ThaiPublica > โครงการร่วม >  “A Call to Action” รายงานประเมินตนเองด้านความยั่งยืนฉบับแรกของไทย : เราอยู่ไหน และเราจะไปไหนต่อ

 “A Call to Action” รายงานประเมินตนเองด้านความยั่งยืนฉบับแรกของไทย : เราอยู่ไหน และเราจะไปไหนต่อ

31 มกราคม 2017


 บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือ A Call to Action: Thailand and The Sustainable Development Goals เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ มี รศ. ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดงาน
บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือ A Call to Action: Thailand and The Sustainable Development Goals เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ มี รศ. ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดงาน

หากนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นเวลาปีกว่าๆ แล้วกับการที่ไทยและประเทศสมาชิกทั่วโลกมีฉันทามติร่วมกันในการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ภายในปี ค.ศ. 2030

บนความเคลื่อนไหวทั้งในระดับโลกและระดับประเทศตลอดปีที่ผ่านมานับได้ว่ามีความคึกคักอย่างยิ่ง และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ที่จะถึงนี้ จะถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญอีกครั้ง เมื่อประเทศสมาชิกจะมีการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ร่วมกัน

การเปิดตัวหนังสือ A Call to Action: Thailand and The Sustainable Development Goals เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ Editions Didier Millet (EDM) ที่ผ่านมาจึงน่าสนใจ

เพราะมากกว่าการที่หนังสือเล่มนี้เป็นการให้ข้อมูลในเชิงลึกและนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาที่สุดเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน และความพยายามของไทยในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการทรงงานพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาใช้เป็นเข็มทิศในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว

หนังสือที่มีความหนา 184 หน้าเล่มนี้ ยังถือเป็นรายงานการประเมินตนเองครั้งแรกของประเทศไทยตามกรอบแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการจัดทำ

“หนังสือเล่มนี้เมื่อออกมามีข้อมูลที่เป็นตัวเลข ที่ชี้ให้เห็นว่า เราอยู่ตรงไหนในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเชื่อมโยงประเทศไทยว่าอยู่ตรงไหนในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย เราไม่ได้หวังว่าจะเป็นการสร้างให้เกิดการคิด การรับรู้ เท่านั้น แต่เป็น A Call to Action ที่เรียกร้องให้ทุกคนลงมือทำเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายมากกว่า”  ร.ศ. ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา  กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีในงานเปิดตัวหนังสือ A Call to Action: Thailand and The Sustainable Development Goals สิ่งที่ รศ. ดร.จิรายุกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติที่เป็น “การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในโลก”

เราอยู่ตรงไหนในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตอนหนึ่งจากหนังสือ A Call to Action ระบุถึงการจัดอันดับ SDG Index   ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาซึ่งประเมินโดย Sustainable Development Solution Network (SDSN) นำโดย เจฟฟรี ดี. ซาร์ท โดยใช้ข้อมูลของแต่ละประเทศที่มีการเผยแพร่ในสาธารณะมาวิเคราะห์โดยเทียบเคียงกับเป้าหมายทั้ง 17  เป้าหมาย SDGs

SDGP1sdg2-1

จากการจัดอันดับครั้งนั้นไทยอยู่ในอันดับ 62 ได้คะแนนรวม 62.2 มีสวีเดนเป็นอันดับ 1 ได้คะแนน 84.5 คะแนน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เวียดนาม ถือว่าไทยทำได้ดีโดยได้คะแนนมากกว่ามาเลเซีย ซึ่งได้อันดับ 63 ได้คะแนน 61.7  จีน อันดับ 76 ได้คะแนน 59.1 เวียดนาม อันดับ 88 ได้คะแนน 57.6 โดยได้คะแนนน้อยกว่าเพียงสิงคโปร์ ที่ได้คะแนนรวม 74.6 อยู่ลำดับที่ 19

อย่างไรก็ตาม จาก 17 เป้าหมายภายใต้ SDGs ไทยบรรลุเพียงเป้าหมายเดียวคือ “ขจัดความยากจน” หรือ Goal 1 ถือเป็นเป้าหมาย 1 ใน 17 เป้าหมายที่ไทยสอบผ่าน ขณะที่อีก 7 เป้าหมายอยู่ในจุดที่ต้องระมัดระวัง และ 9 เป้าหมายที่ต้องการการปรับปรุง (ดูรายละเอียดในภาพประกอบ)

สำหรับเป้าหมายที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Goal 1 การขจัดความยากจน (No Poverty) 99.1 คะแนน Goal 6 การเข้าถึงน้ำสะอาดและมีสุขอนามัย (Clean Water and Sanitation) 94.69 คะแนน และ Goal 4 คุณภาพการศึกษา (Quality Education) 77.60 คะแนน  โดย 2 เป้าหมายหลังแม้จะได้คะแนนสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วยังเป็นเป้าหมายที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องระมัดระวัง 

ขณะที่เป้าหมายที่มีคะแนนต่ำสุด 3 อันดับ ได้แก่ Goal 17 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก (Partnerships for the Goals) 29.21 คะแนน Goal 9 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (Industry Innovation and Infrastructure) 35.58 คะแนน และ Goal 12  การส่งเสริมรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable  Consumption and Production) 42.73 คะแนน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก Goal 17, 9 และ 12 กลุ่มที่ต้องการปรับปรุงยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วงและจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ การส่งเสริมสังคมที่สงบสุข การที่ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความยั่งยืนของเมือง การเร่งรัดเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ประเด็นด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิต ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน

งานเสวนากลุ่ม4Resize
บรรยากาศบนเวทีเสวนาในหัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากซ้ายไปขวา ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ คุณวิชัย อัศรัสกร และผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ในความเห็นของ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับประเด็น “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เขามองว่า ประเทศนี้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาอย่างย่อยยับ โดยหัวใจสำคัญมากกว่าการที่จะถูกบรรจุอยู่ในแผนหรือรัฐธรรมนูญคือต้องอยู่ในใจของทุกคนทุกฝ่าย ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ว่าบริษัททำ CSR (Corporate Social Responsibility) แล้วบอกว่ายั่งยืน แบบนั้นเรียกว่าการพัฒนาแบบเอาหน้า

สำหรับปัญหาทรัพยากรทางทะเล ไทยติดอันดับที่มีขยะในทะเลเป็นที่ 1 ใน 5 ของโลก ในปีนี้เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกมากรองจากจีน อินโดนีเซีย แต่หากคำนวณอัตราขยะในทะเลต่อประชากร ไทยถือเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสถานการณ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนขณะนี้คือมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาอย่างย่อยยับร่วมกันอยู่

บนเส้นทางความยั่งยืน เราจะไปไหนต่อ

ความพยายามในระดับโลก ที่มีต่อการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น มีมาตั้งแต่การประชุมเอิร์ท ซัมมิต ปี 2535 ครั้งแรกที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล  กระทั่งปัจจุบันพัฒนามาเป็นความตกลงร่วมกันภายใต้ข้อตกลงปารีส ในการทำให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา และเป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

ในประเทศไทย ปัจจุบันนอกจากมีคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ วันนี้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนยังได้รับการบรรจุในวาระการพัฒนาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ 20 ปี

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) กล่าวว่า SDGs กลายมาเป็นความท้าทายว่า เราจะเดินไปที่ไหน วันนี้จะเชื่อมโยง SDGs เชื่อมโยงการพัฒนา โดยเฉพาะการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร ล่าสุดในการประชุม กพย. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีมติให้จัดลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์ของ SDGs จาก 17 เป้าหมายที่มี 169 เป้าประสงค์ ให้ดำเนินการใน 30 เป้าประสงค์สำคัญเบื้องต้น เพื่อเดินหน้าในประเด็นต่างๆ ให้มีความก้าวหน้าภายใน 5 ปี  เช่น ประเด็นความเหลื่อมล้ำ การยุติความรุนแรงในสตรีและเด็ก การค้ามนุษย์ การรักษาระบบนิเวศน์ทางทะเล ฯลฯ โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12  สำหรับการดำเนินการครั้งนี้นอกจากจะใช้โอกาสนี้ในการจัดเก็บระบบฐานข้อมูล ยังดำเนินการตามกรอบความยั่งยืนสากล เช่น การเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมาย Goal 12 นั้นอาจจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องการผลิตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นจากที่มองแต่มุมของการบริโภคยั่งยืน  การเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs จึงถือเป็นการตรวจสอบตัวเองและเป็นการตรวจสอบโดยประชาคมโลก

“ขจัดความยากจน” การบรรลุเป้าหมายที่ยังท้าทาย

Doi Ang Khangresize cofeeresize

แม้ว่า “การขจัดความยากจน” จะเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย ทว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ท้าทายหากพิจารณาตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรื่องนี้ในหนังสือ A Call to Action ระบุไว้ว่า ประเด็นการขจัดความยากจนของประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นที่กดดันมากนัก โดยเป็นเป้าหมายเดียวใน 17 เป้าหมายของ SDG ที่ไทยสามารถบรรลุได้ เนื่องจากความพยายามในการทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาอย่างทั่วถึง ในการสร้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิต มีตัวอย่างจากโครงการพระราชดำริ และโครงการพัฒนาดอยตุง ที่แสดงให้เห็นตัวอย่างการพัฒนาของประเทศไทย ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) โดยข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ประชากรของไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือ 1.90 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 67 บาทต่อวัน มีเพียง 0.6% ซึ่งอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในโลกที่อยู่ที่ 12.7%

ในปี 2558 ไทยมีคนยากจนประมาณ 7.3 ล้านคนซึ่งคิดเป็น 11% ของประชากร โดยหากมองในเชิงพื้นที่ 7 ใน 10 ของคนยากจนอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือน 18,952 บาทต่อเดือน และ 21,094 บาทต่อครัวเรือนตามลำดับ โดยต่ำกว่ารายได้ของคนกรุงเทพและปริมาณมณฑลเกินครึ่งหนึ่ง หรือที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 41,022 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีความท้าทายจากประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคนิยมในต่างจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งนำมาสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือน การอยู่ในวังวนของปัญหา ภายใต้ “วงจรที่ถูกกีดกัน” ที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงบ้านที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในการมีงานทำ ซึ่งทำให้คนรุ่นต่อมาไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะความยากจนได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับชาวนา ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ในการเผชิญปัญหาความยากจน จากวังวนปัญหาหนี้สินและการไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รวมไปถึงกลุ่มเสี่ยงอย่างคนพิการ ผู้หญิงตัวคนเดียว และกลุ่มผู้สูงอายุ ในต่างจังหวัด ที่อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการแก้ไขปัญหาความยากจน

SEP for SDGs พอเพียงเพื่อยั่งยืน

“เราหวังว่าในที่สุด ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายในทุกเรื่องได้ และเราหวังว่าหนังสือนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น หลังกลับจากการประชุมสหประชาชาติ ที่เราเริ่มพูดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย เรากลับมาคิดว่าเราได้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า และเราจะเรียนรู้จากการทรงงานได้อย่างไร” ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาและผู้อำนวยการศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของหนังสือ   A Call to Action: Thailand and The Sustainable Development Goals  เล่าถึงความคิดเบื้องหลังของการทำงานกว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา

ที่ผ่านมาเรานำเสนอไว้ในเวทีโลกมาโดยตลอดว่า เราใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พัฒนาในระดับต่างๆ รวมถึงตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการพัฒนาประเทศตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ทรงคุณค่าที่จะนำพาประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

นับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ทำให้เรารู้ว่าการพัฒนาที่ไม่สมดุลไปไม่รอด การที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความสมดุลของการพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เราจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ถ้าดูจากทั้ง 17 เป้าหมาย 17 บทในหนังสือเราประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนจากมุมมองใน 2 มิติ คือ SDGs และมุมมองจากฐานคิดในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นว่าในหลายประเด็นที่รายงานไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่มองที่มิติวัฒนธรรมด้วย อย่างในประเด็นของคุณภาพชีวิต (Well-being) เรามองในเชิงสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) ด้วย เป็นต้น

ในแต่ละบทของหนังสือ A Call to Action นอกจากประเมินสถานการณ์ในแต่ละเป้าหมายในการพัฒนาของประเทศไทย มีตัวอย่างการทรงงานโครงการในพระราชดำริ ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ จะมีข้อสรุปของประเด็น A Call to Action กับเรื่องที่เราจะต้องลงมือทำในประเด็นต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ร่วมกัน

สำหรับหนังสือ A Call to Action: Thailand and The Sustainable Development Goals  (ปกแข็ง, 184 หน้า) เป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่จะจัดจำหน่ายในร้าน Asia Books และ Kinokuniya รวมถึงร้านหนังสือชั้นนำทั่วโลก และที่ amazon.com โดยจะมีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยและเผยแพร่ภายในปลายปี 2560 นี้