ThaiPublica > คอลัมน์ > พัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย (ตอนจบ)

พัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย (ตอนจบ)

20 ธันวาคม 2016


Hesse004

ตอนที่3

ปี พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การทุจริตที่ฝังรากลึกมาทุกรัฐบาลกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย และยังคงเป็นมูลเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ

การทุจริตคอร์รัปชันมิได้เกิดขึ้นจากภาคการเมืองหรือภาคราชการเพียงฝ่ายเดียว ภาคเอกชนเองก็มีส่วนต่อการสร้างปัญหาทุจริตเช่นกัน “เอกชน” ถูกมองว่าเป็นผู้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อตนเองจะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐ ในฐานะคู่สัญญาก็ดี คู่สัมปทานก็ดี หรือแม้แต่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ

อย่างไรก็ดี การต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนมีความเข้มแข็งเอาจริงเอาจัง เนื่องจากการจ่ายสินบนเป็นต้นทุนการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ดังนั้น หากร่วมด้วยช่วยกันต่อต้านคอร์รัปชัน ต้นทุนส่วนนี้ย่อมไม่เกิด พวกเขาไม่จำเป็นต้องจ่ายสินบนให้นักการเมืองขี้ฉ้อหรือข้าราชการขี้โกงอีกต่อไปแล้ว

หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ภาคเอกชนเริ่มปรับตัวสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ชื่อของนักธุรกิจอย่างนายดุสิต นนทะนาคร หรือ นายประมนต์ สุธีวงศ์ จากสภาหอการค้าไทย เริ่มเป็นที่คุ้นหูมากขึ้น ในฐานะผู้แทนภาคเอกชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน

ในอีกด้านหนึ่ง สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors) หรือ IOD นำโดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ก็เป็น “คีย์แมน” สำคัญในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชน โดยเฉพาะความพยายามส่งเสริมเรื่องบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ควบคู่ไปกับ Good Governance นั่นทำให้บริษัทใหญ่หลายบริษัทเริ่มมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy) เกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาการจ่ายสินบนให้ภาครัฐในรูปแบบต่างๆ

thaipublica-corruption1

เช่นเดียวกัน การต่อต้านคอร์รัปชันหลังปี 2554 เราเริ่มเห็นบทบาทของสื่อมวลชนเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของสื่อมวลชนประเภท Investigative Journalist หรือ Data Journalist เช่น สำนักข่าวอิศรา และสำนักข่าว Thaipublica ที่มุ่งเน้นการต่อต้านคอร์รัปชันโดยการทำข่าวประเภท “ข่าวเจาะ” เพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริง ความไม่โปร่งใส การใช้อำนาจโดยมิชอบ จนกระทั่งหลายเรื่องกลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมและนำไปสู่กระบวนการสืบสวนโดยภาครัฐในที่สุด

การเติบโตของสื่อมวลชนแนวสืบสวนสอบสวน ควบคู่ไปกับการเติบโตขององค์กรภาคประชาสังคม เช่น ACT (Anti-Corruption Organization Thailand) หรือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่แสดงบทบาทหลักในการเป็น ศูนย์รวมของภาคประชาชนที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกรณรงค์ต่อต้านทุจริต การให้ความรู้ต่อภาคประชาชนเพื่อสามารถชี้เบาะแสการทุจริตเบื้องต้นได้ เช่น โครงการปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า การต่อต้านคอร์รัปชันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระแสการต่อต้านเป็นไปอย่างแพร่หลาย สร้างผลกระทบในวงกว้างได้ดี ทุกคนมองคอร์รัปชันเป็นปีศาจร้ายที่ทำให้ประเทศก้าวไปไม่ถึงไหน อย่างไรก็ดี มีหลายกรณีที่คอร์รัปชันกลับกลายเป็นเหตุผลหรือข้ออ้างต่างๆ ในการกลั่นแกล้ง แย่งชิงอำนาจ และเป็น “อาวุธซัด” ที่ทรงพลัง

หันกลับมามองการต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐกันบ้าง หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาล คสช. แก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยการตั้งคณะกรรมการหลายชุด คณะกรรมการชุดสำคัญๆ เช่น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) คณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร. ซึ่งภายหลังยุบไปแล้ว)

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2557 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นกลไกต่อสู้ปัญหาทุจริต โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาทุจริตให้เกิดผลสัมฤทธิ์

การตั้ง คตช. คตร. และ ศอตช. หากมองในมุมบวกเท่ากับเป็นการร่วมกันแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เข้มข้นจริงจัง บูรณาการการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ขออนุญาตใช้คำหรูๆ ที่รัฐชอบใช้) แต่หากมองอีกด้านหนึ่งกลับสะท้อนถึง “เอกภาพของการทำงาน” ในอดีต ว่าองค์กรเหล่านี้ร่วมมือกันจริงจังมากน้อยแค่ไหน

นอกเหนือจากกลไกรัฐที่เป็นแกนหลักต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว การออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา คอร์รัปชันยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น การออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นว่าทั้ง ป.ป.ช. และรัฐต้องการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยการเพิ่มโทษทุจริตสูงสุดถึงประหารชีวิต (ตามมาตรา 123/2) รวมทั้งหยุดนับอายุความกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล

การแก้กฎหมายโดยเพิ่มบทลงโทษการคอร์รัปชันจะเป็นการ “เขียนเสือให้วัวกลัว” ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกลไกบังคับใช้กฎหมายว่า เสือที่ถูกเขียนขึ้นจะทำตัวเป็นแค่ “เสือกระดาษ” หรือเปล่า หรือจะเป็นแค่ “เสือปลา” ที่คอยดักกินเฉพาะปลาซิวปลาสร้อย

ล่าสุด เพื่อให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันเป็นไปโดยเร็ว ได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 เหตุผลของการตรากฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุป นับตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันที่ “ก้าวหน้า” เติบโตขึ้นในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสื่อมวลชน ภาคประชาชน และประชาสังคม พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นตามสภาพปัญหาคอร์รัปชันที่ปรากฏขึ้นในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม แม้ความพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชันจะมุ่งไปทั้งเชิงป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่สถานการณ์ความโปร่งใสของประเทศกลับไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ สะท้อนจากค่า Corruption Perception Index หรือ CPI ของไทย ตั้งแต่ปี 2540-2558 (ตามตาราง)

thaipublica-cpi

ท้ายสุดแล้ว ปัญหาคอร์รัปชันมิได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาแค่ภาครัฐ ภาคเอกชน แต่เป็นปัญหาของทุกคน คอร์รัปชันมีมิติที่ลึกซึ้งกว่า “ความดีความชั่ว” เพราะเราพบปัญหาคอร์รัปชันในทุกสังคม สาเหตุคอร์รัปชันมาจากระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก ละเมิดกติกาสังคม ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาคอร์รัปชันมิใช่แก้กันแค่ “วาทกรรม” สวยหรูเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้จริงด้วยการลงมือทำ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสังคมที่โปร่งใส พร้อมตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สังคมไทยเราก้าวหน้าหรือถอยหลังหรือไม่อย่างไรนั้น ทุกอย่างล้วนมีคำตอบในตัวเองอยู่แล้ว