ThaiPublica > คนในข่าว > “ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” นักวิชาการลูกชาวนาชี้โจทย์-ทางเลือกของ”ชาวนารายย่อย” เมื่อชาวนาเป็นเจ้าของข้าวแค่ 3 ชั่วโมง

“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” นักวิชาการลูกชาวนาชี้โจทย์-ทางเลือกของ”ชาวนารายย่อย” เมื่อชาวนาเป็นเจ้าของข้าวแค่ 3 ชั่วโมง

5 ธันวาคม 2016


ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นชาวนากับปัญหาวิกฤติราคาข้าวกลายเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ภาคเอกชน ภาคประชาชนต่างยื่นมือเข้ามาช่วยชาวนาขายข้าวในรูปแบบต่างๆ ขณะที่รัฐบาล คสช. ออกมาตรการมาแก้ปัญหาเป็นพัลวัน แต่กระนั้น มาตรการช่วยชาวนาส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นทั้งสิ้น

ถึงวันนี้ นับเฉพาะรัฐบาล คสช. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาคิดเป็นเงินเฉียด 6 แสนล้านบาท เป็นการแจกเงินใส่มือชาวนา เมื่อเงินหมด ปัญหาและวิถีชีวิตของชาวนาก็ยังเหมือนเดิม แล้วจะวนมาเป็นวงจรอุบาทว์ซ้ำๆ

คำถามก็คือ ปัญหาของชาวนาและปัญหาเรื่องข้าว ลึกๆ แล้วคืออะไร เหตุใดชาวนาไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อยที่มีพื้นที่ทำกิน 10-30 ไร่ ทำไมไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ไม่สามารถอยู่รอดได้ และการแก้ปัญหาที่ “ราก” ควรจะทำอย่างไร รัฐบาลควรจะมีนโยบายอย่างไร

รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

“รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการลูกชาวนาโดยแท้มาตลอดชีวิตเกือบ 70 ปีแล้ว คลุกคลีเรื่องข้าว ศึกษาวิถีชาวนา อย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาได้เล่าถึงการพัฒนาชาวนาอย่างยั่งยืนในแนวทางศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เข้าใจภูมิสังคมของชาวนาไทย ที่เป็นชาวนารายย่อย ไม่ใช่ชาวนาแปลงใหญ่ ทำอย่างไรให้คนตัวเล็กๆมีที่ยืนอย่างมั่นคงและอยู่ดีกินดีมีสุข

ความจริงของชาวนาไทยวันนี้ ชาวนามีที่ดินทำกินไม่กี่ไร่ เป็นชาวนารายย่อย ส่วนใหญ่เป็นคนแก่อายุ 50-60 ปี ปัจจัยการผลิตที่ต้องว่าจ้างเกือบทั้งหมด เพราะโครงสร้างครัวเรือนมีลูกน้อย 2-3 คน และลูกๆออกไปหางานทำในเมือง แล้วส่งหลานมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เป็นครอบครัวแหว่งกลาง ดังนั้นโจทย์เรื่องข้าว จึงไม่ใช่แค่เรื่องข้าว เรื่องชาวนา

ประวัติศาสตร์ ความเป็นจริง และการอยู่รอดของชาวนา

ดร.ณรงค์เล่าว่า โดยพื้นฐานต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ชาวไทยก่อนว่า ชาวนาไทยเป็นชาวนารายย่อย ธรรมชาติของเขาเป็นชาวนาที่ผลิตเพื่ออยู่รอดเท่านั้น เขาเรียกว่า production for survival ไม่ใช่ผลิตเพื่อกำไร ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนเมื่อความต้องการชีวิตของเขาคือความอยู่รอด บางครั้งเขาก็รู้ว่าไม่มีกำไร แต่ก็ต้องผลิต เพราะไม่มีอะไรกิน โดยธรรมชาติของชาวนาไทยเป็นอย่างนี้มาตลอด ผมเองก็เป็นชาวนา ดังนั้นเมื่อต้องผลิตเพื่ออยู่รอด ต้องมีเงื่อนไขจำเป็นอะไรบ้าง

thaipublica7

1.เงื่อนไขข้อที่หนึ่งที่จำเป็นมากคือต้องพึ่งแรงงานตัวเอง ดร.ณรงค์อธิบายว่า “เราต้องใช้แรงงานตัวเอง แรงงานคนในครอบครัว แรงงานสัตว์ ถ้ามีนาเป็นร้อยไร่ ชาวนาก็จะมีลูกหลายคน ถามว่าทำไม ก็เพราะว่าโดยธรรมชาติของการเกษตร ถ้าคุณไม่มีคน มันทำไม่ได้ สังคมโตมาอย่างนั้น”

2.ปัจจัยการผลิตทุกอย่างก็ต้องเป็นของเรา ชาวนาสมัยก่อนอยู่รอดได้ทั้งที่ไม่มีรถไถ มีแต่วัว มีแต่ควาย โดยเลี้ยงในทุ่ง ในนา แต่การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายในทุ่งในนา ในงานวิจัยผมตอนปี 2527 พบว่าถ้ามีนา 15 ไร่ คุณเลี้ยงควาย 20 ตัว ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย เพราะมีขี้ควาย

“ถามว่าทำไมชาวนาสมัยโน้นเขาถึงมีวัวมีควาย นี่คือคำตอบ แล้วใช้แรงงานในครัวเรือน เช่น ลูกๆ อายุ 12 13 14 ปี ให้เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ควาย 20 ตัว ใช้ลูก 1-2 คนเป็นอย่างน้อย ทุกคนในครอบครัวมีงานทำหมด แปลว่า ถ้าเรากินมากก็ต้องผลิตมาก ถ้าเราผลิตมากต้องใช้คนมาก ซึ่งไม่ได้แปลว่าลูกมากแล้วยากจนนะสมัยนั้น ครอบครัวผมมี 8 คน พ่อแม่ด้วย 10 คน มีนา 10 กว่าไร่ เพราะคุณมีลูกมากก็ช่วยกันทำมาหากิน ผมทำนาอายุ 8 ขวบ ช่วยกันทำช่วยกันกิน แล้วครอบครัวก็อยู่ในไร่ในนาทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูก ไม่ได้ห่างกัน นี่คือวิถีชาวนา ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนมันจะเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย”

“การมีปัจจัยการผลิตตัวเอง คุณมีควาย มีเครื่องไถของตัวเอง คุณมีข้าวพันธุ์ของตัวเองไม่ต้องซื้อ คุณมีปุ๋ยของตัวเองจากขี้วัวขี้ควาย ไม่ต้องซื้อ ปัจจัยการผลิตทุกอย่างเป็นของเราหมด”

“ถ้าข้าวสุกไม่พร้อมกัน นาของเราต้องเกี่ยวข้าวก่อน ก็ลงแขกกันใช้แรงงานคนอื่น เมื่อเราลงแขกไปแล้ว ของเพื่อนบ้านเกี่ยว เราก็ไปช่วยเกี่ยว ถ้าต้องลงแขกพร้อมๆกันหลายแห่ง ก็เอาลูกไปช่วย นี่ไง กลไกของมันอยู่ตรงนั้น เวลาลงแขก เราก็ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อเขา อาหารการกิน ธรรมดาถ้าเราจะลงแขก 10 คน เราหุงข้าวหุงปลากินกันก็แกงไก่ แกงหมู มันก็ไก่ในเล้าเรา ไข่ก็ไข่ในเล้าเรา ปลาก็ปลาหลังบ้าน มันไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินสด”

แต่สมัยนี้ ถ้าคุณลงแขก คุณจะเลี้ยงปลาเขา ต้องไปซื้อปลา ซื้อไก่มากินใช่ไหม ต้นทุนเท่าไหร่ บางคนบอกว่าลงแขกแล้วไม่คุ้ม เพราะบางคนกินเหล้าด้วย ไปซื้อเหล้ามากินอีก แต่ว่าโบราณไม่ใช่ เขาต้มเอง

“ฉะนั้น เมื่อก่อนปัจจัยการผลิตทุกอย่างมันอยู่ในครัวเรือนหมด นั่นคือการอยู่รอดของเขา วิถีชาวนามาอย่างนี้ ปุ๋ยก็ของเรา อาหารก็ของเรา ปลาก็ของเรา ไข่ไก่ของเรา วัวควายก็ของเรา ไถก็ของเรา ไม่ต้องจ้างใครเขา น้ำมันก็ไม่ได้ใช้ มันถึงอยู่รอดได้ เพราะต้นทุนมันต่ำ”

“ต้นทุนนี้คือต้นทุนเงินสดมันต่ำ เราไม่ต้องใช้เงินสด เพราะฉะนั้น ข้าวราคาเท่าไหร่ เกือบไม่ค่อยมีความหมายเลย นั่นคือวิธีการอยู่รอดของชาวนารายย่อยที่ผ่านมา”

ปัจจุบันวิถีชาวนาเปลี่ยนไป ถ้าเราต้องจ้างคนอื่นมาทำงาน เมื่อเป็นอย่างนี้เราจะไปไม่รอดแล้ว เริ่มเปลี่ยนทำเชิงธุรกิจ ต้องมีการลงทุน ต้องคิดว่าต้นทุนเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ ถึงจะมีกำไร สังคมพยายามกระตุ้นให้คนคิดแบบนี้

ดร.ณรงค์ย้ำว่า“ทำแบบนี้ชาวนารายย่อยไม่รอด”

โครงสร้าง”ประชากร – ครัวเรือน”เปลี่ยน ชาวนาเป็นเจ้าของข้าวไม่เกิน 3 ชม.

ดร.ณรงค์อธิบายสถานการณ์ปัจจุบันของชาวนารายย่อยว่า 1.อายุมากแล้ว 2.ผลจากการคุมกำเนิด หน่วยครัวเรือนก็เล็กลง อาจจะมี 2 คน 3 คน เป็นอย่างมาก ฉะนั้นแรงงานที่ใช้ในไร่นามันไม่มีแล้ว

thaipublica8-ชาวนารายย่อย

“แล้วลูกๆ ยุคนี้ ก็ถูกระบบการค้าอุตสาหกรรมดึงเข้าอยู่ในโรงงานหมด เราจึงไม่เห็นเด็กๆ หนุ่มสาวอยู่ในไร่นา เกือบไม่เหลือเลย วัวควายเกือบหายจากท้องทุ่ง ทุกอย่าง เงิน เงิน ทั้งหมดเลย แต่จะโทษชาวนาอย่างเดียวก็ไม่ได้ เขาแก่แล้ว ชาวนาโดยเฉลี่ยปัจจุบันอายุ 58-60 ปี ให้ใช้แรงงานเต็มที่ก็ไม่ไหว ก็ต้องจ้างไถนา ไถ 3 รอบ ทำเทือกอีก 1 รอบ เป็น 4 รอบ พันธุ์ข้าวก็ต้องซื้อเขาอีก ค่าเกี่ยวอีกข้าวไร่ละ 600 บาท ที่ต้องจ้างเพราะชาวนารายย่อยส่วนใหญ่แก่ ทำไม่ไหวไม่ว่าการนวดข้าว ขนข้าวไปตาก เก็บข้าวเข้าฉาง เพราะฉะนั้นระบบลานตาก ระบบฉางข้าว มันหายหมดเลย”

“พอหายหมด จ้างเขาเกี่ยว ชาวนาแต่ละรายเป็นเจ้าของข้าวไม่เกิน 3 ชั่วโมง เกี่ยวเสร็จ 3-4 ชั่วโมงไปโรงสีแล้ว ไปหมดเลยนะ คำว่าเข้าโรงสีไม่ได้แปลว่าไปสีข้าวมากินนะ คือเอาข้าวเปลือกไปขาย แล้วได้เงินมาซื้อข้าวสารกิน ร้อยละ 90 ของชาวนาปัจจุบันไม่ได้กินข้าวที่ตัวเองผลิต นี่คือความเป็นจริงในชีวิตของเขา”

ดร.ณรงค์เล่าต่อว่าพอคุณเกี่ยวเสร็จ ขายให้โรงสีเองที่มารับซื้อไปสี บางอำเภอบางพื้นที่ มีโรงสีอยู่โรงเดียว บางอำเภอไม่มีเลย คุณคิดดูนะ จากไร่นาไปโรงสี ค่าขนส่งเท่าไหร่ รถก็รถของคนอื่นอีก ไม่ใช่รถตัวเอง เกี่ยวเสร็จเอาไปขายเลย เรียกว่าข้าวสด ความชื้นมันสูง สมัยก่อนเวลาจะเอาข้าวไปขาย เราตากก่อน ข้าวมันก็แห้ง เป็นลานตากแบบชาวบ้าน ทุกคนมีลานตาก ที่ภาคใต้มีเสื่อคล้า เสื่อไม้ไผ่ เป็นม้วนๆวางไว้ พอจะตากก็ผึ่งออกไป ทุกบ้านจะมีฉาง ถ้าทางใต้เขาก็บข้าวเป็นเรียงๆ เลย เขาไม่นวด เพราะมันเก็บได้ดีกว่า เก็บได้ง่ายกว่า ทางภาคกลางเขาต้องนวดก่อน

ปัจจุบันวิถีแบบนี้ไม่มี ทุกอย่างไปพึ่งพ่อค้าหมด เมื่อข้าวออกพร้อมกัน ต่างคนต่างขาย ถ้าหนึ่งอำเภอมีโรงสีอยู่โรงเดียว อำเภอหนึ่งมีคน 3 หมื่นคน แล้วคน 3 หมื่นขาย คนซื้อคนเดียว มันจะเหลืออะไร นี่ก็เป็นธรรมชาติเลยนะ ฉะนั้น ชาวนาย่อยอย่าไปพูดว่ามีโอกาส ไม่มีหรอก ยกเว้นรัฐบาลเข้าไปซื้อ แต่รัฐบาลซื้อจำนำก็ต้องพึ่งโรงสีพวกนี้ โรงสีก็สมคบกัน ทำอะไรกัน โดยกระบวนการต่างๆ

สมมติข้าวเราเกี่ยวสดไปความชื้น 17% บางทีโรงสีบอก 25% ใครจะไปเถียงเขาล่ะ เพราะฉะนั้น มันไม่มีหรอกครับที่เราจำนำข้าวมา 15,000 บาท แล้วคนขายได้ 15,000 บาท ไม่มี อย่างดีก็หมื่นนึง ทั้งนั้นละครับ เพราะมันถูกหักมาแต่ต้นแล้วว่าความชื้นมันสูง สิ่งเจือปนมันเยอะเพราะใช้รถเกี่ยว ต้นหญ้าก็ติดไปด้วย สิ่งเจือปนก็มี ความชื้นก็สูง

“เมื่อระบบของชาวนารายย่อยเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางเลยที่ชาวนารายย่อยจะอยู่รอดได้ มันเพี้ยนไปหมดแล้ว แต่เวลาเราพูด เราพูดแค่ราคาไง โดยไม่รู้ราคาที่ตกต่ำมันเกิดขึ้นได้ยังไง แก้ง่ายๆด้วยการจำนำข้าวราคาสูงๆ แต่ไม่รู้ที่มาของราคามันมายังไงฉะนั้น ชาวนารายย่อยพวกนี้ ถ้าคุณยังเดินอย่างนี้อยู่ ไม่มีทางอยู่รอดหรอก”

คนแก้ไม่เข้าใจชีวิต-วิถีชาวนา

ดร.ณรงค์มองว่า ปัจจุบันรัฐบาลคิดให้ชาวนาเป็นนักธุรกิจ บอกว่าชาวนาต้องปลูกข้าวที่ตลาดต้องการ ต้องใช้ปุ๋ยนั่นปุ๋ยนี่ ต้องเพิ่มผลผลิตเท่านั้นเท่านี้ แนวคิดของพวกนี้สรุปว่า คุณต้องทำแล้วขายให้ได้กำไร คิดอยู่แค่นี้ แต่คุณไม่รู้ว่ากำไรมันมาได้ยังไง ก็พูดอยู่คำเดียวต้องทำให้ข้าวได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น แล้วก็ต้องคัดคุณภาพให้ดี คือมองตัวราคาเป็นหลัก อย่างอื่นไม่มองเลย

“ทั้งชีวิตของชาวนา ที่คุณอยากให้เขาทำอย่างนั้น เขาทำได้ไหม มีชาวนากี่คนที่บอกว่าฉันลงทุนกี่บาท แล้วเวลาราคาต่ำก็อย่าไปขายสิ แล้วมีชาวนากี่รายที่ไม่ขาย คือเราไม่เข้าใจชีวิตเขา ถ้าไม่ขายแล้วพรุ่งนี้จะกินอะไร”

นาข้าว-1

หากดูโครงสร้างครัวเรือนในปัจจุบัน ชาวนาส่วนหนึ่งเขาต้องเลี้ยงหลาน ก็ลูกของคนงานในโรงงาน ส่งไปให้ยายเลี้ยง หลานจะร้องกินพวกขนมนั่นนี่ ตามที่โฆษณา แล้วเด็กๆสมัยนี้ก็กินกล้วยไม่เป็น กินกล้วยบวดชีไม่เป็น ไม่ชอบ จะกินของที่ซื้อจากร้าน ของที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อหรือของที่ซื้อจากร้านโชห่วยก็ตามแต่ เมื่อการบริโภคของเด็กๆ เปลี่ยน เปลี่ยนจากกินของหลังบ้านมาเป็นของในร้าน ถามว่าการปลูกกล้วยหลังบ้านมันยากนักเหรอ ไม่ยากหรอก แต่ถามว่าปลูกให้ใครกิน ผู้ใหญ่ยังไม่กินเลย

นี่คือวิถีของคนมันเปลี่ยนหมด คุณย่าคุณยายก็ต้องเอาใจเด็ก ต้องรีบขายข้าวเพื่อให้ได้เงินมา แล้วหนี้ส่วนมาก พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวปั๊บเจ้าหนี้มันมารอทันที ถึงวันนี้ถ้าไม่ใช้ ขึ้นดอกเบี้ย อะไรอย่างนี้ หลานก็จะเอาเงิน เพราะฉะนั้น ชาวนาแกคิดง่ายๆ ขายไปก่อนแล้วกัน พอทุกคนแห่กันขาย ราคาก็ตก เป็นเรื่องธรรมดา คนมันจ้องจะกดราคาอยู่แล้ว คุณแห่ไปให้เขากด ก็จบ

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณยังเดินอยู่แบบนี้ มันไม่มีทางที่จะช่วยชาวนาได้ ยกเว้นว่าคุณจะทำแบบคุณทักษิณ (ชินวัตร) เอางบประมาณทุ่มเข้าไป จะขาดทุนกำไรช่างมัน แต่คิดแค่นี้ ไม่สนใจขาดทุนกำไร ทุ่มอย่างเดียว เงินถึงไม่ถึงไม่รู้ แต่อย่างน้อยทุ่มไป 100 บาท มันก็ยังถึงบ้างแหละ 4 บาท 5 บาท ชาวนาก็ดีใจ รู้ว่าเงินมา 100 บาท ได้ 5 บาทก็พอใจ ดีกว่าไม่ได้เลย ใครจะไม่ชอบ

เราอธิบายให้ฟังว่า เงินที่ไหลมานะ พ่อค้าเอาไปมากกว่านะ ชาวนาเขาไม่สนใจหรอกว่ามากกว่า น้อยกว่า เขาได้ เขาคิดอยู่แค่นี้ มันถึงไปไม่รอด ถ้าคุณทำอย่างนี้คุณจะเอาเงินมาจากไหน ภาษีคุณก็ไม่ขึ้น คนรวยจ่ายภาษีน้อยลง แต่คุณจะเอาเงินไปจ่ายคนจนมากขึ้น เอาเงินมาจากไหน

“เพราะฉะนั้น ระบบทั้งหมดมันเพี้ยนไปหมด รัฐบาลก็เพี้ยน เพราะคิดจะเอาตัวรอดอย่างเดียว คิดจะแจก แล้วรายได้มาจากไหน รายได้มาจากภาษี ภาษีใคร ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ขึ้นไม่ได้ คนก็บ่น ภาษีธุรกิจก็ลดจาก 35 เหลือ 19 แล้วเงินหายไปไหน แล้วทำไมไม่เอาไปแจกเขา คุณจะแบ่งเงินจากคนรวยไปแจกคนจนคุณก็ไม่กล้าทำ ฉะนั้น คุณก็ต้องเอาเงินคนจนแจกคนจนด้วยกัน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก”

เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ร.9 – ภูมิสังคมตอบโจทย์ “เกษตรรายย่อย”

ดร.ณรงค์กล่าวว่า “ถ้าเราจะแก้ปัญหาเรื่องข้าว ผมก็บอกว่า ศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และความเป็นจริง แล้วดูว่าวิธีใดที่ดีที่สุด ซึ่งผมพบว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีที่สุด มันสอดคล้องชาวนารายย่อยใช้หลักความพอเพียง ใช้หลักทฤษฎีใหม่

พอเพียงคืออะไร คือเวลาคุณผลิตข้าว ผลิตพอประมาณ พอกิน พอดีๆ ได้ไหม อย่าไปคิดว่าจะขายหรือไม่ขายเลย คิดว่าถ้าเราต้องกินข้าว หาข้าวจากไหนกินก่อน เมื่อเราต้องกินข้าว เราจะเอาข้าวที่ไหนมากิน คิดแค่นี้ก่อน เราจะกินข้าวโดยไม่ต้องซื้อได้ไหม

ทุกวันนี้ชาวนาร้อยละ 90 ซื้อข้าวกินนะครับ ถามว่าทำไม คุณผลิตข้าวเองแต่ต้องซื้อข้าวกินเพราะอะไร เพราะระบบตลาดมันทำลายหมดแล้ว ซื้อเร็วกว่า เพราะฉะนั้น คุณผลิตข้าวอย่างเดียว ผลิตให้มากเข้าว่า ขายให้ได้เงินมากๆ แล้วไปซื้ออย่างอื่นทุกอย่างเลย คิดแค่นี้ คุณทำนาเป็น ก็ต้องทำนาเยอะๆ ผลิตข้าวเยอะๆ จะได้ขายได้เยอะๆ ได้เงินมาซื้อทุกอย่าง ทุกอย่างที่ได้มา มาจากรายได้ จากการขายข้าวเท่านั้น มันทำให้คนคิดอย่างนี้ มันถึงตาย

thaipublica4-ทฤษฎีใหม่

ทั้งที่โจทย์หลักของคน การมีชีวิตรอดมันไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินเสมอไป คนมักคิดว่าถ้าฉันไม่มีเงินฉันก็ตาย แต่ถ้าคิดใหม่ว่าฉันมีเงินน้อย ฉันยังอยู่ได้ ดังที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ดำรัสว่า ถ้าเรามีนา 10 ไร่ อย่าทำนาทั้งหมดได้ไหม ทำแต่พอดีๆ พอดี พอมี พอกิน ใน 10 ไร่ ทำนา 3 ไร่ก็พอแล้ว ไร่หนึ่งได้ข้าว 50-60 ถัง 3 ไร่ก็ 150 ถัง ก็ได้ข้าวเกวียนครึ่งแล้ว(เป็นข้าวสารประมาณ 75 ถัง บวกรำข้าว) เกวียนครึ่งคุณอยู่ 3- 4 คน สบายๆ

อีก 3 ไร่ทำอะไร ก็ขุดบ่อ เมื่อมีน้ำ ก็มีปลา คุณมีข้าวกิน ในน้ำมีปลาในนามีข้าว โบราณว่าอย่างนั้น ถ้าไม่มีก็ทำให้มันมี ก็ขุดบ่อเอา ขุดแล้วฝนตกลงมา น้ำขังในบ่อ

แต่ถ้ารัฐบาลส่งเสริมจริงๆ การขุดบ่อ ที่ญี่ปุ่นเคยไปทำให้ดู คุณขุดบ่อแล้วเอาพลาสติกมาปู ก็ขังน้ำได้ แต่ทำอย่างเป็นระบบนะ รัฐบาลส่งเสริมให้ทำ ลดค่าใช้จ่ายลง ทำได้ทุกหมู่บ้าน แต่พูดกันมานาน ไม่เคยทำเลย เพราะอะไร เพราะนายทุนขายปลา ขายปุ๋ย ไม่ได้

อีก 3 ไร่คุณก็ทำสวนผลไม้ ไม้เนื้อแข็ง เหลือ 1 ไร่ก็ปลูกบ้านปลูกเรือน ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่

ต้องมี “real income” ไม่ใช่ “money income”

ถ้าคุณทำอย่างนี้ เหมือนบ้านผมสมัยโน้นก็เป็นอย่างนี้ เราอยากกินปลา เรามีปลาในนากิน เราอยากกินไก่ มีไก่ในเล้ากิน เราอยากกินไข่ ไข่ในเล้าเราก็มี เราอยากมีปุ๋ย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้หมู ก็มี ไม่ต้องไปซื้อเขา ทุกอย่างมันอยู่ในตัวเอง

“เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่า คุณไม่จำเป็นต้องมี money income หรือถ้ามี money income คุณมีน้อย ไม่เป็นไร แต่คุณมี real income มีรายได้จริงๆ คือเรามีรายได้เป็นข้าว มีรายได้เป็นน้ำ มีรายได้เป็นปลา”

“แต่คนสมัยนี้ถูกทำให้เห็นว่า รายได้ต้องเป็นเงิน ลืมคิดว่ารายได้จริงๆ ในทางเศรษฐศาสตร์คือสิ่งเหล่านี้ แล้วสมัยโบราณเกษตรรายย่อยทั่วโลกโตมาอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งคุณจะเปลี่ยนเกษตรรายย่อยไปมีเงินมากๆ ผลิตขายป้อนตลาดอย่างเดียว ทำได้ที่ไหนล่ะ ไม่มีหรอก เราไปผิดทางตลอดเลย”

ชาวนารายย่อยทำอย่างนั้นได้ แต่ต้องเป็นชาวนาปัญญาชน เป็นนักธุรกิจ รู้จักคิดและทำ คุณจะเปลี่ยนชาวนาเป็นคนอย่างนั้น ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ต้องหาวิธีอื่น

ฉะนั้น ชาวนามีพื้นฐานแค่นั้น จะให้ไปเรียนเรื่องกลไกตลาดที่ซับซ้อน มองถึง future market อะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่อง คุณไปสอนเขาคิดอย่างนั้น เขาอยู่ไม่รอด เพราะทำแล้ว ก็พลาด แพ้เขาตลอด แต่ถ้าสอนแบบในหลวง ไม่ต้องไปสนใจว่าตลาดจะเป็นยังไง สนใจว่าคุณจะมีกินมีใช้อย่างไร

ไม่ต้องสนใจว่าคุณจะมีเงินซื้อหรือเปล่า ให้สนใจว่าคุณทำได้เองรึเปล่า อะไรทำได้เอง อะไรทำไม่ได้ ค่อยว่ากันอีกที แต่ถ้าทำได้เองก่อน ทำก่อน เพราะฉะนั้น เกษตรทฤษฎีใหม่ก็คืออย่างนี้ คือเน้นการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ก่อน

ก็กลับไปสู่วิถีเกษตรรายย่อย เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ ไม่ใช่ผลิตเพื่อขาย

ดร.ณรงค์ย้ำว่าถ้าเราทำนาจนเป็นนิสัย มันก็จะมีพัฒนาการในการทำนา เช่น ทำนาใหม่ๆ เราได้ข้าว 50 ถัง คราวนี้เราก็รู้แล้วว่า ถ้าใช้ข้าวพันธุ์นี้ ใช้ขี้ไก่ มันเหมาะ ข้าวพันธุ์นี้ใช้ขี้หมูมันเหมาะ มันมีประสบการณ์ของมัน ทำไปทำมา แทนที่จะได้ 50 ถัง มันจะได้เป็น 80 ถัง เป็น 100 ถัง

ปลาก็เหมือนกัน เราเลี้ยงไปๆ เราก็รู้แล้วว่า แถวนี้เลี้ยงปลาอะไรดี ปลามันกินอะไร เพราะจริงๆ อย่างพวกปลาหมอ ปลานิล ปลาแรด คุณแค่ปลูกกระถินริมรั้ว ปลูกกระถินริมสระ รูดใบกระถินให้ปลากิน ไม่ต้องไปซื้อเลย คนมันเรียนรู้ไปเอง ถ้าคุณลงมือทำนะ

เพราะว่าการลงมือทำคือประสบการณ์ จะเริ่มรู้ไปเอง ถ้าเรามีสิ่งให้เราทำทุกวันๆ พัฒนาการสมองมันจะไป ประสบการณ์มันจะสอนเราไปเอง เพราะฉะนั้น เลี้ยงปลาแบบที่ผมพูด เกือบไม่ต้องใช้อาหารปลาเลย

รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

หรือว่า พอเราทำนา 3 ไร่ มีข้าว 100 ถัง ชาวนาทุกคนในชุมชนนั้น รวมตัวกันหน่อย เช่น หมู่บ้านนี้มีญาติพี่น้อง 3-4 ครัวเรือน 3-4 ครัวเรือนก็หุ้นกัน เอาเครื่องสีข้าวมาตั้งสักเครื่อง เครื่องละ 3 หมื่นกว่าบาท ถ้าให้ทันสมัยกว่านั้น คุณไปลอกแบบญี่ปุ่นมาเป็นเครื่องสีข้าวแบบหยอดเหรียญ กดออกมาได้ข้าวสารซีกหนึ่ง ปลายข้าวซีกหนึ่ง รำข้าวซีกหนึ่ง

ในญี่ปุ่น ถ้าสีข้าว 30 กิโลกรัม คิดเป็นเงินไทยประมาณ 100 บาท ข้าวสี ถ้าบ้านเราสีเองคงประมาณ 30 บาท คุณได้ข้าวสารมากิน คุณได้รำข้าวมา คุณได้ปลายข้าวมา ปลายข้าวเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ รำข้าวให้ปลากิน ประหยัดอีก ทำนาอย่างเดียวได้อาหารเป็ด ได้อาหารไก่ ได้อาหารคน วิถีชาวนาอยู่กันมาอย่างนี้ เด็กๆ ผมก็ทำอย่างนี้

หรือการเลี้ยงหมู นี่สบายมากเลยนะ คุณปลูกกล้วยหลังบ้าน ตัดต้นกล้วย สับๆๆ คลุกกับรำนี่อาหารอย่างดีเลย ไม่ต้องซื้อ มันประหยัดไปหมด แล้วทำไมไม่ทำ ทำไมรัฐบาลไม่รณรงค์ให้ทำ เพราะอะไร ก็คนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลมันทุนทั้งนั้น ทุนขายปุ๋ย ทุนขายยา ทุนขายปลา ทุนขายไก่ 20 ปีพูดไปก็เหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แล้วคุณมานั่งบ่นชาวนาอยู่ไม่รอด ก็วิธีอยู่รอดมันก็มีอยู่

“ชีวิตผม อายุ 70 แล้ว ก็เห็นสิ่งเหล่านี้มา คุณย่า คุณยายผมมาอย่างนี้ เออใช่ ใช่เลย เรานำมาพูดเป็นหลักเป็นการขึ้นมาเท่านั้นเอง ประวัติศาสตร์มันก็มาอย่างนั้น มันตอบโจทย์ของชีวิตคน โดยเฉพาะชาวนารายย่อย”

“ที่ในหลวงท่านทำ ไม่ได้แปลว่าท่านคิดเอาเอง แต่ท่านเดินไปทั่วประเทศ ท่านเห็นบางหมู่บ้านยังเป็นแบบโบราณๆ อยู่ แต่เขาอยู่ได้ ท่านจึงนำมาตกแต่งดัดแปลงเป็นทฤษฎีขึ้นมา ซึ่งถูกต้องแล้ว”

“คุณอย่าไปพูดถึงชาวนารายใหญ่ๆ อย่าไปพูดถึงชาวไร่อ้อยแบบมีอ้อยเป็นพันไร่ สองพันไร่ อย่าไปพูด อย่าไปใช้โมเดลต่างๆเหมือนเขา เสื้อตัวเดียวคุณจะใช้กับทุกคนไม่ได้หรอก มันแล้วแต่ไซส์ของคน คนไซส์เล็กคุณก็ต้องดีไซน์เสื้อเล็กๆ เหมาะกับเขา ไซส์ใหญ่ก็เสื้อตัวใหญ่ ก็เหมาะกับเขา ถูกไหม”

คุณอยู่ไปพูดเลยไทยแลนด์ 4.0 4.5 4.8 บ้าบอคอแตก แต่ทำแบบนี้ อย่างนี้ จะเรียกสี่อะไรก็ตามแต่ ทำยังไงให้คนอยู่รอดก่อน แล้ววิธีอยู่รอดของคนที่ไม่มีเงินเป็นอย่างนี้ เพราะว่าคุณบอกสตาร์ทอัปไม่มีเงิน ไปกู้เขามา ยิ่งหนัก ไปใหญ่ มันกู้อยู่แล้ว จะไปใช้หนี้ แล้วกู้ใหม่เขาก็ไม่ให้

“เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดเลย สตาร์ทอัปสำหรับคนรายเล็กรายน้อยที่อยากทำเป็นธุรกิจ คุณอยากสู้ก็สู้ไป หลักการของผมก็คือว่า ถ้าสู้ไม่ได้ อย่าไปสู้ ชีวิตสัตว์บางชนิด มันไม่ได้อยู่ได้ด้วยการสู้กับสัตว์ตัวอื่น แต่มันอยู่ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการต่อสู้ แล้วชาวนารายย่อยโดยวิถีของเขา ไม่เหมาะจะไปสู้ในตลาด เพราะฉะนั้น หลีกเลี่ยงการต่อสู้ สู้แล้วเจ็บตัว สู้ไปทำไม

การแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืน

ดร.ณรงค์เสนอทางออกว่า โดยส่วนใหญ่ชาวนาอายุมากแล้ว ขั้นที่หนึ่งของชาวนาคือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เราลดค่าจ้าง ลดค่าไถ ลดค่าหว่าน ลดค่าเกี่ยว ลดค่าจ้าง แล้วจะลดยังไง เพราะลูกหลานไม่อยู่ ลูกหลานไปอยู่ในโรงงานหมดแล้ว คนแก่คนเฒ่าสองสามคน ทำนาเอง ทำยังไง เราก็ต้องผลิตเครื่องมือที่เหมาะกับคนแก่

รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
รศ. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันค่าจ้างที่แพงที่สุดคือจ้างเกี่ยว ที่ประเทศอินเดียเขาเอาเครื่องตัดหญ้ามาดัดแปลงเป็นเครื่องตัดข้าว เครื่อง 3 พันกว่าบาท เดี๋ยวนี้ทางจังหวัดเชียงรายนำมาใช้เยอะ สมมติเรามี 2 คนตายาย คุณตาอายุ 65 ยังมีกำลังอยู่ ก็แบกเครื่องตัดข้าว พรืด พรืด ไร่นึงแค่ 45 นาที คุณมี 3 ไร่ ชั่วโมงครึ่งเสร็จ และโดยเฉลี่ยชาวนาอีสานมีนาประมาณ 8 ไร่

ส่วนคุณยาย เวลาเราตัดมันนอนราบเป็นกองๆ ก็จับมัด คุณยายก็เดินจับมัด ก็ไม่ได้ใช้แรงงานอะไรมาก รวบวางจับมัด วางไว้คันนา ตากแดดเสียหน่อย 2 คนผัวเมีย 3 ชั่วโมงจบ ไม่ต้องจ้างเลย จ่ายค่าน้ำมันตัดหญ้านิดหน่อย แต่ 3 ไร่ ถ้าคุณจ้างเขา 1,800 บาท จ่าย

ถามว่า จ้างแล้วเป็นหนี้เขากับคุณทำเองไม่เป็นหนี้ คุณจะเอาอะไร คือต้องทำให้เขาเห็น คุณจะเลือกอะไร ทางเลือกที่ดีกว่า ถ้าคุณไม่เดิน ก็ปล่อยเขาไป เหมือนพระพุทธเจ้าบอก ดอกบัวมี 3 ชนิด เมื่อคุณไม่พร้อมที่จะรับแสงแดดก็ต้องปล่อยเขาไป

เพียงแต่เราต้องออกแบบให้ชาวนามีทางเลือก

หรือเครื่องไถนาที่ทำมาแล้วมาดัดแปลงนั่งได้ ในหนึ่งหมู่บ้านแค่ 2 เครื่องก็อยู่ได้แล้ว แบบเครื่องเดินตามราคาประมาณ 4-5 หมื่นบาท ไม่จำเป็นต้องไปซื้อเป็นแสนๆ

“เพราะฉะนั้น สิ่งแรกเลยนะ การลดค่าจ้าง ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนนโยบายหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งล้านบาทเป็นปัจจัยการผลิตพวกนี้ มันดีกว่าเยอะ แต่เขาไม่ทำไง เขาก็รู้ว่าในทางจิตวิทยา พอเงินเข้ามือ คนมันดีใจ แล้วรัฐบาลก็ได้เสียง รัฐบาลคสช.ด่าคุณทักษิณ ผลสุดท้ายก็ทำเหมือนคุณทักษิณนั่นแหละ เพราะฉะนั้น มันคือวิธีการซื้อใจคน แต่คุณมานั่งแก้ปัญหาที่หลัง พัลวันพัลเกไปเรื่อยๆ”

ที่ผ่านมางานวิจัย”หนึ่งล้านบ้านหนึ่งหมู่บ้าน” ระบุว่าประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3 หมดไปกับมือถือ มอเตอร์ไซค์ เหลือแค่ 1 ใน 3 ที่มาใช้การผลิตและใช้จ่ายในครัวเรือน ทำไมรัฐบาลไม่ดู ไม่มอง ไม่ศึกษา ว่ามันเกิดผลยังไง ถ้าทำอย่างที่ผมว่านี่คือการลดค่าจ้าง

ถัดมาคือ การลดปัจจัยการผลิต เดี๋ยวนี้เราพยายามฟื้นฟูว่า หมู่บ้านที่ผมทำที่พัทลุง ผมให้ดูตัวอย่างเรื่องการลดปัจจัยการผลิต เช่น ต้นยางเก่าๆ แก่ๆ ผุๆ มันจะมีจุลินทรีย์ เราจะไปแกะจุลินทรีย์มาจากต้นยาง หรือหาจุลินทรีย์บนแหล่งน้ำ บนภูเขา

นี่คือสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บอกว่า เวลาเราจะทำอะไร ให้คำนึงถึงภูมิสังคม คำว่าภูมิสังคมก็คือว่า ณ ที่นั่นภูมิประเทศเป็นยังไง สังคมเขาเป็นอะไร เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้ยังไง สิ่งที่เราคิดขึ้นมาต้องสอดคล้องกับภูมิสังคม

คุณไม่จำเป็นต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาถ้าคุณมีสวนยาง เพราะสวนยางย่อมมีต้นยางที่ตายที่เปื่อย ยางที่เปื่อยมีจุลินทรีย์ เรานำจุลินทรีย์มาหมักกับเศษอาหารต่างๆ แล้วไปพรวนในดิน ดินที่เราพรวนลงไปมันเปลี่ยนเป็นดินที่มีจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น ทำปุ๋ยกันเอง

แล้วเราก็ได้ข้าวมา เราจะมาทดสอบดูว่า ข้าวพันธุ์ไหนมีคุณสมบัติอย่างไร ปรากฏว่า ในโครงการของเรา ต้นทุนของข้าวเกวียนนึงไม่ถึง 2 พันบาท เพราะฉะนั้น ขาย 5 พันบาท เราก็อยู่ได้ เราก็มีกำไร เพราะไม่ซื้อปัจจัยการผลิต ทำเองหมด

ถามว่าเรื่องเหล่านี้ทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริม เพราะถ้าชาวนาทำอย่างนี้หมด ปุ๋ยขายได้ไหม รัฐบาลชอบส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกแล้วได้ข้าวเยอะ เมล็ดพันธุ์ที่ได้ข้าวเยอะมีเงื่อนไขอะไร ต้องใช้ปุ๋ยเยอะไง เวลาใช้ปุ๋ยเยอะ ปรากฏว่าปุ๋ยเราไม่ได้ผลิตเอง นำเข้าทั้งนั้น แล้วผู้นำเข้ามีอยู่แค่ 5 ราย

thaipublica9-ชาวนารายย่อย

เพราะฉะนั้น คุณแนะนำอย่างนี้เท่ากับส่งเสริมให้คนขายปุ๋ยรวย แต่ถ้าเราทำตามวิถีชาวนารายย่อย อย่างนี้ ปีแรกๆ อาจจะไม่ค่อยมีประสบการณ์นะ ข้าวดูเหมือนว่าจะได้น้อยกว่าเล็กน้อย แต่การได้น้อยกว่าเล็กน้อย ต้นทุนมันต่างกันเยอะ แต่เราไม่ได้คิดไง เขาก็ไปโฆษณา เห็นไหม คุณใช้ปุ๋ยชีวภาพได้ผลผลิตน้อยลง มันน้อยลงเล็กน้อย แต่ต้นทุนมันลดกว่าเยอะ ไม่ได้คิด ไม่พูด

สำหรับตัวเมล็ดพันธุ์ เราก็เน้นการสะสมเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง ผมยกตัวอย่างว่า อย่างข้าวสังข์หยดผลิตได้ดีที่สุดที่พัทลุงเท่านั้น ที่นครศรีธรรมราชเรียกข้าวหน่วยเขือ ก็มีคุณสมบัติดีกว่าสังข์หยดอีกนะ แต่คนไม่รู้จัก

ทุกจังหวัดเท่าที่เราสำรวจ มีข้าวประจำจังหวัดทั้งนั้น มีข้าวท้องถิ่นในจังหวัดนั้นๆ ข้าวในท้องถิ่นแต่ละจังหวัดถูกธรรมชาติกล่อมเกลา ทางกฎชีววิทยาเรียกว่า natural selection การเลือกเฟ้นโดยธรรมชาติ มันเติบโตขึ้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มันผ่านธรรมชาติหลายรูปแบบในจังหวัดนั้นๆ แล้วมันก็อยู่ได้

ยกตัวอย่างเช่น ข้าวปิ่นแก้วฉะเชิงเทรา หรือข้าวเสาไห้ ก็มาจากฉะเชิงเทราทั้งนั้นนะ หรือแม้แต่ข้าว กข 105 ขาวมะลิ 105 มันเป็นข้าวท้องถิ่นทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าข้าวบางชนิดมันไม่กินปุ๋ย เขาเรียกว่าไม่สนองตอบต่อปุ๋ย เขาเลยทิ้ง เช่น ข้าวปิ่นแก้ว เคยเป็นข้าวที่ได้อันดับ 1 ของโลกในปี 2460

แต่ข้าวปิ่นแก้ว ฝนจะตกแดดจะออก มันก็โตของมันได้เรื่อยๆ คุณใส่ปุ๋ยมันเต็มที่มันก็โตแค่นี้ ไม่ใส่มันก็โตแค่นี้ ฝนตกแดดออกก็โตได้แค่นี้ มันจึงเหมาะเป็นข้าวคนจนไง ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ปุ๋ย น้ำท่วม แดดออก ก็อยู่ได้ แต่ไม่สงวนพันธุ์ คุณทิ้งไป เพราะมันเพิ่มผลผลิตไม่ได้ แต่เราไม่เคยคิดว่า อันนี้แหละข้าวลดต้นทุน ไม่เคยคิด ทิ้งไป

พวกเราไปฟื้นฟูกลับมา ข้าวสังข์หยด ข้าวหน่วยเขือ ข้าวปิ่นแก้ว ก็เริ่มกลับมา สิ่งเหล่านี้กลับมาเพราะอะไร สมเด็จพระเทพฯ ไปเจอข้าว ก็ขอให้เก็บไว้ สมเด็จพระราชีนีฯ เจอข้าวขอให้เก็บไว้ ในหลวงรัชกาลที่9 เจอข้าวขอให้เก็บไว้ เป็นเรื่องของในรั้วในวังทั้งนั้นถึงเกิดขึ้นได้ มันแปลกจริงๆ ประเทศนี้

คุณลองคิดง่ายๆ คุณเป็นนายกฯ ทุกยุคทุกสมัย มีใครบ้างเดินท่อมๆๆๆ ทุกเดือน มีไหม ไปลงทีทำอีเวนต์ใหญ่โตสารพัด โฆษณากันใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำบางครั้งเรายังไม่เห็นด้วยซ้ำไป

“เราเคยเห็นไหมว่า เวลาท่านไปบนภูเขา แล้วจะให้ชาวไร่ฝิ่นเปลี่ยน บางรายไปพูดให้เขาเปลี่ยน พูดตั้งแต่ตอนเย็น ตอนดึกเทียนหมดไปกี่เล่มแล้วก็ไม่รู้ ยังไม่เปลี่ยนนะ ต้องจุดเทียนต่อจนเกือบสว่าง ถึงจะเปลี่ยน ท่านต้องนั่งพูดอยู่นั่น คนที่มานั่งฟังยังไม่รู้ว่าเป็นในหลวงพูด คุณดูสิ พระองค์ท่านใช้ความพยายามขนาดไหน”

“มีข้าราชการคนไหนทำแบบนั้น คือถ้าทุกคนทำ มันเปลี่ยนได้ แต่มันไม่ทำไง ที่ผมพูดก็ไม่ใช่ว่าผมไปดูถูกราชการ แต่ผมเป็นเด็กบ้านนอก ผมทำมาตลอด”

วิธีลดซัพพลาย ชาวนาต้องกินข้าวที่ตัวเองผลิต – เช่าที่วัด โรงเรียนเป็นลานตาก

ดร.ณรงค์กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อว่า พอเราทำอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราจะได้ข้าวเปลือกที่ต้นทุนต่ำ ลดค่าจ้าง ลดปัจจัยการผลิต ได้ข้าวเปลือกต้นทุนต่ำ คุณมีนาแค่ 30 ไร่ ก็ทำ 10 ไร่ ถ้ามี 10 ไร่ ทำแค่ 3 ไร่ ถ้าคุณทำอย่างนี้นะ ซัพพลายมันจะลดฮวบเลย พอซัพพลายลดฮวบ ราคามันก็ไม่ตกมากเกินไป

ทีนี้ พอคุณได้ข้าวราคาถูก ทำอย่างไรต่อ โจทย์ข้อที่ 2 คุณต้องทำให้ชาวนาทุกคนกินข้าวที่ตัวเองผลิต ดังนั้นเราก็บอกว่า เมื่อข้าวเปลือกต้นทุนต่ำมาได้แล้ว แล้วข้าวเปลือกต้นทุนต่ำแบบนี้ สารพิษน้อยด้วยนะ

เราก็บอกว่า หลักการก็คือ ข้าวเปลือก สมมติคุณผลิตได้ 3 ตัน คุณเก็บไว้กิน 1 ตัน หรือตันครึ่งก็แล้วแต่ในครัวเรือน ถ้าคุณผลิตได้ 3 ตัน เก็บไว้กิน 1 ตัน มันเข้าตลาดแค่ 2 ตัน เกษตรทฤษฎีใหม่ 10 ไร่ ทำนาแค่ 3 ไร่ นี่ก็ลดไปแล้วนะ ส่วนที่ลดลงไปแล้วพอมาถึงครัวเรือนเก็บไว้กินอีก 1 ตัน เข้าตลาดแค่ 2 เอง มันก็ลดลงไปอีก

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กคนกินข้าว ช่วย คนปลูกข้าว
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กคนกินข้าว ช่วย คนปลูกข้าว

กลยุทธ์อย่างนี้เรียกว่า เป็นการลดซัพพลายโดยอัตโนมัติ เงื่อนไขก็คือว่า คุณต้องทำให้ชาวนาทุกคนกินข้าวตัวเอง แล้วซัพพลายมันจะลดทันทีเลย

ทุกวันนี้ชาวนาได้ข้าวเปลือกกี่ตันเข้าโรงสีหมด มันไปเพิ่มซัพพลายข้าวเปลือก พอไปซื้อข้าวสารมากิน ดีมานด์ข้าวสารก็เพิ่ม ข้าวสารก็แพง คุณขายข้าวเปลือกถูกแต่ซื้อข้าวสารแพง เฮ้ย มันอยู่ได้เหรอ ทำไมรัฐบาลไม่คิดเรื่องเหล่านี้ ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไม่คิดเรื่องเหล่านี้ เพราะอะไร เพราะไม่สนใจ ไม่ใช่คิดไม่ได้ ไม่สนใจจะคิด เลยมองไม่เห็น

“คุณดูสิ เวลาขายข้าวเปลือก ข้าวเปลือกทะลักเข้าตลาดเต็มเลย เวลาจะซื้อข้าวสารกิน แห่กันซื้อ ทั้งที่คุณผลิตเองกับมือ เพราะอะไร เพราะฉะนั้น โจทย์ข้อที่ 2 ก็คือว่า ชาวนาต้องกินข้าวของตัวเอง”

“ทีนี้ ทำยังไงชาวนาถึงกินข้าวตัวเอง การที่ชาวนาจะผลิตข้าวเองได้คุณต้องมีโรงสีชุมชน และการที่คุณมีโรงสีได้ คุณต้องมีการตาก เพราะการสีข้าวต้องสีข้าวที่แห้งแล้ว ฉะนั้น คุณต้องมีลานตาก พอคุณมีลานตากแล้ว คุณต้องมีฉาง เพราะวันไหนตากไม่ได้ก็ต้องพึ่งฉางก่อน สิ่งที่ต้องสร้าง 3 อย่าง ฉาง ลานตาก โรงสี แล้วจะทำอย่างไร ก็ใช้ชุมชน สมมติหมู่บ้านหนึ่งมี 50 หลังคาเรือน แล้วถ้าบางบ้านไม่มีที่พอที่จะทำลานตาก หรืออยากจะทำลานตากให้ทันสมัยหน่อย ผมบอกว่า เช่าที่โรงเรียน โรงเรียนเล็กๆ อย่างน้อยมีที่ 5 ไร่ วัดก็เหมือนกัน เช่าที่โรงเรียน เช่าที่วัด แล้วก็ปรับพื้นที่ให้ราบ แค่ 1 ไร่ แล้วก็เอาพลาสติกหนาๆ ปูเลย ไม่ต้องลงคอนกรีต ทำไมไม่ลงคอนกรีต ถ้าลงคอนกรีต วันไหนฝนตกยุ่งเลย กวาดเก็บไม่ทัน ต้องขนข้าวฉางมาตากใหม่ แต่ถ้าฝน ก็หอบรวบเดียว แล้วก็มัด ผ้าเต็นท์คลุมอีกที จบ ฝนตกก็ตกไป มันง่ายกว่า”

พอตากแห้งแล้ว ไปโรงสีชุมชน ข้าวที่ตาก 3 ตัน เก็บไว้กิน 1 ตัน ขาย 2 ตัน โดยคุณค่อยทยอยขาย ข้าวเก็บไว้ในฉางก่อน ทยอยขายทีละครึ่งตันๆ คอยดูราคาไปเรื่อยๆ จำเป็นต้องใช้เงินก็ไปขายก่อน

ข้าวที่แห้งแล้วราคาจะขึ้นอย่างน้อย 500 บาทต่อเกวียน เพราะไม่มีความชื้น อย่างน้อย 500 บาทได้อยู่แล้ว แล้วถ้าเราปรับวิธีเกี่ยวที่ใช้มือตัด ตอนที่เรามัดฟอนเราแยกได้ ว่าตรงไหนต้นหญ้าหรือต้นข้าว แยกตั้งแต่ต้นแล้ว สิ่งเจือปนก็น้อยลง ได้อีก 200 บาท ทำอย่างนี้มันจะได้ราคาเพิ่มขึ้น

ดังนั้น คุณมีลานตากชุมชน เช่าโรงเรียน เช่าวัด คุณมีโรงสีชุมชน มีฉางชุมชน ฉางเดี๋ยวนี้มีฉางน็อกดาวน์ของปูนซีเมนต์ไทย ทำฉางน็อกดาวน์ให้นะ ถ้าคุณทำฉางรวมของหมู่บ้าน ก็สมมติว่าหมู่บ้านหนึ่ง 100 หลังคาเรือนๆละ 3 ตัน 300 ตัน ไม่ยากทำฉางน็อกดาวน์เลย 300 ตัน สร้าง 2 หลังก็ได้

ถ้าอยู่ในวัดก็อาศัยพระนั่นแหละช่วยดูให้ ทำบุญทำทานกับวัดบ้าง ถูกด้วย ถ้าอยู่โรงเรียนให้เด็กนักเรียนช่วยดูให้ มันมีทรัพยากรในท้องถิ่นใช้ประโยชน์ได้หมด เกื้อกูลเขา เราได้จากเขา เราก็แบ่งปันให้เขาบ้าง อย่างนี้ ทำไมเราไม่ทำ หน่วยราชการทำไมไม่คิดตรงนี้

กระทรวงศึกษาควรจะลงมาดูแลตรงนี้ เรื่องโรงเรียน เรื่องวัด เพื่อใช้ประโยชน์เรื่องนี้ โรงสีก็เหมือนกัน ถ้าจะเอาโรงสีแบบสะดวกก็ไปดูญี่ปุ่นมา ทำขึ้นมา จ้างมาผลิตเมืองไทยก็ได้เครื่องหนึ่งไม่เกิน 2 หมื่นบาท หยอดเหรียญ ฉางอยู่ตรงนั้น โรงสีอยู่ตรงนั้น หยอดเหรียญ ได้ข้าวมา กลับบ้านได้รำ ได้ปลายข้าวมาเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด มันเพอร์เฟกต์ตรงนั้นไปเลย

เพราะฉะนั้น ในกลไกตลาด ขั้นที่ 1 คุณลดซัพพลายจากจากการลดต้นทุนการผลิต ขั้นที่ 2 ทุกคนกินข้าวที่ตัวเองผลิต ข้าวที่เหลือสู่ตลาดก็จะน้อยลง ราคาจะไม่ถูกกดอย่างนี้ ในกลไกขั้นที่ 2 ถึงแม้คุณจะเอาข้าวจากโรงสี ก็ได้ราคาดีกว่า ในขั้นที่ 2 คุณจะได้ข้าวสารต้นทุนต่ำ และปลอดสารพิษ เอาไว้กินเอง ไว้ขาย

ขั้นที่ 3 ข้าวสารที่ได้มา เรากินเองในครัวเรือนแล้วก็ส่งให้ลูกหลานตัวเอง เช่น ลูกทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ส่งมาให้ลูกหลานกิน มันเป็นการทำให้ปริมาณข้าวสารในตลาดไม่มาก เพราะว่าเรากินเองเยอะ ไม่ต้องพึ่งห้าง เราขายตรง ให้ลูกหลาน ก็ไม่ต้องซื้อ ลูกๆ ส่งเงินให้พ่อแม่อยู่แล้ว พ่อแม่ก็ส่งข้าวให้ลูกกินบ้าง

ส่วนที่เหลือก็ขาย เวลาขาย ตรงนี้รัฐควรต้องออกมาสนับสนุน อาทิ

ประการแรก จากการศึกษาพบว่า ต้นทุนขนส่งแพงพอๆ กับราคาข้าว ถ้ารัฐบาลช่วยอุดหนุน โดยการขนส่งทางรถไฟ ทางไปรษณีย์ หรือระบบขนส่งที่รัฐควบคุมทุกชนิด ถ้าเป็นข้าวสารชุมชน ลดราคาให้กี่เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยได้

ถ้าลดได้ สามารถส่งข้าวสารถึงมือผู้บริโภคได้ ก็สามารถแข่งขันได้

หรือถ้าขนข้าวล็อตใหญ่ๆ มาขายในเมืองใหญ่ๆ ขายได้ที่ไหน จากการศึกษาพบว่า คนที่กินข้าวมากที่สุดคือคนงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเจรจากับโรงงานทุกโรงงานที่มี ขอให้เปิดพ้นที่หน้าโรงงานขายข้าวให้คนงาน

ถ้าทุกโรงงานเปิดพื้นที่ตรงนี้นะ มันแข่งกับห้างได้ พอคนงานเดินออกจากรั้วโรงงานก็ซื้อข้าวกิน แล้วถ้าไปถึงสถานที่ราชการ ธนาคารอะไรต่างๆ ให้ถือหลักการการว่า เลิกงานแล้วมีร้านตรงนี้เปิดเป็นตลาด ก็ช่วยได้เยอะ

ต่อมาถ้าของที่ขนมาแล้วขายไม่หมดก็ใช้หลักการเดิม คุณก็เช่าวัด เช่าโรงเรียนชานเมือง สร้างฉางข้าวสาร เอาข้าวที่เหลือไปเก็บไว้รอขายวันต่อไป

นี่คือกระบวนการช่วยชาวนารายย่อยให้อยู่รอดได้

เพราะฉะนั้นรัฐบาลอย่าพยายามให้ชาวนาคิดแบบธุรกิจ ต้องผลิตข้าวที่ตลาดขายได้ แล้วก็ต้องผลิตให้ได้เยอะๆ ผลผลิตต่อไร่สูงๆ ข้าวเยอะๆ ขายได้เยอะ ๆ ไปซื้อของได้เยอะๆ มันต้องคิดมุมกลับกัน ถ้าทุกคนผลิตได้เยอะหมดทุกรายแล้วข้าวเปลือกจะสูงได้อย่างไร ก็ซัพพลายมันเยอะ ทำไมไม่คิดอย่างนี้บ้าง คุณส่งเสริมให้ชาวนาผลิตข้าวได้เยอะๆ เพื่อจะขายได้เงินเยอะๆ คิดแบบบวกตลอด แต่ลืมคิดว่า ถ้าทุกคนผลิตข้าวได้เยอะ ราคาข้าวก็ตก มุมนักเศรษฐศาสตร์คิดแบบนี้

“ในหลวงท่านคิดเองนะ อย่าผลิตเยอะ ผลิตแต่พอเพียงๆ พอดีๆ 10 ไร่ ทำ 3 ไร่ พอแล้ว ทำไมท่านสอนอย่างนี้ เพราะท่านเห็นไง ท่านเดินไปดูท่านก็เห็น แต่พวกนี้นั่งคิดอยู่ในกระดาษ ไม่เคยเดินไปดูเลยว่าเกิดอะไรขึ้น”

ดร.ณรงค์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงว่า ความจริงมันมาจากหลักพุทธข้อหนึ่งเน้นว่า “โภชเน มัตตัญญุตา” แปลว่ารู้ประมาณในการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจมันมี 4 ส่วน

ระบบที่ 1 เราเรียกระบบบริโภค ระบบที่ 2 คือระบบผลิต ระบบที่ 3 เรื่องแลกเปลี่ยน ระบบที่ 4 คือการแลกเปลี่ยนเงินตรา เพราะเราต้องค้าขายระหว่างประเทศ ถึงต้องแลกเปลี่ยนเงินตรา การแลกเปลี่ยนเงินตราคือการค้าขายนั่นแหละ

นาข้าว

ฉะนั้น นับหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอยู่ที่การบริโภค คนอยู่ในท้องก็ต้องหายใจ ต้องกินอาหารทางสายสะดือ การบริโภคมันเกิดขึ้นแล้ว ชีวิตถ้าไม่มีการบริโภคอยู่ไม่ได้หรอก ฉะนั้น ตัวหลักของเศรษฐกิจคือการบริโภค คือเราไม่สนใจนิยาม เรามองเศรษฐกิจก็คือธุรกิจไปเลย ความเข้าใจเชิงปรัชญา ความเข้าใจเชิงพื้นฐาน ความรู้พื้นฐาน เราไม่สนใจเลย

เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ท่าน (ในหลวง) ถึงจับที่บริโภคว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องรู้ประมาณ ก็มาจากรู้ประมาณการบริโภค รู้ประมาณของท่านคือ คุณจะกิน คุณจะใช้ คุณจะลงทุน ก็ให้พอดีๆ อย่าไปเป็นหนี้เขา คุณทำงานเงินเดือนละแสน คุณจะผ่อนรถเดือนละสามหมื่น ไม่เป็นไรหรอก แต่คุณมีเงินเดือนเดือนละสองหมื่น คุณผ่อนรถเดือนละหมื่นห้า คุณก็บ้าแล้ว อันนี้คือไม่รู้ประมาณ

ฉะนั้น ความพอเพียงไม่ได้แปลว่าต้องอยู่อย่างขัดสน ไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่า พอประมาณคือพอดีๆ กับความสามารถของคุณ คุณมีความสามารถแค่ไหน พอดีคุณอยู่ตรงไหน มันเรื่องของคุณ ประมาณเอา เขาถึงสอนรู้ประมาณในการบริโภค บริโภคคือการกิน การใช้ การอยู่อาศัย รู้ประมาณหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงมันถึงใช้กับทุกเรื่อง

แต่ท่านมองลึกลงไปอีกว่า สำหรับเกษตรรายย่อย วิธีที่พอเพียงคือการใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะฉะนั้น เกษตรทฤษฎีใหม่คือ โมเดลความพอเพียงของเกษตรกรรายย่อย

หลักการของท่านคือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องรู้จักประมาณตนให้พอดีๆ จะกิน จะใช้ จะจ่าย จะลงทุน ให้พอดีๆ กับสิ่งที่เรามีอยู่ พอดีๆ กับความสามารถที่เรามีอยู่ อย่าทำอะไรให้เกินตัว ถ้าทำอะไรเกินตัวจะเป็นหนี้เป็นสินเขา

ทางพุทธเขาสอนว่า “อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก” การเป็นหนี้เป็นทุกข์ที่สุดในโลก แต่ระบบทุนมันสอนให้คนเป็นหนี้ มีเครดิต มันกลับตาลปัตรหมดนะ ผมไม่ได้บอกใครผิดใครถูกนะ แต่ผมเป็นเด็กวัด ผมเชื่อพระ ผมเชื่อในหลวงว่าอิณา ทานัง ทุกขัง โลเก เพราะฉะนั้น ชีวิตผม ถ้าไม่จำเป็น ไม่เป็นหนี้เป็นอันขาด

“เพราะฉะนั้น ความพอเพียงสำหรับเกษตรกรรายย่อยคือเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นรูปแบบ เป็นต้นแบบของความพอเพียงของเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่คุณจะลงทุนอะไรก็เรื่องของคุณ แต่รายย่อยควรเป็นเช่นนี้ จริงๆ ท่านไม่ได้บอกรายย่อยหรอก แต่อันนี้เหมาะกับรายย่อยที่สุด” ดร.ณรงค์สรุปทิ้งท้าย