ThaiPublica > คนในข่าว > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” แนะปรัชญาการพัฒนาภาคเกษตรและชนบทให้ยั่งยืน “ต้องวิ่งมาราธอน” ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” แนะปรัชญาการพัฒนาภาคเกษตรและชนบทให้ยั่งยืน “ต้องวิ่งมาราธอน” ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9

12 มกราคม 2017


English Version

วันที่ 12 มกราคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาหัวข้อ "การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาการเกษตรและชนบท" จัดโดยสมาคมนักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเชีย
วันที่ 12 มกราคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาหัวข้อ “การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาการเกษตรและชนบท” จัดโดยสมาคมนักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเชีย

วันที่ 12 มกราคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาการเกษตรและชนบท” (Application of Sufficiency Economy Philosophy in Agricultural and Rural Development) จัดโดยสมาคมนักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเชีย (Asian Society of Agricultural Economists: ASAE) มีรายละเอียดดังนี้

“ผมขอขอบคุณสมาคมนักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเชีย ที่ให้เกียรติผมมาบรรยายในการประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมเคยทำวิจัยในด้านนี้ขณะทำงานที่สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (International Food Policy Research Institute) แต่ไม่ได้ติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องเหมือนกับหลายท่านในที่นี้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ การบรรยายครั้งนี้ผมจึงพยายามมองย้อนประสบการณ์ในอดีต ค้นคว้าในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสัมมนาครั้งนี้”

บทนำ

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลายประเทศเสียหายอย่างหนัก เศรษฐกิจโลกแทบหยุดชะงัก ภายหลังสงครามทุกประเทศต่างมุ่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอันเป็นแนวทางหลักในการแสวงหาความมั่งคั่ง จนหลายประเทศประสบความสำเร็จขยับฐานะจากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวย ในภาพรวมความยากจนลดลงและมาตรฐานการดำรงชีวิตในหลายด้านดีขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 795 ล้านคนใน 52 ประเทศ ยังเผชิญกับสภาพความหิวโหย ที่สำคัญ 1 ใน 4 เป็นเด็กที่อยู่ในสภาพขาดสารอาหารและแคระแกร็น พวกเขาดำรงชีวิตด้วยเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน (ประมาณ 45 บาทต่อวัน) ยิ่งกว่านั้น ในหลายกรณี การพัฒนาต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า หากอัตราการตัดไม้ทำลายป่ายังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องดังเช่นปัจจุบัน ภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี เราจะไม่เหลือผืนป่าบนโลกใบนี้

เพื่อแก้ปัญหานี้ องค์การสหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals) 17 ประการ เป้าหมายหนึ่งคือ ขจัดความอดอยาก (Zero Hunger) และส่งเสริมความยั่งยืนในการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม เครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่เป้าหมายนี้ได้ คือ การพัฒนาภาคเกษตร กล่าวคือ ภาคเกษตรมีนัยโดยตรงต่อการผลิตอาหารเลี้ยงประชาคมโลก และยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอื่นด้วย เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สุขาภิบาลและน้ำสะอาด การมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอ ลดความเหลื่อมล้ำ และการขจัดความยากจน เป็นต้น

คำถามสำคัญคือ พวกเราจะพัฒนาภาคเกษตรและชนบทให้สำเร็จและยั่งยืนได้อย่างไร เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขอร่วมเสนอมุมมองใน 3 ประเด็น คือ

    1. สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาภาคเกษตรและชนบทไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
    2. การพัฒนาภาคเกษตรและชนบทไทย และจุดเริ่มต้นของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    3. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: แนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

1. สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาภาคเกษตรและชนบทไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาภาคเกษตรและชนบทเป็นองค์ประกอบสำคัญที่บรรจุในแผนพัฒนาของหลายประเทศ แต่ทว่าผลการพัฒนาในภาพรวมกลับไม่ค่อยก้าวหน้าและไม่ยั่งยืนนัก แสดงให้เห็นอาการ “เกาไม่ถูกที่คัน” ซึ่งสะท้อน “จุดบกพร่อง” ในกลไกการขับเคลื่อนจึงไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลัง

คำถามที่อยู่ในใจหลายท่านรวมถึงผมจึงหนีไม่พ้นว่า อะไรคือต้นตอของเหตุนี้

ผมคิดว่า สาเหตุมาจากปัจจัยสำคัญ 3 อย่าง

อันดับแรก คือ เป้าหมายการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการใช้ GDP เป็นเครื่องชี้หลักในการพัฒนา และเป็นเครื่องชี้ที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก การที่ทุกฝ่ายมุ่งใช้ GDP เป็นเครื่องวัดความสำเร็จอาจทำให้ประเทศเดินหน้าผิดทิศได้ เพราะลำพังตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอาจจะไม่ได้แปลว่าอานิสงส์ของการพัฒนาจะตกไปถึงประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม

เมื่อมองย้อนทิศทางของการพัฒนา พบว่า ขณะที่ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่จ้างงานมากที่สุดในโลก (ประมาณ 40% ของแรงงานในโลก) แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ของ GDP โลก สะท้อนกลยุทธ์ที่เน้นการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและสร้างความแข็งแกร่งแก่ชุมชนเมือง และแน่นอนว่า การกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาย่อมเบี่ยงเบนไปสู่ภาคที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (ปี 2544) เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “What we measure informs what we do. And if we’re measuring the wrong thing, we’re going to do the wrong thing.” หรือแปลง่ายๆ ว่า “อะไรที่เราวัด เป็นตัวชี้ว่าเราต้องทำอะไร และถ้าเรากำลังวัดในสิ่งที่ผิด หมายถึงเรากำลังทำในสิ่งที่ผิด”

อันดับสอง คือ แก้ปัญหาด้วยมุมมองระยะสั้น กล่าวคือ ความเป็นปุถุชน ทำให้บ่อยครั้งเรามักอดไม่ได้ที่จะรู้สึกพอใจกับสิ่งล่อใจที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน มากกว่าจะรอคอยกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งยังไม่เห็น คล้ายสุภาษิตไทยที่ว่า “สิบเบี้ยใกล้มือคว้าไว้ก่อน” และมีนัยสอดคล้องกับคำกล่าวของ Oscar Wilde นักเขียนชาวอังกฤษที่ว่า “I can resist anything except temptation” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ผมสามารถต้านทานอะไรก็ได้ทั้งนั้น ยกเว้นสิ่งล่อใจ”

ในระดับองค์กร การที่ผู้ถือหุ้นต้องการที่จะได้รับเงินปันผลในระยะสั้น บ่อยครั้งก็ทำให้ผู้บริหารมองข้ามการลงทุนที่ช่วยวางรากฐานซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อองค์กรในระยะยาว ปรากฏการณ์ลักษณะนี้คล้ายกับการพัฒนาในภาคเกษตร ที่มุ่งเพิ่มผลผลิตให้ได้มากๆ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหันมาพึ่งสารเคมีและยาฆ่าแมลง สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคแล้วยังสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศด้วย

ในระดับรัฐบาล ในช่วงที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องให้เงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแก่เกษตรกรที่ยากจน แต่ที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ คือ ด้วยความกลัวที่จะเสียคะแนนนิยม รัฐบาลจึงไม่สามารถยกเลิกมาตรการอุดหนุนแม้จะตั้งใจทำเพียงชั่วคราว ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า “กับดักเงินอุดหนุน” (subsidy trap) ประสบการณ์ของหลายประเทศชี้ว่า การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้จะไม่ยั่งยืนในระยะยาว กล่าวคือ ไม่เพียงไม่สามารถช่วยให้ภาคเกษตรพัฒนาได้อย่างยั่งยืนแล้ว ในบางกรณีที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ก็ย่อมมีนัยต่อความยั่งยืนทางการคลังด้วย

อันดับสาม คือ การมองและแก้ปัญหาแบบแยกส่วน กล่าวคือ การตีกรอบปัญหาด้วยการแยกมุมคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามหาทางแก้ไขเฉพาะจุดที่อยู่ในความสนใจ จนละเลยปัญหาอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ทั้งที่โดยธรรมชาติของสรรพสิ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแทบจะทุกปัญหาที่เราเผชิญมีความเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนจนไม่สามารถแยกเพียงบางส่วนมาแก้ไขให้ดีขึ้นได้เพียงลำพัง

การพัฒนาภาคเกษตรมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติของคน สัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อม การศึกษา บทบาททางสังคมของหญิงและชาย ความยากจน นโยบายการเกษตรและเทคโนโลยี จนถึงนโยบายการกระจายอำนาจของภาครัฐ ที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในหลายสาขามาร่วมแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ดังนั้น การบูรณาการองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในสาขาที่แตกต่างกัน และระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เราเผชิญขณะนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

การมองปัญหาแบบแยกส่วนจึงเปรียบเสมือน “การกำหนดให้สิ่งอื่นๆ คงที่” ยกเว้นปัจจัยที่อยู่ในความสนใจ ทำให้ข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย “บิดเบี้ยว” ไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นและมีส่วนทำให้มอง “ไม่เห็นจุดที่คัน” ชัดเจน และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ยั่งยืนในที่สุด

2. การพัฒนาภาคเกษตรและชนบทไทย และจุดเริ่มต้นของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แม้ปัญหาข้างต้นจะเหนี่ยวรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและชนบท แต่ด้วยความสำคัญและผลกระทบที่มีต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก นักพัฒนา ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรหลายแห่งพยายามคิดและมุ่งมั่นจัดการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ด้วยความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ จนเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างในหลายพื้นที่ของโลก ตัวอย่างเช่น

Ashoka ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรก่อตั้งโดยนาย Bill Drayton ในปี 2523 โดย Ashoka มุ่งร่วมมือกับผู้ประกอบการเอกชนที่มีนวัตกรรมการแก้ปัญหาและต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม หนึ่งในความสำเร็จคือ ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรของ Ashoka และ Amanco ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบจัดการน้ำมาช่วยเกษตรกรรายย่อยในเม็กซิโกให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการชลประทาน เมื่อเกษตรกรมีระบบชลประทานดีขึ้นและผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย

Grameen Bank ในบังกลาเทศ ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ Muhammad Yunus ซึ่งท่านได้แรงบันดาลใจ จากสภาวะที่ผู้คนเผชิญกับความอดอยากแห้งแล้ง จึงตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาชุมชน มุ่งให้บริการให้กู้ยืมแก่คนยากจนในชนบท โดยมีแนวคิดหลักคือ “การให้กู้ยืมเงินแบบเป็นกลุ่ม” (solidarity lending) กล่าวคือ เป็นการปล่อยเงินกู้ให้คนจนด้วยการอนุมัติเงินกู้เป็นกลุ่มแทนการกู้รายบุคคล เพื่อใช้แรงกดดันของกลุ่มมาผลักดันให้สมาชิกชำระหนี้ตรงเวลา และส่งเสริมให้คนในกลุ่มช่วยตักเตือนกัน ไม่ให้ใช้จ่ายในสิ่งที่เกินความจำเป็น การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จและสร้างประโยชน์แก่คนในวงกว้าง ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2549

สำหรับประเทศไทยนับว่า “โชคดีมาก” ที่เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงเป็นเสาหลักด้านการพัฒนาการเกษตรและชนบท ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของภาคเกษตรที่จะมีผลต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกร ท่านทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะไม่ทรงประทับอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะพสกนิกรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ท่านทรงใช้เวลา 8 เดือนต่อปีเสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะชนบทที่ห่างไกลและเข้าถึงยาก เพื่อเก็บข้อมูลและพยายามทำความเข้าใจปัญหาในภาคเกษตร และทรงริเริ่มโครงการวิจัยและการทดลองต่างๆ ที่จะสร้างความกระจ่างถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ยากลำบากและยากจน

การพัฒนาปัจจัยการผลิต: น้ำและดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพบข้อสรุปว่า ปัญหาหลักในเบื้องแรกของภาคการเกษตรคือ “การขาดแคลนน้ำและคุณภาพดินต่ำ” ท่านจึงทรงให้ความสำคัญในการเพิ่มจำนวนแหล่งน้ำและปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตหลัก

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับ “การชลประทาน” ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ฝาย อ่างเก็บน้ำ รวมถึงแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำฝนที่ผันแปร และคลาดเคลื่อนจากฤดูกาลของธรรมชาติ ทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง “โครงการฝนหลวง” และทรงสละพระราชทรัพย์ และทรงค้นคว้าวิจัยด้วยพระองค์เองถึง 14 ปี จนสามารถพัฒนาเทคนิคก่อกวนให้เกิดเมฆ เลี้ยงเมฆให้อ้วน และบังคับให้เกิดเป็นฝนเทียมจนสำเร็จ

การปรับปรุงคุณภาพดิน กล่าวคือ บางพื้นที่เป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้หลัก “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” จนเกษตรกรสามารถเพาะปลูกจนได้ผลผลิตเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต และหลายประเทศในโลกนำหลักการแก้ปัญหาดินของท่านไปใช้จนให้ผลเป็นที่ประจักษ์ และในปี 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) มีมติให้ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) และต่อมา FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของท่านเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

จากพระราชดำรัสสู่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แม้การแก้ปัญหาแหล่งน้ำและดินสามารถตอบโจทย์ด้านปัจจัยการผลิต แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ กล่าวคือ แม้น้ำและดินอุดมสมบูรณ์ หากเกษตรกรใช้เพาะปลูกเกินศักยภาพ (Over Farming) ย่อมทำให้ความอุดมสมบูรณ์หมดไปได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักว่า การพัฒนาจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับต้องมี “ค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง” (The right and appropriate values and mindset) ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หัวใจอยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิถีและรูปแบบการคิดของคนในสังคมให้ถูกต้อง

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจ อาจเคยได้ยินคำดังกล่าวของ Peter Drucker ซึ่งมีนัยคล้ายกันว่า “Cultures eat strategies for breakfast” หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะมีกลยุทธ์ที่ดีเพียงใด แต่หัวใจของความสำเร็จในเบื้องแรกขึ้นกับ “วัฒนธรรม” (culture) หรือ “กรอบความคิด” (mindset) ของพนักงานในองค์กรผู้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ไปสู่เป้าหมาย

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลและพระเมตตาที่ต้องการให้พสกนิกรมีหลักคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และประชาชนในวงกว้างทางโทรทัศน์ พระองค์ทรงถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดด้านการพัฒนา ซึ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่ท้าทายความเชื่อและกระบวนทัศน์การพัฒนาในยุคนั้น กล่าวคือ ท่านทรงมีแนวทางการพัฒนาคล้ายกับสุภาษิตที่ว่า “ถ้าท่านให้ปลา เขาจะมีปลากินเพียงแค่วันเดียว แต่ถ้าท่านสอนวิธีจับปลา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต”

ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับนิสิตที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานพระราชทานปริญญาบัตร ในปี 2503 เน้นถึงความสำคัญของภาคเกษตร มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“…เศรษฐกิจของประเทศไทยเราขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นท่านต้องระลึกถึงภาระอันสำคัญยิ่งนี้อยู่เสมอ และช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปโดยรวดเร็ว…”

และในปี 2517 ท่านทรงเน้นความสำคัญของทิศทางและระดับการพัฒนาประเทศที่เหมาะสมว่า “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่ (เกษตรกร) เป็นเบื้องต้นก่อน … หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้…”

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงแนะและเตือนสติพวกเรามาหลายครั้ง แต่ยามนั้นพวกเรากลับไม่เข้าใจ จนกระทั่งปี 2540 เมื่อไทยเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วเอเชีย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมอบแนวทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “… การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง…” และทรงแนะให้ยึด “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” ที่เน้น “ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง” กล่าวคือ ไม่ใช่บางคนมีมาก ขณะที่บางคนไม่มีอะไรเลย “…จะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง เรามีความจำเป็นที่จะถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป…”

พระราชดำรัสของพระองค์เปรียบเสมือน “เสียงระฆัง” ที่ปลุกคนไทยให้ตื่นขึ้น และช่วยให้พวกเราเข้าใจคำเตือนของท่านอย่างลึกซึ้งขึ้น ตั้งแต่นั้นมา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชน หลายภาคส่วนพยายามปรับตัวเพื่อให้การเจริญเติบโตของประเทศเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น

หัวใจของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ แนวทางการดำรงชีวิต 3 ข้อ ได้แก่

    (1) ความพอประมาณ (Moderation) การหาจุดกึ่งกลางระหว่างสิ่งที่จำเป็นจริงๆ กับความต้องการที่เกินจำเป็น และหลีกเลี่ยงความสุดโต่งในมุมใดมุมหนึ่งของชีวิต
    (2) ความมีเหตุมีผล (Reasonableness) สามารถแยกแยะและเข้าใจเหตุปัจจัยและผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
    (3) ความมีภูมิคุ้มกันในตน (Prudence) ให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างมีสติและจำเป็นต้องสร้างความทนทานภายในเพื่อรองรับสิ่งที่คาดไม่ถึง

ทั้งนี้ ผู้ตั้งใจน้อมนำหลักการนี้มาใช้ในการดำเนินชีวิตได้สำเร็จต้องมีรากฐานที่สำคัญสองส่วน คือ ความรู้ (หลักวิชา) และคุณธรรม (เช่น ขยัน ซื่อสัตย์ และมีสติ)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เมื่อปฏิบัติตนตามหลักการ 3 ข้อ และมีรากฐานความรู้ที่ดีและยึดมั่นในคุณธรรมจะทำให้การดำเนินชีวิตและการตัดสินใจต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสมและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับของสังคม

จึงอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงนำแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาจากประสบการณ์การทรงงานด้านการพัฒนา ผนวกกับหลักคำสอนในพุทธศาสนาที่ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองมาหลายทศวรรษ ซึ่งโครงการในพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการประยุกต์หลักปรัชญานี้กับการพัฒนาเพื่อส่งเสริม “ทางสายกลางในการพัฒนา” ที่มุ่งสร้างความสมดุลของการพัฒนาในหลายด้านควบคู่กันไป ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ที่สำคัญ หลักปรัชญานี้สามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ในทุกระดับตั้งแต่บุคคล ครัวเรือน องค์กร และการบริหารจัดการประเทศให้สามารถดำรงตน หรือพัฒนาประเทศให้อยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แม้ในบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวนเช่นในปัจจุบันก็ตาม

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเปรียบเหมือนพระองค์ทรงสอน “วิธีการตกปลา” ให้พสกนิกรของท่านมีปลากินตลอดชีวิต

ก่อนจะข้ามไปพูดส่วนที่สาม ผมอยากจะชี้ว่า หลักปรัชญานี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องประหยัดรัดเข็มขัดอยู่ตลอดเวลา หรือส่งเสริมให้ไทยแยกตัวจากสังคมโลก หรือปิดประเทศ ไม่ต้องพัฒนาหรือลงทุนอย่างที่เคยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน แท้จริงแล้ว “การเดินสายกลาง” บนหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ สมเหตุสมผล ไม่ใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะที่แท้จริง (Not living beyond our means)

3. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: แนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศตวรรษที่ผ่านมา โลกเผชิญกับภาวะสงครามถึง 2 ครั้ง วิกฤติการเงินหลายสิบครั้ง และเหตุการณ์สำคัญอีกนับไม่ถ้วนที่สร้างผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องฉุกคิดและตั้งคำถามต่อตัวเองอย่างจริงจังถึง “วิถีการคิด การดำเนินชีวิต ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้อื่น”

เมื่อมองย้อนกลับไป จะเห็นว่า นักคิดคนสำคัญ เช่น Albert Einstein เคยกล่าวเตือนพวกเราในลักษณะเดียวกันมานานแล้วว่า “เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันอย่างจริงจัง” (We radically need to change the way we think) หรือท่านพุทธทาสย้ำว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ”

ภายใต้บริบทปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งต้องการแนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นหนึ่งแนวทางที่จะสามารถนำมาปรับใช้และช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะต่อไป ด้วยจุดแข็งดังนี้ กล่าวคือ

ในระดับแนวคิด ความเรียบง่าย คือ จุดแข็งที่สำคัญ บางท่านอาจเห็นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพียงหลักคิดพื้นๆ เป็น common sense อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า ความเรียบง่ายนี้ทำให้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ประยุกต์กับทุกคนในทุกระดับ และใช้ได้กับเรื่องต่างๆ ในหลายมิติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นแนวการพัฒนาที่ไม่ได้มีลักษณะ one-size-fits-all และสามารถนำมาใช้ประยุกต์ได้ในหลายบริบทต่างๆกัน

นอกจากนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังมีรูปแบบกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาที่มีลักษณะ “บูรณาการ” (holistic approach) คำนึงถึงองค์รวมครอบคลุมประเด็นสำคัญของการพัฒนาในหลายมิติ กล่าวคือ

มิติเป้าหมายการพัฒนา แม้ชื่อ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แต่ความจริงแล้ว เป้าหมายการพัฒนาตามหลักปรัชญานี้ ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจให้โต แต่เป็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงมิติสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กันไป จากที่เคยมองข้ามไป

มิติเวลา ภายใต้ความคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง ดังนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงให้ความสำคัญกับการพิจารณาสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่มองไปข้างหน้า ไม่คิดสั้นๆ แค่วันนี้ แต่คำนึงถึง “ความยั่งยืน” ในระยะยาว

มิติการให้ความสำคัญกับมนุษย์ ปรัชญานี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ ในฐานะที่เป็นหัวใจของการพัฒนา จึงให้ความสำคัญกับการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย การนำพวกเขาเข้ามาอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจระหว่างกันที่มากขึ้น และช่วยลดปัญหาการมองและแก้ปัญหาอย่างแยกส่วน ซึ่งเป็นปมสำคัญที่ทำให้การพัฒนาที่ผ่านมาสะดุดหรือไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วิถีชีวิตและการทำงานภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้พวกเราสามารถก้าวข้ามปัญหาพื้นฐานที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนาไม่ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนทั้ง 3 ข้อที่ผมได้กล่าวถึงในส่วนแรก

ในระดับการดำเนินงาน พระองค์เริ่มมีพระราชดำริด้านชลประทานแห่งแรก คือ การสร้าง “อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” ในปี 2496 หลังจากนั้น ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์จากโครงการตามพระราชดำริมากกว่า 4000 โครงการ ครอบคลุมหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาการเกษตรและชนบท การพัฒนาชุมชน การสาธารณสุข การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างการดำเนินการในโครงการในพระราชดำริเหล่านี้ พระองค์ตั้งข้อสังเกต และรวบรวมบทเรียนจากการปฏิบัติ ซึ่งภายหลังมีการรวบรวมและเรียกว่า “หลักการทรงงาน 23 ข้อ” ที่เป็นเสมือนเป็นกุญแจที่ช่วย “ไขปัญหา” ที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจเข้าใจว่า “จะทำอย่างไร” เมื่อต้องขับเคลื่อนงานพัฒนาให้สำเร็จอย่างยั่งยืน เช่น

    ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
    การมีส่วนร่วม และรู้จักใช้จุดแข็งของแต่ละคน
    ไม่ติดตำราอย่างไม่เหมาะสม
    ขาดทุนคือกำไร

ผมไม่ขออธิบายในรายละเอียดเพราะแต่ละหลักการชัดเจนในตัวเอง แต่ผมขออธิบายเล็กน้อยในหลักการทรงงานข้อสุดท้ายคือ ขาดทุนคือกำไร (our loss is our gain) ผมคิดว่า พระองค์ทรงเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า “การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” และ “ความคิดแบบแยกส่วน” เป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาหรือการปฏิรูปให้สำเร็จ ท่านทรงส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมี “จิตสาธารณะ” โดยทรงเคยมีพระราชดำรัสกับผู้เกี่ยวข้องว่า “การเสีย (สละประโยชน์ส่วนตัว) คือการ (ที่ส่วนรวม) ได้ ประเทศก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้”

ความท้าทายในระยะต่อไป

การพัฒนาและการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ผมมักจะเทียบกับ “การวิ่งมาราธอน” ที่ความสำเร็จจำเป็นต้องใช้เวลา ผู้ขับเคลื่อนจึงต้องหนักแน่น มุ่งมั่น มีความเพียร และพยายามประสานพลังจากผู้ที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามุ่งให้เกิดความสำเร็จ

ที่ผ่านมา แม้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศไทยและช่วยยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทยในหลายมิติ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาส สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ตลอดจนระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

อย่างไรก็ดี ผมยังเชื่อว่า ประเทศไทยยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนมากขึ้น เราจะตั้งใจ “วิ่งมาราธอนจนกว่าเราจะถึงเส้นชัย” ที่เรียกว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” แม้วันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนไทยทั้งประเทศได้จากเราไปแล้ว แต่พระราชจริยวัตรและหลักคิดของพระองค์ท่านยังคงอยู่ และจะเป็นแนวทางให้พวกเราเดินหน้าบนเส้นทางนี้ ภาพของพระองค์ที่ทรงถือกล้องถ่ายรูปและเดินบนคันนาในพื้นที่ห่างไกลจะยังตราตรึงในความทรงจำของพวกเรา และเป็นแรงบันดาลใจให้เราเดินหน้าอย่างไม่ท้อถอย

พระมหากษัตริย์นักพัฒนาอันเป็นที่รักยิ่ง