ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้แนวโน้มศก.ไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องปรับเชิงโครงสร้าง “คนไทยก่อหนี้อายุน้อย – การลงทุนเอกชนอ่อนแรง”

ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้แนวโน้มศก.ไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องปรับเชิงโครงสร้าง “คนไทยก่อหนี้อายุน้อย – การลงทุนเอกชนอ่อนแรง”

26 มกราคม 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 26 มกราคม 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวสุนทรพจน์ประจำปีกับสื่อมวลชน เรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจไทย และทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. ปี 2560” ณ ห้องประชุมภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า

“ผมขอขอบคุณผู้แทนสื่อมวลชนทุกท่านที่มาร่วมฟังการบรรยายในวันนี้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันทุกปีที่ผู้ว่าการจะเล่าให้ฟังถึงมุมมองและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยในวันนี้ผมจะขอแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก จะสรุปทบทวนภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2559 ส่วนที่สอง จะพูดถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2560 และส่วนสุดท้าย จะพูดถึงปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยบางเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข”

หากจะกล่าวโดยสรุปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2559 คงพูดได้ว่า ปี 2559 เป็นปีที่มีความผันผวนสูง หลายเรื่องเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมาย แต่เศรษฐกิจไทยก็สามารถผ่านพ้นไปได้โดยราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตตลาดหุ้นจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น ตามมาด้วยวิกฤตภัยแล้งในประเทศไทย ผลการลงประชามติ Brexit ปัญหาสถาบันการเงินในยุโรป ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่พลิกความคาดหมาย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี สำหรับพวกเราชาวไทยแล้ว ปี 2559 เป็นปีที่จะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป เพราะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคต เป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่คนไทยทุกคน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-veerathai-1

ท่ามกลางความผันผวนสูงและเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายอย่างเศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้ค่าเงินบาท ตลาดเงินและตลาดทุนจะมีความผันผวนสูงกว่าปีก่อน แต่เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนต่างๆ ได้ดี ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนที่ดีสามประการ คือ เรามีกันชนที่ดี มีความยืดหยุ่นที่ดี และมีแรงเสริมจากภาครัฐที่ดี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.2 ในปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในปี 2558

“การที่เรามีกันชนที่ดีไม่ได้มาจากโชคช่วย แต่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างระมัดระวัง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมมาโดยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ GDP หรือเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ภาครัฐในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ภาคธุรกิจไม่มีปัญหาความเสี่ยงสูงจากการใช้สกุลเงินที่ต่างกัน (currency mismatch) ตลอดจนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นกันชนรองรับความผันผวนจากตลาดเงินตลาดทุนภายนอกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ระบบสถาบันการเงินมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง สามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงบ้างในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

thaipublica-veerathai-2

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยรองรับความผันผวนได้ดี คือ เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นในหลายมิติ โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยกระจายตัวครอบคลุมทั้ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ ในด้านตลาดแรงงาน แม้ว่าภาคการผลิตบางอุตสาหกรรมจะชะลอตัวลง แต่ก็ไม่นำไปสู่การปรับลดการจ้างงานรุนแรง และในช่วงภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แรงงานภาคเกษตรย้ายออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นได้ รวมทั้งเรายังมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนเสริม หรือ shock absorber ในภาวะที่ตลาดแรงงานตึงตัวหรืออ่อนแรงอีกด้วย

ในด้านภาคบริการ ภาคท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และมีธุรกิจสนับสนุนเกี่ยวเนื่องอีกมาก ส่งผลให้สามารถกระจายผลประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ตลอดจน ตลาดของสินค้าส่งออกไทยค่อนข้างกระจายตัว เมื่อตลาดหนึ่งมีปัญหา ก็สามารถส่งสินค้าไปยังตลาดอื่นทดแทนได้ โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน

ในส่วนของแรงเสริมจากภาครัฐนั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมาภาครัฐได้มีบทบาทสนับสนุนต่อเนื่อง ทั้งช่วยเยียวยาดูแลภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภายนอก และความไม่แน่นอน รัฐบาลได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณ รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ในขณะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายก็เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะมีกันชนดี ความยืดหยุ่นที่ดี และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงและเปราะบาง โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรที่รายได้ฟื้นตัวช้า และเป็นการฟื้นตัวเฉพาะพืชผลเกษตรบางชนิดเท่านั้น ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงด้อยลง เห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loan – NPL) ที่โน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมในปี 2559 ถือว่าค่อนข้างซบเซา ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังคงอ่อนไหวและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังอ่อนแรง ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงและเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องช่วยกันผลักดันให้การฟื้นตัวมีการกระจายตัวมากขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับปี 2560 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีลักษณะที่กระจายตัวดีขึ้น ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ หนึ่ง ระดับน้ำในเขื่อนเพื่อการเกษตรถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ถ้าเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงขึ้นอีก ภาคเกษตรจะมีน้ำสำรองสามารถรับมือได้ดีกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร จะส่งผลต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรบางประเภทในตลาดโลกเริ่มขยับสูงขึ้น เหตุผลข้อที่สอง งบประมาณภาครัฐมีเป้าหมายที่กระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นทั้งในส่วนของงบกลางปีและการจัดทำงบประมาณประจำปี 2561 ที่ให้ความสำคัญต่อกลุ่มจังหวัดมากขึ้น และเหตุผลข้อที่สาม การส่งออกฟื้นตัวในลักษณะที่กระจายตัวเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เราจะชะล่าใจไม่ได้เพราะในโลกปัจจุบันสภาพอากาศและทิศทางการค้าระหว่างประเทศมีโอกาสแปรปรวนได้สูง

ในการประมาณการล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงปีที่แล้วที่ร้อยละ 3.2 แต่ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอาจจะต่างจากปีก่อนบ้าง โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าปีที่แล้ว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่หลายสำนักเห็นคล้ายกันว่าจะขยายตัวดีขึ้น ถ้าเรามองย้อนกลับไปจะพบว่าการส่งออกของไทยและการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2559 แรงส่งของภาคการส่งออกที่มีต่อเนื่อง ควรช่วยให้การลงทุนของภาคเอกชนในปีนี้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมส่งออก

นอกจากนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามกรอบส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทในปี 2559 คิดเป็น 1.7 เท่าของปี 2558 และยังมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติไว้เดิมตั้งแต่ปี 2558 ที่จะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนขึ้นจริงด้วย

thaipublica-veerathai-3

อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าจะมีมากขึ้นกว่าปีก่อน คือ การลงทุนและการใช้จ่ายจากภาครัฐ แม้การขาดดุลงบประมาณประจำปี 2560 จะเท่ากับปีก่อน แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มอีก 1.9 แสนล้านบาท โดยมุ่งเพิ่มรายจ่ายในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้เครื่องยนต์ภาครัฐมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่รัฐวิสาหกิจจะมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ มากขึ้นเช่นกัน ทั้งการลงทุนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อน เช่น การลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ และการลงทุนใหม่ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เช่น สายสีชมพู เหลือง และส้ม

ส่วนแรงขับเคลื่อนที่คาดว่าจะมีแรงส่งแผ่วลงบ้างมีอยู่ 2 ส่วน คือ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ ทั้งสองตัวเราคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้าง ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปีที่แล้วส่งผลให้ประชาชนได้ใช้จ่ายล่วงหน้าไปบ้าง ประกอบกับ หนี้ภาคครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง และภาคชนบทมีภาระหนี้มากขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการขยายตัวของการบริโภคไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ประชาชนโดยรวมยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะกิจกรรมด้านบันเทิงและสันทนาการ

ส่วนการส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน อันเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย โดยนักท่องเที่ยวจีนปีนี้มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้โดยมีแรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่จะเพิ่มสูงขึ้น เช่น รัสเซีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน

ที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นกรณีฐานหรือกรณี baseline ของแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560 แต่ที่เราต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ความไม่แน่นอนที่ปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบหลายอย่างที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่าหรือต่ำกว่ากรณีฐานได้ค่อนข้างมาก มุมมองด้านความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ สอดคล้องกับที่หลายหน่วยงานพยากรณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากนอกประเทศ

thaipublica-veerathai-4

ปัจจัยแรก คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา นโยบายใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trump รวมทั้งมาตรการด้านภาษีหลายด้านอาจจะส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวสูงกว่าที่คาด ขณะเดียวกันเราก็ต้องระวังปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าและผลต่อเนื่องที่ประเทศอื่นจะตอบโต้ ซึ่งจะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนทั้งโลก

ปัจจัยที่สอง คือ ความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรป ทั้งจากการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับ แนวทางการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่อาจจะเป็นHard Brexit รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมืองในแถบตะวันออกกลาง จะสร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน ตลาดทุนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ตลอดทั้งปี ในขณะเดียวกัน เราก็ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปบางประเทศที่ยังเปราะบางจากภาคสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ปัจจัย

เรื่องที่สาม คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในภาวะที่หนี้สินภาคธุรกิจอยู่ในระดับสูง และหลายอุตสาหกรรมยังไม่ได้ถูกปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่สูง การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจีนอาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่สำคัญก็มีหลายปัจจัยที่เราต้องติดตามไม่ว่าจะเป็น ผลสำเร็จของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ การดำเนินโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ผลจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายที่อาจคลี่คลายได้เร็วหรือช้ากว่าที่คาด ตลอดจนกำหนดการเลือกตั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทยมีกำหนดการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจทุกไตรมาส และก็จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นปัจจัยบวกหรือปัจจัยลบเหล่านี้โดยต่อเนื่อง

ในส่วนของตลาดเงินนั้น วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มชัดเจนขึ้นในปี 2560 นำโดยสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trump จะนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจหลายประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งบ้าง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง ความแตกต่างของนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินผันผวนตลอดทั้งปี และอาจจะผันผวนรุนแรงในบางช่วงเวลา นักลงทุน ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงความผันผวนเหล่านี้ และบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน จะเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยได้เริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากระดับที่ต่ำกว่าค่าในอดีตมาก

สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น นโยบายการเงินจะผ่อนปรนไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและยังคงมุ่งรักษาเสถียรภาพด้านราคาตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ อย่างที่หลายท่านทราบแล้ว เป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 2560 และของระยะปานกลางยังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 และจะทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่ระดับเป้าหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

thaipublica-veerathai-5

ธนาคารแห่งประเทศไทยจะวางรางฐานให้มีการวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างถ่องแท้ พร้อมกับเฝ้าระวังและประเมินปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างทันการณ์ เท่าทันกับความผันผวน รวมทั้งเราจะเน้นการลงพื้นที่จริงมากยิ่งขึ้น เพื่อสอบถามและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการและประชาชนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สำหรับด้านนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงิน ไปพร้อมกับส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันผ่านนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสถาบันการเงินไทยตามแนวทางของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ซึ่งใช้ระหว่างปี 2559-2563 ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินในระยะที่ 3 เราจะเน้นเรื่อง digitization พร้อมจะเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับความเสี่ยงด้านไซเบอร์หรือ cyber risk เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการให้บริการ digital banking ของสถาบันการเงิน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และยกระดับการกำกับดูแลและตรวจสอบการให้บริการของสถาบันการเงิน ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ผู้ใช้บริการทางการเงินจะต้องได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการของตนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งระบบ ผ่านการวิเคราะห์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานงานกับองค์กรกำกับดูแลภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เท่าทันกับความเชื่อมโยงทางการเงินและเทคโนโลยีทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้นและนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสม

ประเด็นเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นประเด็นที่เราต้องระมัดระวัง เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน ส่งผลให้พฤติกรรมและความเสี่ยงของการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ search for yield สะสมต่อเนื่องมาหลายปี แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกในปี 2560 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในอดีต

“สิ่งที่ผมได้กล่าวไปทั้งหมด คือ เรื่องระยะสั้นของปีนี้ ในส่วนสุดท้ายผมจะพูดถึงเรื่องที่เป็นประเด็นระยะปานกลางและระยะยาว เป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง ซึ่งแม้ว่าหลายเรื่องท่านอาจจะคุ้นเคย เป็นเรื่องที่อาจพูดกันบ่อย แต่ก็ยังจำเป็นต้องพูดเพื่อเตือนใจพวกเราทุกคน เพราะประเด็นเหล่านี้ต้องใช้เวลาแก้ไข ต้องทำต่อเนื่องอย่างจริงจัง และต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน”

“ในวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงประเด็นเชิงโครงสร้าง 4 เรื่องสำคัญที่อาจจะกระทบต่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ คือ หนึ่ง ปัญหาหนี้ครัวเรือน สอง การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก สาม การลงทุนของภาคเอกชนที่อ่อนแรง และสุดท้าย ความจำเป็นของการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs กันอย่างจริงจัง”

thaipublica-veerathai-6

ประเด็นแรกปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย แม้ว่าเราจะหักหนี้ที่ประชาชนกู้เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจออกซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และแม้ว่าอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนจะชะลอลงบ้างแล้วก็ตาม แต่หนี้ครัวเรือนของไทยถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ GDP และที่น่ากังวลใจ คือ การศึกษาข้อมูลรายละเอียดของบริษัทข้อมูลเครดิตจะพบว่า คนไทยก่อหนี้ในระดับค่อนข้างสูงตั้งแต่อายุยังน้อย และระดับหนี้ไม่ได้ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ คนไทยวัยใกล้เกษียณยังมีหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย

ขณะเดียวกันคนไทยเริ่มมีหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย ผลการศึกษาพบว่าคนไทยอายุ 29 ปี ที่มีหนี้สินเป็นคนที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันกว่าหนึ่งในห้า โดยข้อมูลนี้ยังไม่ได้รวมยอดหนี้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ (กยศ.) ที่เราทราบกันทั่วไปว่ามีตัวเลขผิดนัดชำระหนี้สูงด้วย ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนการขาดวินัยทางการเงินและการขาดทักษะการบริหารเงิน ปัญหานี้ต้องได้รับการดูแลแก้ไข ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเป็นหนี้โดยเฉพาะก่อหนี้เพื่อการบริโภคนั้นไม่มีวันยั่งยืน และสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะหนี้ครัวเรือนจะบั่นทอนกันชนของเศรษฐกิจไทยในยุคที่ครัวเรือนไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น รวมทั้งในระดับปัจเจกบุคคล คนที่มีภาระหนี้สูงหรือมีหนี้เสียจะมีแต่ความพะวักพะวง ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ นำไปสู่ปัญหาผลิตภาพในระดับบริษัทและระดับประเทศอีกด้วย

เรื่องที่สอง การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย และปัญหาโครงสร้างผู้ส่งออกไทย หากมองข้อมูลย้อนหลังไปยาวหน่อย จะพบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยไม่สามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับที่เทียบเคียงได้กับการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมาระยะหนึ่งแล้ว

การส่งออกไทยซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของ GDP มีการกระจุกตัวที่สูงมาก โดยร้อยละ 5 ของผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึงร้อยละ 88 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ผู้ส่งออกรายเล็กมีอัตราการอยู่รอดต่ำไม่สามารถยกระดับธุรกิจส่งออกของตัวเองให้ใหญ่ขึ้นได้ ลักษณะดังกล่าว อาจจะสะท้อนถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของระดับประเทศด้วย เพราะโดยปกติแล้ว ธุรกิจส่งออกมักจะมีประสิทธิภาพการผลิตหรือผลิตภาพหรือ productivity ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ เพราะผู้ส่งออกต้องแข่งขันกับคู่แข่งจากทั่วโลก ประกอบกับต้องลงทุนในระดับสูงเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสากล จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่ง ถ้าธุรกิจส่งออกที่มี productivity สูง สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เราคงไม่ต้องพูดถึงธุรกิจอื่นที่มี productivity รองลงมาว่าจะสู้กับคู่แข่งจากต่างประเทศได้อย่างไร ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกจะถูกซ้ำเติมมากขึ้นหากนโยบายของประธานาธิบดี Trump นำไปสู่การกีดกันทางการค้าสูงขึ้น

thaipublica-veerathai-7

เรื่องที่สาม คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ค่อนข้างอ่อนแรง และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังกระจุกตัวอยู่เพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่วนการลงทุนจากต่างชาติหรือ FDI ในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไตรมาส ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติในหลายประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน

จากการลงพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าหารือกับผู้ประกอบการกว่า 270 บริษัท ในปี 2558 พบว่าประมาณร้อยละ 65 ของบริษัทที่เราพบไม่มีแผนจะลงทุนเพิ่มหรือจะลงทุนเพิ่มเพียงเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรเก่าเท่านั้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่ากังวลใจ แม้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่อีกส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ เช่น การขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ความรู้และทักษะของแรงงานที่ไม่ตรงกับงานหรือที่เราเรียกว่าเป็น skill mismatch ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจนและอาจไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งกฎเกณฑ์ภาครัฐและกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ภาษีศุลกากร กฎหมายผังเมือง หรือการพิจารณา EIA ที่ใช้เวลาในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างนาน

“หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมมากกว่า 100,000 ฉบับ และมีใบอนุญาตมากกว่า 3,500 ประเภท เป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ กฎหมายกฎระเบียบหลายเรื่องล้าสมัย ไม่เท่าทันกับรูปแบบการทำธุรกิจสมัยใหม่ และหลายเรื่องยังขัดแย้งกันเอง กฎหมายกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สูงสำหรับการทำธุรกิจ ทั้งต้นทุนในรูปตัวเงิน ต้นทุนในรูปเวลา และความเสี่ยงที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าทำผิดได้ ปัญหาเหล่านี้ในหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎเกณฑ์และกฎหมายอย่างจริงจัง หากไม่ได้รับการแก้ไขแล้วจะเป็นตัวบั่นทอนการลงทุน และกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

ส่วนเรื่องที่สี่ การยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เนื่องจากร้อยละ 99.7 ของผู้ประกอบการในประเทศไทย คือ SMEs และมีสัดส่วนการจ้างงานประมาณร้อยละ 80 ของการจ้างงานทั้งหมด ในขณะที่โลกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพัฒนาการของเทคโนโลยี SMEs จะมีข้อจำกัดหลายด้านไม่สามารถพัฒนาได้ทัน วันนี้เราไม่ได้ยินเพียงแค่คำว่า FinTech แต่เรายังได้ยินอีกหลายคำ เช่น PropTech AgriTech EduTech 3-D printing automation Robotics และ AI เป็นต้น พัฒนาการเหล่านี้ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของ SMEs เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติลดลงโดยต่อเนื่อง

หากดูข้อมูลสัดส่วน NPL ต่อยอดคงค้างสินเชื่อจำแนกตามขนาดของธุรกิจ เราจะเริ่มเห็นปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ที่ชัดเจนขึ้นในบางภาคธุรกิจที่สัดส่วน NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่โน้มลดลง สวนทางกับสัดส่วน NPL ของธุรกิจ SMEs ที่โน้มเพิ่มขึ้นเร็ว ไม่ว่าจะเป็นภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ หรือภาคการค้าพาณิชยกรรม ภาพดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ SMEs มีสายป่านสั้น

ในสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่เชื่อได้ว่าอีกส่วนหนึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของ SMEs ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการแข่งขันสมัยใหม่ได้ และอำนาจต่อรองของ SMEs ลดลง ในระยะต่อไป SMEs จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากมาย การเร่งเพิ่มศักยภาพของ SMEs จะต้องทำอย่างจริงจังและรอบด้าน ที่ผ่านมาเราอาจจะให้ความสำคัญต่อประเด็นการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs เป็นหลัก แต่การเข้าถึงสินเชื่อไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะทำให้ SMEs ยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ในวันนี้ SMEs จำนวนไม่น้อยยังมีวงเงินสินเชื่อส่วนเกิน และมีอัตราการใช้วงเงินสินเชื่อลดลงด้วยซ้ำไป

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาแก้ไข แต่เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันดำเนินการ ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย มีหลายเรื่องที่เรากำลังดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมบริการทางการเงินแบบดิจิทัล FinTech และระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การทบทวนและผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงินและทักษะการวางแผนทางการเงินให้แก่คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน การยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม การแก้ไขกฎหมายทางการเงินให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน และการดูแลความเสี่ยงประเภทใหม่ ๆ ตลอดจน การสื่อสารข้อมูลทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อสาธารณชนเพื่อที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน

โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2560 และเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพที่ดีทั้งเสถียรภาพด้านราคาและระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งจะยังคงเป็นเศรษฐกิจที่มีกันชนที่ดี มีความยืดหยุ่นที่ดี และมีแรงเสริมจากภาครัฐที่ดี

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยที่มาจากต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนและบรรยากาศการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าในปี 2560 อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นการปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยต่อเนื่อง ไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนงานพัฒนาตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพดี จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ จะไม่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว การแก้ปัญหาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน

ดูเอกสารเพิ่มเติม

thaipublica-veerathai-8