ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกแนะไทยเปิดเสรี “ภาคบริการ” ดันเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

ธนาคารโลกแนะไทยเปิดเสรี “ภาคบริการ” ดันเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

19 ธันวาคม 2016


ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ธนาคารโลกเปิดตัว “รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย: ภาคบริการจะเป็นปัจจัยใหม่ที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ” โดย ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาว่าธนาคารโลกปรับจีดีพีของปี 2559 เพิ่มจาก 2.5% เป็น 3.1% แต่ภาพรวมถือว่ายังไม่ยั่งยืนและไม่ทั่วถึง เนื่องจากการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชน ขณะที่การลงทุนของเอกชนและภาคส่งออกยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ในช่วงหลังจะเห็นสัญญาณดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ส่วนการบริโภคของเอกชนในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากยอดขายรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า

อีกด้านหนึ่ง หากเทียบกับประเทศในอาเซียนและโลก ประเทศไทยถือว่าการเติบโตยังค่อนข้างต่ำและมีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จากการเพิ่มผลิตภาพและการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ในแง่ของเสถียรภาพ ประเทศไทยถือว่ามีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่ต่ำ หนี้สาธารณะที่ต่ำประมาณ 40% ของจีดีพี มีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งช่วยรองรับความเสี่ยงของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และภาคธนาคารที่มีความมั่นคงสูง

ดร.เกียรติพงศ์กล่าวถึงแนวทางของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยต่อไปว่า “ภาคบริการ” เป็นคำตอบ เนื่องจากภาคบริการในปัจจุบันเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอย่างแยกจากกันไม่ได้ โดยผลผลิตในภาคบริการถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เช่น การออกแบบ การขนส่ง และการประมวลผล เป็นต้น ซึ่งมักเป็นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

“ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดียในช่วงที่เศรษฐกิจและภาคการผลิตเติบโตขึ้น เราพบว่าภาครัฐของอินเดียได้ปรับโครงสร้างในภาคบริการด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ภาคการผลิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว หรือการผลิตไอโฟนหรือโนเกีย 95 พบว่ามูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นมีเพียง 40% มาจากภาคการผลิตอย่างพวกวัสดุต่างๆ แต่ 60% กลับมาจากภาคบริการ แม้แต่เสื้อสูทก็พบว่ามูลค่าเพิ่ม 95% มาจากภาคบริการคือการออกแบบ ส่วนวัสดุอย่างผ้าคิดเป็น 5% เท่านั้น หรือการผลิตรถยนต์ไร้คนขับของเทสลาต้องอาศัยสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วแบบในอเมริกาถึงจะใช้งานได้” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

service-sector

อย่างไรก็ตาม ภาคบริการของประเทศไทยกลับมีผลิตภาพที่ต่ำกว่าภาคการผลิต โดยจ้างงานคน 17 ล้านคน หรือ 40% ของแรงงานทั้งหมด แต่ผลิตจีดีพีเป็นสัดส่วนเพียง 50% ขณะที่ภาคการผลิตจ้างงานเพียง 15% ของแรงงาน แต่กลับผลิตจีดีพีเป็นสัดส่วนถึง 35% นอกจากนี้ หากมองย้อนหลังกลับไปพบว่า สัดส่วนดังกล่าวไม่ได้เพิ่มขึ้นมาตลอด 20 กว่าปี เทียบกับประเทศอย่างมาเลเซียที่เพิ่มสัดส่วนภาคบริการจาก 40% เป็น 50% หรือจีนที่เพิ่มจาก 35% เป็นเกือบ 50% ในปัจจุบัน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคบริการของไทยมีผลิตภาพต่ำ คือ กฎระเบียบด้านตลาดบริการที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ โดยไทยมีภาคบริการ”ปิด”เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพ อย่างแพทย์หรือสถาปนิก ซึ่งมีข้อจำกัดเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ตัวอย่างเช่น แพทย์จากต่างประเทศ หากจะเข้ามาทำงานจะต้องสอบใบอนุญาตของไทย, งานสถาปนิกมี่กำหนดว่าต้องเป็นคนไทยเท่านั้น หรือกฎหมายที่ไม่ให้ต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 50% แต่ในทางปฏิบัติหลายธุรกิจไปไกลกว่ากฎหมายแล้ว เช่น มีต่างชาติเป็นเจ้าของในลักษณะ “ตัวแทน” แล้ว

ดังนั้น การเปิดเสรีของภาคบริการและเปิดโอกาสให้งานวิชาชีพเข้ามาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตภาพ คุณภาพ และเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ในโลกให้แก่ภาคบริการและประเทศไทย

อีกเหตุผลหนึ่ง คือ แนวนโยบายของรัฐที่เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่า เนื่องจากผลิตภาพที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี มีแนวนโยบายที่จะปฏิรูปภาคบริการมากขึ้น อย่างภาคการเงิน การศึกษา ขนส่ง แพทย์ เป็นต้น

“การผสมผสานระหว่างการริเริ่มจากภาคเอกชนและการสนับสนุนของรัฐได้นำไปสู่ความสำเร็จของภาคบริการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ต้องการผลักดันภาคการศึกษา ช่วงหลังวิกฤติเขาได้ตั้งกระทรวงการศึกษาขั้นสูงขึ้นมา รวมไปถึงลดกฎระเบียบต่างๆ ลง ดังนั้น ความตั้งใจของไทยที่จะปฏิรูปโครงสร้างเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยปลดปล่อยศักยภาพของภาคบริการและยกระดับให้ไทยโตได้มากกว่า 4% ในระยะยาว”(ดูข้อมูลเพิ่มเติม)