ThaiPublica > เกาะกระแส > 1 ปี 8 เดือนปัญหาประมง IUU – กรมเจ้าท่าหักดิบลดจำนวนเรือ 1 ปี ผ่านม.44 ถอนรวด 1.7 หมื่นลำ ยัง Over Fishing

1 ปี 8 เดือนปัญหาประมง IUU – กรมเจ้าท่าหักดิบลดจำนวนเรือ 1 ปี ผ่านม.44 ถอนรวด 1.7 หมื่นลำ ยัง Over Fishing

7 มกราคม 2017


thaipublica_1629

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลรายสำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 21 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ไทยต้องเผชิญปัญหาใหญ่จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ “ใบเหลือง” ไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยขาดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ที่สอดคล้องกับสากล โดยยังคงมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายทำประมง การขาดการควบคุมจำนวนเรือประมง จนส่งผลต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิด Over Fishing (การทำประมงเกินขนาด) และปัญหาการใช้แรงงานทาส ที่เป็นผลพวงมาจากการที่ไทยถูกลดอันดับไปอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US’s Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2557(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-iuu

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ไทยอาจต้องสูญเสียรายได้สูงสุดถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หากถูกระงับการนำเข้าอาหารทะเลจาก EU อย่างไรก็ตาม ไทยได้ถูกต่ออายุใบเหลืองมาแล้ว 1 ครั้ง และจะมีการประเมินสถานะอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2560 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ความเห็นว่า ผลการประเมินจะเป็นไปในทิศทางที่ดี และด้าน พล.ร.ต. วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ระบุว่า EU รับทราบความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของไทยอย่างดี มั่นใจว่าจะไม่ถูกปรับใบแดงอย่างแน่นอน และมีโอกาสที่จะหลุดจากใบเหลือง

สัญญาณบวกจากการปรับขึ้น Tier 2

ปัจจัยบวกอีกประการที่หนุนความมั่นใจว่าไทยมีลุ้นหลุดใบเหลือง มาจากการปรับอันดับ TIP Report ของสหรัฐฯ มาอยู่ Tier 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา สำหรับการแก้ปัญหาด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องกับประมง IUU กระทรวงแรงงานตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัดชายฝั่งทะเล 22 แห่งในจังหวัดติดทะเล เพื่อจัดระเบียบแรงงานและเรือประมง การคุ้มครองแรงงาน การตรวจ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี รวมถึงการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเล มีการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล

รวมทั้งการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของ EU ในการเปิดรับจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ทำงานบนเรือประมงหรือในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง โดยไม่มีการส่งกลับประเทศต้นทางและมีมาตรการคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ให้แรงงานภาคการประมงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ โดยไม่จำกัดจำนวนนายจ้างและจังหวัดที่ทำงานได้ ขยายเวลาการอยู่ในประเทศไทยให้กับเหยื่อและพยานค้ามนุษย์ จัดทำแผนและตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำอย่างน้อย 10% ของโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และโรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกอย่างน้อย 50 โรงงาน

กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดจนเรือล้นทะเล

แต่หากย้อนกลับไปดูการแก้ไขปัญหาประมง IUU ในระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมา เคยได้รับการท้วงติงว่าเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด  และเมื่อตรวจดูข้อมูลการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมเจ้าท่าในการควบคุมจำนวนเรือประมง การแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทยก็ต้องปรับตัวอยู่หลายระลอก

โดยก่อนที่ไทยจะได้รับใบเหลืองนั้น ในปี 2552 EU ได้ส่งสัญญาณเตือนไทยรอบแรก และสิ่งที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองว่าเป็นปัญหาในขณะนั้นคือ ปัญหาเรือไม่มีใบอนุญาต ซึ่งทางกรมประมงได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลการขึ้นทะเบียนเรืออย่างกรมเจ้าท่าให้ช่วยเร่งจดทะเบียนเรือ ทำให้ภายในระยะเวลา 5 ปี มีเรือประมงจดทะเบียนเพิ่มกว่า 25,000 ลำ โดยในปี 2555 มียอดการออกใบอนุญาตเรือประมงสูงสุดกว่า 10,000 ลำ ขณะที่ขีดความสามารถที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่และอัตราการเพิ่มขึ้นของเรือประมงที่ควรจะเป็นอยู่ที่ประมาณ 2,500 ลำต่อปีเท่านั้น

แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่าเปิดเผยว่า การเร่งจดทะเบียนเรือนำไปสู่ปัญหาของการตรวจเรือบนโต๊ะ คือการให้เจ้าของทำการวัดขนาดเรือตนเอง แล้วเขียนรายละเอียดมายื่นแก่เจ้าหน้าที่ตรวจเรือ รวมไปถึงการรับสินบน

“เจ้าหน้าที่ตรวจเรือของกรมมีเพียง 30 คนทั่วประเทศ จากสาขาที่มีประมาณ 40 สาขา เป็นปัญหาเรื่องการขาดกำลังคนคล้ายกับกรณีของปัญหาการบินพลเรือน ซึ่งการขอเพิ่มอัตรากำลังคนนั้นเป็นไปได้ยาก หน่วยงานที่ตั้งมานานจะได้รับการจัดสรรเพิ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ปีละไม่เกิน 1-2 คนเท่านั้น และข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ตรวจเรือเป็นวิชาชีพเฉพาะ รับสมัครจากผู้ที่จบเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรม เท่านั้น ทำให้มีผู้สมัครจำนวนน้อย เจ้าหน้าที่ตรวจเรือจึงมีไม่เพียงพอ ซึ่งในยามปกติจะมีการขอยืมกำลังคนจากประมงจังหวัดใกล้เคียง” แหล่งข่าวกล่าว

และเมื่อไทยได้รับใบเหลืองอย่างเป็นทางการ รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558) ในการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยในข้อที่ 7 ของคำสั่งดังกล่าวได้ระบุให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยที่จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เรือ หรือใบอนุญาตสิ้นอายุไปกว่า 3 ปี

thaipublica_1616

“ใบเหลือง” กับทางใหม่ “ลดจำนวนเรือประมง”

ในเดือนพฤษภาคม 2558 ผลการประชุมของ ศปมผ. ได้กำหนดให้กรมเจ้าท่าทำการตรวจสอบจำนวนเรือประมงในระบบทั้งหมด ซึ่งในการตรวจครั้งแรกพบว่ามีเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าอยู่กว่า 49,860 ลำ ปัญหาที่ทุกฝ่ายลงความเห็นในขณะนี้คือ Over Fishing ดังนั้น เพื่อลดจำนวนเรือประมง จำเป็นจะต้องเอาเรือที่ขาดการต่ออายุออกจากระบบเป็นอันดับแรก ซึ่งมีเรือที่ขาดการต่ออายุต้องถอนใบอนุญาตทั้งสิ้น 7,809 ลำ

จากกรณีดังกล่าวทำให้ภาครัฐขยายเวลาให้แก่เรือประมงที่ตกสำรวจมาทำการขึ้นทะเบียนภายในเดือนสิงหาคม 2558 พร้อมปรับการแก้ไขปัญหาอีกครั้งโดยใช้มาตรา 44 (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558) เพิ่มมาตรการงดจดทะเบียนเรือไทยสำหรับทำการประมง หรือเรืออื่นตามที่ ศปมผ. ประกาศกำหนด และห้ามเปลี่ยนประเภทเรือเข้ามาเป็นเรือประมง

“หักดิบ” การแก้ปัญหาที่สร้างปัญหา

อย่างไรก็ตามได้มีการสำรวจสำมะโนทะเบียนเรือใหม่อีกครั้งโดย ศปมผ. ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 พบเรือประมงตามที่ขึ้นทะเบียน 11,700 ลำ ส่วนอีก 8,024 ลำไม่พบ ซึ่งเรือจำนวนนี้กรมเจ้าท่าได้รับคำสั่งว่าต้องถอนใบอนุญาตทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยอาศัยมาตรา 44 (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 42/2558)

แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่าระบุว่า “ในเวลานั้นทหารเรือที่ทำหน้าที่สำรวจเรือประมงยังขาดความเข้าใจธรรมชาติของชาวประมงว่าเขามีระยะเวลาออกเรือ บ้าง 15 วัน บ้างออกเรือเช้าตกเย็นจึงกลับ ทำให้การเข้าไปตรวจภายในวันเดียวไม่พบเรือประมงของชาวบ้าน มีจำนวนมากที่ตกสำรวจ จนเกิดเรื่องร้องเรียนตามข่าว และต่อมาหลังการถอนใบอนุญาตรอบที่ 2 ชาวประมงได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”

มาตรการแก้ปัญหาแบบหักดิบของรัฐบาลมุ่งลดจำนวนเรือประมงในระบบ แต่กระทบกับชาวประมงจำนวนมาก เมื่อเรื่องร้องเรียนถูกส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี จึงออกมาตรการเยียวยาอีกครั้งด้วยการเปิดให้ชาวประมงที่ถูกถอนใบอนุญาตสามารถยื่นอุทธรณ์เพื่อทำการตรวจสอบใหม่ในระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2559

มีผู้มายื่นอุทธรณ์จำนวน 2,293 ราย ซึ่ง ศปมผ. เห็นว่า หากเป็นกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ให้คืนสิทธิ์ให้แก่เรือประมงจำนวนดังกล่าวทันที กรมประมง กรมเจ้าท่า ร่วมกับ ศปมผ. ตรวจสอบอีกครั้งพบว่า เรือประมงที่ถูกถอดใบอนุญาตจำนวน 157 ลำ เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ จึงคืนสิทธิ์ให้ทั้งหมด คงเหลือเรือประมงที่เข้าแจ้งอุทธรณ์แต่ยังไม่ได้รับการคืนสิทธื์ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 1,622 ลำ เรือประมงพาณิชย์ 514 ลำ

“เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรกับเรือจำนวนดังกล่าว จึงมีการนำเรื่องเข้าปรึกษากับผู้ตรวจจาก EU ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าเรือประมงพื้นบ้านสามารถคืนสิทธิ์ให้ได้ เพราะเห็นว่าเป็นการจับสัตว์น้ำเพื่อประทังชีวิต แต่สำหรับเรือประมงพาณิชย์จำนวน 514 ลำ ไม่สามารถคืนให้ได้เด็ดขาด เนื่องจากปัจจุบันตรวจสอบแล้ว การทำประมงในเมืองไทยมีเรือประมงที่เกินศักยภาพและต้องนำออกจากระบบอยู่อีกประมาณ 700 ลำ” แหล่งข่าวกล่าว

มาตรา 44 ครั้งที่ 4 กับมาตรการตรึงพังงา

เจ้าหน้าที่จากกรมประมงกำลังทำการตรีงพังงาเรือประมง
เจ้าหน้าที่จากกรมประมงกำลังทำการตรึงพังงาเรือประมง
พังงาเรือที่ถูกตรึงแล้ว
พังงาเรือที่ถูกตรึงแล้ว

ช่วงที่ผ่านมา จำนวนเรือประมงลดลงเรื่อยๆ จากยอดเรือประมงที่เคยแตะ 50,000 ลำ ปัจจุบันเหลือ 38,704 ลำ เป็นเรือประมงพาณิชย์ 12,092 ลำ (ขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป) นอกนั้นเป็นเรือประมงพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม การทำประมงนอกจากการจดทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่าเรือดังกล่าวยังต้องมีอาชญาบัตรจากกรมประมงร่วมด้วย ซึ่งในจำนวนเรือประมงพาณิชย์ทั้งหมดพบว่ามี 10,991 ลำที่มีอาชญาบัตรและจดทะเบียนถูกต้องจากกรมเจ้าที่ อีก 1,101 ลำไม่มีอาชญาบัตรหรือใบอนุญาต (นับรวมเรือประมงพาณิชย์ 514 ลำที่เป็นปัญหาข้างต้นด้วย)

เรือจำนวนดังกล่าวกลายเป็นความกังวลของรัฐบาลไทยและ EU จึงเห็นพ้องกันว่าต้องควบคุมเรือจำนวนดังกล่าว โดยให้มาแจ้งจุดจอด และให้เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่าทำการตรึงพังงาเรือพร้อมทำเครื่องหมายบนเรือประมง หากนำเรือออกทำการประมงเจ้าหน้าที่สามารถเข้าจับกุมได้ทันที เป็นการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง (คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2559)

รัฐบาลควัก 1,400 ล้านเยียวยาผู้รับผลกระทบ

สำหรับเรือประมงที่ต้องออกจากระบบจะได้รับการเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการให้แบงก์รัฐออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ที่มีเรือประมงผิดกฎหมาย วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 500 ล้านบาท และขยายวัตถุประสงค์ให้รวมไปถึงชาวประมงที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ รวมไปถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเครื่องมือประมงบางอย่าง เช่น อวนรุน และการซื้อเรือคืนจากชาวประมงที่สมัครใจเปลี่ยนอาชีพ โดยนำไปจมทำปะการังเทียมต่อไป ซึ่งใช้งบประมาณรวม 1,459.10 ล้านบาท

นอกจากนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาประมง IUU ในความรับผิดชอบของกรมประมง ในช่วงที่ผ่านมานอกจากการควบคุมจำนวนเรือประมงที่ต้องทำงานร่วมกับกรมเจ้าท่าแล้ว กรมประมงที่เป็นหน่วยงานหลักดูแลผู้ประกอบการเกี่ยวกับประมงทั้งประเทศต้องจัดทำแผนประมงแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสากล ควบคุมเครื่องมือประมง กำหนดช่วงเวลาทำประมง สำรวจจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อแก้ปัญหา Over Fishing ในระยะยาว ตามข้อเสนอแนะของ EU ไปจนถึงการทำ MOU ร่วมมือกับประเทศต่างๆ

ตรวจเรือประมง
ตรวจเรือประมง

ดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบ ทั้งการการออกใบอนุญาตทำการประมงใหม่ การพัฒนา ระบบ VMS (Vessel Monitoring System) และเพิ่มตำแหน่งผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer Onboard) ออกทำหน้าที่สังเกตการณ์บนเรือประมงนอกน่านน้ำ จัดทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเล (FMP) โดยแบ่งเขตพื้นที่ทำการประมงให้ระหว่างเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบความถูกต้องของการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate: CC) และ ใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Processing Statement: PS) กับทุกโรงงานที่ยื่นขอทุกครั้งที่เรือบรรทุกสินค้าออกจากท่า โดยเรือดังกล่าวต้องได้รับการรับรองในบัญชีรายชื่อของ EU

มีการการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบการบริหารจัดการประมง เร่งรัดการออกกฎหมายฉบับรองภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง 2558 กฎหมาย ลำดับรองทั้งสิ้น 91 ฉบับ ออกกฎหมายแล้ว 87 ฉบับ ซึ่งกำหนดอัตราโทษเพิ่มขึ้นจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง 2558 ที่ถูกยกเลิกไป ด้วยเหตุผลที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังขาดมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

แม้จะต้องคลำทางและเผชิญปัญหามาพักใหญ่ การปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานาน การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การเร่งดำเนินการโดยไม่พิจารณาอัตรากำลังคน จนส่งผลกระทบในภายหลัง เป็นเรื่องที่อาจต้องค่อยๆ คลายปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหา Over Fishing อันเป็นเป้าหมายหลัก จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่านับจากนี้อีก 2 ปี กรมเจ้าท่าจะไม่เปิดขึ้นทะเบียนเรือประมงเพิ่ม และหากพ้นจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ศปมผ. ที่ถูกตั้งขึ้นอาจต้องถูกยุบลง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมประมง ยังคงต้องสะสางปัญหานี้ต่อไป