ThaiPublica > คอลัมน์ > เตรียมตัวกับ Internet Finance

เตรียมตัวกับ Internet Finance

20 ธันวาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

สำหรับคนในวงการ ปรากฏการณ์ Internet Finance ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นเพราะมีตั้งแต่ก่อนปี 2006 ในจีน แต่นับตั้งแต่ปี 2013 ดูจะแพร่หลายยิ่งขึ้นจนน่าตกใจว่าอาจนำไปสู่ปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบาดข้ามชาติมาไทย

ในความหมายอย่างกว้าง Internet Finance (IF) ครอบคลุม (ก) กิจกรรมด้านไอทีของบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน และ (ข) กิจกรรมดั้งเดิมทั้งหมดที่สถาบันการเงินเอาไอทีมาประยุกต์ใช้ในบริการของสถาบันการเงิน

ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มแรก ได้แก่ การเป็นตัวกลางการชำระเงินให้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น WeChat Pay หรือ Alipay ของจีน กล่าวคือ ผู้ซื้อมีเงินในบัญชีและเอาไปใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ (ที่เรียกว่า debit card คือมีเงินอยู่ในบัตรแล้วจึงจ่าย ซึ่งต่างจาก credit card ซึ่งจ่ายไปโดยยังไม่ได้ “จ่ายเงินจริง” ต้องเรียกเก็บภายหลังซึ่งหากจ่ายไม่ครบก็คือการกู้ยืมเงินนั่นเอง)

ที่มาภาพ : http://www.cpall.co.th/
ที่มาภาพ : http://www.cpall.co.th/

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนซื้อของในร้าน 7-11 (ที่นิยมมากก็คือนมอัดเม็ดสวนจิตรลดา ยาหม่อง โก๋แก่ เถ้าแก่น้อย ฯลฯ) ก็ไม่ต้องจ่ายเงินสด เพียงเข้าแอป AliPay ในโทรศัพท์มือถือ (บริษัทลูกของ Alibaba ของแจ็ค หม่า) คนขายก็เอาที่ยิงป้ายยิงไปบนจอ ก็จะหักเงินจากบัญชีแบบ debit card เรียบร้อย

ตัวอย่างของกิจกรรมกลุ่มสอง คือ Mobile Banking ได้แก่ ถอนเงิน โอนเงิน ฝากเงินผ่านไอที ดังที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันผ่านมือถือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นๆ

อย่างไรก็ดีความหมายอย่างแคบของ IF ก็คือกิจกรรมไอทีซึ่งจ่ายเงินโดยฝ่ายที่สาม (ฝ่ายหนึ่งและสองคือผู้ซื้อและผู้จ่ายเงินซื้อของ) ดังเช่นกรณีของ Alipay การกู้ยืมเงินออนไลน์ การขายตรงของกองทุนเพื่อการลงทุน การระดมทุนสำหรับโครงการจากคนจำนวนมาก (crowd funding) การขายประกันออนไลน์ ตลอดจนการโอนเงินระหว่างกันเป็น digital currency เช่น หน่วยเป็น bitcoin (ปัจจุบันมี digital currency ไม่ต่ำกว่า 400 ชนิด และทุกวันจะมีคนคิดขึ้นมาใหม่ทุกวันเพื่อให้การโอนเงินระหว่างกันสะดวกและปลอดภัยใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่สุด)

Alipay ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่เปิดตัวในปี 2004 และ Credit East ในปี 2005 แต่ที่เกิดเป็นไฟไหม้ป่านั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดตัว Yu’E Bao ซึ่งเป็น platform เพื่อการซื้อขายออนไลน์สำหรับตลาดเงินอันมี Ant Financial Services ของ Alibaba เป็นเจ้าของในปี 2013

Alipay ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 450 ล้านราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านราย ใน 20 ปี มีส่วนแบ่งการตลาดในจีนประมาณร้อยละ 70 มี 2 ล้านร้านค้าทั่วโลกที่รับชำระเงิน โดย Alipay เมื่อ Alipay ประสบความสำเร็จ ไอเดียอื่น ๆ ที่สำคัญออนไลน์ เช่น กู้เงินระหว่างบุคคล (P2P) การซื้อขายกองทุน การระดมทุน ก็เกิดขึ้นตามมา

P2P เติบโตอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมีมากกว่า 4,000 platforms (ระบบไอทีซึ่งอำนวยให้เกิดธุรการการเงิน) ในจีน ดึงดูดให้คนเกือบ 3 ล้านคนปล่อยเงินกู้ MyBank ซึ่งเป็นของกลุ่ม Alibaba ก่อตั้งปี 2015 ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยและผู้ก่อสร้างธุรกิจรายใหม่ นับถึงปัจจุบันบริการลูกค้ารายย่อยกว่า 3 ล้านราย ปล่อยกู้ไปแล้ว 45,000 ล้านหยวน สามารถปล่อยกู้เงินด่วนโดยโอนเงินให้ในเวลาเพียง 3 นาที (ปล่อยกู้ตั้งแต่ 1 หยวนขึ้นไป) เวลาใช้คืนภายใน 24 เดือน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ประการใด

บริษัทไม่กลัวหนี้สูญเพราะเขามีข้อมูลของผู้กู้จากการเป็นลูกค้าซื้อขายออนไลน์ก่อนหน้านี้ใน Alibaba แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดยักษ์ของผู้บริโภคหรือ big data นี่แหละคือหัวใจของธุรกิจทุกลักษณะ

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Ant Fortune ของกลุ่มเดียวกันที่ใช้ไอทีเป็นโอกาสแก่ประชาชนในการฝากเงินและลงทุนในบริษัทแม่ คือ Alipay ได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อลูกค้าฝากเงินใน Alipay เป็น debit card หากไม่ใช้เงินก็จะกลายเป็นเงินลงทุนในบริษัท แต่ก็สามารถนำเงินนี้มาใช้จ่ายได้ตลอดเวลา ผลตอบแทนก็คิดให้ตามวันเวลาของการเป็นเงินลงทุน

P2P นั้นมีมากมายหลายบริษัท และระหว่างบุคคลก็มีเช่นกัน นอกประเทศจีนก็มี platform สำหรับกิจกรรมเช่นนี้ เช่น Lending Club/Prosper/On Deck ฯลฯ การซื้อขายกองทุน การประกันออนไลน์โดยตรงก็ร้อนแรงไม่น้อย

ปรากฏการณ์ IF ที่ระเบิดขึ้นอย่างน่ากลัวนี้เป็นเรื่องน่ากังวลอยู่หลายระดับภายในประเทศจีน การกู้ยืมออนไลน์โดยคนไม่รู้จักกันเป็นปุ๋ยอย่างดีของการต้มตุ๋นลักษณะแชร์แม่ชม้อย (ฝรั่งเรียกว่า Ponzi Scheme) กล่าวคือ เสนอให้ดอกเบี้ยอย่างสูงเป็นพิเศษโดยตอนแรกก็จ่ายให้โดยดี แต่เมื่อเงินเข้ามากขึ้นก็หายตัวไปเลย

ความกังวลอีกระดับหนึ่งก็คือ การปล่อยกู้ข้ามประเทศ สิ่งที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนในอนาคตก็คือคนไทยจะได้มีโอกาสชมเชยการกู้ยืมชนิดทันใจออนไลน์ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และคนไทยก็จะเป็นหนี้กันหนักมือขึ้นกว่าที่กู้กันอยู่แล้วในประเทศ ถ้าธนาคารต่างประเทศโดยเฉพาะจีนมี Big Data ของลูกค้ามากเพียงพอและวิเคราะห์ได้ชัดเจนว่าใครมีหรือไม่มีปัญหาผ่อนใช้เมื่อใด เราก็จะเห็นการเป็นทาสจากการเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเรื่องหนี้ของประชาชนก็ทำงานได้ยากเพราะไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับไม่ให้ต่างประเทศปล่อยหนี้ได้ จะทำได้ก็ด้วยมาตรการควบคุมฝั่งของเรา แต่ก็ครอบคลุมได้ยากเพราะมันผ่านเข้าออนไลน์ สิ่งสำคัญที่ต้องคุ้มครองก็คือธุรกิจของสถาบันการเงินของประเทศเรา

รัฐบาลจีนตระหนักดีถึงปัญหาไฟไหม้ป่านี้ ในเดือนตุลาคมปีนี้จึงมีกฎเกณฑ์ออกมาบังคับ IF มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะเรื่องต้มตุ๋น การกระทำใต้ดินผิดกฎหมาย บริษัทเถื่อน ฯลฯ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลเพียงใด

IF ไม่ใช่เรื่องที่เลวเพราะสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการประกอบธุรกรรมอันเนื่องมาจากความสะดวก และสามารถลดต้นทุนลงได้มาก อีกทั้งเปิดช่องให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปผลิตและประกอบการค้าอีกด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้ก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ประโยชน์จะเกิดได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อมีความสมดุลอันเหมาะสมระหว่างนวัตกรรมทางการเงินและการจัดการในเรื่องความเสี่ยง นอกจากนี้ ความพอดีในเรื่องออกกฎการควบคุมตลอดจนการบังคับใช้กฎก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ

ปรากฏการณ์ระเบิด IF นี้เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นแห่งแรก แต่ก็มิได้หมายความว่า IF ไม่มีในประเทศอื่นๆ ในเวลาอีกไม่นานคลื่นนี้ก็จะถาโถมเข้ามาในโลก

การทันโลก ทันเทคโนโลยี และมีสติ พร้อมกับการออกนโยบายและมาตรการที่ทันเหตุการณ์ผ่านการเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนปรากฏการณ์นี้ให้เป็นคุณมากกว่าโทษเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 13 ธ.ค. 2559