ThaiPublica > เกาะกระแส > DSI ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ใช้ ม.44 เป็นเกราะจับพระธัมมชโย-กลุ่มผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่

DSI ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ใช้ ม.44 เป็นเกราะจับพระธัมมชโย-กลุ่มผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่

16 กุมภาพันธ์ 2017


พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แถลงข่าวการใช้ ม.44 เพื่อปิดล้อมพื้นที่วัดพระธรรมกายและเข้าตรวจค้น
พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แถลงข่าวการใช้ ม.44 เพื่อปิดล้อมพื้นที่วัดพระธรรมกายและเข้าตรวจค้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2560) พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการสอบสวนดำเนินคดีอาญาพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณีได้รับเงินที่เกิดจากการทุจริตของอดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวนกว่า 1,400 ล้านบาท ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เป็นคดีพิเศษที่ 27/2559 ซึ่งพระธัมมชโย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และศาลอาญาได้ออกหมายจับไว้เพื่อให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจับตัวนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ปัจจุบันคดีดังกล่าว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวมถึงเห็นควรสั่งฟ้องพระธัมมชโย และมีคำสั่งถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้จัดการเพื่อให้ได้ตัวมาดำเนินคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจและติดตามการดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอดนั้น

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากดีเอสไอได้ดำเนินคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จากกรณีที่ได้ทำการทุจริตเงินสหกรณ์ฯ คลองจั่นกว่า 10,000 ล้านบาท ทำให้ประชาชนและสมาชิกที่ฝากเงินได้รับความเสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์กับดีเอสไอจึงได้ดำเนินกับนายศุภชัยและพวก ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ซึ่งหลังการดำเนินคดีแล้วได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ และได้ดำเนินคดีกับผู้ที่รับเช็คจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น 878 ฉบับรวมทั้งหมด 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มเมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้วได้มารายงานตัวและต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม แต่มีคดีที่ 27/2559 คดีนี้มีผู้ต้องหา 5 คน มีนายศุภชัยถูกจำคุกอยู่ อีก 2 รายมามอบตัวรายงานและอีกรายได้หลบหนีไปต่างประเทศ ส่วนพระธัมมชโยไม่ได้มารายงาน

ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ได้ตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดีโดยตลอด ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา ถึง 3 ครั้ง คือ (1) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 (2) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 และ (3) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 แต่ผู้ต้องหาก็บ่ายเบี่ยงอ้างเหตุจำเป็นต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ทางดีเอสไอได้เชิญท่านมา แต่ท่านส่งทนายมาพบกำหนดจะมามอบตัว และท่านก็เลื่อนทุกครั้ง สื่อก็ทราบอยู่แล้ว จากนั้นก็ออกหมายเรียก ครั้งแรกท่านอ้างว่าติดภารกิจสงฆ์ ครั้งที่สองท่านอ้างว่าอาพาธ ซึ่งต่อมาเราได้นำสู่ศาลว่าท่านไม่ได้อาพาธจริง เป็นเหตุให้ศาลออกหมายจับ เมื่อออกหมายจับแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ให้โอกาสท่านมามอบตัว แล้วท่านก็อ้างว่าไม่ได้กระทำผิด และพนักงานสอบสวนได้ชี้แจงว่าหากไม่ได้กระทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งพนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดี และให้พนักงานสอบสวนนำตัวไปฟ้อง และเราได้ขอหมายค้นครั้งแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2559” พ.ต.อ. ไพสิฐ กล่าว

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ปิดล้อมวัดพระธรรมกายก่อนเข้าตรวจค้นต่อไป
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ปิดล้อมวัดพระธรรมกายก่อนเข้าตรวจค้นต่อไป

S__47988850

อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประเมินสถานการณ์และขออนุมัติศาลเพื่อเข้าทำการตรวจค้นพื้นที่วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบที่เกี่ยวข้องเพื่อพบและจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เมื่อมีการนำกำลังเข้าปฏิบัติการ ปรากฏว่ามีมวลชนจำนวนมากมาสวดมนต์ภายในวัด มีบุคคลปกปิดใบหน้าปะปนในหมู่ประชาชนภายในวัด รวมทั้งมีการตั้งเครื่องกีดขวางเส้นทางเข้าออกวัดและจุดสำคัญต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าปฏิบัติการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าหากยังคงปฏิบัติการต่อไปอาจมีผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์หรือก่อความวุ่นวาย จนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาปฏิบัติธรรมตามความเชื่อ จนต้องยุติการปฏิบัติการ

ในการเตรียมการเพื่อเข้าตรวจค้นในครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งการจะตัดสินใจเข้าปฏิบัติการเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาปฏิบัติธรรมตามความเชื่อ ซึ่งจากการประเมินเห็นว่ามีจำนวนมากกว่าการเข้าปฏิบัติการตรวจค้นครั้งแรก ประกอบกับทางการข่าวพบมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่จะฉวยโอกาสสร้างความรุนแรงและใส่ความว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย และจะนำเสนอข่าวที่เป็นเท็จไปบนระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อทำลายความเชื่อถือต่อเจ้าหน้าที่ โดยทำให้เข้าใจว่าเป็นการรังแกสถาบันพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ทั้งที่เป็นการปฏิบัติการเพื่อจับกุมบุคคลตามหมายจับ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องยุติการปฏิบัติการ

จากปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ คือ คำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมพื้นที่บริเวณวัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบ เพื่อตรวจสอบ คัดกรองผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายออกจากพื้นที่ปฏิบัติการเป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่บางประการเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานโดยสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ ยังคงดำรงหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ (1) นำตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (2) ดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และ (3) ปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์มิให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดีในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง โดยให้เกิดผลกระทบกับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ควบคุมน้อยที่สุด

“การใช้กฎหมายปกติมีปัญหา จำเป็นต้องขอใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมพื้นที่ หลังการปิดล้อมพื้นที่แล้ว เราจะขอเข้าตรวจค้น หากลูกศิษย์อยู่ในวัดขัดขวางเราก็จำเป็นต้องให้มารายงานตัว หากไม่ได้ขัดขวางก็อยู่ในวัดได้ตามปกติ และผู้บังคับบัญชาสั่งมาว่าให้ใช้อำนาจคดีพิเศษตามความจำเป็น ไม่ให้ใช้ความรุนแรง” พ.ต.อ. ไพสิฐ กล่าว

thaipublica__125435909_ธรรมกาย

thaipublica__125435913_ธรรมกาย