ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ธ.ค. 2559: “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี” และ ” สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรม”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ธ.ค. 2559: “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี” และ ” สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรม”

10 ธันวาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ธ.ค. 2559

  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี
  • กฎหมายใหม่ กยศ. เพิ่มดอก-หักเงินเดือนจ่ายหนี้-เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว
  • หวังเพิ่มเงินออม สปส. เล็งขยับฐานคิดเงินสมทบ เก็บสูงสุด 1,000 บาท
  • ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุกตลอดชีวิต “ครรชิต” คดีฆ่านายกฯ อบจ.
  • พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรม
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี

    screen-shot-2016-12-09-at-9-18-12-pm

    เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

    โดยที่คณะองคมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรี 

    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังต่อไปนี้ 

    1.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 
    2.นายเกษม วัฒนชัย 
    3.นายพลากร สุวรรณรัฐ 
    4.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ 
    5.นายศุภชัย ภู่งาม 
    6.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ 
    7.พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข 
    8.พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ 
    9.พลเอกธีรชัย นาควานิช 
    10.พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา 
    ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน 
    ผู้สนองพระราชโองการ 
    พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 
    ประธานองคมนตรี

    กฎหมายใหม่ กยศ. เพิ่มดอก-หักเงินเดือนจ่ายหนี้-เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไอลอว์ (https://goo.gl/peObYW)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไอลอว์ (https://goo.gl/peObYW)

    จากที่กองทุนให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. มีปัญหาหนี้เสียติดตามไม่ได้เป็นจำนวนมาก เช่น ในปี พ.ศ. 2557 ที่มีหนี้เสียติดตามไม่ได้สูงถึง 72,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ขอกู้ในรุ่นต่อๆ ไป

    ล่าสุด จึงมีความพยายามเสนอใช้กฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ โดยปรับปรุงจากกฎหมายในปี พ.ศ. 2541 โดยในร่างใหม่ที่กำลังมีการเสนอและอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น มีประเด็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ดังนี้

    1. ผู้กู้เงินกองทุน กยศ. มีหน้าที่ต้องแจ้งให้กับนายจ้างทราบภายใน 30 วันนับแต่เริ่มทำงานว่า มีสถานะเป็นหนี้กองทุน กยศ. อยู่เท่าใด เพื่อให้นายจ้างหักเงินเดือนนำส่งกรมสรรพากรได้ถูกต้อง
    2. ในการหักเงินเดือนของนายจ้าง ให้หักเงินเดือนเพื่อจ่ายภาษีอากรก่อนเป็นอันดับแรก หักเงินจ่ายกองทุน กยศ. เป็นอันดับที่สอง ถือเป็นความสำคัญที่มาก่อนการหักเงินเดือนไปจ่ายกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม หรือการหักเงินตามกฎหมายอื่น
    3. กองทุน กยศ. มี “บุริมสิทธิ” เหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ ซึ่งหมายความว่า หากลูกหนี้ กยศ. ยังมีภาระต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่นๆ และเมื่อคิดรวมกันแล้วมีหนี้สินอยู่มากกว่าทรัพย์สิน ให้นำทรัพย์สินของลูกหนี้มาใช้หนี้ให้กับกองทุน กยศ. ให้หมดก่อนที่จะแบ่งไปใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่นด้วย
    4. ในการติดตามชำระเงินให้กองทุนมีอำนาจขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้จากทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือบุคคลใดที่ครอบครองข้อมูลอยู่ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินให้แก่หน่วยงานและบุคคลที่ร้องขอ
    5. ผู้กู้เงินกองทุน กยศ. มีหน้าที่ต้องยินยอมล่วงหน้าให้กองทุนมีอำนาจเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น
    6. กำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี (เดิมร้อยละ 1 ต่อปี)
    7. ในการทำสัญญากู้เงินตามกฎหมายเดิม จะกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ด้วยก็ได้ “แต่จะกำหนดจนเป็นอุปสรรคต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในอันที่จะกู้ยืมเงินไม่ได้” แต่ในกฎหมายใหม่ มีการตัดข้อความที่ว่า “แต่จะกำหนดจนเป็นอุปสรรคต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในอันที่จะกู้ยืมเงินไม่ได้” ออกไป ซึ่งหมายความว่า หากมีการใช้กฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องมีแต่การหาผู้ประกันมาให้ได้เท่านั้นจึงจะกู้ได้ ต่างจากเดิมที่แม้หาไม่ได้ก็ยังอาจกู้ได้
    8. ขยายขอบเขตการให้กู้ของกองทุน หากเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เรียนวิชาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หรือในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและกองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ หรือเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เรียนดี แม้จะไม่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็มีสิทธิกู้เงินได้ (แต่ร่างกฎหมายไม่ได้บอกว่าสาขาวิชาเหล่านั้นคืออะไรบ้าง)

    เรียบเรียงจากเว็บไซต์ไอลอว์

    หวังเพิ่มเงินออม สปส. เล็งขยับฐานคิดเงินสมทบ เก็บสูงสุด 1,000 บาท

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/?p=386675)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/?p=386675)

    เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า ในการปรับเพิ่มกรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เป็นต่ำสุดมี 2 แนวทางคือ 3,600 บาท หรือ 4,500 บาท และสูงสุดเป็น 20,000 บาทต่อเดือน และกรณีมาตรา 39 ซึ่งเดิมใช้ฐานค่าจ้างที่ 4,800 บาทต่อเดือน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มมาเป็นที่ 7,800 บาท หรือ 6,700 บาทต่อเดือน เป็นการพิจารณาปรับเพิ่มในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ที่มีการก่อตั้ง สปส.มา โดยการพิจารณาปรับฐานนี้ เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยหลักการเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของชีวิต และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง

    หากมีการปรับฐานเช่นนี้ นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันสังคม กล่าวว่า จะมีผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพียง 20% เพราะส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนจะไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ การคำนวณเงินสมทบจะคิดอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน แต่จะได้รับเงินออมอยู่ที่ 6% ดังนั้น จากเดิมฐานคำนวณสูงสุดคือ 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบที่ 750 บาทต่อเดือน ได้รับเงินออม 900 บาทต่อเดือน เมื่อปรับเป็น 20,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน แต่ได้รับเงินออมสูงสุดที่ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ก็ยังใช้การคำนวณที่ 9% เช่นเดิม โดยปัจจุบันใช้ฐาน 4,800 บาท จะจ่ายสมทบต่อเดือนที่ 432 บาท หากปรับฐานเป็น 7,800 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 702 บาทต่อเดือน หากใช้ฐาน 6,700 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 603 บาทต่อเดือน

    “ทั้งนี้ การปรับเพิ่มฐานคำนวณยืนยันว่าเพื่อความมั่นคงของผู้ประกันตน เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นก็ไปเพิ่มในสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของเงินออมและเงินชดเชยการขาดรายได้” นายโกวิทกล่าว

    อนึ่ง การปรับฐานคิดเงินสมทบนี้จะมีผลเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม

    ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุกตลอดชีวิต “ครรชิต” คดีฆ่านายกฯ อบจ.

    นายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ (https://www.matichonweekly.com/?p=17162)
    นายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ (https://www.matichonweekly.com/?p=17162)

    เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์รายงานว่า วันที่ 8 ธันวาคม ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ได้อ่านคำพิพากษา ศาลฎีกา โดย พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกตลอดชีวิต นายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำเลยคดีฆ่า นายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาคร

    โดยคดีนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. บริเวณ กม. 2 ตรงข้ามบิ๊กซีมหาชัย และให้ชดใช้ค่าสินไหมแก่ภรรยา และบุตร ของผู้เสียชีวิต จำนวน 13,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

    สำหรับคดีนี้ เมื่อ12 พ.ย. 2557 ศาลจังหวัดสมุทรสาคร (ศาลชั้นต้น) มีคำตัดสินให้บทลงโทษประหารชีวิต นายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร ในฐานความผิด ได้แก่ มาตรา 289 (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, มาตรา 390 ข่มขู่ผู้อื่นให้เกิดความกลัว, มาตรา 392 ยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควรในที่สาธารณะฯ และ มาตรา 371 พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะหรือหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควรฯ

    นอกจากนี้ยังระบุว่า ฝ่ายโจทก์สามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินไหมชดเชยค่าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ได้ตามกฎหมายให้แก่ผู้ร้อง ในกรณีมีนางพอใจ ไกรวัตนุสสรณ์ มารดาของนายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ และนายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้เป็นพ่อ รวมทั้งมีภรรยา และบุตร-ธิดา ร่วมเป็นโจทก์รวมได้

    พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรม

    ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121778
    ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121778

    เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม มีรายงานว่า พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อช่วงกลางวันของวันที่ 6 ธันวาคม หลังจากรักษาอาการป่วยด้วยโรคชรามาระยะหนึ่ง สิริอายุรวม 81 ปี ทั้งนี้ญาติจะนำศพบำเพ็ญกุศล ที่วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร โดยกำหนดรดน้ำศพในวันที่ 12 ธันวาคม

    สำหรับประวัติ พล.ต.อ. สวัสดิ์ นั้น เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2478 เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้องชาย คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

    พล.ต.อ. สวัสดิ์ สมรสกับคุณหญิงคัทลียา อมรวิวัฒน์ มีบุตรธิดา 3 คน คือ น.ส.อำไพพรรณ อมรวิวัฒน์ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ และนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์

    ด้านประวัติการทำงาน ดำรงตำแหน่งอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ระหว่าง พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2536 ต่อจาก พล.ต.อ. แสวง ธีระสวัสดิ์ ในระหว่างอยู่ในตำแหน่งนั้นได้รับแต่งตั้งให้ร่วมเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2534 สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2535 และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2539

    จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญ จบสาขารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 13 ปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์