ThaiPublica > เกาะกระแส > การลงทุนพลังงานทดแทนของ “เทสโก้ โลตัส” เปลี่ยนเกมธุรกิจค้าปลีก

การลงทุนพลังงานทดแทนของ “เทสโก้ โลตัส” เปลี่ยนเกมธุรกิจค้าปลีก

11 มกราคม 2017


kasem-solar-roofresize
นายเกษมสุข บุญเจริญ รองประธานกรรมการฝ่ายบริหารอสังหาริมทรัพย์และพลังงาน เทสโก้ โลตัส บนหลังคาสโตร์ สาขาปากช่อง หนึ่งใน 13 สาขาที่ติดตั้ง Solar Rooftop ที่จะประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 20% เฉพาะสาขานี้ลดได้ปีละ 3.6 ล้านบาท

ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา “เทสโก้ โลตัส” ในไทยประกาศลงทุน 450 ล้านบาท เพื่อติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในร้านค้าและศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศรวม 13 แห่ง นับเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เคยมีการลงทุนมา

แม้ว่านี่อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกในการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในด้านพลังงานทดแทนของธุรกิจค้าปลีกสัญชาติอังกฤษรายนี้ แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการบริหารจัดการการปล่อยคาร์บอนฯ (carbon management) โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่สามารถนำโครงการด้านพลังงานทดแทนลงมาสู่การปฏิบัติได้จริงในธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งหลังจากเมื่อ 12 ปีก่อน มีการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาครั้งแรกที่เทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1  ปี 2551 กรีนสโตร์ สาขาศาลายา ปี 2554 สโตร์ปลอดคาร์บอน สาขาบางพระ และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขานวมินทร์ กรุงเทพฯ ที่เพิ่งได้รับการรับรองการชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์หรือ carbon neutral จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เมื่อปี 2558 

การลงทุนครั้งนี้เป็นการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในสโตร์หรือร้านค้าของโลตัสใน 8 สาขา ได้แก่ สาขาบ้านบึง อุดรธานี 1 อุดรธานี 2 นาดี ขอนแก่น 2 ปากช่อง อรัญประเทศ ปราจีนบุรี สระบุรี และศูนย์กระจายสินค้าอีก 5 แห่ง คือ วังน้อย สามโคก บางบัวทอง ลำลูกกา ขอนแก่น กระแสไฟฟ้าที่ได้จะมีการนำไปใช้ในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น ฯลฯ

รวมๆ แล้ว คาดว่าจะมีกำลังในการผลิตกระแสไฟฟ้า 15 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าสำหรับกว่า 30,000 ครัวเรือน และหากคำนวณแผงโซลาร์ที่ใช้ติดตั้งทั้งหมด จะมีพื้นที่รวมกว่า 65,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 52 สระ

หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด โครงการนี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนดออกไซด์ได้ 7,925 ตันต่อปี

การมาถึงของเทคโนโลยี กับความเป็นไปได้ในพลังงานทางเลือก

นายเกษมสุข บุญเจริญ รองประธานกรรมการฝ่ายบริหารอสังหาริมทรัพย์และพลังงาน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “ถ้านับจากปี 2547 ที่เทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 เริ่มติดตั้งแผงโซลาร์ครั้งแรก กว่าจะมาถึงวันนี้ใช้เวลาหลายปีเพราะเทคโนโลยีทุกอย่างมันไกลมากในการลงทุน ตอนนั้นดูไม่รู้เลยว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ แต่เป็นการกระตุ้นว่าเราต้องเริ่มแล้ว ในขณะที่โครงการ Solar Rooftop วันนี้ที่เราลงทุนแล้วเครื่องที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ได้ประมาณ 25 ปีและใช้เวลาประมาณ 8-9 ปีที่จะคืนทุน ยิ่งค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งคุ้มทุนเร็วเท่านั้น โดยประเมินว่าภายใต้โครงการนี้จะสามารถลดค่าไฟฟ้าของแต่ละสาขาลงได้ 20% หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้ารวมที่จะลดลงไป 56 ล้านบาทต่อปี”

นายเกษมสุขกล่าวต่อว่า“เรื่องพลังงาน เป็นเรื่องของ Profit and Loss ของบริษัท เป็นหนึ่งบรรทัดที่ช่วยให้เราลดค่าไฟฟ้าไปได้ก็เป็นการช่วยงบดุลของเรา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เวลาเราไปลงทุนพลังงานสาขาไหน เราจะตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าไฟของสาขานั้นเลย ตรงนี้มันตอบโจทย์ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ถึงไม่ใช่โครงการสร้างภาพ และโครงการที่จะมาทำๆ เลิกๆ และทำให้ทิศทางการลงทุนด้านพลังงานของเทสโก้ โลตัส จึงค่อนข้างมีความชัดเจนมากในวันนี้” 

solarrooftopresize

โครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาร้านค้าและศูนย์กระจายสินค้าเริ่มต้นการติดตั้งมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยข้อได้เปรียบในการลงทุนครั้งนี้คือ นอกจากจะช่วยผลิตไฟฟ้ามาเป็นพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในสโตร์แล้ว 20% แผงที่ติดตั้งบนหลังคายังจะช่วยลดอุณหภูมิให้กับอาคารประมาณ 1 องศาเซสเซียส ซึ่งช่วยในการประหยัดพลังงาน

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส ขยายความเพิ่มเติมถึงที่มา“เราได้เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนมากๆ ที่สโตร์แห่งที่ 3  สาขาบางพระ ซึ่งเป็นสโตร์ปลอดคาร์บอน ที่นั่นเราทำโซลาร์ฟาร์มโดยใช้พื้นที่ 1 ไร่จาก 4 ไร่ ซึ่งในที่สุดก็มาถึงข้อจำกัดในการขยายแผงโซลาร์บนพื้นราบ เมื่อเราต้องการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ที่ผ่านมาการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่จากการเรียนรู้ในหลายสาขาที่เราทำเรื่องพลังงานทดแทนมา เราพบว่าที่ที่ดีที่สุดในการทำโซลาร์คือบนหลังคา ทั้งในเรื่องความเหมาะสม การติดตั้งและการลดแสงสะท้อน”

roadmaptesco1cropfutureroadmapcrop

หลังจากดำเนินโครงการเฟสแรกที่นำร่องใน 13 สาขาไปแล้ว ในปี 2560 นี้ เทสโก้ โลตัส เตรียมแผนลงทุนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของร้านค้าในอีก 35 สาขาทั่วประเทศ มีเป้าหมายรวม 20 เมกะวัตต์ รวมไปถึงการใช้ศักยภาพพื้นที่บนหลังคาทั้งหมด 1 ล้านตารางเมตร ในระยะยาวคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 150 เมกะวัตต์ โดยการลงทุนเฟสแรกได้รับการสนับสนุนจาก เทสโก้ กรุ๊ป  และทำให้โครงการนี้ถือเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่จะเป็นต้นแบบให้กับเทสโก้ทั่วโลก โดยเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ถือเป็นเทสโก้นอกสหราชอาณาจักรซึ่งมีขนาดธุรกิจใหญ่ที่สุดจาก 14 ประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยมีสาขามากถึง 1,800 สาขา ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นลำดับที่ 2 มีการปล่อยก๊าซ 829,797 ตันต่อปี รองจากสหราชอาณาจักรที่ตั้งบริษัทแม่ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง  2,539,112 ตันต่อปี

การลงทุนด้านพลังงานทดแทนครั้งใหม่นี้ จะทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563  อย่างที่เทสโก้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้

ลดคาร์บอน 50% ความเป็นไปไม่ได้ที่กำลังจะเป็นไปได้

ย้อนไปเมื่อปี 2552 Sir Terry Leahy ประธานของเทสโก้ ได้ประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 และต้องการบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2563  ในเวลานั้นเทสโก้เป็นธุรกิจเป็นธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ลำดับ 4 ของโลก มีกว่า 4,800 สาขาใน 14 ประเทศ มีพนักงานรวม 472,000 คน และมียอดขายรวมของทั้งกรุ๊ป 62,500 ล้านปอนด์ และขยายธุรกิจอยู่ทุกปี โดยเฉพาะในตลาดใหม่ เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ของเทสโก้จึงเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกว่าเป็นเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานอย่างยิ่ง

เพราะในธุรกิจค้าปลีก แหล่งที่มาของพลังงานที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดราว 60% อยู่ที่การใช้ไฟฟ้า และอีกประมาณ 19.1% อยู่ที่ระบบความเย็น ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสัมพันธ์กับการขยายสาขาหรือเพิ่มพื้นที่สโตร์ ซึ่งนั่นหมายถึงยิ่งขยายธุรกิจมาก ขยายสาขามาก และมีพื้นที่มากขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ตัวอย่างที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในช่วงปี 2555 แม้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซฯ ลง 16% แต่ตัวเลขในภาพรวมกลับสูงขึ้นถึง 17% ซึ่งเท่ากับว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนหลายสำนักประเมินตรงกันว่า มีโอกาสที่จะทำได้เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น(ดูเพิ่มเติมที่นี่)

อย่างไรก็ตาม การประกาศของเทสโก้ ในครั้งนั้น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจค้าปลีก โดยเทสโก้ไม่เพียงจะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการคาร์บอนในธุรกิจค้าปลีก ยังได้รับการจัดอันดับในฐานะธุรกิจที่ยั่งยืน โดยติดอันดับ FTSE4Good และ DJSI (Dow Jones Sustainablity Index) รวมถึงการได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน

ในรายงานคาร์บอนฟุตปรินท์ฉบับล่าสุดของเทสโก้ ปี 2558/2559  แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงาน โดยชี้ให้เห็นถึงอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อตารางฟุตของร้านค้าและศูนย์กระจายสินค้า ที่ลดลงจากปี 2549 ถึง 39.5% เข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยความก้าวหน้าสำคัญมีตั้งแต่ค่าเฉลี่ยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 3.1% ต่อปี ลดการปล่อยสารให้ความเย็น 26.5% เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

กลยุทธ์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ว่าด้วยการลดต้นทุน-คุมความเสี่ยง

tescocustomerresize
เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ 50% ภายในอีก 4 ปีจากนี้ ในเวลาที่ผ่านมามาตรการอนุรักษ์พลังงานหลายอย่างถูกนำมาใช้รวมถึงการเปลี่ยนตู้เย็นสำหรับแช่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาลงไปให้มีประตูปิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในแง่ของการขาย แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าในเวลาที่ผ่านมายอดขายไม่ได้ลดลง ขณะที่ใช้พลังงานลดลง

tescofruiteresize

จากการศึกษาของEurofoundเกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวของเทสโก้ พบว่า ปัจจัยความสำเร็จของเทสโก้อยู่ที่การมองเห็นโอกาสในการกำหนดตำแหน่งให้ตัวเองเป็นผู้นำธุรกิจในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับติดตามการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริหารระดับสูงในการยอมรับให้เรื่องนี้อยู่ในการทำกำไรระยะยาว การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงกลยุทธ์ลดการปล่อยคาร์บอน ที่มาพร้อมกับการมองเรื่องการลดต้นทุนควบคู่ไปกับความเสี่ยงของธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการลดการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่ใช้มากในธุรกิจค้าปลีก ได้แก่ การใช้พลังงานในอาคาร การใช้พลังงานจากการขนส่งสินค้า และก๊าซที่เกิดจากระบบทำความเย็น

ในฐานะรองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส นายชาคริตกล่าวว่า แผนความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัส ในไทยให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน 1. ตัวเราเอง 2. การทำงานร่วมกับลูกค้าของเรา 3. การทำงานร่วมกับชุมชน โดยกิจกรรมที่ทำนั้นมีความแตกต่างกันแต่เป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวกันในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนต่ำ ที่ผ่านมาเทสโก้ได้ทำให้สาขาของเทสโก้ โลตัส ในไทยเป็นสาขาที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด ขณะเดียวกันยังทำงานกับลูกค้าโดยเฉพาะการรณรงค์สื่อสารเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก และการทำงานกับชุมชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมการปลูกต้นไม้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำควบคู่ไปด้วย

“ในไทยวันนี้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้แล้วกว่า 30% แม้ว่าจะดูเหมือนค่อยๆ ลดลง แต่การที่เทคโนโลยีเปลี่ยน เราเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ได้อย่างแน่นอน” นายชาคริตกล่าว

สำหรับมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงานในด้านต่างๆ ของเทสโก้ โลตัส ได้แก่ การเปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED 100% ใน 1,800 สาขา การทำประตูเพื่อปิดตู้แช่อาหาร การใช้พลังงานทดแทนในรถขนส่ง รวมถึงการทำระบบปรับอากาศในศูนย์โดยทำให้ Cooling Tower สามารถระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สาขาใหม่ที่ก่อสร้างมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบปรับอากาศทำความเย็นในระบบ VRV ที่ปรับอุณหภูมิได้ตามการใช้งาน ซึ่งทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้นเป็นลำดับ รวมไปถึงอนาคตในการก่อสร้างสาขาใหม่ๆ อาจจะมีการติดตั้งหลังแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าไปตั้งแต่ในช่วงของการก่อสร้างอีกด้วย

นี่จึงเป็นก้าวสำคัญในการเดินทางของเทสโก้ โลตัส ที่จะช่วยสร้างความเป็นไปได้ของธุรกิจค้าปลีกคาร์บอนต่ำประเทศไทย