ThaiPublica > คอลัมน์ > “Gig Economy…ยังไงถึงจะเวิร์ก”

“Gig Economy…ยังไงถึงจะเวิร์ก”

18 มกราคม 2017


ปพนธ์ มังคละธนะกุล
www.facebook.com/Lomyak

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Access_economy#/media/File:Yellow_cabs_2.jpg
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Access_economy#/media/File:Yellow_cabs_2.jpg

Gig Economyหมายถึง ลักษณะของการจ้างงานระยะสั้น โดยผู้ให้บริการไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัท การจ้างงานจะค่อนข้างยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน และทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานนั้นๆ ผลตอบแทนจะจ่ายเป็นครั้งๆ ที่ส่งมอบงาน

ดูจากคำอธิบายข้างต้น ก็ไม่ต่างจากงาน Outsource หรือ พวกฟรีแลนซ์ ที่คุ้นเคยกันอยู่ ซึ่งเมื่อก่อนหากใครบอกว่าทำงานเป็นฟรีแลนซ์ หรือ เป็น Outsource จะรู้สึกไม่ค่อยดี เพราะนั่นหมายถึง ไม่มีความมั่นคง รายได้ไม่สม่ำเสมอ ไม่มีสวัสดิการต่างๆ ให้ แถมยังห้ามป่วยอีกต่างหาก นั่นเป็นภาพในอดีตไปแล้ว

พัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งด้าน IT การสื่อสาร โดยเฉพาะ Mobile Technology ทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่มากมาย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Sharing Economy เช่น Uber Airbnb (ที่ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ให้บริการเอง แต่ทำตัวเป็น Marketplace เป็นศูนย์รวมเครือข่ายของคนที่ให้บริการต่างๆ แล้วแต่ว่าธุรกิจนั้นจะให้บริการอะไร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมต่อผู้ให้บริการเหล่านั้น กับผู้ใช้บริการผ่านแพลทฟอร์มการให้บริการนั้นๆ) บวกกับพฤติกรรมของคนที่ต้องการ Work-life balance และความยืดหยุ่นของเวลาทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่น Millennium ที่มีค่านิยมไม่อยากเป็นลูกจ้างประจำ ทำให้ Gig Economy เป็นปรากฏการณ์ในซีกโลกตะวันตกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เพราะว่า แต่ก่อนการจ้างงานแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นพนักงานประจำของบริษัท ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ จะไม่มีให้กับคนกลุ่มนี้ แต่เนื่องจากตลาดแรงงานแบบนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับพนักงานประจำของบริษัท มีเคสฟ้องร้องโดยลูกจ้างทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกามากมาย แนวโน้มที่เห็นคือศาลเอนเอียงไปทางการตัดสินให้ประโยชน์แก่ลูกจ้าง มีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้ชนะคดีเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้ใกล้เคียงกับพนักงานประจำออกมาเรื่อยๆ เช่น สามารถมีวันหยุดพักร้อนที่ได้รับค่าจ้าง หรือได้สวัสดิการประกันสุขภาพเช่นเดียวกับพนักงานประจำ

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มของ Gig Economy ก็เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ลองไปดู Tech Startup ในเมืองไทยได้ ส่วนใหญ่มักทำ Marketplace App เป็นตัวกลางในการเชื่อมผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการเข้าด้วยกัน มีตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ระดับโลก Uber Airbnb ที่ไปทุกตลาดอยู่แล้ว ยังมี Lalamove App ยอดนิยมของคนที่ต้องการใช้บริการ messenger ไล่ไปถึง App ให้บริการเฉพาะทางต่างๆ ตั้งแต่ช่างสารพัดไล่ไปจนถึงการให้บริการดูแลผู้สูงอายุ

ด้วยคอนเซ็ปแบบนี้ Sharing Economy น่าจะเป็นแพลทฟอร์มที่สมประโยชน์กันทุกฝ่าย ด้านผู้ประกอบการ ไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินเอง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง ทำให้ธุรกิจเกิดยาก เพราะถูกจำกัดด้วยเงินทุนที่มี ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ต้องแบกรับต้นทุนบุคคลากรผู้ให้บริการ แปรเปลี่ยนต้นทุนคงที่ที่เป็นภาระของทุกธุรกิจ เป็นต้นทุนผันแปร ทำให้ตัวเบาขึ้นเยอะ และใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดทุ่มไปกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และพัฒนาแพลทฟอร์มให้ใช้ง่าย และสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ดังนั้น น่าจะทำให้เกิดบริการที่โดนใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ด้านผู้ให้บริการ จากเดิมที่ต้องวิ่งหางานเอง มีเครือข่ายจำกัด สามารถใช้แพลทฟอร์มแบบนี้เป็นตัวขยายตลาดได้เป็นอย่างดี เครือข่ายกว้างขวางขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเวลาทำงานตามแต่ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวได้ ช่วงไหนอยากทำงานมากก็รับงานเยอะหน่อย ช่วงไหนมีภาระส่วนตัว ก็สามารถปรับโหลดงานได้ Work-life balance ที่ใฝ่ฝัน ดูใกล้ความเป็นจริงเสียที ไม่ต้องขลุกทำงานงกๆ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ไม่มีเวลาใช้ชีวิต ขาดไลฟ์สไตล์

นั่นคือข้อดีครับ แต่ยังมีข้อที่พึงระวัง หากพลั้งเผลอไม่ใส่ใจ ฝันที่จะเป็นจริง อาจเป็นฝันร้ายของทุกฝ่ายได้

จุดเด่นของโมเดลธุรกิจแบบนี้คือ การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องลงทุนในทรัพยากรนั้นๆ หรือลงทุนก็แต่เพียงน้อยนิด แต่อย่าลืมว่าคนที่เข้ามาให้บริการบนแพลทฟอร์มนี้มีมากมาย หลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่ ดังนั้น จุดชี้เป็นชี้ตายของโมเดลธุรกิจแบบนี้คือ ต้องมีการกำหนดคุณภาพขั้นต่ำของคนที่จะเข้ามาในระบบให้ชัดเจน และการรักษามาตรฐานของคุณภาพนั้นๆ ให้คงที่

ถึงแม้ว่าแนวคิดในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะให้ผู้ใช้บริการมาให้คะแนนและคอมเม้นต์กันเอง ซึ่งจะเป็นกลไกในการกระตุ้นและบังคับให้ผู้ให้บริการต้องเน้นเรื่องคุณภาพ เพราะหากได้รับคอมเม้นต์ไม่ดี ผู้ให้บริการนั้นๆ ก็จะไม่มีใครเลือกใช้อีกต่อไป เพราะพฤติกรรมของคนในยุคนี้นั้น จะดูเรทติ้งก่อนใช้บริการเสมอ

แต่ในช่วงแรกคุณกล้าที่จะเสี่ยงหรือ กับการที่มีคนเข้ามาใช้บริการยังไม่เยอะ และเริ่มมีคอมเม้นต์ในทางลบของคนให้บริการ ผู้บริโภคสมัยนี้ไม่ค่อยมีความอดทน หากเขามีประสบการณ์แย่ๆ และได้ยินฟีดแบคทำนองเดียวกันจากคนอื่น เขาจะหมดความเชื่อถือในแพลทฟอร์มในทันที แล้วหันไปหาแพลทฟอร์มอื่นโดยไม่ลังเลเลยทีเดียว ขนาดผมใช้บริการ Uber บางครั้งยังเจอคนขับไม่รู้ทางมารับงานเลย ผมต้องคอยบอกทางตลอด แต่นั่นคือ Uber ที่แบรนด์เขาแข็งแกร่งแล้ว คุณจะกล้าเสี่ยงเหรอ

ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้น เน้นเรื่องคุณภาพก่อนดีที่สุดครับ แล้วมันจะเป็นตัวกำหนดให้คนใหม่ๆ ที่เข้ามารู้เองว่าแพลทฟอร์มนี้คาดหวังอะไร เขาจะได้ไม่กล้ามั่ว อย่าใจเร็ว หวังจะได้เครือข่ายเยอะๆ ในเวลาอันสั้น หวังจะโกยอย่างเดียว เพื่ออ้างได้ว่าสามารถให้บริการได้ครอบคลุม แต่ควบคุมคุณภาพไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น มาเร็วไปเร็ว ไปไม่ถึงฝั่งฝัน แน่นอน

ในส่วนของผู้ให้บริการ การเข้าถึงเครือข่ายง่ายๆ นั้นเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งทำให้คุณมีโอกาสมากขึ้นในการได้งาน แต่ขณะเดียวกัน มันเป็นตลาดเปิดไปแล้ว มีคนเข้ามาในระบบเยอะ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย ของไม่ดีจริง อยู่ไม่ได้แน่ ดังนั้น ไม่ใช่แต่เพียงต้องมีคุณภาพ คุณต้องมีความรับผิดชอบต่องานอย่างยิ่งยวดด้วย ประเภททำงานลวกๆ เพื่อให้มีงานส่ง รับเงินไป และคิดว่าชาตินี้จะไม่ได้เจอกันอีก ระวังจะถูกหลอกหลอนจากคอมเม้นต์ ไม่ให้ได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียว

คุณภาพ ความรับผิดชอบ เป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เป็นค่านิยมที่คนทุกคนต้องมี แต่ไม่ใช่จะหาเจอได้ง่ายๆ ในโลกยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่วันนี้ใครๆ ก็เคลมโน่นเคลมนี่กันได้ทั้งนั้น