ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปมร้อนรถเมล์ NGV 291 คัน กรมศุลมี “หมายเหตุในใบขนสินค้า” อาจจะประกอบในจีน – จับตาขสมก.ส่งอัยการตีความคนละลอตสินค้าที่จะรับมอบ

ปมร้อนรถเมล์ NGV 291 คัน กรมศุลมี “หมายเหตุในใบขนสินค้า” อาจจะประกอบในจีน – จับตาขสมก.ส่งอัยการตีความคนละลอตสินค้าที่จะรับมอบ

17 มกราคม 2017


thaipublica_2269 (1)

กรณีรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ที่ต้องส่งมอบเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 จนถึงขณะนี้ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ยังไม่สามารถนำรถเมล์เอ็นจีวีมาส่งมอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา เนื่องจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ผู้นำเข้าของบริษัทเบสท์รินฯ ถูกกรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาสำแดงใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ (Form D) กรณีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน โดยนายกุลิศ สมบัติสิริ อธิบดีกรมศุลกากร ส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากร ไปตรวจสอบที่ประเทศมาเลเซีย ได้ข้อสรุปว่ารถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ไม่ได้ประกอบที่ประเทศมาเลเซีย แต่เป็นรถเมล์ที่นำเข้าจากประเทศจีน

ปัจจุบันบริษัทซุปเปอร์ซาร่านำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว 391 คัน ส่วนที่เหลืออีก 98 คัน ยังไม่ได้นำเข้ามา โดยรถเมล์เอ็นจีวีที่นำเข้ามาในประเทศไทยแล้ว หากจำแนกตามมูลฐานความผิดจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลอตแรก 100 คัน กลุ่มนี้บริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้ยื่นใบขนสินค้าพร้อมใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าระบุเป็นรถเมล์ที่ใช้ประกอบในประเทศมาเลเซีย เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) รถเมล์เอ็นจีวีกลุ่มนี้จึงถูกกรมศุลกากรตั้งข้อหาสำแดงใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ กรณีลอตแรกถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว

วันที่ 29 ธันวาคม 2559 บริษัทซุปเปอร์ซาร่าติดต่อกรมศุลกากรขอนำรถเมล์เอ็นจีวีลอตแรกนี้จำนวน 1 คัน ผ่านพิธีการศุลกากร โดยนำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมาวางเป็นหลักประกันค่าภาษีและค่าปรับ และนำรถเมล์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559

ส่วนลอตที่ 2จำนวน 291 คัน บริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้ยื่นใบขนสินค้าพร้อมกับชำระค่าภาษีในอัตราทั่วไปที่ 40% ของราคานำเข้า คิดเป็นมูลค่า 427 ล้านบาทกับด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560

การนำรถเมล์เอ็นจีวีผ่านพิธีการศุลกากรครั้งนี้แตกต่างจากลอตแรกตรงที่ว่า บริษัทซุปเปอร์ซาร่าไม่ได้ใช้ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรขณะผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่อย่างใด ครั้งนี้บริษัทซุปเปอร์ซาร่ายื่นใบขนสินค้ากับด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังโดยสำแดงเป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ขณะที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่ผลิตจากประเทศจีนเช่นเดียวกันลอตแรก ทางบริษัทซุปเปอร์ซาร่าจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภาษีอากรในภายหลัง ตามมาตรา 10 วรรค 5 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 เพื่อนำรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ไปส่งมอบให้ ขสมก.

ดังนั้น ในใบขนสินค้าจึงบันทึกว่าเป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซียตามที่ผู้นำเข้าสำแดง แต่กรมศุลกากรได้ลงบันทึกหมายเหตุ (Remark) ในใบขนสินค้าว่าผู้นำเข้าขอสงวนที่จะใช้สิทธิโต้แย้งเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้ากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรภายหลัง

ประเด็นที่ต้องนำรถเมล์เอ็นจีวีลอตที่2 ผ่านพิธีการศุลกากรโดยวิธีนี้ เพราะผู้นำเข้าสามารถนำสินค้าออกจากอารักขาของกรมศุลกากรโดยไม่มีความผิดฐานสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ และไม่ต้องชำระค่าปรับเหมือนกับการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน ซึ่งตามกฎหมายศุลกากรกำหนดให้ผู้นำเข้าสามารถใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภาษีภายใน 2 ปี หากผู้นำเข้าไม่มาใช้สิทธิตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือไม่สามารถพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าว่าเป็นรถเมล์ที่ประกอบในมาเลเซีย โดยมีการใช้อะไหล่และแรงงานเกิน 40% ของมูลค่าได้ ถือว่าผู้นำเข้าได้ชำระค่าภาษีกับกรมศุลกากรไว้ถูกต้องหาก และหากผู้นำเข้ามายื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 2 ปี โดยสามารถพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ว่าเป็นรถเมล์เอ็นจีวีที่ประกอบในมาเลเซียจริง กรมศุลกากรต้องคืนภาษีนำเข้าให้กับบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด

และด้วยความไม่ชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย วันที่ 16 ธันวาคม 2559 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แต่การทำทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุดในครั้งนี้ เป็นการถามเฉพาะกรณีการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 100 คันที่ถูกกรมศุลกากรสั่งอายัด ฐานสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าอยู่ในประเทศมาเลเซียเท่านั้น เพื่อขอยกเว้นภาษีนำเข้า ดังนี้

1. กรณีบริษัทเบสท์รินฯ วางเงินประกันต่อกรมศุลกากร เพื่อนำรถเมล์ลอตนี้มาส่งมอบให้ ขสมก. โดยที่เรื่องยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า ขสมก. สามารถตรวรับรถได้หรือไม่

2. ใน TOR กำหนดคุณลักษณะของรถเมล์เอ็นจีวีไว้กว้างๆ ว่าเป็นรถนำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศทั้งคัน หรือเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย โดยอุปกรณ์และชิ้นส่วนต้องเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ผลิตและกรมการขนส่งทางบกให้ความเห็นชอบ แต่ในสัญญาข้อ 2.1 ว่าเป็นรถเมล์ที่ผลิตในประเทศจีน แต่นำมาประกอบในโรงงานประเทศมาเลเซีย ถือว่าข้อความมีความขัดแย้งกันเป็นสาระสำคัญของสัญญาหรือไม่ องค์การจะสามารถตรวจรับรถเมล์ลอตนี้ได้หรือไม่

ข้อสังเกต คือ ผู้อำนวยการ ขสมก. ทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุดเฉพาะกรณีการนำเข้ารถเมล์ลอตแรก 100 คันที่ยังถูกกรมศุลกากรสั่งอายัดและตั้งข้อหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ซึ่งอัยการสูงสุดยังไม่ได้ทำหนังสือตอบข้อหารือในประเด็นดังกล่าวต่อ ขสมก.

ขณะที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด กำลังนำรถเมล์ลอตที่ 2 จำนวน 291 คัน ระบุในใบขนสินค้าเป็นรถเมล์ที่มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซีย (Original) ตามที่ผู้นำเข้าสำแดง แต่กรมศุลกากรทำบันทึกหมายเหตุว่า ผู้นำเข้าใช้สิทธิโต้แย้งเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าได้ ประเด็นนี้ผู้อำนวยการ ขสมก. ยังไม่ได้ทำหนังสือไปสอบถามอัยการสูงสุด แต่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด กำลังจะนำรถเมล์ลอตนี้ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อส่งมอบให้ ขสมก.

รายชื่อคณะกรรมการตรวจรับรถ

อย่างไรก็ตามหากรถเมล์เอ็นจีวีลอตที่ 2 จำนวน 291 คัน ผ่านการจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกได้ ปัญหาก็จะมาตกอยู่กับคณะกรรมการตรวจรับรถและทดสอบรถโดยสารของ ขสมก. ที่มีนายสมควร นาสนม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1 เป็นประธานฯ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. ทดสอบรถโดยสารตัวอย่าง ให้เป็นไปตามขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ใน TOR

2. ตรวจรับรถโดยสารให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งในสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานที่มีบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นแกนนำ ตกลงกับ ขสมก. ว่าผู้ขายจะส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวียี่ห้อ Sunlong รุ่น SLK 6129 CNG ผลิตที่ประเทศจีน ประกอบ ณ โรงงาน R&A Commercial Vehicles SDN BHD ประเทศมาเลเซีย มาส่งมอบให้ ขสมก.

ขณะที่ข้อเท็จจริงตามที่กรมศุลกากรออกมาแถลงข่าว 2 ครั้ง ยืนยันว่ารถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน ไม่ได้ประกอบในโรงงานประเทศมาเลเซียตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ “Form D” แต่เป็นรถเมล์ที่ประกอบในประเทศจีน ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีลอตที่ 2 บริษัทซุปเปอร์ซาร่านำออกจากอารักขากรมศุลกากร ก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่ารถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้ประกอบในโรงงานประเทศมาเลเซียหรือจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการทำหมายเหตุในใบขนสินค้าว่าผู้นำเข้าใช้สิทธิโต้แย้ง กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีความเห็นว่า น่าจะเป็นรถเมล์ที่ประกอบในจีน

ส่วนนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันว่า “คณะกรรมการตรวจรับรถต้องตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งในสัญญาตกลงกันไว้ว่าผู้ขายต้องส่งมอบรถเมล์ที่ประกอบในโรงงานประเทศมาเลเซียให้ ขสมก. หากผู้ขายไปนำรถเมล์ที่ประกอบในจีนมาส่งมอบ ขสมก. จะตรวจรับรถเมล์ไม่ได้ ถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา เพราะตรวจรับแล้ว อาจทำให้ ขสมก. เสียเปรียบ ถึงแม้รถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้จะใช้อะไหล่ชิ้นส่วนที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนเหมือนกัน ผลิตจากโรงงานที่แตกต่างกัน (จีนหรือมาเลเซีย) ฝีมือของแรงงานรวมทั้งคุณภาพของสินค้าใกล้เคียงกัน แต่ค่าจ้างแรงงานไม่เท่ากัน ในสัญญาตกลงกันว่าจะนำรถเมล์ที่ผลิตในโรงงานที่มีค่าแรงแพงกว่า พอถึงเวลากลับไปนำรถที่ผลิตจากโรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาส่งมอบ หากคณะกรรมการฯ ตรวจรับ อาจทำให้ ขสมก. เสียเปรียบ ดังนั้น การตรวจรับจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ขายยอมลดราคาให้ ขสมก. ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขสัญญาด้วย ตามระเบียบของการแก้ไขสัญญาจะทำได้ต้องมีเหตุผลดังนี้ 1. เป็นความผิดของ ขสมก. 2. แก้ไขแล้วทางราชการได้รับประโยชน์ และต้องไม่ทำให้ผู้ร่วมประมูลงานรายอื่นเสียเปรียบ แต่ตอนนี้สัญญาก็ต้องเป็นสัญญา”

หลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของขสมก. ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า “กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนผิด หรือ ถูกก็ต้องมาดูกันอีกที เพราะนี่เป็นเรื่องสัญญาที่ตกลงกันไว้ เท่าที่ผมได้รับรายงานจากกระทรวงคมนาคมแล้ว ผมก็ให้นโยบายไปว่า ทุกอย่างต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าทำได้ก็ทำไป ทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ หากทำไม่ได้ ดันผืนจะทำให้ได้ คนทำก็ผิด ไม่ต้องห่วงคณะกรรมการที่ทำมีหลายคน ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มี 2 ประเด็น คือ สัญญาที่ทำไว้กับขสมก. ต้องพิจารณาว่าทำผิดสัญญาหรือไม่ และอีกประเด็นเป็นเรื่องสำแดงใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ซึ่งมีทั้งการนำเข้าลอตเก่า ลอตใหม่ กรมศุลกากรกำลังพิจารณาอยู่”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “หลายเรื่องที่รัฐบาลปกติทำไม่ได้ เราทำให้ได้ นี่คือปัญหาของประเทศ แต่พอเราทำเร็วก็มาเจอปัญหาแบบนี้ ถ้ากรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ไม่ตรวจสอบให้ดี ก็หลุดมาอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่กรมศุลกากรพยายามพัฒนาตัวเอง เพราะเขาไม่ยอม จึงมาตรวจสอบ ผลก็ออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ทำไมบริษัทที่เข้ามารับงานกับรัฐบาลจึงทำอย่างนี้ ดังนั้นวิธีการแก้ไขมี 2 อย่าง คือ 1. รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องไม่มีส่วนในผลประโยชน์ 2. บริษัท ภาคเอกชน ก็ต้องไม่มาแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ พอแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ ก็ต้องมายื่นหมูยื่นแมว ซึ่งนำไปสู่ความไม่โปร่งใส คอร์รัปชัน อย่ามาโทษรัฐบาลอย่างเดียว มันต้องดูทั้งระบบ ภาคเอกชนก็ต้องไม่ทำแบบนี้ ต้องเขามาแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม แต่พอมาถึงขั้นตอนการสำแดงใบรับรองก็อีกเรื่อง”

[scribd id=336695765 key=key-vkSiz965kzOZC4oIiQJ6 mode=scroll]