กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิลลูชั่น จำกัด สตูดิโอสัญชาติไทย นักสร้างสรรค์โฆษณาภาพนิ่ง (illustrator) อันดับหนึ่งของโลก และผู้ชนะรางวัล Grand Prix Cannes Lions “สุรชัย พุฒิกุลางกูร” ขึ้นพูดใน งานมหกรรมความรู้ครั้งที่ 5 “มันส์สมอง” พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21 จัดโดย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ถึงความคิดและบทเรียนเบื้องหลังความสำเร็จ ในหัวข้อ “Marketing and Communication Skills to Reach the World Market: ทักษะการสื่อสารและการตลาดที่จะพาเราไปตลาดโลก”
“สุรชัย” ได้เล่าเรื่องปรัชญาความคิดเบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ บริษัท อิลลูชั่น CGI สตูดิโอสัญชาติไทย (CGI คือการทำภาพกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์) ได้ไปยืนอยู่บนเวทีระดับโลกได้ โดยเริ่มจากตอนที่เขาไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น จากการที่สุรชัยไม่สามารถเข้าใจภาษาญี่ปุ่นได้เลยทำให้เขาคิดอะไรบางอย่างได้ “ตอนที่ผมไปเรียนญี่ปุ่น ผมไม่ได้เตรียมตัวไป พอผมไปที่ญี่ปุ่นครั้งแรก ผมฟังอะไรไม่ออกเลย หูดับไปเลย ผมก็เริ่มตกใจแล้วก็ถามตัวเองว่า แล้วจะรู้เรื่องได้ยังไง ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาผมเรียนรู้ด้วยหู ผมฟัง ผมใช้การฟัง การอธิบายของคนที่รู้ ผมไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามอีกมากมายของคุณสุรชัย “ผมก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าขณะที่คนญี่ปุ่นพูดกับผมไม่รู้เรื่องแล้วนั่นหมายความว่าอะไร แล้วผมก็คิดต่อว่า ถ้าสมมติว่าก้อนหินมันคุยกับเราแล้วเราไม่มีเครื่องรับล่ะ ผมก็คิดไปเรื่อย ถ้าเกิดมันมีสารที่ส่งออกมารอบๆ ตัวเราแล้วเราไม่มีเครื่องแปลเครื่องรับแล้วจะเป็นอย่างไร ผมก็คิดต่อไปเรื่อยๆ ปกติผมเป็นคนชอบคิด ชอบคิดวนไปวนมา ผมก็เริ่มมองว่าในชีวิตปกติของพวกเรา ในความเป็นคนไทยนั้น เรามีวิธีแบบนั้นอยู่ เราคุ้นเคยกับการอ่านสารที่ส่งออกมา นั่นคือการใบ้หวย เราพยายามตีความสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ตีมันบ้างว่าเลขอะไร เราฝันเป็นอะไร ผมว่านี่คือทักษะเบื้องต้นที่ผมใช้”
ชนวนความคิดเหล่านี้ โยงไปถึงเรื่องของความสัมพันธ์ของวัตถุ “ผมไปไกลกว่านั้น ผมเริ่มค้นหาว่าผมจะสร้างเครื่องรับในชีวิตนี้ยังไง ผมโชคดีที่เจอบทความหนึ่งที่พูดถึงความคิดสร้างสรรค์ มันเรียกๆ ง่ายว่า ‘บทค้นหาความต่างและความเหมือน’ กฎนี้พูดง่ายๆ ว่า ให้เราค้นหาความต่างของสิ่งที่เหมือนกัน แล้วก็ค้นหาความเหมือนของสิ่งที่ต่างกัน แค่นี้เอง ง่ายๆ” สุรชัยพูดถึงความสัมพันธ์ของวัตถุ เช่น เก้าอี้กับโต๊ะ หน้าต่างกับประตูเป็นต้น “เมื่อเราฟังจริงๆ แล้วหลักการนี้คือการสังเกต การวิเคราะห์ความเชื่อมโยง ผมใช้หลักการนี้มาตลอด ยี่สิบกว่าปีแล้ว มันก็ยังเป็นตัวหลักในการย่อยสิ่งต่างๆ”
โดยเรื่องราวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่สุรชัยอยู่ญี่ปุ่นนั้น มีอยู่หนึ่งเรื่องที่สุรชัยประสบแล้วทำให้ความคิดของตัวเขาเปลี่ยนไป นั่นก็คือเรื่อง ‘สิงโตในสวนสัตว์’
“หลายคนคงได้ยินเรื่องนี้แล้ว เรื่องมันก็มีอยู่ว่า ตอนที่ผมจบจากเชียงใหม่ ผมจบจิตรกรรม ผมจบคณะวิจิตรศิลป์ แล้วมันก็เป็นความฝันของคนวาดรูปที่จะได้ไปดูงานศิลปินระดับโลก ผมได้มีโอกาสไปดูงานศิลปินระดับโลกที่ญี่ปุ่น แล้วก็ได้เห็นงานแวนโก๊ะและปีกัสโซ ผมรู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับที่ผมเคยเรียน มันไม่เหมือนกับที่ผมเคยเห็น ผมก็เริ่มวิเคราะห์ว่ามันคืออะไร สุดท้ายผมก็ค้นพบว่าผมเรียนรู้ศิลปะระดับโลกจากหนังสือ พอผมรู้ว่าผมเรียนจากหนังสือ ภาพสวนสัตว์มันก็เกิดขึ้น ผมรู้สึกว่า ผมเหมือนสิงโตในสวนสัตว์ ผมกินกระต่ายที่เป็นกระต่ายเลี้ยง ไม่ใช่กระต่ายป่า ผมเลยยังไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้น ภาพโครงสร้างที่ผิดปกติมันเริ่มชัดขึ้น”
หลังจากที่สุรชัยเรียนจบอาชีวศึกษาซึ่งใช้เวลาสองปี เขาก็ได้ทำงานเป็นนักตกแต่งภาพ และเขาก็หลงรักอาชีพนี้ “ผมก็ถามตัวเองว่า แล้วผู้ฝึกสอนผมในชีวิตจะเป็นใคร ผมก็ตกลงว่า art director (ผู้กำกับศิลป์) กับ creative ในเมืองไทยนี่แหละ เป็นโค้ชให้ได้ ก็คือขณะที่เรานั่งพรีเซนต์ พวกเขาก็จะบอกว่า พี่นี่ยังไม่สวย นี่ยังสว่างไป นั่นก็คือเราทำภาพในหัวของพวกเขา เขาก็คือโค้ชของเรา ผมก็นั่งหน้าจอแบบนี้ ยี่สิบกว่าปี ผมทะลุหมื่นชั่วโมงไปไม่รู้เมื่อไหร่ ผมนั่งทำแบบนี้ มีโค้ชบอก มีคนบอกนั่นบอกนี่ นั่นคือสิ่งที่ผมทำตลอดเวลา”
นอกจากที่สุรชัยอยากจะเก่งในอาชีพนี้แล้ว สุรชัยก็สังเกตเห็นว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์ในสายอาชีพของเขาคืออะไร ความสำเร็จที่ตัวเขาจะได้รับจากการใช้เวลาเป็นหมื่นๆ ชั่วโมงนี้จะออกดอกผลเป็นอะไรได้ “แล้วพอมาเริ่มทำรีทัช ผมเริ่มรู้สึกว่า creative กับ art director อยากจะไปคานส์ (งานมอบรางวัลภาพยนตร์และโฆษณาระดับโลก จัดที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส) กันจังเลย ผมก็อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง ผมก็เริ่มเรียนรู้ว่างานแบบไหนบ้างที่ได้รางวัลแล้วก็ไปค้นพบความเหมือนของมันอีก นั่นก็คือ งานที่ได้รางวัลส่วนใหญ่ระดับโลกจะไม่มี ก็อปปี้ (ข้อความที่เป็นตัวอักษรในภาพ) หรือจะมีก็อปปี้เล็กๆ ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาภาพ ผมก็เรียนรู้มัน ค้นพบความลับบางอย่างที่ซ่อนอยู่ แล้วสุดท้ายผมก็มีส่วนในการทำงาน print ad ที่ไม่มีก็อปปี้แล้วก็ได้รางวัลคานส์ คือผลงานชิ้นนี้”
แต่สุรชัยก็ย้ำว่า เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพียงเพราะแค่นั่งทำงานไปเรื่อยๆ ทุกวัน แต่เพราะทฤษฎีและบทเรียนความคิดที่ตัวเขาเองนั้นได้สั่งสมมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี
“ในความหมายก็คือ มันไม่ได้เกิดจากที่ผมชอบทำคอมพิวเตอร์ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ใช้โปรแกรม Photoshop แต่งรูปไปวันๆ แล้วอยู่มาวันหนึ่งผมก็เก่ง เก่งแล้วก็ไปทำงานชิ้นนึงแล้วได้รางวัล ไม่ใช่แบบนั้น มันมีแนวทางของมัน มันมีขบวนความคิด ที่มา มันมีหลายๆ อย่าง”
ถึงแม้ว่างานจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ตัวสุรชัยเองก็บอกว่ามันไม่ได้มาจากตัวเขา เขาเป็นแค่คนใส่รายละเอียดให้กับงานที่ทาง creative และ art director เป็นคนคิดขึ้นมา
“งานทุกชิ้นผมไม่เคยคิดจะใส่ลายเซ็น เพราะมันเป็นไอเดียของ creative กับ art director เป็นไอเดียของคนอื่น เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่จะทำให้ไอเดียนั้นสื่อสารออกไปให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ความมีตัวตนของผมแทบจะใส่ลงไปน้อยที่สุด แต่ผมจะใส่ดีเอ็นเอของความสุขระดับตารางนิ้ว เพราะผมเชื่อว่าสิ่งนั้นมันจะคงอยู่ในงาน” ในตัวอย่างแต่ละงานที่ทีมของคุณสุรชัยทำนั้นจะเห็นได้ว่า ความละเอียดคือความสามารถพิเศษของทีม “งานของเราถ้าซูมเข้าไปในรายละเอียดแล้วเราจะเห็น detail ผมไม่ได้ละเลย มันเป็นความตั้งใจที่ผมพยายามจะใส่เข้าไปเป็นปรัชญาการทำงานของออฟฟิศ”