ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > HSBC วิเคราะห์ “การค้าระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน” อานิสงส์น้อย เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำต่อไป

HSBC วิเคราะห์ “การค้าระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน” อานิสงส์น้อย เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำต่อไป

7 ธันวาคม 2016


หลังชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 นางสาวซูเซียน ลิม, นายโจเซฟ อินคัลคาเทรา และนางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ได้ศึกษาเจาะลึกถึงนัยทาง “การค้าระหว่างสหรัฐฯ-อาเซียน: สถานการณ์ในอาเซียนล่าสุด” ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดว่าจะเติบโตได้เร็วขึ้นในหลายปีข้างหน้า แต่โดยรวมยังเป็นที่สงสัยว่าการเติบโตอาจจะไม่ได้ส่งผ่านมายังภูมิภาคอาเซียนเท่าที่ควร เนื่องจากตั้งแต่อดีตการเติบโตของสหรัฐฯ ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปยังอาเซียนมากนัก รวมไปถึงมูลค่าการค้าระหว่างภูมิภาคที่ไม่ได้มีจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีประมาณ 212,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของอาเซียน รองจากอาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขณะที่อาเซียนเองก็เป็นเพียงคู่ค้าอันดับที่ 4 ของสหรัฐฯ รองจากจีน, แคนาดา และเม็กซิโก

usa-asean

ในอดีตระหว่างปี 2538-2543 การเติบโตของสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนมากกว่า โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.8% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่หลังจากช่วงเวลานั้นสหรัฐมีการนำเข้าจากจีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าจาก 0.3% ในปี 2534 เป็น 2.7% ในปี 2558

ปัจจุบันสหรัฐฯยังมีท่าทีจะต่อต้านการค้าจากอาเซียนมากขึ้น ธนาคารคาดว่าการฟื้นตัวของสหรัฐฯจะพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศมากกว่าปัจจัยภายนอก เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ระบุชัดเจนว่า เขาต้องการจะลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมไปถึงเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนในโครงการพื้นฐานและการทหาร รวมไปถึงประกาศที่จะผ่อนปรนการกำกับเหล่าธุรกิจและหนุนให้มีการใช้ทรัพยากรในประเทศในการผลิตมากขึ้น

แต่ที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับอาเซียนคือ ความตั้งใจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับต่างประเทศ ไม่ว่าจะผ่านข้อตกลง การเพิ่มภาษี และการคว่ำบาตรการค้า โดยปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ารวมกับอาเซียนประมาณ 69,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [เป็นการขาดดุลการค้าในสินค้า (Goods Balance) 76,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกินดุลบริการ (Services Balance) ที่ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ] แม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับการขาดดุลของสหรัฐฯ ทั้งหมดที่ 483,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อาเซียนถือว่าเป็นอันดับที่ 3 ที่สหรัฐขาดดุลมากที่สุด รองจาก จีน เยอรมนี ที่ 333,100 และ 76,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีข่าวดีที่จนถึงปัจจุบันอาเซียนยังไม่ถูกพูดถึงในแผนการลดการขาดดุลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่อาเซียนอาจจะยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการถอนตัวจากการค้ากับโลก โดยเฉพาะการถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแล้วว่าจะทำใน “วันแรก” ที่เข้าสู่ตำแหน่ง และจะนำการจ้างงานและอุตสาหกรรมกลับมายังสหรัฐฯ

การพลาดโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์จาก TPP หากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในข้อตกลง จะถอนตัวจาก TPP แม้ว่าอาจจะชดเชยได้ด้วยผลประโยชน์จากข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน หรือ RCEP แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเวียดนามจะได้อานิสงส์จาก TPP มากที่สุด รองลงมาคือมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะมีน้อย แต่อาเซียนก็กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากแนวนโยบายโดดเดี่ยวมากขึ้นของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ต้องคอยติดตามต่อไปว่า การเกินดุลการค้าของอาเซียนต่อสหรัฐฯ ที่สูงมากจะถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น สหรัฐฯ ก็อาจจะยังไม่ดึง “การจ้างงาน” หรืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำในเวียดนามกลับประเทศ  แต่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าอย่างมาเลเซียและไทยอาจจะไม่โชคดีเช่นนั้น อาจจะกลายเป็นเป้าหมายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่าที่จะถูกดึงฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย สินค้าเครื่องจักรกลทั้งที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์และไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และอัญมณี ที่สหรัฐฯ อาจจะประสบกับความท้าทายที่จะผลิตเองภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกยานยนต์ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะปริมาณการผลิตรถยนต์ในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ในขณะนี้ เนื่องจากประเภทรถยนต์ที่ผลิตในไทย เช่น รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ

thai-us-export

คาดอาเซียนโต 4.3% – ไทยโต 3.2%

จากภาพรวมจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2559 ของประเทศกลุ่มอาเซียนออกมาในลักษณะแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ยังมีการเติบโตในระดับต่ำยกเว้นฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ธนาคารกลางทั่วอาเซียนยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพฤศจิกายนและการอ่อนค่าลงของสกุลเงินอาเซียน ทำให้ธนาคารปรับเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอินโดนีเซียและมาเลเซียออกไปอีกระยะหนึ่ง และคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไทย

จีดีพีของประเทศกลุ่มอาเซียนในไตรมาส 3 ของปี 2559 ออกมาในลักษณะแตกต่างกัน โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์และมาเลเซียเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม นัยที่แฝงอยู่ยังคงเป็นการเติบโตได้อย่างช้าๆ โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัว 2.0% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน เมื่อลองวิเคราะห์ลึกๆ การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซีย 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังคงสะท้อนถึงการบริโภคและการลงทุนที่อ่อนแอ

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวอยู่ที่ 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกินความคาดหมายของตลาด เป็นผลให้เราปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2559 สูงขึ้นจาก 6.5% มาเป็น 6.8% โดยปัจจัยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินค้าคงทนและการก่อสร้าง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการโอนเงินกลับประเทศที่สูงขึ้นและการจ้างงานในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วอาเซียนยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามที่คาดการณ์ ในวันเดียวกับที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อมาธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.00%,  4.75% และ 3.00% ตามลำดับ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดเงินอันเป็นผลมาจากชัยชนะของทรัมป์ส่วนหนึ่ง

ธนาคารเลื่อนคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางบางแห่งออกไป ขณะนี้เราคาดว่าสกุลเงินของประเทศในอาเซียนจะอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าการปรับลดดอกเบี้ยในมาเลเซียจะขยับออกไปเป็นไตรมาส 1 ของปี 2560 และมีความเป็นไปได้ที่อินโดนีเซียจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ถึงแม้ว่าจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังไม่แน่ชัดและเสถียรภาพของตลาดเงินยังเป็นปัจจัยสำคัญ แต่เราคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไทย สำหรับในฟิลิปปินส์ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงขาขึ้นต่อเงินเฟ้อ เรามองว่าจะยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เนื่องจากปริมาณเงินฝากประจำระยะสั้นที่ธนาคารกลางเพิ่มขึ้นได้ส่งผลต่อภาวะตลาดการเงินให้ตึงตัวขึ้นบ้างแล้ว

เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ณ จุดนี้ ธนาคารยังคงมีมุมมองว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากแต่จะเป็นการเติบโตในระดับต่ำต่อไป โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.3% ในปีหน้า และจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.5% ในปี 2561 ในกรณีที่เลวร้าย การเติบโตของอาเซียนอาจจะชะลอลงอีกจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งเพิ่มเติมท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ปัจจุบันมีความท้าทายอยู่แล้ว

นโยบายการเงินถึงขีดจำกัด หันหานโยบายการคลัง

โชคไม่ดีที่เครื่องมือที่ยังเหลืออยู่ของผู้กำหนดนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อรับมือกับการเติบโตที่เชื่องช้าของเศรษฐกิจเริ่มมีจำกัดมากขึ้น อนึ่ง กระแสเงินทุนไหลออกจากอาเซียนอย่างหนักตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งส่งผลให้สกุลเงินของประเทศกลุ่มอาเซียนอ่อนค่าลง ซึ่งทีมนักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะ เป็นปัจจัยที่จะทำให้การผ่อนคลายทางการเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับมุมมองใหม่โดยคาดว่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในไทย ซึ่งเดิมคาดว่าจะปรับลด 0.25% อีกครั้งในไตรมาส 4 ของปี 2559 เหลือ 1.25% และเลื่อนคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในอินโดนีเซียอีก 0.25% มาอยู่ที่ 4.50% ออกไปเป็นเดือนธันวาคม ถึงแม้ว่าการตัดสินใจของเฟดในช่วงเวลาที่เกือบจะพ้องกันนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน นอกจากนี้ได้เลื่อนคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยในมาเลเซียที่เหลืออีกหนึ่งครั้งลงไปอยู่ที่ 2.75% ออกไปเป็นไตรมาส 1 ของปี 2560 อีกด้วย

เมื่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอาเซียนใกล้สู่จุดสุดท้าย หน้าที่การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศย่อมเป็นของรัฐบาลผ่านนโยบายการคลัง แต่แน่นอนว่าเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินนโยบายมีจำกัดเช่นเดียวกันโดยในปีหน้า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ยังมีโอกาสดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นได้ โดยเริ่มต้นจาก 0.2% ของจีดีพีในสิงคโปร์ที่เศรษฐกิจแลดูค่อนข้างนิ่ง ไปจนถึงระดับ 3.2% ของจีดีพีสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ที่จะรักษาการขาดดุลการคลังไม่ให้เพิ่มมากขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างช้าๆ ราคาน้ำมันและก๊าซที่ลดต่ำลง จำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการคลังแบบตึงตัวแทนการใช้นโยบายแบบขยายตัวในปี 2560