ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > TMB Analytics วิเคราะห์สินค้าเกษตรไทย อะไรเป็น “ดาวรุ่ง” ในปี 2560

TMB Analytics วิเคราะห์สินค้าเกษตรไทย อะไรเป็น “ดาวรุ่ง” ในปี 2560

10 ธันวาคม 2016


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ยก “อ้อย” เป็น “ดาวรุ่ง” สินค้าเกษตรไทยปีหน้า ผลผลิต “กุ้งขาว” เพิ่มต่อเนื่อง ด้านมันสำปะหลัง ยังน่าห่วง ชี้รัฐเร่งดูแลหลังจีนลดนำเข้า แนะเกษตรกรลดพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยวตามรอยพระราชดำรัส ช่วยรัฐปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรจากระดับจุลภาค

TMB-ราคาสินค้าเกษตร

ภาคการเกษตรแม้มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของ GDP ไทย แต่ 1 ใน 3 ของคนทำงานในประเทศหรือ 12.4 ล้านคนเป็นเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาค ดังนั้นสินค้าเกษตรจึงเป็นแหล่ง “สร้าง” และ “กระจาย” รายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง กุ้ง มีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท กระจายไปสู่เศรษฐกิจภูมิภาคในแต่ละปี หากเปรียบเทียบแล้วพบว่า มีมูลค่าสูงกว่างบประมาณลงทุนโครงการรถไฟฟ้าหลากสี 11 สาย ระหว่างปี 2558-2564 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ดังนั้น หากราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในแนวโน้มที่ดี ก็เสมือนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคได้โดยไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น

สินค้าเกษตร “ดาวรุ่ง” ที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องถึงปีหน้า คือ “อ้อย” เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ปลายเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 19.8 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากราคาเมื่อเดือนมกราคม 2559 โดยราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากราคาทำจุดต่ำสุดในเดือนสิงหาคม 2558 และคาดหมายว่าราคายังอยู่ในแนวโน้มที่ดีในปีหน้าหลังอุปทานตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยิ้มได้จากราคาอ้อยฤดูกาลผลิต 2559/60 สูงกว่าปีที่ผ่านมา ด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งกำลังเป็น “ดาวเด่น” สินค้าเกษตรไทย เข้าสู่ภาวะผลผลิตฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากโรคตายด่วนระบาดเมื่อ 4 ปีก่อนทำให้ผลผลิต”กุ้งขาว”ลดลงกว่าร้อยละ 60 กระทบอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยขาดแคลนวัตถุดิบ เราคาดว่าผลผลิตยังมีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 15 ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ส่วนราคากุ้งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากความต้องการของตลาดโลก กุ้งขาวจึงถูกคาดว่าจะ “รีเทิร์น” กลับมาสดใสอีกครั้ง

สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้ม “กลับมา” หลังครองตำแหน่งดาวร่วงมาหลายปีอย่าง “ยางพารา” ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาเฉลี่ยผ่านจุดสูงสุด 174.4 บาท/กก.เมื่อต้นปี 2554 แล้วราคาลดลงเกือบร้อยละ 80 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำเม็ดเงินหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยางเฉลี่ยเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ ล่าสุด ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ชั้น 3 อยู่ที่ 59.4 บาท/กก.เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่าร้อยละ 60 จากต้นปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นจากมาตรการเข้าเสริมของรัฐบาล ที่พยายามปรับโครงสร้างการผลิตและใช้ยางของไทย เช่น สนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น และการลดพื้นที่ปลูกยางเพื่อลดผลผลิต เป็นต้น ทำให้ราคายางเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เรียกว่า เป็นดาวที่เริ่มฉายแสงอีกครั้ง

ส่วนข้าว แม้ว่าราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบปี โดยเฉพาะราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิ ทำสถิติราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อตัน ถือว่าต่ำสุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาปีหน้าอาจจะยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2559/60 ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอย่าง เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน

ด้านสินค้าเกษตรที่ยังค่อนข้างน่ากังวลในปีหน้าคงหนีไม่พ้น “มันสำปะหลัง” ซึ่งราคาลดลงต่อเนื่อง ผลจากจีนอนุญาตให้ใช้ข้าวโพดในประเทศเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนมันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทย (กว่าร้อยละ 45 ของผลผลิตมันสดทั้งปีของไทย ส่งออกไปจีน) ทำให้ราคาเฉลี่ยมันฯ สดคละลดลงจาก 2.2 บาท/กก. ในปีก่อน ล่าสุดราคาเดือนพฤศจิกายนลดลงเหลือ 1.3 บาท/กก. หรือลดลงกว่าร้อยละ 40 สวนทางกับปริมาณผลผลิตที่คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นปริมาณ 31.2 ล้านตัน ผลกระทบหนักสุดจึงหนีไม่พ้นเกษตรกรที่ลงทุนปลูกในช่วงราคาสูงก่อนหน้านี้กว่า 5 แสนครัวเรือน โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและเศรษฐกิจในพื้นที่

จะเห็นว่าสินค้าทั้ง 5 มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือ ส่วนใหญ่ของผลผลิตจะส่งออกในลักษณะของวัตถุดิบ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก นอกจากนี้ราคาก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลักด้วย ดังนั้น หากต้องการให้ราคามีแนวโน้มดีคงหนีไม่พ้นความพยายามในการลดต้นทุนการผลิต การลดพื้นที่ผลิต การเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศและส่งออกที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงขึ้น ภาครัฐจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ผลักดันให้พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรควรน้อมนำพระราชดำรัสเกษตรทฤษฏีใหม่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้มากกว่าการพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งมีความเสี่ยงจากราคาสูงกว่า และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน และถือเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรระดับหน่วยย่อยไปพร้อมกันอีกด้วย