ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวทางการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด ว่าด้วยผลการศึกษาจาก 5 ประเทศในยุโรป

แนวทางการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด ว่าด้วยผลการศึกษาจาก 5 ประเทศในยุโรป

31 มกราคม 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 5-6 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, ศาลฎีกา, สำนักงาน ป.ป.ส., สสส., IDPC (International Drug Policy Consortium) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัด “การประชุมสร้างความรู้เท่าทันต่อพลวัตการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 1 เรื่อง การสร้างองค์ความรู้ยาเสพติด (เมทแอมเฟตามีน): ทักษะสังคมเพื่อลดอันตราย (Drug Education: Social Skills for Harm Reduction)”

ในการประชุมดังกล่าว มีเอกสารฉบับหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บทสรุปผู้บริหาร เรื่อง “การประเมินประโยชน์ของการลดทอนความเป็นอาชญากรรมจากหลักฐานและบทเรียนต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยอย่างยั่งยืน” จัดทำโดย Mr.Pascal Tanguay และคุณวีระพันธ์ งามมี ซึ่งเป็นเนื้อหาสรุปการศึกษาผลที่เกิดจากการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติดของ 5 ประเทศในทวีปยุโรป อันประกอบไปด้วย สาธารณรัฐเช็ก เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

แรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดใน 5 ประเทศดังกล่าวข้างต้นนั้นมีหลากหลาย แต่สามารถมองเห็นประเด็นหลักที่สำคัญร่วมกันดังนี้

  1. ประเด็นด้านสาธารณสุข การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อแนวทางทางด้านสาธารณสุข เช่น กรณีของเยอรมัน โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ทบทวนแนวนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ รวมทั้งการเสียชีวิตจำนวนมากที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยาเสพติด
  2. ประเด็นด้านสังคม สาธารณชนมีความรับรู้ที่ถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการใช้ยาเสพติด

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในยุโรปที่ริเริ่มการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดขนาดและอำนาจควบคุมของตลาดมืด

หลักการพื้นฐานและรูปแบบ

การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติดดังกล่าว ดำเนินไปในทิศทางของการหันมาใช้การให้โอกาส บำบัดฟื้นฟู หรือลดอันตรายจากการใช้ยา โดยมีแนวคิดทางสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน มากกว่าจะยืนยันว่าการใช้และครอบครองยาเสพติดเป็นความผิดชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดไปด้วยความรุนแรงของกฎหมายอาญา

หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในสาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส สามารถหันเหคดีออกไปจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หรือก็คือสามารถใช้ดุลพินิจได้เต็มที่โดยไม่ต้องผ่านคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นการยกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด พิจารณาให้รอลงอาญา หรือกระทำการอื่นใด เช่น กรณีของประเทศโปรตุเกส ผู้ต้องที่ถูกจับกุมในกรณีของการครอบครองและใช้แต่ไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ก็จะไม่ถูกนำตัวไปขึ้นศาล แต่ถูกส่งตัวไปยังคณะกรรมาธิการป้องกันยาเสพติดแทน หรือกรณีของสาธารณรัฐเช็กและเนเธอร์แลนด์ ที่ยึดหลักว่าจะใช้กฎหมายอาญาเป็นสิ่งสุดท้าย ขณะที่เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ก็สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ยาเสพติดและภาคประชาสังคม

ประเด็นสำคัญที่ต้องกล่าวถึงอย่างยิ่งก็คือ นอกจากจะยึดเอาสิทธิมนุษยชนและแนวทางด้านสาธารณสุขเป็นหลักพื้นฐานมากกว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาแล้ว การดำเนินนโยบายยาเสพติดในประเทศเหล่านี้ยังเป็นไปอย่างยึดถือข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์จากผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการศึกษา จัดทำรายงาน รวมทั้งมีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ดี สามารถสรุปรูปแบบการดำเนินนโยบายยาเสพติดของทั้ง 5 ประเทศได้ดังนี้

  1. มีการปรับเปลี่ยนด้านอำนาจการควบคุมและความเป็นผู้นำในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การดำเนินการ การประสานงาน การติดตามและประเมินผลนโยบายยาเสพติด จากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นกระทรวงสาธารณสุข
  2. มีการปฏิรูป แก้ไข ยกร่าง ทั้งกฎหมายใหม่และกฎหมายเดิมจำนวนมาก เพื่อนำไปสู่การลดทอนความเป็นอาชญากรรม
  3. ในสาธารณรัฐเช็กและสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ร่วมกับภาคประชาสังคมเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดความพยายามจนในที่สุดก็นำไปสู่การปฏิรูปนโยบายยาเสพติด และนอกจากสาธารณรัฐเช็กแล้ว ทุกประเทศมีเครือข่ายของผู้ใช้ยาเสพติดอย่างเป็นทางการในระดับชาติ ซึ่งบริหารงานโดยผู้ใช้ยาเสพติด โดยเป็นผู้ดำเนินการและมีส่วนในการพัฒนาและดำเนินงานตามนโยบายยาเสพติด
  4. สาธารณรัฐเช็ก เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ มีการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐขึ้นใหม่เพื่อพัฒนานโยบายด้านยาเสพติด ส่วนโปรตุเกสนั้นก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการป้องกันยาเสพติดเพื่อทดแทนศาลยุติธรรมทางอาญาในคดีครอบครองยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ขณะที่เนเธอร์แลนด์นั้น มีการเปิดร้านกาแฟที่ขายยาเสพติดไม่รุนแรงอย่างถูกกฎหมาย
  5. ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมกับการดำเนินนโยบายของรัฐอย่างสม่ำเสมอ
  6. นอกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทุกประเทศมีการรายงานประจำปีไปยังศูนย์ติดตามตรวจสอบปัญหายาเสพติดและการติดยาเสพติดแห่งยุโรป (European Monitoring Center for Drugs and Drug Addiction, EMCDDA) EMCCDA ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1993 เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังยาเสพติดระดับภูมิภาค ทำหน้าที่เก็บข้อมูลประเด็นการควบคุมยาเสพติดในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดและการดำเนินงานด้านนโยบายยาเสพติดที่น่าเชื่อถือ

ยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก (Four Pillars)

ยุทธศาสตร์ 4 หลักด้านนโยบายยาเสพติดนั้นเริ่มใช้ครั้งแรกในทวีปยุโรปยุค ค.ศ. 1990 โดยมีหลักพื้นฐาน 4 ประการ คือ

1. การป้องกัน (prevention) การป้องกันในโรงเรียนเป็นหัวใจสำคัญของทั้ง 5 ประเทศ เพราะหากดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจให้ผลเป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาเสพติดแทน
2. การลดอันตรายจากการใช้ยา (harm reduction) รัฐบาลในทั้ง 5 ประเทศสนับสนุนนโยบายอย่างเป็นทางการให้กับการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการจัดสรรงบประมาณให้กับภาคประชาสังคมเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้รับบริการ รวมถึงให้บริการและช่วยเหลือเพื่อสามารถเข้าสู่ระบบบำบัดยาเสพติดและเข้าสู่ระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติ
3. การบำบัดรักษา (treatment) ทั้ง 5 ประเทศ จัดให้มีบริการที่มุ่งเน้นให้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้รับบริการ อนึ่ง วัตถุประสงค์หลักของการบำบัดรักษานั้นไม่ใช่การเลิกใช้ยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่คือสามารถจัดการกับความจำเป็นต้องพึ่งพายาเสพติดของตนได้
4. การบังคับใช้กฎหมาย (enforcement) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเลือกใช้

ผลจากการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติด

  1. ด้านปริมาณการใช้ยาเสพติด หลังจากมีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติด ปริมาณการใช้ยาเสพติดในหลายประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศที่ยังใช้การปราบปรามด้วยกฎหมาย และในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นดังกล่าวในช่วงแรกนั้นก็เกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ได้มีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติดด้วย แต่อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการใช้และครอบครองยาเสพติดรวมทั้งการให้บริการด้านยาเสพติด เช่น การบำบัดด้วยการจ่ายเฮโรอีนเป็นสารทดแทน หรือการแจกจ่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการเสพอย่างเข็มฉีดยาและกระบอกฉีด จะสนับสนุนให้เกิดเกิดผู้ใช้ยาหน้าใหม่ รวมทั้งไม่พบว่าเป็นเหตุให้มีการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นดังที่มักหวาดกลัวกัน
  2. ด้านงบประมาณดำเนินการ งบประมาณหลักยังคงใช้ไปกับการดำเนินการทางกฎหมาย แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ยังได้จัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ไว้สำหรับการป้องกัน การลดอันตรายจากการใช้ยา และการบำบัดรักษาด้วย

ต้องทำอย่างไรกับประเทศไทย

เมื่อได้อ่านบทสรุปสำหรับผู้บริหารดังกล่าว ผมเห็นว่า ในขณะที่หลายประเทศตามการศึกษานั้นได้ริเริ่มแนวทางการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการครอบครองและใช้ยาเสพติดไปแล้ว รวมถึงยังพิจารณามาตรการต่างๆ ที่จะทำให้การใช้ยาเสพติดนั้นเป็นอันตรายน้อยลงต่อตัวผู้ใช้รวมทั้งไม่เป็นพิษภัยต่อสังคม ซึ่งทั้งหมดให้ผลดีในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากกว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรง โดยกระบวนการทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงสิทธิทางด้านสาธารณสุขและมนุษยชนเป็นหลัก คิดถึงการแก้ปัญหาอย่าง “รวมทุกคนเข้าด้วยกัน” มากกว่าจะ “กีดกันใครออกไป” ในฐานะความชั่วร้ายที่ต้องถูกกำจัด แต่ประเทศไทยของเรานั้น กลับยังอยู่บนวิธีคิดแบบที่ผลักให้ปัญหาการใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องส่วนบุคคล คือเป็นการ “เลือกดีเลือกชั่ว” ด้วยสามัญสำนึกของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้พิจารณาอย่างเป็นระบบถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจส่งผลหรือกระทั่งบังคับให้ใครสักคนต้องหันหน้าเข้าหายาเสพติดในทางใดทางหนึ่ง

ตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงหนังสือ High Price ของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ที่ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ตั้งข้อสังเกตว่า แม้พ่อของเขาจะเมาสุราอย่างหนักจนก่อความรุนแรงในครอบครัวด้วยการทำร้ายแม่ของเขาจนบาดเจ็บสาหัส แต่ยาเสพติดอย่างสุราก็ไม่ใช่ผู้ร้ายที่แท้จริง สุราเป็นเพียงทางผ่านให้ความเครียดที่เกิดจากการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบได้ระเบิดออกมาในรูปของการทำร้ายผู้อื่นต่างหาก

ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความพยายามเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายยาเสพติดให้เป็นไปในทางที่ “ศิวิไลซ์” จะต้องทำเป็นอันดับแรก หรือมีความสำคัญที่สุด โดยจะต้องทำไปพร้อมๆ กับการมองหาความเป็นไปได้ในการนำเอาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในประเทศอื่นๆ มาปรับใช้กับประเทศไทย ก็คงไม่พ้นเป็นเรื่องการเร่งผลิตความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจะต้องเร่งนำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติด ว่าแท้จริงแล้ว ด้วยการยืนยันทางวิทยาศาสตร์นั้น ความกลัวที่สังคมมีต่อยาเสพติดกำลังอยู่ในสถานะที่ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร รวมทั้งต้องเร่งเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายยาเสพติดไปในทางอย่างที่พยายามกันอยู่นั้น จะเกิดผลดีต่อสังคมในภาพรวมอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไรในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

สภาพแบบที่เราเป็นในทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการ “ปิดพื้นที่” ไม่ให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดสามารถเข้ารับบริการต่างๆ ทางสุขภาพได้อย่างมีศักดิ์ศรีดุจเดียวกับการเจ็บป่วยแบบอื่นๆ การปิดพื้นที่แบบนี้จะยิ่งผลักให้ผู้ที่เริ่มใช้ยาเสพติดต้องถลำลึกไปสู่การติดยา และผู้ที่จำเป็นต้องพึ่งพายาเสพติดอยู่แล้วก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางสุขภาพเนื่องจากไม่ได้รับความรู้เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง เหล่านี้ล้วนเป็นภัยต่อเพื่อนร่วมสังคมของเราเอง และย่อมย้อนมาเป็นภัยแก่ตัวเราและสังคมในที่สุด และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก็เพราะว่า นอกจากเราไม่มีความรู้เพียงพอจะอยู่ร่วมกับสิ่งที่เรากลัวแล้ว เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่เรากลัวๆ กันนั้นถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์แค่ไหนอีกต่างหาก

และด้านร้ายที่สุดของความหวาดกลัวนี้ก็คือ เรากำลังปล่อยปละละเลย หรือกระทั่งสนับสนุน ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปทุกวันโดยไม่รู้ตัว