ThaiPublica > คอลัมน์ > 10 อันดับความเสี่ยงสูงสุดในปี 2017 เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะ G-Zero ขาดประเทศที่เป็นผู้นำ

10 อันดับความเสี่ยงสูงสุดในปี 2017 เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะ G-Zero ขาดประเทศที่เป็นผู้นำ

8 มกราคม 2017


risk-coverปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

Eurasia Group บริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียง ได้เผยแพร่เอกสาร Top Risks 2017: The Geopolitical Recession ที่ระบุเหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเป็น 10 ความเสี่ยงสูงสุดของปี 2017 โดยกล่าวว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้โลกเราเข้าสู่ภาวะ G-Zero เต็มที่ คือโลกอยู่ในภาวะที่ไม่มีประเทศที่แสดงบทบาทเป็นผู้นำ

การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นแบบ G-Zero ปรากฏให้เห็นชัดเจน สหรัฐฯ สนใจน้อยลงที่จะรับผิดชอบการเป็นผู้นำโลก พันธมิตรสหรัฐฯ ในยุโรปมีสภาพที่อ่อนแอลง ที่ทำได้คือฝากความหวังไว้กับเจตนาของสหรัฐฯ ส่วนรัสเซียและจีนพยายามแสดงออกให้เห็นว่าตัวเองเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับบทบาทของรัสเซียคือการขยายพรมแดนความมั่นคงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนบทบาทจีนคือขยายพรมแดนเศรษฐกิจในเอเชีย และในส่วนอื่นๆ ของโลก

การเปลี่ยนด้านภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมาจากกระแสการต่อต้าน “โลกาภิวัตน์” ที่เริ่มจากตะวันออกกลาง ต่อมาเกิดขึ้นในยุโรป และในสหรัฐฯ ตลอดปี 2016 ภาวะ G-Zero เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก เช่น Brexit ทำให้กลุ่มพันธมิตรแอตแลนติกสั่นคลอน การพังทลายของข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศแตกหักกับสหรัฐฯ ทำให้นโยบาย “เอเชียเป็นศูนย์กลาง” ของสหรัฐฯ มาถึงจุดจบ และชัยชนะของรัสเซียในซีเรีย โดยการหนุนหลังประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด

ชัยชนะของทรัมป์ที่โลกตกตะลึง ทำให้โลกเราเข้าสู่ภาวะ G-Zero เต็มที่ นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ให้ “อเมริกามาก่อน” เป็นการแตกหักกับนโยบายที่เคยยึดถือมาหลายทศวรรษ เมื่อครั้งที่สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศมหาอำนาจเดียวในโลก ประเทศที่โลกขาดไม่ได้ เป็นการสิ้นสุดของ “ยุคอเมริกา” ที่อำนาจนำของสหรัฐฯ ในเรื่องความมั่นคง การค้า และการส่งเสริมค่านิยม เคยทำหน้าที่เป็นรางให้ขบวนรถไฟเศรษฐกิจโลกใช้วิ่ง

Eurasia Group กล่าวว่า 2017 คือปีที่โลกเราเข้าสู่ช่วงการถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยการถดถอยเริ่มต้นจาก

1. อเมริกาที่คาดการณ์ไม่ออก

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

นโยบายของทรัมป์ที่ว่า “อเมริกามาก่อน” และ “สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีก” หมายถึงสหรัฐฯ เป็นอิสระจากความรับผิดชอบที่มีต่อกิจการโลก ต่อองค์กรระหว่างประเทศ และต่อพันธมิตร นับจากนี้ต่อไป ทรัมป์จะใช้อำนาจของสหรัฐฯ เพื่อบรรลุผลประโยชน์สหรัฐฯ โดยแทบไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อวงกว้างอย่างไร ไม่มีอีกแล้วที่สหรัฐฯ จะดำเนินการในสิ่งที่เป็น “สาธารณะประโยชน์” (public goods) ของโลก เช่น เสถียรภาพและเจริญรุ่งเรืองของโลก

ในทางเศรษฐกิจ หมายถึง “นโยบายปกป้องอุตสาหกรรม” ทรัมป์เป็นคนไม่เชื่อเรื่องระบบการค้าเสรีที่เป็นอยู่ เขามองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติของสหรัฐฯ เป็นพวกที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองโดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของคนงานอเมริกัน ทรัมป์จะใช้นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ แก้ไขข้อตกลงการค้าเสรี ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากขึ้น และกดดันให้บริษัทอเมริกันลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น

นโยบายของทรัพป์ทำให้เกิดความเสี่ยงหลายอย่าง ประการแรก คือ ความปั่นป่วนในโลกมากขึ้น เพราะขาดประเทศมหาอำนาจที่จะทำหน้าที่กดดันให้เกิดการประนีประนอมหรือสันติภาพ โดยเฉพาะในยุโรป ที่ระบบความมั่นคงอ่อนแอลง และในตะวันออกกลาง ที่แต่ละชาติในภูมิภาคนี้ต่างก็จะแข่งขันกัน ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น ประการต่อมา คือ บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือธนาคารโลก ที่รัฐบาลทรัมป์จะเข้าไปตรวจสอบว่า เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน

2. ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เลยเถิดของจีน

ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

2017 เป็นปีที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 19 ในปลายปีนี้ การประชุมครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของผู้นำ ซึ่งจะมีความหมายสำคัญต่ออนาคตของจีนข้างหน้า และต่อประเทศอื่นๆ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รู้ดีว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่อันตรายหากจะแสดงออกใดๆ ที่ทำให้คนจีนเห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่อ่อนแอและไม่เด็ดขาด ในปีนี้ ผู้นำจีนจะอ่อนไหวต่อการท้าทายที่มีต่อผลประโยชน์ของจีน เพราะทุกฝ่ายกำลังจับตามองความเป็นผู้นำของเขา ทำให้ความตึงเครียดระหว่างประเทศสามารถขยายตัวออกไปได้ ซึ่งก็มีประเด็นมากมาย เช่น นโยบายของทรัมป์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีเหนือ และทะเลจีนใต้

ในเวลาเดียวกัน การให้ความสำคัญต่อความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ อาจทำให้สี จิ้นผิงใช้นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เลยเถิด เมื่อมีสัญญาณที่แสดงว่า จะมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น เช่น ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากมีสัญญาณว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ หรือมาตรการการควบคุมเงินตรา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความวิตก หากใช้นโยบายที่ผิดพลาดขึ้นมา ก็จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกแปรปรวน

3. อำนาจที่ลดลงของอังเกลา แมร์เคิล

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

นับจากวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน ยุโรปสามารถจัดการปัญหาวิกฤตินี้ได้ เพราะอาศัยเยอรมันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล คำถามมีอยู่ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปจะมีทางออกหรือไม่ หรือกลุ่มยูโรโซนยังรวมกันได้หรือไม่ หากไม่มีเยอรมันเป็นผู้นำ ปี 2017 นางแมร์เคิลจะประสบปัญหาหลายอย่างที่กัดกร่อนความเป็นผู้นำของเธอ เช่น ปัญหาผู้อพยพกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น บริษัทชั้นนำของเยอรมันประสบวิกฤติทางธุรกิจครั้งใหญ่ เช่น โฟล์กสวาเกน และธนาคารดอยซ์แบงก์

แม้ในการเลือกตั้งของเยอรมันในปีนี้ นางแมร์เคิลคงจะได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้นำเยอรมันอีกเป็นสมัยที่ 4 เพราะคนเยอรมันแทบทั้งหมดเห็นประโยชน์จากสหภาพยุโรปและกลุ่มยูโรโซน แต่การที่ต้องผ่อนปรนกับเสียงวิจารณ์ในประเทศ ทำให้ฐานะการเป็นผู้นำของเธออ่อนแอลง นอกจากนี้ ยุโรปจะเผชิญปัญหาท้าทายมากขึ้น เช่น การเลือกตั้งในฝรั่งเศส ฐานะการเงินของกรีซ การเจรจาเรื่อง Brexit ความสัมพันธ์กับรัสเซียกับตุรกี ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างแมร์เคิลกับทรัมป์คงจะไม่ราบรื่น เหมือนกับสมัยของโอบามา เพราะทรัมป์ไม่ได้ชื่นชมอะไรในค่านิยมที่เธอยึดถืออยู่ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือหลักนิติธรรม

4. ปีที่ไม่มีการปฏิรูป

ความเป็นผู้นำจะขาดหายไปอีกด้านหนึ่ง คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจ ผู้นำของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา จะหลีกเลี่ยงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจชะงักลงไป รวมทั้งโอกาสใหม่ๆ ของนักลงทุน ผู้นำบางประเทศ เช่น นเรนทระ โมที ของอินเดีย รู้สึกว่าตัวเองได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนสี จิ้นผิง ของจีน คงจะพยายามรักษาสภาพเดิมไปก่อนจนกว่าจะเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปลายปีนี้ ในเยอรมันและฝรั่งเศสคงต้องรอหลังจากการเลือกตั้งในปลายปีนี้ ส่วนเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ต้องหมกมุ่นกับเรื่อง Brexit ขณะที่บราซิล ไนจีเรีย และซาอุดีอาระเบีย ล้วนมีแผนการปฏิรูปครั้งใหญ่ แต่ขาดปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุน

5. เทคโนโลยีกับตะวันออกกลาง

ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศในตะวันออกกลางมีฐานะอ่อนแอลงมาตลอด ความชอบธรรมที่มีอยู่มาจากแรงสนับสนุนจากภายนอกและรายได้น้ำมัน ส่วนสหรัฐฯ ให้หลักประกันด้านความมั่นคง ทุกวันนี้ ปัจจัยเหล่านี้ค่อยๆ ขาดหายไป เทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจก็กลายเป็นตัวเร่งทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การปฏิวัติด้านพลังงานในสหรัฐฯ ที่สกัดน้ำมันจากหินทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำลง การสื่อสารสมัยใหม่ทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น คนที่ไม่พอใจรัฐบาลก็สามารถสื่อสารข้อความกันได้ง่ายขึ้น ความลับทำให้รัฐบาลเผด็จการในตะวันออกกลางมีเสถียรภาพ แต่ Wikileaks ทำให้รัฐบาลหลายประเทศในโลกต้องลาออก หากความโปร่งใสแบบนี้ที่เรียกว่า “การบังคับให้โปร่งใส” เกิดขึ้นกับซาอุดีอาระเบีย จะมีผลอย่างไร

6. การเมืองแทรกแซงธนาคารกลาง

เป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ กลุ่มยูโรโซน และอังกฤษ ถูกโจมตี ทำให้ 2017 เป็นปีที่มีความเสี่ยงต่อตลาดเงินทั่วโลก เพราะบทบาทของธนาคารกลางอาจพลิกกลับด้าน แทนที่จะเป็นสถาบันการเงินแบบมืออาชีพ ที่สร้างเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ เทเรซา เมย์ วิจารณ์ธนาคารกลางอังกฤษว่า ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนออมเงินเสียหาย และไปเพิ่มความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ รัฐมนตรีคลังของเยอรมันวิจารณ์ว่า นโยบายดอกเบี้ยต่ำทำให้ประเทศยุโรปใต้ขาดแรงจูงใจที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ และโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน

ในสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างธนาคารกลางกับทำเนียบขาว เรื่องการคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจ ทรัมป์สัญญาว่าจะใช้นโยบายการคลังที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น หากนาคารกลางสหรัฐฯ มีปฏิกิริยาโดยเพิ่มดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ ก็จะเกิดความขัดแย้งด้านนโยบายขึ้นมา ดอกเบี้ยสูงขึ้นจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง ส่วนเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้คำมั่นสัญญาของทรัมป์ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงไม่บังเกิดผล เมื่อตำแหน่งของนางเจเนต เยลเลน ประธานธนาคารกลางครบวาระในเดือนมกราคม 2018 ทรัมป์ก็คงจะตั้งพรรคพวกตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน

7. ทำเนียบขาวกับซิลิคอนแวลลีย์

ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

ทรัมป์ส่งสัญญาณหลายครั้งที่จะเล่นงานบริษัทของสหรัฐฯ คำว่าเล่นงานของทรัมป์หมายถึงการมีข้อตกลงที่ดีสำหรับคนอเมริกัน เช่น บริษัท Carrier ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ ได้รับการลดหย่อนภาษี แลกกับการคงการจ้างงานไว้ในสหรัฐฯ แต่ความขัดแย้งระหว่างทรัมป์กับบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์เป็นประเด็นที่แตกต่างออกไป ผู้ประกอบการในซิลิคอนแวลลีย์มองโลกต่างจากทรัมป์ ความคิดของทรัมป์เป็นเรื่องความมั่นคง ส่วนความคิดของซิลิคอนแวลลีย์คือเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ทรัมป์ต้องการให้เกิดการจ้างงาน แต่ซิลิคอนแวลลีย์ต้องการระบบการทำงานอัตโนมัติจากปัญญาประดิษฐ์

ประเด็นที่จะเป็นความขัดแย้งคือเรื่องโซเชียลมีเดีย ทรัมป์มีความสามารถในการใช้ประโยชน์ทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งมาแล้ว พวกซิลิคอนแวลลีย์กำลังดำเนินการที่จะจำกัดการแพร่ระบาดของข่าวเท็จต่างๆ จุดนี้ทำให้ทรัมป์วิตกกังวล เพราะจะไปกระทบวิธีการสร้างความนิยมของเขา นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็นเรื่องการจ้างงาน ที่แล้วมา ทรัมป์พูดเรื่องปัญหาการจ้างงานที่หายไปเพราะโลกาภิวัตน์ แต่เขายังไม่ได้พูดถึงสาเหตุ ที่มาจากระบบอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์

8. ตุรกี

นับตั้งแต่รัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 เป็นต้นมา ตุรกีก็ประสบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดอัน (Tayyip Erdogan) อาศัยเหตุการณ์นี้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อเข้าควบคุมการบริหารงานรัฐ ยึดครองฝ่ายตุลาการ ข้าราชการ และสื่อมวลชน และจะให้มีการลงประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีแบบไม่มีการถ่วงดุล การรวบอำนาจของแอร์โดอันจะยิ่งสร้างแรงกดดันและความเสี่ยงต่อตุรกี ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

9. เกาหลีเหนือ

ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017
ที่มาภาพ : http://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2017

Eurasia Group กล่าวว่า ที่แล้วมา เกาหลีเหนือถือกันว่าเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความเสี่ยงที่สำคัญ แต่ 2017 จะเป็นปีที่มีเรื่องใหญ่กับประเทศนี้ เพราะความก้าวหน้าของเกาหลีเหนือด้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ที่ปัจจุบันอาจมีวัตถุดิบที่สามารถทำระเบิดนิวเคลียร์ได้ 20 ลูก กำลังมีความคืบหน้าในเรื่องการสร้างหัวรบนิวเคลียร์ที่เล็กลง และการสร้างขีปนาวุธข้ามทวีป ที่สามารถโจมตีฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ

รัฐบาลสหรัฐฯ ถือว่าจุดนี้คือเส้นสีแดง (Red Line) ที่เกาหลีเหนือจะข้ามมาไม่ได้เด็ดขาด

ความเสี่ยงที่สำคัญมี 2 อย่าง ประการแรก รัฐบาลทรัมป์กดดันหนักต่อจีนเรื่องการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้นต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งก็จะทำให้เกิดวิกฤติความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับจีน จีนปฏิเสธที่จะทำตามเพราะเกรงว่าเกาหลีเหนือจะพังลง ความเสี่ยงประการที่ 2 รัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้หันไปใช้นโยบายการทูตแทนการกดดันเกาหลีเหนือ ถ้าทรัมป์มีท่าทีที่แข็งกร้าว ก็จะสร้างวิกฤติระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ขึ้นมา และเป็นชนวนทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ขึ้นมาใหม่

10. แอฟริกาใต้

การเมืองของแอฟริกาใต้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค African National Congress (ANC) ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ประธานาธิบดีจาคอบ ซูมา (Jacob Zuma) ไม่ยอมลงจากอำนาจ แม้จะเกิดข้อกล่าวหามากมาย ในปี 2017 ความขัดแย้งภายในพรรค ANC จะรุนแรงขึ้น เพราะจาคอบ ซูมา ไม่ต้องการมอบอำนาจให้กับคนที่เขาไม่ไว้วางใจ สิ่งที่เป็นความเสี่ยงก็คือ แอฟริกาใต้จะแสดงบทบาทที่น้อยลงในการรักษาความสงบมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน ที่แล้วมา แอฟริกาใต้เคยทำหน้าที่เป็นคนกลางแก้ปัญหาความขัดแย้งใน ซิมบับเว โมซัมบิก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้นำของแอฟริกาใต้ทำให้บทบาทการสร้างเสถียรภาพของแอฟริกาใต้ลดลงไปด้วย

รายงานของ Eurasia Group เรียกความเสี่ยงปี 2017 ว่าเป็นการถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ไม่ถึงกับเป็นการตกต่ำครั้งใหญ่ ที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางทหารระหว่างประเทศ หรือการล่มสลายของประเทศใหญ่ๆ แต่ภาวะเช่นว่านี้เป็นเรื่องที่คาดคิดได้เช่นกัน เพราะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากระบบความมั่นคงระหว่างประเทศอ่อนแอลงไป และความหวาดระแวงที่มีเพิ่มมากขึ้นในหมู่ประเทศที่มีอำนาจมากสุด