ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > กว่าจะมาเป็นรธน. สมุดไทย “ประเพณี-ความขลัง-ประชาธิปไตย” – ฉบับไหนที่ถูกจารึก

กว่าจะมาเป็นรธน. สมุดไทย “ประเพณี-ความขลัง-ประชาธิปไตย” – ฉบับไหนที่ถูกจารึก

12 ธันวาคม 2016


รัฐธรรมนูญสมุดไทย จัดแสดงที่รัฐสภา
รัฐธรรมนูญสมุดไทย จัดแสดงที่รัฐสภา

นับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม เป็นต้นมา

แสงไฟในสำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่เคยปิดลงทั้งกลางวันและกลางคืน

ด้วยเพราะภารกิจสำคัญที่ถูกส่งไม้ต่อมาที่นี่ หลังจากผลการออกเสียงประชามติ เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเสียง 16 ล้านเสียง

ตามธรรมเนียมประเพณี กำหนดให้ “เขียน” หรือ “ชุบ” บทบัญญัติรัฐธรรมนูญลงในสมุดไทย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

ที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย มาจากคำกล่าวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ระบุในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 25 พฤศจิกายน 2475 ระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

“ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม…และโดยทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้น ต้องการจะเขียนในสมุดไทย”

ตั้งแต่นั้นมา หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญมาเขียนลงในสมุดไทยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมประเพณีสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย 1 ครั้ง จะต้องจัดทำ 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญสมุดไทยฉบับต้น เก็บรักษาที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนรัฐธรรมนูญคู่ฉบับอีก 2 ฉบับ แยกเก็บรักษาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งเนื้อหาและลายมือของทั้ง 3 ฉบับจะต้องเหมือนกันทุกประการ

ด้วยเพราะสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์ หรือการเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เพื่อความแม่นยำในการเก็บรักษา ต้องมีรัฐธรรมนูญสมุดไทย 3 ฉบับเพื่อสอบทานกัน และหากฉบับใดฉบับหนึ่งเกิดสูญหายไปก็สามารถเรียกดูฉบับที่เหลือได้

แต่กระนั้น ใช่ว่ารัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ทุกฉบับจะถูกจารึกไว้ในสมุดไทย เพราะการจารึกลงในสมุดไทยจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติเท่านั้น นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจของคณะปฏิวัติ จะไม่มีโอกาสเขียนลงในสมุดไทย

รัฐธรรมนูญสมุดไทย ที่มาภาพ : สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญสมุดไทย ที่มาภาพ : สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

กว่าจะมาเป็นรัฐธรรมนูญสมุดไทย

รัฐธรรมนูญสมุดไทยทุกฉบับมีขนาดเท่ากัน คือ กว้าง 13.4 เซนติเมตร ยาว 45.5 เซนติเมตร ทำด้วยกระดาษไฮเวท หนา 120 แกรม โดยกองพิมพ์ กรมแผนที่ทหาร เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกระดาษในส่วนนี้

โดยองค์การค้าของคุรุสภา จะรับช่วงต่อด้วยการนำกระดาษไฮเวท มาจัดทำรูปเล่มสมุดไทย พับต่อเนื่องกัน ตามขนาดของสมุดไทยและตัดออกเป็นช่วงๆ เพื่อความสะดวกในการเขียน

เมื่อได้กระดาษมา “เจ้าหน้าที่ลิขิต” ผู้มีหน้าที่เขียนสมุดไทย จะเขียนตามแผ่นบันทึกข้อมูลที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดทำให้ ซึ่งแผ่นบันทึกข้อมูลจะต้องพิมพ์ในลักษณะเดียวกับที่จะเขียนจริง ทั้งจำนวนตัวอักษร วรรคตอน ต่อหนึ่งบรรทัด โดยใน 1 หน้า หรือ 1 พับ มีอักษร 4 บรรทัด โดยใช้ตัวอักษรที่เรียกว่า “รัตนโกสินทร์”

“เจ้าหน้าที่ลิขิต” ทุกคน จะต้องเร่งเขียนรัฐธรรมนูญลงสมุดไทยอย่างข้ามวันข้ามคืนให้ทันต่อกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ ในระหว่างนี้จะมีการตรวจทานความถูกต้องของตัวอักษรทุกระยะ และเมื่อเขียนเสร็จทั้งหมด ต้องมีการตรวจทานอย่างน้อยอีก 3 ครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาดของข้อมูล ก่อนที่จะนำกระดาษที่เขียนเสร็จสิ้นแล้วมาต่อกัน โดยจะต้องติดกาวอย่างประณีต ให้กระดาษมีความต่อเนื่องเป็นเล่มเดียวกัน

ที่มาภาพ : สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ก่อนที่จะส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่สำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ลงรักปิดทองทั้งปกหน้า ปกหลัง และด้านข้างของรูปเล่มทั้ง 4 ด้านให้สวยงาม

ผ้าเยียรบับ ที่มาภาพ : สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ผ้าเยียรบับ ที่มาภาพ : สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

พร้อมติดตรา “พระครุฑพ่าห์” ซึ่งจัดทำโดยสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ บนปกรัฐธรรมนูญสมุดไทยเล่มละ 1 ดวง โดยในจำนวนตราพระครุฑพ่าห์ ที่สำนักกษาปณ์ จัดทำทั้งสิ้น 3 ดวงนั้น ประกอบไปด้วย ตราพระครุฑพ่าห์ทองคำ 1 ดวง เพื่อติดปกฉบับต้น และตราพระครุฑพ่าห์เงินกะไหล่ทอง 2 ดวง ติดปกคู่ฉบับที่เหลืออีก 2 ฉบับ

เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น รัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยทั้ง 3 ฉบับ จะถูกห่อด้วย “ผ้าเยียรบับ” หรือ ผ้าทอด้วยไหมสีควบกับไหมเงินไหมทองยกเป็นลายดอกจนดูเหมือนเป็นทองทั้งผืน ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขลิบด้วยผ้าสีน้ำเงินและมีสายสำหรับผู้เย็บด้วยดิ้นสีทอง ซึ่งจัดทำโดยวิทยาลัยในวังหญิง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

ร่างรัฐธรรมนูญสมุดไทย ฉบับล่าสุด มีความยาว 279 มาตรา นำมาเขียนในสมุดไทยได้ 519 หน้า หรือจำนวน 259 พับครึ่ง น้อยกว่าความหนาของรัฐธรรมนูญสมุดไทยปี 2550 ที่มีความหนาจำนวน 592 หน้า ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญสมุดไทยที่มีความหนามากที่สุดในรัฐธรรมนูญสมุดไทยทุกฉบับ

รัฐธรรมนูญที่ถูกจารึกลงในสมุดไทย

84 ปี ประชาธิปไตยไทย ใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 19 ฉบับ และอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย 1 ฉบับ

ใน 20 ฉบับนี้ มีรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการร่างจากฝ่ายนิติบัญญัติ 11 ฉบับ คือ

    1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
    2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
    3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
    4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
    5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
    6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
    7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
    8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
    9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
    10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550
    11. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ….

ส่วนที่เหลืออีก 9 ฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้หลังจากยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งจะไม่ถูกนำไปจารึกลงในสมุดไทย ดังนี้

    1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
    2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
    3. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
    4. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
    5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
    6. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
    7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
    8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
    9. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557