในชาติ เชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งจะปลุกเร้าอันนำไปสู่การแบ่งแยก ความเป็นปฏิปักษ์ หรือ ความรุนแรง” ซึ่งก็คือข้อห้ามที่เกี่ยวกับ hate speech นั่นเอง

“…ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ICCPR ซึ่งหนึ่งในพันธกรณีที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ การจัดให้มีบทบัญญัติตามมาตรา 20 ห้ามการแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มศาสนา กลุ่มเชื้อชาติ หรือ กลุ่มชนชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งแยก การมุ่งร้าย หรือความรุนแรง ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทย ยังมิได้มีบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด

“…การออกกฎหมายป้องกัน hate speech จะต้องมีมาตรฐานตามมาตรา 20 ของ ICCPR ทั้งนี้ โดยจะต้องไม่ไปละเมิดสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 อันว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกด้วย

“…แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะมีมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรากฏการออกกฎหมายเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงเห็นว่าการกำกับดูแล hate speech โดยใช้กฏหมายอาจไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นไฟลท์บังคับ[ของ]สังคมไทย

“…เป็นไปได้ว่า สังคมไทยค่อนข้างขาดความรู้และประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งในมาตรา 20 ของ ICCPR จะเน้นไปในเรื่องการแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มศาสนา กลุ่มเชื้อชาติ หรือ กลุ่มชนชาติ ที่สังคมไทยอาจไม่ได้มีปัญหาที่ชัดเจน จนกระทั่งเริ่มเกิดปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความขัดแย้งของการเมืองแบบเสื้อสีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“…อนึ่ง มีหลายฝ่ายมองว่า กฎหมายหมิ่นประมาทที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 326 – 333 น่าจะเพียงพอสาหรับจัดการกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง แต่…การหมิ่นประมาท/ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สรุปได้คือ การหมิ่นประมาทคือการกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ขณะที่ hate speech เป็นเรื่องจริง ขณะเดียวกันการหมิ่นประมาท/ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงมุ่งเน้นไปที่ความเสียหายทางชื่อเสียงซึ่งเกิดกับตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อเขียน ภาพ หรือคำพูด ก็ตาม กระนั้นความเสียหายจะยุติลงในระดับปัจเจกบุคคล และไม่ได้สร้างความแตกแยกวุ่นวายในเชิงสังคม แต่ hate speech มีระดับที่รุนแรงกว่านั้น นั่นคือ เป็นการแสดงความเกลียดชังกันบนฐานของอัตลักษณ์แห่งกลุ่ม ซึ่งพร้อมจะยกระดับไปสู่ความรุนแรงต่อกันระหว่างกลุ่มคน”

“…[สมควร]ปรับปรุงกฎหมายอาญา เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง …โดยอาจปรับปรุงให้เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการสื่อสารที่โน้มน้าวใจผู้อื่นให้เกลียดชังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะคล้ายกับความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่เปลี่ยนองค์ประกอบความผิดจากเดิม ต้องระบุได้ว่าใครคือผู้เสียหาย เป็นการสร้างความเกลียดชังกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

โปรดติดตามตอนต่อไป.