ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อนาคต แนวโน้ม และทิศทาง ของแบรนด์ที่ยั่งยืน เมื่อบริษัททั่วโลกถูกเรียกร้องให้มี “เป้าหมายใหม่”

อนาคต แนวโน้ม และทิศทาง ของแบรนด์ที่ยั่งยืน เมื่อบริษัททั่วโลกถูกเรียกร้องให้มี “เป้าหมายใหม่”

14 ธันวาคม 2016


GlobeScan บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ความยั่งยืน เปิดเผยถึงผลสำรวจเรื่องความไว้วางใจของผู้บริโภคทั่วโลก โดยจากผลสำรวจใน 35 ประเทศ เกี่ยวกับเรื่องความไว้วางใจที่มีต่อองค์กรต่างๆ พบว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจในบริษัทนั้นต่ำสุดหรือเป็น 0 ขณะที่สถาบันการศึกษาได้ 48 คะแนน องค์กรพัฒนาเอกชน 30 คะแนน ตามลำดับ

globescan1resize
ผลสำรวจของ Globescan สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความไว้วางใจที่คนทั่วโลกมีต่อธุรกิจ

“ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจะเห็นแนวโน้มที่ประชาชนมีความไม่ไว้วางใจต่อบริษัทหรือองค์กรธุรกิจมากขึ้น จากการสำรวจทั่วโลกของเราจึงนำมาสู่คำถามที่ว่าทำไมต้องการเป้าหมายใหม่” แวนเดอร์ เมเจอร์ ผู้อำนวยการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ GlobeScan กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเขาเดินทางมาบรรยายบนเวที Sustainable Brands 2016 Bangkok เวทีประชุมสัมมนาระดับโลกที่ว่าด้วยแบรนด์ที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด Activating Purpose หรือการลงมือทำเป้าหมายเพื่อให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นหนึ่งในทิศทางสำคัญของ “แบรนด์” ในโลกกับการก้าวข้ามจากการตั้งคำถามว่าทำไม ไปสู่การที่จะลงมือทำอย่างไรให้ยั่งยืน

 Activating Purpose: สู่เป้าหมายที่ดีกว่าของแบรนด์

ก่อนการประชุมสัมมนาระดับโลก Sustainable Brands 2016 ในครั้งนั้นจะเริ่มต้นขึ้นหนึ่งสัปดาห์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ามีโอกาสคุยกับ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director ประเทศไทย ของ Sustainable Brands (SB) ถึงทิศทางใหม่ ความสำคัญของแบรนด์ที่มีเป้าหมายและความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เธอพยายามดึงเวทีระดับโลกนี้มาจัดในประเทศไทย

ดร.ศิริกุลกล่าวว่า “เหตุผลที่ชุมชนของแบรนด์ยั่งยืนให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีเป้าหมาย เพราะสิ่งนี้คือการเปลี่ยน Paradigm ของการดำรงอยู่ของแบรนด์ เราต้องกลับมาดูว่าเป้าหมาย (Purpose) ของธุรกิจจะเป็นอย่างไรจึงจะเป็นจุดให้แบรนด์และธุรกิจหันกลับมาสนใจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ”

“วันนี้เรากำลังอยู่ในจุดที่เปลี่ยนจาก ME เป็น WE ทุกอย่างเราจึงต้องคิดถึงส่วนรวม สังคม การที่เราจะคิดว่าวันนี้ส่วนแบ่งการตลาดเราเป็นอันดับหนึ่ง  วันนี้ต่อให้คุณจะเป็นบริษัทที่เก่งที่สุดของโลก คุณจะอยู่ท่ามกลางความเกลียดชัง ไม่ได้ คุณจะดำเนินธุรกิจที่แม้กระทั่งการที่ถ้าจะรับพนักงานแล้วยังจะต้องใช้แค่แพกเกจไปดึงดูดใจ คำว่าความศรัทธา ความเคารพนับถือ หาไม่ได้ในองค์กรแบบนี้ องค์กรอะไรก็ตามที่อยู่ได้ด้วย ‘น้ำเงิน’ มากกว่า ‘น้ำใจ’ มันจะอยู่ยาก” ดร.ศิริกุลกล่าว

คำว่า Activating Purpose หรือเป้าหมายจากการลงมือทำ จึงเป็นการสร้าง Paradigm ใหม่ให้กับโลกธุรกิจซึ่งกลายเป็นแนวโน้มของแบรนด์ยุคใหม่ในโลก การที่องค์กรธุรกิจจะใช้คำว่า CSR (Corporate Social Responsibility)  ที่เป็นโครงการอาจจะไม่เปลี่ยนได้มากพอ เพราะเราไม่ได้ทำจากเป้าหมาย

workshopresize
บรรยากาศเวิร์กชอปที่ บางกระเจ้า “ปอดของคนเมือง” เพื่อเรียนรู้ ระดมสมอง และสร้างแรงบันดาลใจร่วมกัน ระหว่างชุมชนและนักสร้างแบรนด์ทั่วโลก ในการคงความงดงามทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม ก่อนที่งานประชุมอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นขึ้น ที่มาภาพ: FB Sustainable Brands 2016 Bangkok

ดร.ศิริกุลอธิบายโดยยกตัวอย่างว่า “ถ้าเราบอกว่าอยากสุขภาพดี และลุกขึ้นมากินเจปีละหน ก็ไม่ค่อยเปลี่ยนอะไรมากมาย ไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนแบบ เปลี่ยน Paradigm เลย ว่าเราจะเป็นมาเป็นชาวมังสวิรัติ หรือแมคโครไบโอติกส์ นี่ถึงจะเป็นการเปลี่ยน Paradigm เพราะฉะนั้น เหตุผลในการทำนั้นต่างกัน คนที่ลุกขึ้นมากินเจในช่วงหนึ่งคือการชำระล้างจิตใจ ไม่กินสัตว์ใหญ่ช่วงหนึ่ง  แต่ถ้ากินเจอย่างมีเป้าประสงค์ว่าจะดูแลสุขภาพ จึงจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมาก

โดย 4 แนวทางที่จะช่วยธุรกิจนำ “เป้าหมาย” มาสร้างศักยภาพที่ดีกว่าเดิมและเพิ่มผลกำไรที่ดีขึ้นของแบรนด์นั้น ธุรกิจต้อง 1. เรียนรู้วิธีที่จะใช้ “เป้าหมาย” ที่นำแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จ (Purpose) 2. เรียนรู้วิธี “สร้างองค์กร” ที่มีจุดยืนและเป้าหมายชัดเจน (Platform) 3. เรียนรู้วิธีที่จะ “สื่อสาร” เป้าหมายของแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อจูงใจผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด (People) 4. เรียนรู้วิธีในการเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นการลงมือทำที่สามารถวัดผลได้จริง (Performance)

แนวโน้มของแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ยุคใหม่

ข้อมูลของ GlobScan ยังระบุด้วยว่า การเป็นแบรนด์ที่มีเป้าหมาย (Brand with Purpose) จะทำให้ 1. แบรนด์มีตลาดที่เข้มแข็ง โดย 2 ใน 3 ของผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียที่มองเป้าหมายของบริษัทและความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรมากกว่าทั่วโลก รวมไปถึงในภูมิภาคลาตินอเมริกาและตลาดที่เกิดใหม่ 2. เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการดำรงอยู่ของบริษัทเป็นส่วนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยบริษัทต้องมีความซื่อสัตย์และมีเป้าหมายที่ดี แนวโน้มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการคิดถึงเป้าหมายของบริษัทในลำดับต้นๆ 3. การตั้งเป้าหมายขององค์กรจะช่วยสร้างโอกาสให้บริษัทในการจะเป็นผู้นำ เนื่องจากพบว่ากว่า 55% ของผู้บริโภคในเอเชียอยากซื้อสินค้าและทำงานกับบริษัทที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่ดีนั้นมีประสิทธิผลกว่าการทำกิจกรรม CSR

การให้ความสนใจในการแสวงหาวิธีการใหม่ๆ สำหรับธุรกิจและช่วยกันพัฒนาแบรนด์อย่างยั่งยืนของโลกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มบริษัทชั้นนำอย่างยูนิลีเวอร์  พีแอนด์จี เนสท์เล่ เป๊ปซี่โค โคคาโคล่า ลีวายส์ ยูพีเอส ฯลฯ หากดูจากแนวโน้มในการขยายตัวของสมาชิกในเวทีสัมมนา Sustainable Brand แล้ว แบรนด์ยุคใหม่อย่าง Airbnb  Patagonia  Chipotle ฯลฯ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ Sustainable Brand เพื่อพัฒนาแบรนด์ของพวกเขาเช่นเดียวกัน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนอย่างเป็นองค์รวม

ไมเคิล ดิกสเตน ผู้จัดการด้านความยั่งยืนระดับโลกของไฮเนเก้น อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งใน 60 แบรนด์จากทั่วโลกที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เป็นตัวอย่างของความเป็นไปไม่ได้ที่เป็นไปได้ ในการกำหนดเป้าหมายของแบรนด์ แม้เขาจะยอมรับว่าไฮเนเก้นเป็นธุรกิจที่คนอาจจะมองว่าอยู่ในด้านมืด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้ในฐานะแบรนด์ที่มีเป้าหมาย เขาบอกว่า สิ่งที่เรามุ่งมั่นคือการสร้างเป้าหมายของเราได้  โดยเราทำวิจัยและพบแนวโน้มของความเติบโตระหว่างสินค้าและผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียล ที่เราพยายามที่ให้ความรู้และปกป้องพวกเขา โดยสิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือการสร้างลูกค้าไปพร้อมกับการสร้างสังคม และก้าวสู่เป้าหมายที่ชัดเจน

เขายกตัวอย่างโฆษณาชิ้นหนึ่งในเม็กซิโก ที่พบว่าผู้หญิงอายุ 30-39 ปี ถึง 2 ใน 3 ถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัว นั่นคือบริบททางสังคมในเม็กซิโกที่ไฮเนเก้นเริ่มทำงานกับผู้หญิงที่ถูกคุกคามจากความรุนแรงของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ที่โฆษณาชิ้นหนึ่งสื่อสารว่า ถ้าท่านไม่รู้ว่าท่านจะปกป้องผู้หญิงอย่างไร ท่านก็ไม่ควรดื่มผลิตภัณฑ์ของเรา และในหลายพื้นที่ก็ร่วมกับตลาดในท้องถิ่นทำเรื่องเมาไม่ขับ เป็นต้น

“ผมอยากตั้งคำถามกับแบรนด์ว่า ในรองเท้าของท่าน มีกรวดในรองเท้าที่ตำเท้าท่านอยู่ คำถามคือ แล้วทำไมท่านไม่เอากรวดที่ตำเท้าท่านอยู่ออก” นี่คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึงเป้าหมายของแบรนด์และทางออกในอนาคต

การออกแบบเป้าหมายของธุรกิจและการวัดผล

holonomicresize
ไซมอน โรบินสัน ผู้เขียนหนังสือ Holonomics      ที่มาภาพ: FB Sustainable Brands 2016 Bangkok

ไซมอน โรบินสัน ผู้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า Holonomics: Business Where People And Planet Matter กล่าวว่า เราต้องมีเป้าหมายและคุณค่าที่แท้จริงในการสร้างองค์กร โดยมีเป้าหมายและออกแบบเป้าหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ต้องดูไปถึงจิตสำนึกที่องค์กรเป็นและการเป็นผู้นำในทางยุทธศาสตร์ โดยสิ่งที่อยากให้องค์กรสนใจเป็นแนวคิดที่อาจจะไม่สามารถจับได้สัมผัสได้ แต่รู้สึกได้ ปัจจุบันความคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก เราเข้าถึงธุรกิจได้ตลอด 24 ชั่วโมง การเตรียมองค์กรธุรกิจในอนาคตจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งการสร้างความสัมพันธ์ของความรู้สึกที่อยู่ภายในและภายนอกขององค์กร

“ในปัจจุบันเราไม่เพียงจ่ายเงินเพื่อที่จะซื้อของ แต่เราอยากเชื่อบางอย่าง อยากมีความหมายมากขึ้น ธุรกิจแบบใหม่จึงต้องเน้นวัฒนธรรมองค์กร ทำให้ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็นให้ลูกค้าสัมผัสได้ โดยสิ่งที่พูดและสิ่งที่ทำต้องไปด้วยกัน”

paul1resize
พอล เฮอร์แมน เล่าถึงการวัดผลที่สามารถวัดความยั่งยืนขององค์กรที่สอดคล้องกับการเติบโตของกำไร

ด้าน พอล เฮอร์แมน ซีอีโอ HIP Investor บริษัทผู้นำการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวก  กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการการลงทุน ผลที่ได้มาแล้วในอดีตจะเป็นตัวบ่งชี้อนาคต เวลาเราประเมินการลงทุนต้องมองไปข้างหน้า ใน HIP Investor เราดูความต้องการของคนพร้อมไปกับการดูผลกำไรของบริษัท ซึ่งการบริหารจัดการองค์กรนั้นสามารถวัดผลได้ จากการเก็บข้อมูลใน 10 ปีที่ผ่านมา จากบริษัทประมาณ 4,000 แห่ง ในไทย 29 แห่ง พบว่า บริษัทยิ่งมีความยั่งยืนสูงจะยิ่งมีผลกำไรมาก โดยบริษัทที่มีเป้าหมายหรือเป้าประสงค์เป็นลบนั้นขาดทุนด้วยซ้ำไป

บริษัทอย่างจีอี ภายใต้แนวคิด Ecomagination มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็น 30% ของกำไร เรายังพบว่าบริษัทที่ดีที่สุดที่คนอยากทำงานด้วยมีผลดีมาก ในด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทอย่างโคคาโคล่าได้กำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้เห็นว่า การตั้งเป้าหมายในการลดน้ำเสียนั้นมีผลอย่างมากกับธุรกิจในอนาคตที่น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก นั่นเป็นตัวอย่างของบริษัทที่มีเป้าหมาย

ซีอีโอ HIP Investor เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่กับชุมชนผู้นำธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ ที่จะร่วมกันแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการพัฒนาแบรนด์ที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องหลายปี หลังจากเวทีแรกที่มอนเทอเรย์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2006 โดยการริเริ่มของ โคแอน วิโคเรน จนวันนี้เวที Sustainable Brands ขยายไปใน 8 ประเทศและอีกกว่า 10 เมืองสำคัญของโลก รวมถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทย และมีผู้นำทางธุรกิจและสังคมเข้าร่วมมากถึง 348,000 คน ปัจจุบัน SB ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของโลกในฐานะแบรนด์ที่มีอิทธิพลต่อเรื่องราวความยั่งยืนในโลกอินเทอร์เน็ตมากที่สุด

จุดเปลี่ยน อนาคต แนวโน้มและเป้าหมายใหม่ของแบรนด์

ดร.ศิริกุลกล่าวว่า การเติบโตของเวที Sustainable Brands สะท้อนให้เห็นว่า นักธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนดีมากกว่าคนไม่ดี แต่ถูกลากจูงไปจมลงในวิถีแบบเดิม พอมีคนบอกว่ามันมีทางนะที่คุณจะสามารถทำธุรกิจได้ดีด้วยแล้วก็สามารถสร้างความยั่งยืนได้ด้วย ทุกคนก็กระโดดลงมาทำ อย่าง Plan Toys เขาทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนมีคำว่า CSR ด้วย ทำทั้งที่ไม่รู้จักคำพวกนี้ เขาบอกว่า แค่คำว่าไม่เอาเปรียบ  โดยทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ เริ่มจากแค่นั้น เพราะฉะนั้น คนเราจะลุกขึ้นมาไม่เอาเปรียบใครได้ แปลว่าเราต้องรู้จักพอ พวกที่เป็นพวกสร้างภาพก็จะลดน้อยลงไป

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Country Director SB ประเทศไทยกับโคแอน วิโคเรน ผู้ก่อตั้ง SB ที่บูธมูลนิธิมั่นพัฒนา ที่เคปทาวน์ ที่มาภาพ: FB Sustainable Brands 2016 Bangkok

การขับเคลื่อนวันนี้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการมีตัวชี้วัด เมื่อก่อนเวลาอยากทำ ทำเป็นโครงการใช้เงินไม่เยอะก็อาจจะพอทำได้ ตอบได้ว่าเอาเงินไปทำอะไร แต่ถ้าวันนี้เราจะทำในสิ่งที่อยู่ภายในกระบวนการธุรกิจ ต้องใช้งบประมาณ เราก็ต้องตอบ CEO  ให้ได้ว่าต้องวัดผลอย่างไร เช่น ทำแล้ว loyalty engagement ภูมิคุ้มกัน จะเพิ่มขึ้น ศักยภาพเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนอยากลงทุนมากขึ้น เมื่อก่อนไม่มีตัวชี้วัด แต่ตอนนี้มีตัวชี้วัดที่จับต้องได้มากขึ้นทำให้เรื่องนี้พิสูจน์ได้ ยิ่งมีการจัดทำผลลัพธ์ทางสังคม มีการกำหนดการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ทำให้ทุกอย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเรื่องนี้มากขึ้น แม้จะยังอีกไกล แต่เริ่มมีกำลังใจในการทำเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า ไม่ใช่ซีอีโอทุกคนที่เห็นดีเห็นงามไปกับเรื่องพวกนี้ แต่คนส่วนใหญ่จะยอมเปลี่ยนเพราะถูกอนาคตไล่ล่า (as the future catch you) ถ้าไม่เปลี่ยนเพราะถูกห้ามเข้าไปขายในประเทศ ไม่ถูกโวยวาย หรือไม่ถูกสื่อเปิดเผยข้อมูล ไม่ถูกคนลุกขึ้นมาบอกว่า รองเท้าคุณสวยมากเลย แต่เมื่อไหร่จะเลิกใช้แรงงานเด็ก ถ้าไม่มีของพวกนี้ นักธุรกิจก็จะมีความสุขกับ comfort zone (พื้นที่ปลอดภัยเดิมๆ) แต่วันนี้ทุกอย่างต้องโปร่งใส ไม่มีอะไรที่ซุกอยู่ในพรมได้นาน ดังนั้น แทนที่จะลุกขึ้นมาทำธุรกิจแบบคอยตั้งรับแก้ข่าว กลายเป็นควรลุกขึ้นมาทำอะไรที่ proactive (เชิงรุก) และสร้างภูมิคุ้มกัน

ในยุคนี้ แบรนด์คือชื่อเสียง แปลว่า การที่แบรนด์จะเป็นที่ยอมรับ (Reputation  Branding) คือการจะลุกขึ้นมามีชื่อเสียงที่ดีมีคุณภาพ เราไม่ได้พูดถึงชื่อเสียงแบบบ้าบอ แต่เป็นการนับถือในสิ่งที่มีคุณภาพ กระบวนการ ลุกขึ้นมาแสวงหาคุณค่าขององค์กร แสวงคุณค่าให้กับตัวตน และคุณค่าไม่มีวันที่จะมาจากยอดขายซึ่งเป็นเรื่องมูลค่า แต่คุณค่าจะมาจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible) โดยหาคุณค่า (value) และเป้าหมาย (purpose) การดำรงอยู่ของแบรนด์ ผ่านกระบวนการทำแบรนด์ด้วยการแสดงและสร้างคุณค่า (value identification & value creation) อะไรคือคุณค่าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นที่พึ่งสังคม  เป็นคุณค่าที่เราไม่มีวันจะได้มาจากยอดขาย เพราะนั่นคือมูลค่า

“เวลาเราสอนเด็กๆ เราถามว่าเมื่อเกิดมาแล้วอยากมีคุณค่าอะไรฝากไว้บ้างหรือเปล่า อยากทำตัวมีประโยชน์ ต่อให้คุณลุกขึ้นมาให้คนเคารพคุณแค่ สามคน ในตลาดแปลว่าคุณเป็น niche  ถ้าเราหาคุณค่าตรงนั้นไม่ได้ หาเป้าหมายของการดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าเราเกิดมาโดยไม่ได้สร้างคุณค่าให้ใครเลย นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถาม ”

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของ SB หลังจากเวทีที่กรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา SB ยังเดินหน้าต่อในการขับเคลื่อนกรอบคิดแบรดน์ที่ยั่งยืนโดยได้จัดสัมมนาอีก 2 ครั้งในกัวลาลัมเปอร์  มาเลเซีย และ บอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน และในระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2560 นี้จะจัดขึ้นอีกครั้งที่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Activating Purpose ซึ่งเป็นแนวโน้มและทิศทางที่สำคัญของแบรนด์

อย่างไรก็ตาม ดร.ศิริกุลย้ำว่า ไม่อยากจะพูดว่าความยั่งยืนเป็นเทรนด์ แต่ตรงนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนมากกว่า เพราะว่าวันนี้การดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นคน ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งประเทศและสังคมวันนี้ ถ้าเราดำรงอยู่โดยไม่คิดถึงคนอื่น ไม่มีวันที่จะลุกขึ้นมาเติบโตไปได้ไกลอีกต่อไป