ThaiPublica > คอลัมน์ > Return to Homs เมืองฮอมส์ไม่มีวันเหมือนเดิม

Return to Homs เมืองฮอมส์ไม่มีวันเหมือนเดิม

28 กุมภาพันธ์ 2017


1721955

Open

“ที่นี่คือเมืองฮอมส์ แต่ผมไม่รู้แล้วว่าเรากำลังยืนอยู่ส่วนไหนของเมือง” บาสเส็ตต์ ขำขื่นเบาๆ Return to Homs เปิดฉากด้วยสภาพซากเมืองฮอมส์หลังจากถูกระดมถล่มเละ เมืองสงบสุขทางตะวันตกของประเทศ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำคัญของซีเรีย เช่น โรงผลิตน้ำตาล โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ มีประชากรราว 1.5 ล้านคน และเป็นเมืองใหญ่ลำดับที่ 3 ของประเทศ (รองจากอะเลปโปกับดามัสกัส) แต่บัดนี้เมืองนี้กลายเป็นจุดที่เกิดการต่อสู้อย่างหนักหน่วงระหว่างกองทัพรัฐบาลกับฝ่ายกบฏเนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงดามัสกัส กับชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน

บาสเส็ตต์เป็นชายหนุ่มวัยยังไม่ถึงยี่สิบดี เขาคือผู้นำการกบฏในกองทัพซีเรียเสรี (FSA) เพื่อปลดแอกชาวซีเรีย กลุ่มนี้ต่อต้านการกดขี่ที่พวกเขาได้รับจากรัฐบาลเผด็จการทหารของ บาชาร์ อัล-อัสซาด

1

เมืองฮอมส์ที่บัดนี้กลายเป็นเมืองเวิ้งร้าง หันไปทางไหนก็มีแต่ซากตึกพังพินาศ สารคดีเริ่มเหตุการณ์ในเดือนมีนาคม ปี 2011 ตัดสลับภาพจากเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ด้วยหลากหลายอารมณ์ เช่น เด็กถือซากเสาเหล็กทำท่าเลียนแบบท่ายิงปืน ชาวเมืองออกมาเตะบอลกันกลางถนน ระเบิดลงกลางเมืองทั้งๆ ที่มีชาวบ้านอยู่กันเยอะ กางเกงเปื่อยขาดยับเยินถูกแขวนไว้บนราวตาก ควันคลุ้งโขมงออกมาจากตึก ระเบิดสนั่นระหว่างกำลังละหมาดกลางถนน ฯลฯ ภาพเพียงไม่กีนาทีที่ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก แต่สามารถลำดับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ได้ทั้งหมด และบอกได้ชัดเจนว่าฝ่ายไหนคือผู้ถูกกระทำ

ก่อนจะตัดพาผู้ชมไปรู้จักบาสเส็ตต์ ที่เริ่มพูดปลุกเร้ามวลชน ท่ามกลางฝูงชนมากมายที่ปรบมือให้กำลังใจเขาดังสนั่นหวั่นไหว กอดคอกันเป็นวงให้ฮึกเหิมก้าวสู่การเริ่มต้นต่อสู้ ก่อนจะพาคนดูย้อนกลับไปเห็นช่วงชีวิตเคยรุ่งโรจน์ของบาสเส็ตต์ในฐานะผู้รักษาประตูทีมชาติซีเรีย

กว่าจะมาสู่จุดนี้ บาสเส็ตต์เคยเป็นดาวเด่นในทีมชาติ จนกระทั่งสงครามกลางเมืองระอุขึ้น พร้อมๆ กับที่สารคดีเรื่องนี้ที่เริ่มถ่ายทำกันในช่วงปี 2011 จนถึง 2013 ซึ่งมีบาสเส็ตต์เป็นศูนย์กลางของเนื้อหาทั้งหมด Return to Homs คือสารคดีตีแผ่ขบวนการที่ถูกฝ่ายรัฐตราหน้าว่าเป็นกบฏ จากเมืองอันสงบเงียบไปสู่ความรุนแรงสูญเสียแสนสาหัส ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน

2

Return to Homs เป็นฝีมือกำกับของ ตาลัล เดอร์กี ที่คว้ารางวัล แกรนด์ จูรี ไพรซ์ สายเวิร์ลซีนีมา มาได้จากเทศกาลหนังซันแดนซ์, รางวัลสารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังซานฟรานซิสโก, รางวัลซิลเวอร์ ฮอร์น ประเภทสารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเมืองกรากุฟ ฯลฯ

เดอร์กีเล่าว่า “ไอเดียของการถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ขณะที่ผมพยายามเก็บภาพเหตุการณ์ต่างๆ ก็พบว่าเมืองนี้กลายเป็นที่ที่สื่อนอกไม่สามารถฝ่าเข้ามาได้ เพราะยากมากที่ใครจะเข้าออกซีเรียในเวลานั้น แล้วเราก็พบอีกว่าคนทำหนังและนักเคลื่อนไหวหลายคนพยายามจะบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านมือถือหรือกล้องวิดีโอเล็กๆ ทุกคนต่างเก็บภาพในมุมมองของตนเท่าที่จะทำได้ในช่วงที่เหตุการณ์กำลังเดือด ทำให้ผมคิดว่าเราจะสามารถเล่าแง่มุมที่ต่างไปจากภาพบันทึกของคนอื่นได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องมีข้อมูลที่ไม่สามารถหาดูได้จากภาพข่าวที่ถูกนำเสนออกไปทั่วโลกด้วย”

“แรกเลยผมเข้าไปถ่ายทำเหตุการณ์ทางตอนเหนือของซีเรีย แต่น่าเสียดายที่ผมหาใครไม่ได้เลยที่จะพาบุกไปตามที่ต่างๆ แล้วพอผมกลับมาที่เมืองฮอมส์ ผมก็ได้เจอ อับดุล บาสเส็ตต์ อัล ซารูต เขาทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในทันที ผมรู้เลยว่าเขาคือคนที่ผมตามหา เพราะเขาเป็นเด็กหนุ่มฉกรรจ์ หาญกล้า วัย 19 ปี มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนการต่อสู้ในครั้งนี้ มีเสน่ห์และพรสวรรค์ เป็นแบบที่ผมตามหา เขาสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และใครๆ ก็ชอบพอเขา ชื่นชมในพลังอันกร้าวแกร่งของเขา เป็นครั้งแรกที่ผมได้เจอคนแบบนี้ แม้ว่าผมจะทำสารคดีมาแล้วหลายปี ซึ่งน่าจะราวๆ ตั้งแต่ปี2006 แต่ผมกลับไม่เคยเจอใครแบบนี้ แบบที่เป็นเหมือนฮีโร่ของมวลชน คนที่กล้าพอจะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ มันเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากมากในซีเรีย เพราะเราตกอยู่ในความหวาดกลัวมาตลอดประวัติของชาติเรา

3

“ภาพนั้นยังตรึงใจผมอยู่เลย จิตวิญญาณการขับเคลื่อนมวลชนของซารูต ทำให้เราปล่อยเขาพากล้องไปยังที่ต่างๆ จนเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง มันไปไกลกว่าแค่เราถูกกระตุ้นให้ต้องถ่าย แต่เรารู้สึกว่าจำเป็นจะต้องถ่ายทำหนังเรื่องนี้ออกมาจริงๆ ซารูตมีเชื้อสายเบดูอิน จนอายุ 19 เขาก็ยังไม่เคยมีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยเพราะต้องไปช่วยพ่อสานต่อธุรกิจ แล้วพ่อก็พบว่าเขามีพรสวรรค์ในการเป็นนักฟุตบอล เขากลายเป็นผู้รักษาประตูดาวเด่นประจำทีมชาติ และเคยคว้ามาแล้วหลายรางวัล เขาบอกผมเสมอว่า เขาแค่ต้องการให้การปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม แต่จริงๆ แล้วในทางกายภาพ ผมรู้เลยว่าเขาไม่สามารถจะกลับเข้าไปร่วมทีมได้อีกแล้ว ไม่ใช่แค่เพราะเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้น แต่เขายังบาดเจ็บอีกหลายครั้งด้วยในระหว่างการประท้วงครั้งนี้”

“บาสเส็ตต์ทุ่มเทอย่างหนักให้กับฟุตบอล แล้วเขาก็ทุ่มเทแบบเดียวกันในการปฏิวัติ การประท้วงครั้งแรกในเมืองฮอมส์ เขาเหยียบยืนขึ้นไปบนไหล่ของผู้ชายคนอื่นๆ ถอดเสื้อออก แล้วเริ่มตะโกนยั่วยุ ‘เฮ้ เฮ้ พวกสไนเปอร์ ยิงมาที่คอนี่สิ! ยิงที่หัวนี่สิวะ! ผมไม่หลบหรอก ผมไม่กลัวพวกคุณ และผมจะยืนหยัดอยู่ตรงนี้เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐบาลทหาร’ ความท้าทายที่เขากระทำ ความกล้าหาญที่เขามี เขากรุยหนทางใหม่ๆ ของการต่อสู้ เขาจับมือเต้นหมุนไปรอบๆ กับฝูงชนเป็นวงกลมในระหว่างประท้วง มันเป็นรูปแบบเดียวกับที่พวกนักฟุตบอลทำกัน”

4

แต่สารคดีเรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่จะมีเล่าผ่านบาสเส็ตต์เพียงคนเดียว เดอร์กีเล่าต่อว่า “คนสำคัญอีกคนในหนังเรื่องนี้คือ ออสซามา อัล ฮอมซิ เป็นเพื่อนวัย 24 ปีของบาสเส็ตต์ หน้าที่ของออสซามาเป็นเหมือนตัวแทนตาของคนดู และทำหน้าที่แทนมุมมองของผู้คนในเมืองฮอมส์ เดิมทีผมอยากให้ออสซามาอยู่หน้ากล้องด้วย แต่ผมอยากจะขับเน้นเขาในฐานะของผู้บันทึกภาพมากกว่า ทำให้ผมตัดสินใจให้ในหนังจะไม่เห็นเขาอยู่ในเฟรม แต่คนดูจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านเสียงของเขาที่อยู่หลังกล้อง และผ่านภาพส่วนใหญ่ที่เขาเป็นคนถ่าย”

“การประท้วงครั้งนี้เริ่มต้นโดยปราศจากอาวุธ มันเริ่มในแบบสันติวิธี จนกระทั่งชาวเมืองฮอมส์ถูกฝ่ายรัฐล้อมปราบ ทำให้การประท้วงถูกยกระดับไปสู่ความรุนแรง เพราะทางการมีสไนเปอร์ที่คอยส่องยิงคร่าผู้บริสุทธิ์ไปมากมาย มันจึงเป็นการยากที่กลุ่มผู้ประท้วงจะปกป้องชาวเมืองได้หากไม่ใช้อาวุธ และผมพยายามจะทำให้หนังชัดเจนพอที่คนดูจะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่แท้จริง ว่าทำไมพวกเราถึงต้องจับอาวุธ ข้อมูลพวกนี้ไม่ปรากฏในข่าว ชาวโลกเห็นเพียงภาพพวกเราใช้อาวุธรุนแรง ผมจึงพยายามให้หนังเข้าใจง่ายขึ้นด้วยการวางไทม์ไลน์ในแต่ละเหตุการณ์ตั้งแต่การต่อสู้แบบมือเปล่าไปจนถึงการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธหนัก ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในเขตหมู่บ้านคาลิดิยาห์ในเมืองฮอมส์นี้เอง (อันเป็นช่วงเวลาหลังจากการเริ่มต้นราวหนึ่งปี) และตัวบาสเส็ตต์เองก็เช่นกันที่ต้องหันมาใช้อาวุธร้ายแรงพวกนี้”

5

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นจุดพลิกผันของหนังด้วย เมื่อวิกฤติมาถึง โจทย์ยากคราวนี้คือเราไม่ใช่แค่ถือกล้องคอยตามถ่ายอีกต่อไปแล้ว เพราะคราวนี้เหมือนเราพาตัวเองเข้าไปอยู่ในดงกระสุนที่ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธร้ายแรง และแน่นอนว่าเมื่อความรุนแรงถูกยกระดับ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือจำนวนคนตายก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้คนใกล้ชิดเราเริ่มบาดเจ็บล้มตายกันมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นเราต่างก็เชื่อมั่นว่าจุดยุติกำลังจะมาถึง ซึ่งจะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาในสักวัน ทำให้เรายิ่งต้องฝากความมั่นใจไว้ที่บาสเส็ตต์ ผู้เป็นหนึ่งในผู้นำการต่อสู้คราวนี้”

แต่สงครามนี้ที่เริ่มต้นด้วยท่าทีเหมือนว่าฝ่ายกบฏจะได้รับชัยชนะ ความรุนแรงที่ไต่ระดับไปสู่การทำลายล้างทันทีที่มันกลายเป็นสงครามตัวแทน เมื่อรัสเซียเข้าสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และอเมริกาหนุนฝ่ายกบฏ ไม่มีใครรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่พวกบาสเส็ตต์ต้องการจะมีวันมาถึงหรือไม่ แต่สิ่งเดียวที่ชัดแจ้งคือ เมืองฮอมส์จะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

6