ThaiPublica > คอลัมน์ > Corruption Perceptions Index 2016 ภาพสะท้อนคอร์รัปชันปีที่ผ่านมา

Corruption Perceptions Index 2016 ภาพสะท้อนคอร์รัปชันปีที่ผ่านมา

30 มกราคม 2017


Hesse004

ที่มาภาพ : https://www.transparency.org/
ที่มาภาพ : https://www.transparency.org/

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสสากล(Transparency International: TI) ได้เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส สถานการณ์คอร์รัปชันจากทั่วทุกมุมโลกในปีที่ผ่านมา การจัดอันดับนี้ได้ทำเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1995

Corruption Perception Index หรือ CPI เป็นดัชนีการชี้วัดสถานการณ์คอร์รัปชันที่ “ทรงอิทธิพล” ที่สุด เหตุผลคือ CPI เป็นดัชนีประเภท Composite Index ที่ใช้ที่มาเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันจากหลากหลายแหล่งข้อมูล

ที่สำคัญ ดัชนีนี้สื่อสารด้วยภาษาที่กระชับเข้าใจง่าย ให้คะแนนความโปร่งใสโดยใช้สเกลเต็ม 100 ใครเข้าใกล้ 100 แสดงว่าโปร่งใสมาก ใครเข้าใกล้ 0 แสดงว่าประเทศมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส

การทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ถ้าเราไม่หลอกตัวเอง การเห็นค่าคะแนน CPI ย่อมบ่งบอกอะไรหลายอย่างถึงสถานการณ์ความโปร่งใสและปัญหาการทุจริตในสังคมนั้นๆ ได้ดี

ปี 2016 TI ได้จัดอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ จำนวน 176 ประเทศ โดยแชมป์ยังคงตกเป็นของเดนมาร์ก ซึ่งปีนี้ได้คะแนน CPI 90 คะแนน (น้อยกว่าปีที่แล้ว 1 คะแนน)

เดนมาร์กยังครองแชมป์เรื่องเมืองโปร่งใสนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โดยคะแนนที่ได้ล้วนเกิน 90 คะแนน มาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี แชมป์เก่าครองแชมป์ร่วมกับ “นิวซีแลนด์” ที่ได้คะแนน 90 เท่ากัน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่ได้ 88 คะแนน

ทั้งนี้ 5 อันดับแรกก็ยังเกาะอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวีย ฟินแลนด์ (89) สวีเดน (88) ส่วนนอร์เวย์ ปีนี้ลงไปที่ 6 ได้คะแนน 85

ส่วนในเอเชียนั้น สิงคโปร์คือหนึ่งเดียวที่ติด 1 ใน 10 ปีนี้ CPI สิงคโปร์ ได้ 84 แต้ม ลดลงจากปีกลาย 1 แต้ม ครองอันดับที่ 7 ขณะที่ฮ่องกงปีนี้อยู่อันดับที่ 15 โดยคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 75 เป็น 77 นับว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

หันกลับไปมองกลุ่มท้ายตารางดูบ้าง ปีนี้อันดับท้ายสุด อันดับที่ 176 ตกเป็นของโซมาเลีย ได้คะแนน 10 คะแนน

5 ปีที่ผ่านมา โซมาเลียครองบ๊วยร่วมกับเกาหลีเหนือมาโดยตลอด แต่ปีนี้เกาหลีเหนือหนีบ๊วยได้สำเร็จ โดยคะแนนเพิ่มจาก 8 เป็น 12 คะแนน เพิ่มขึ้น 4 คะแนน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

ประเด็นน่าสนใจที่จัดเป็นไฮไลท์ของ CPI 2016 คือ TI ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ความโปร่งใสและปัญหาคอร์รัปชันทั่วโลกยังคงน่ากังวล (เช่นเดิม) คะแนนค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน (ประเทศไทยเราได้ 35 คะแนน ลดลงจากปีที่แล้ว 3 คะแนน)

TI ยังย้ำให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกัน แน่นอนว่าไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากร ส่งผลต่อการกระจายรายได้ ท้ายที่สุด นำไปสู่การทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบนิติรัฐในสังคมและระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี ก้าวเดินการต่อต้านทุจริตเริ่มรุดหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาสู้ของภาคประชาชน สื่อมวลชน รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม

ในปีที่ผ่านมา TI ได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวการทุจริตคอร์รัปชันจากทั่วโลก เรื่องเด่นๆ มีตั้งแต่ Panama Papers การถอดถอนปาร์ก กึน เฮ ผู้นำหญิงเกาหลีใต้ และดิลมา รูสเซฟฟ์ แห่งบราซิล กรณีทุจริตอื้อฉาวของ Petrobras จนทำให้นางรูสเซฟฟ์หลุดออกจากตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน TI ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สูตรสำเร็จที่ทำให้ประเทศที่ได้ค่า CPI อยู่ในระดับสูงนั้น ก็เพราะประเทศเหล่านี้เปิดให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการรายงานข่าว พูดง่ายๆ คือ มีพื้นที่ให้รายงานข่าวทุจริตโดยไม่ปิดกั้น เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย ให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล (กรณีเดนมาร์ก ผู้เขียนเคยเขียนไปแล้วว่า เดนมาร์กใช้ National Audit Office of Denmark หรือ สตง. เดนมาร์ก เป็นกลไกสำคัญในการป้องปรามทุจริต เดนมาร์กไม่มีหน่วยงาน ป.ป.ช. ต่อต้านทุจริต เพราะปัญหาทุจริตน้อยมาก ไม่คุ้มกับการตั้งหน่วยงาน)

นอกจากนี้ TI ยังพูดถึงเรื่องความเข้มแข็งทางมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องมี เช่นเดียวกับความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีความเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน

แต่ก็ใช่ว่าประเทศโปร่งใสเหล่านี้จะไม่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันแต่อย่างใด หากแต่การจัดการและควบคุมปัญหาทุจริตคอร์รัปชันนั้นเป็นไปอย่างจริงจัง เข้มงวด ไม่ลูบหน้าปะจมูก หรือทำกันแบบ “ประเดี๋ยวประด๋าว” หรือทำกันแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ที่สักพักพอกระแสเริ่มซาลงก็เลิกกันไป

ปี 2016 ค่า CPI ของหลายประเทศมีคะแนนดีขึ้นอย่างน่าชื่นชม เช่น จีนและอินเดีย ที่สามารถขยับค่าคะแนน CPI เข้าสู่หลัก 40 ได้สำเร็จ

กรณีจีนนั้น นับแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ค่า CPI อยู่ที่ 39 ปี 2013 ขยับมาที่ 40 และร่วงลงมาปี 2014 ได้ 36 ปีที่แล้ว 2015 กระเตื้องมาที่ 37 ส่วนปีนี้คะแนนกระโดดมาที่ 40 อีกครั้ง นับว่า แคมเปญ Catching tigers and flies ซึ่งเป็นการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันในยุคผู้นำ
สี จิ้นผิง
เริ่มเห็นผลบ้างขึ้นมาบ้างแล้ว

สำหรับอินเดียนั้น ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ CPI อินเดียก้าวสู่ 40 ที่ผ่านมา ภาพพจน์ระบบราชการอินเดียเต็มไปด้วยเรื่องราวติดสินบน เชื่องช้า (Red Tape) ปี 2012 ค่า CPI อินเดีย อยู่ที่ 36 กระโดดมาเป็น 38 ในปี 2014 และ 2015 จนกระทั่ง CPI 2016 อินเดียได้ 40 แล้ว

ปัจจัยที่ทำให้อินเดียได้ค่า CPI ดีขึ้น คือ การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่น ขบวนการของอันนา ฮาซาเร (Anna Hazare) การตื่นตัวของสื่อมวลชนที่กล้าลุกขึ้นมาแฉเรื่องราวไม่ชอบมาพากลมากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้านต่อต้านการทุจริต

อีกประเทศที่ CPI ปีนี้ดีขึ้น คือ อินโดนีเซีย

กรณีอินโดนีเซีย ดัชนีความโปร่งใสกระเตื้องขึ้นในรอบ 5 ปี จากปี 2012 ที่ได้ 32 คะแนน ปี 2014 ได้ 34 ปี 2015 ได้ 36 และปีนี้ขึ้นมา 1 คะแนน ได้ 37 คะแนน ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน แซงหน้าไทยและฟิลิปปินส์ไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลที่ CPI อินโดนีเซียดีขึ้นนั้น ส่วนสำคัญมาจากความเข้มแข็งของ KPK หรือ ป.ป.ช. อินโดนีเซีย ที่ทุกวันนี้กลายเป็นอีกโมเดลหนึ่งขององค์กรปราบปรามทุจริคคอร์รัปชัน

เมื่อวิเคราะห์ลงรายละเอียดที่ทำให้อินโดนีเซียได้คะแนน CPI ดีขึ้น (เปรียบเทียบกับประเทศไทย) คือ อินโดนีเซียได้คะแนนจาก PRS International Country Risk Guide 50 คะแนน จาก 100 ส่วนไทยเราได้ 32 เช่นเดียวกับ Global Insight Country Risk Rating หรือ GI ที่ให้อินโดนีเซีย 34 เต็ม 100 ส่วนเราได้ 22 คะแนน เท่านั้น

กรณีของ GI นั้น ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนในการขอใบอนุญาตหรืออนุมัติสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง น่าสนใจและน่าตกใจว่า ปี 2015 ค่า GI ของไทยได้ 42 คะแนน จาก 100 แต่ปีนี้ได้ 22 คะแนน ลดลงไป 20 คะแนน เลยทีเดียว (โปรดดูเหตุผลคำชี้แจงล่าสุดที่ ป.ป.ช. แถลงเกี่ยวกับความเห็นเรื่องค่า CPI 2016)

ท้ายที่สุด อาจมีคำถามลอยขึ้นมาว่า ทำไมต้องสนใจค่า CPI กันด้วยเล่า ก็ในเมื่อที่ผ่านมา ทุกองคาพยพในสังคมไทยล้วนเกลียดคนโกง ช่วยกันต่อต้านคอร์รัปชัน จนแทบไม่เหลือที่ยืนให้คนไม่ดีแล้วมิใช่หรือ