ThaiPublica > คอลัมน์ > จีนมีเทคโนโลยีการผลิตสูงหรือต่ำ

จีนมีเทคโนโลยีการผลิตสูงหรือต่ำ

18 มกราคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : http://www.flows.be/sites/default/files/media/article_images/logistics/made_in_china_.jpg
ที่มาภาพ : http://www.flows.be/sites/default/files/media/article_images/logistics/made_in_china_.jpg

“อุปกรณ์และสินค้าประเภทเครื่องจักรของจีนมีคุณภาพด้อยเพราะจีนมีความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตต่ำ”
“เราผลิตเก่งแต่ปลาดุกด้านมากกว่าปลาดุกอุยจึงเห็นแต่ปลาดุกด้านในตลาด”
“โรงแรมมีหลากหลายคุณภาพ ส่วนใหญ่มีคุณภาพด้อยเพราะขาดเงินทุน”
ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิด การเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้องอาจสามารถนำมาประยุกต์ในการทำความเข้าใจโลกได้เป็นอย่างดี

เราเห็นอุปกรณ์ไฟฟ้าตลอดจนเครื่องจักรจีนมีราคาถูก มอเตอร์ไซต์จีนมีราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งหรือสองเท่าของรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นแต่คุณภาพต่ำกว่า คนทั่วไปเข้าใจว่าจีนไม่มีปัญญาผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรชั้นดี

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆ ก็จะเห็นว่าจีนกำลังผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่แข่งกับ Boeing และ Airbus ออกสู่ตลาด จีนกำลังสร้างยานอวกาศและจะส่งคนขึ้นไปโลกพระจันทร์ในเวลาอีกไม่นาน แถมผลิตลอกเลียนโทรศัพท์ยี่ห้อดีของโลกได้ในราคาถูก

คำถามง่ายๆ ก็คือ ถ้าจีนไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตในระดับสูงแล้วจะผลิตยานอวกาศไปนอกโลกได้อย่างไร จะลอกเลียนแบบโทรศัพท์ ลอกเลียนรถยนต์ ลอกเลียนนาฬิกา แบรนด์เนมได้ทุกยี่ห้อทุกรุ่น ฯลฯ ได้อย่างไร

คำตอบก็คือ จีนต้องมีขีดความสามารถของเทคโนโลยีการผลิตสูงอย่างแน่นอนจึงจะสามารถผลิตสิ่งต่างๆ ดังกล่าวได้ แต่ข้อสงสัยก็คือ แล้วทำไมถึงไม่ผลิตเล่า

ก่อนตอบคำถามนี้ ลองพิจารณาเรื่องปลาดุกอุย ปลาดุกพันธุ์นี้เนื้อเหลืองมีรสชาติดีมากแต่เติบโตช้าสู้ปลาดุกด้านไม่ได้ ตัวก็เล็กกว่า ดังนั้น ต้นทุนการผลิตจึงสูงเมื่อเทียบกับปลาดุกด้านหรือแม้แต่ปลาดุกรัสเซีย ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการกินปลาดุกราคาถูกถึงแม้จะไม่อร่อยก็ตาม เราจึงเห็นแต่ปลาดุกด้านในตลาดเป็นส่วนใหญ่ มิใช่เป็นเพราะเราผลิตปลาดุกอุยไม่เก่ง

สินค้าเครื่องจักรจีนที่มีคุณภาพด้อยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลคล้ายกัน กล่าวคือ จีนผลิตสินค้าชั้นดีคุณภาพเป็นเลิศก็ได้ด้วยความสามารถทางเทคโนโลยีและวัตถุดิบที่มี แต่เขาเลือกที่จะไม่ผลิตแข่งกับเยอรมันและญี่ปุ่น หากเลือกผลิตสินค้าที่ขายในราคาถูกกว่ามากซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณภาพก็ย่อมต่ำลงด้วย

ตลาดโลกต้องการสินค้าราคาถูก ประเทศพัฒนาแล้วต้องการสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพใกล้เคียงของดั้งเดิมพอควรจึงจ้างจีนผลิต ซึ่งจีนก็สามารถตอบสนองได้ในราคาต่ำแต่คุณภาพก็จำเป็นต้องลดลง

ยิ่งเป็นสินค้าที่จีนผลิตเองโดยมิได้รับจ้างผลิตแล้ว จีนก็ผลิตด้วยเทคโนโลยีธรรมดาและด้วยวัตถุดิบราคาถูกเพื่อให้ได้สินค้าราคาถูกเพื่อให้ขายได้มากๆ (ยิ่งเงินหยวนมีค่าอ่อนตัวแล้ว ราคาในเงินสกุลต่างประเทศยิ่งถูกลงไปอีก) โดยเป็นทางเลือกให้แก่ชาวโลกที่ไม่สามารถซื้อของดีราคาแพงจากประเทศพัฒนาแล้วได้

ความเข้าใจว่าจีนอ่อนเรื่องเทคโนโลยีการผลิตจึงเป็นความเข้าใจผิดโดยแท้ เราสังเกตเห็นนาฬิกาแบรนด์เนมปลอมที่มีหลากหลายราคา หากปลอมชนิดชั้นเลิศก็มีราคาสูง หากปลอมแบบธรรมดาๆ ก็มีราคาต่ำ ถ้าไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีอย่างแท้จริงแล้ว จะผลิตของปลอมหลากหลายคุณภาพได้อย่างไร ถ้ามีแต่เทคโนโลยีต่ำแล้วก็ผลิตได้แต่ของปลอมคุณภาพแย่ๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี คำว่า “เทคโนโลยีของจีน” นั้นมีความหมายกว้างขวาง เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่มโหฬาร ประชากรกว่า 1,400 ล้านคนในประชากรโลก 7,000 ล้านคน บางบริษัทเอกชนในบางมณฑลก็มีความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตสูง แต่บางแห่งก็ต่ำ หลากหลายกันไป ภาครัฐของส่วนกลางมีความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตสูงที่สุด

สินค้าจีนที่ออกสู่ตลาดโลกจึงถูกผลิตโดยโรงงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตแตกต่างกัน คุณภาพจึงแตกต่างกันด้วย แต่ทั้งหมดก็มุ่งไปสู่ต้นทุนต่ำเป็นหลัก ดังนั้นคุณภาพจึงไม่สูงนัก อย่างไรก็ดี คงจะไม่ผิดถ้าจะกล่าวว่าเทคโนโลยีการผลิตของจีนโดยทั่วไปนั้นไม่ต่ำ หากต่ำก็เพราะ จงใจเพื่อให้มีสินค้าราคาถูกตรงใจผู้บริโภคส่วนใหญ่ของโลก

ในเรื่องโรงแรมที่มีหลากหลายคุณภาพนั้น ทุนมิใช่เป็นคำอธิบาย แต่อุปสงค์ของโรงแรมที่แตกต่างกันต่างหากเป็นผู้กำหนด ถ้าผมเป็นเจ้าของโรงแรมราคาปานกลางที่มีคนมาพักแน่นตามทำเลที่ตั้ง มีกำไรดีทั้งปี เหตุใดผมจึงสมควรทุ่มทุนปรับปรุงโรงแรมให้มีคุณภาพ 5 ดาว ซึ่งต้องมีค่าห้องแพงหูฉี่จนอาจไม่มีคนมาพักมาก

ลักษณะของอุปสงค์บริการโรงแรมที่แตกต่างกัน เป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ที่โรงแรมจำนวนมากมีคุณภาพหลากหลาย ไม่มีเหตุผลที่ทุกโรงแรมจะต้องเป็น 5 ดาวหมด

อเมริกันชนสายพันธุ์ Trump เข้าใจว่าจีนเป็นผู้ทุ่มสินค้าราคาถูกเข้าตลาดอเมริกันจนทำให้คนอเมริกันตกงานเนื่องจากสู้ราคาสินค้าไม่ได้ แต่ความจริงก็คือบริษัทอเมริกันใหญ่ๆ เกือบทั้งหมดนั่นแหละเป็นผู้ไปจ้างบริษัทในจีนให้ผลิตสินค้าของตนในราคาถูกเพื่อฟันกำไรมากๆ อีกทั้งราคาสินค้าก็ไม่สูงขึ้นด้วยถึงแม้ค่าแรงในสหรัฐอเมริกาจะสูงขึ้นก็ตาม

อเมริกันชนได้รับประโยชน์จากการได้ใช้สินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพต่ำลงบ้าง ในขณะที่ค่าแรงสูงขึ้น (ค่าแรงที่แท้จริงสูงขึ้น) อเมริกันชนและจีนจึงอยู่ในสภาพ win-win

ถ้าอเมริกันสายพันธุ์นี้ผลักดันให้สินค้าทั้งหมดผลิตในสหรัฐอเมริกาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือข้าวของในสหรัฐอเมริกาต้องแพงขึ้นอย่างแน่นอน และถ้าค่าแรงไม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกับราคาสินค้าก็หมายความว่าค่าแรงที่แท้จริงจะลดลง

หากนำความเข้าใจเรื่องจีน ปลาดุก และโรงแรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงแล้วก็จะเห็นว่า บ้านที่แข็งแรงที่สุดและสวยที่สุด รถยนต์ที่มีคุณภาพเป็นเลิศที่สุด โรงเรียนที่ดีที่สุด ภรรยาที่สวยที่สุด สะพานถนนที่แข็งแรงที่สุด ฯลฯ นั้นไม่มี ทุกอย่างมีข้อจำกัดทั้งนั้น

ถ้าต้องการบ้านที่แข็งแรงที่สุดก็ต้องใช้โลหะชนิดแข็งแรงและทนทานพิเศษ วางรากฐานกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 6 ฟุต (ต้องมากกว่านี้มากจึงจะแข็งแรงจริง) โครงสร้างเป็นโลหะเบาพิเศษที่แข็งแรง ฯลฯ ส่วนหากจะให้สวยที่สุด (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เพราะทุกคนมีรสนิยมที่แตกต่างกัน) ก็ต้องสรรหาวัสดุและส่วนประกอบอันเป็นเลิศที่สุด (แปลว่าอะไร?) มาใช้ ราคาบ้านในที่สุดคงสูงอย่างไม่กล้าคิด

รถยนต์ที่มีคุณภาพเป็นเลิศที่สุดก็เช่นกัน คือไม่มีในโลก เพราะแค่คำว่า “เป็นเลิศที่สุด” ก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรแล้ว ถ้าจะอนุโลมว่าเลิศที่สุดคือใช้วัสดุคงทนที่สุด แบบประหลาดที่สุด ใช้พลังคนน้อยที่สุด ฯลฯ ก็ต้องมีข้อจำกัดอีกว่าแค่ไหนจึงจะถือว่า “เป็นเลิศที่สุด”

ในเชิงธุรกิจ สินค้าเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า จึงต้องมีอายุอันเหมาะสมกับราคาที่ผู้คนพอซื้อหาได้ในระดับฐานะทางเศรษฐกิจนั้นๆ ถ้าคุณภาพดีมากก็จะมีราคาสูงจนหาคนซื้อไม่ได้ และถ้าคุณภาพต่ำลงมากเกินไป ราคาถูก คนในชั้นเศรษฐกิจนั้นก็จะไม่ซื้อหา

หากจีนสามารถผลิตสินค้าได้ในทุกระดับคุณภาพแล้วก็ต้องถือว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตสูงเป็นแน่ ในช่วงเวลาต่อไปเราก็คงไม่เห็นสินค้าจีนที่มีคุณภาพดีมากเสมอหน้ากันแบบญี่ปุ่นหรือเยอรมัน ทั้งนี้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศใหญ่มาก มีผู้ผลิตจำนวนมหาศาลที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน อีกทั้งมีผู้บริโภคสินค้าจีนที่มีฐานะเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ในโลก การผลิตสินค้าคุณภาพดีมากในราคาสูงเหมือนกันหมด จึงไม่เป็นการสนองตอบที่ถูกต้องเชิงธุรกิจ

ผู้บริโภคไม่บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุดเสมอไปเนื่องจากมีราคาสูง แต่ต้องการใช้สินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งและในระดับราคาที่ตนเองสามารถซื้อหาได้ นี่คือความจริงในเชิงธุรกิจที่ผู้บริโภคพึงตระหนักถึง ส่วนผู้ผลิตนั้นก็ต้องแสวงหาส่วนผสมของคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเสมอ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ม.ค. 2560