ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% 13 ครั้งติดต่อกัน – ลงทุนเอกชนพลิกติดลบ ท่องเที่ยวกระทบหนักจากทัวร์ศูนย์เหรียญ

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% 13 ครั้งติดต่อกัน – ลงทุนเอกชนพลิกติดลบ ท่องเที่ยวกระทบหนักจากทัวร์ศูนย์เหรียญ

21 ธันวาคม 2016


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงภายหลังการประชุมว่า กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เป็นครั้งที่ 13 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยให้เหตุผลว่าแรงส่งทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งสูงกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ ตามรายได้เกษตรกรและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐ, การใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากกว่าคาดจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ขณะที่การส่งออกสัญญาณดีขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าบางรายการมาประเทศไทย เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ล้อรถยนต์ และแผงโซลาร์เซลล์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนของเอกชนยังคงขยายตัวต่ำต่อเนื่อง

อีกด้านหนึ่ง กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงไปทางด้านต่ำมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลงกว่าที่คาด ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา การเมืองในยุโรป ปัญหาภาคการเงินในยุโรปและจีน และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ ธปท. ได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจครั้งที่ 4 และครั้งสุดท้ายของปี 2559 สะท้อนให้เห็นความกังวลในการประชุม กนง. หลายครั้งที่ผ่านมาชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน โดย ธปท. ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2559 ลง 1.2 ล้านคน คือ จาก 33.6 ล้านคนเหลือ 32.4 ล้านคน  และในปี 2560 ลดลง 2.2 ล้านคน จาก 36.3 ล้านคนเหลือ 34.1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเติบโต จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเติบโตได้ 8.3% และ 5.4% ในปี 2559 และปี 2560 ตามลำดับ

“แม้นักท่องเที่ยวจีนจะลดลงมากกว่าที่คาด แต่ในแง่รายได้เข้าประเทศถือว่ายังเป็นบวกอยู่ แต่คิดว่าผลจากมาตรการดังกล่าวได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ประเด็นคือนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาได้มากเท่าเดิมหรือไม่ ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม สำหรับตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีน หรือรายประเทศ ขอไม่ตอบลงไปในรายละเอียด” นายจาตุรงค์กล่าว

อีกประเด็นคือการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งที่ผ่านมา นายจาตุรงค์ระบุว่าเป็นตัวขับเคลื่อนที่จำเป็นสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืน ในครั้งนี้ได้ปรับลดลงจากที่เคยคาดว่าจะเติบโต 1.1% เป็นหดตัว -0.6% ในปี 2559 โดยระบุว่าการลงทุนถือว่าอยู่ในระดับต่ำมานานแล้ว ซึ่ง กนง. กังวลว่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตได้ 4-5% การลงทุนของเอกชนถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันเมื่อการลงทุนของเอกชนไม่ฟื้นตัว การใช้นโยบายของรัฐไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะกลางอาจจะไม่เพียงพอที่จะยกระดับเศรษฐกิจได้ อนึ่ง การลงทุนของเอกชนในปัจจุบันมีลักษณะขยายตัวได้อย่างจำกัดในบางสาขา เช่น สาธารณูปโภค พลังงานทางเลือก และการบริการ ส่วนภาคการผลิตยังคงไม่ฟื้นตัว

“การลงทุนของเอกชนขึ้นอยู่กับการปฏิรูปเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการปฏิรูปของเศรษฐกิจ ซึ่งสองตัวหลังอาจจะมีความเชื่อมโยงกันมากกว่า อย่างการปฏิรูปศึกษา การขนส่ง จะต้องใช้เงินเพื่อวางรากฐานของการเติบโตในอนาคตระยะยาว ธปท. คาดว่าในปีหน้าจะเติบโตได้ 1.7% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมาที่ 1.6%” นายจาตุรงค์ กล่าว

mpc-8_2016_1

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาสแรก ของปี 2560 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมายที่ 2.5% สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของปีก่อนในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โน้มอ่อนค่าแต่ในอัตราที่น้อยกว่าคู่ค้าคู่แข่งสําคัญโดยรวม ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ทั้งนี้ กนง. เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด เช่น คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจบางกลุ่มที่ด้อยลง และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน

ทั้งนี้กนง. เห็นว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและความไม่แน่นอนของทิศทางการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น กนง. เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ