ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบอบคาสโตร “ไม่ว่าแมวสีไหน ก็หนีไม่พ้นต้องขโมยกินปลาย่างเหมือนกัน”

ระบอบคาสโตร “ไม่ว่าแมวสีไหน ก็หนีไม่พ้นต้องขโมยกินปลาย่างเหมือนกัน”

10 ธันวาคม 2016


Hesse004

อดีตผู้นำนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งคิวบา “ฟิเดล คาสโตร” ที่มาภาพ : https://laradiodelsur.com.ve/wp-content/uploads/2016/10/FIDEL.jpg
อดีตผู้นำนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งคิวบา “ฟิเดล คาสโตร” ที่มาภาพ : https://laradiodelsur.com.ve/wp-content/uploads/2016/10/FIDEL.jpg

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาอดีตผู้นำนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งคิวบา “ฟิเดล คาสโตร” ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยวัย 90 ปี

ปิดฉาก “ตำนาน” นักปฏิวัติผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมในคิวบา คาสโตรเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่ลุกขึ้นมาต่อต้านจักรวรรดิอเมริกา เขากลายเป็นไอคอนหนึ่งแห่งยุคสงครามเย็นที่ทำให้คิวบาเป็นหมากเด็ดของค่ายสังคมนิยมในเกมกระดานหมากรุกโลก

ในทศวรรษที่ 50 คาสโตรต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟุลเคนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่ขึ้นชื่อว่าบ้าอำนาจและขี้ฉ้อคนหนึ่ง การต่อสู้ของคาสโตรและพวกพ้องก็เพื่อปฏิวัติคิวบาให้เป็นสังคมนิยม เขามีสหายร่วมรบคนสำคัญ คือ เช เกวารา ตำนานนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งลาติน และราอูล คาสโตร น้องชายของเขา ที่ต่อมากลายเป็นทายาททางการเมือง รับไม้ปกครองคิวบาจนถึงปัจุบัน

หลังล้มรัฐบาลบาติสตาได้ในปี ค.ศ. 1959 คาสโตรเริ่มปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองคิวบา โดยเดินตามแนวทางสังคมนิยมที่มีพี่เลี้ยงเบอร์หนึ่งอย่าง “สหภาพโซเวียต” เป็นผู้ชี้แนะ

สิ่งที่คาสโตรทำ คือ การยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ ผูกขาดสื่อทั้งหมดและเดินตามรอยสังคมนิยมเต็มเหนี่ยว โดยพร้อมจะจับกุม คุมขังผู้ต่อต้าน คนเห็นต่าง จนทำให้ประชาชนนับแสนหนีจากคิวบาและลี้ภัยมาตั้งรกรากอยู่ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

ในช่วงสงครามเย็น คิวบาคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญของค่ายสังคมนิยมในการต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่พร้อมจะต่อกรกับอเมริกาได้ทุกเมื่อ

ต่อมา ในช่วงทศวรรษที่ 90 ภายหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง คิวบาภายใต้การนำของฟิเดล คาสโตร จำเป็นต้องปรับตัว ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รุมเร้ามานาน

กล่าวได้ว่า “ระบอบคาสโตร” ที่ปกครองคิวบามาตั้งแต่ปี 1959 นั้น พยายามสร้างรัฐสังคมนิยม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ต่อต้านจักรวรรดินิยมที่เอารัดเอาเปรียบ แต่จนแล้วจนรอดระบอบคาสโตรที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา (Partido Comunista de Cuba) นั้น ก็หนีไม่พ้นเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เหมือนที่ระบอบเผด็จการบาติสตาเคยทำไว้

การคอร์รัปชันในคิวบา เป็นปัญหาเรื้อรังฝังรากมานานตั้งแต่ก่อนจะเปลี่ยนระบอบ ในยุคเผด็จการบาติสตา คอร์รัปชันเลวร้ายจนกลายเป็นเชื้อฟืนชั้นดีให้ผู้คนลุกขึ้นมาต่อสู้ปฏิวัติสังคม การรวมกลุ่มกันโค่นล้มบาติสตาก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ขจัดรัฐบาลขี้โกง โดยเชื่อว่า สังคมนิยมคือคำตอบที่จะนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมได้ การกระจายทรัพยากรจะตกถึงมือผู้คนร่วมชาติได้อย่างเป็นธรรม

แต่สิ่งที่คิดไว้ ฝันไว้ มักเป็น “ผันกลางวัน” และกลายเป็นเรื่องหลอกลวงให้กับสหายผู้มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ต่อสู้โดยแลกชีวิตตนเองให้ได้มาซึ่งระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้การันตีว่าจะดีกว่าเดิมเท่าใดนัก

เมื่อคาสโตรขึ้นครองอำนาจ ดูเหมือนว่าเขาจะถูกโจมตีว่าทำตัวเผด็จการไม่ต่างจากบาติสตา เพียงแต่เขามีภาพความเป็นนักปฏิวัติ นักต่อสู้เพื่อมวลชนในอดีตที่เป็นแบคอัพชั้นดีให้ ผู้นำสายสังคมนิยมในลาตินอเมริกาหลายคนนับถืออุดมการณ์คาสโตร เช่น อดีตประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ แห่งเวเนซุเอลา ก็นับถือคาสโตรในฐานะไอดอลผู้ต่อต้านจักรวรรดิอเมริกา

ที่มาภาพ : https://images-na.ssl-images-amazon.com/images/I/41ZB9Y8DMQL._SY344_BO1,204,203,200_.jpg
ที่มาภาพ : https://images-na.ssl-images-amazon.com/images/I/41ZB9Y8DMQL._SY344_BO1,204,203,200_.jpg

อย่างไรก็ดี ปัญหาคอร์รัปชันในคิวบามักไม่มีการเปิดเผยมากนักว่าระบอบคาสโตรนั้นเลวร้ายอย่างไร จนกระทั่งในปี 2006 มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Corruption in Cuba: Castro and Beyond ผลงานของสองนักวิชาการ Sergio Diaz-Briquets และ Jorge Perez Lopez โดยเฉพาะคนหลังเป็นนักวิชาการที่สนใจเรื่องคอร์รัปชันในคิวบา เคยเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับคอร์รัปชันในคิวบาหลายบทความ

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ปีที่คาสโตรลงจากตำแหน่ง และถ่ายโอนอำนาจให้ราอูล คาสโตร สิ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ คือ ปัญหาคอร์รัปชันในระบอบคาสโตร ที่ถึงแม้ว่า ฟิเดล คาสโตร จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำนักปฏิวัติที่พยายามสร้างคิวบาให้เป็นรัฐสังคมนิยม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ภายใต้การนำของเขาก็ยังหนีไม่พ้นปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็น Institutionalized corruption

ขณะเดียวกัน สาเหตุหลักของการคอร์รัปชันในคิวบา คือ การมีระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็งยิ่ง ซึ่งภาษาสเปนใช้ว่า Sociolismo แปลว่า Buddy หรือ ระบบพรรคพวก เพื่อนฝูง

จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะระบบอุปถัมภ์มักถูกเหมารวมว่าเป็นต้นตอของปัญหา คอร์รัปชันอยู่แล้ว เช่น ในสหภาพโซเวียตเดิม คำว่า Brat แปลว่า ความเป็นพี่น้อง (Brotherhood) หรือ Sociolismo ก็มีความหมายไม่ต่างกันมาก ระบบแบบนี้มักไม่นิยมให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้ตัวเลือกที่ดีที่สุด หากแต่เป็นระบบที่ใช้ความชื่นชอบ ความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นเกณฑ์แรกในการคัดเลือกในการจัดสรรทรัพยากรในสังคม

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมี Sociolismo เป็นพื้นฐานแล้ว การผูกขาดโดยรัฐ การขาดความโปร่งใสที่จะเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ รวมทั้งการเล่นพรรคเล่นพวก จึงเป็นรูปแบบการคอร์รัปชันในคิวบาภายใต้ระบอบคาสโตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ก้าวขึ้นมาผูกขาดการใช้อำนาจรัฐ

รูปแบบการคอร์รัปชันเช่นนี้ คล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาพวกเขากำลังเผชิญปัญหาการทุจริตของข้ารัฐการโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่พรรคที่ใช้อภิสิทธิ์ในการแสวงหาประโยชน์ต่างๆ เข้าพกเข้าห่อตัวเอง จนกระทั่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องออกมาแสดงความเห็นในเชิงกังวลว่า ขืนปล่อยให้คอร์รัปชันเป็นแบบนี้ เห็นทีพรรคคอมมิวนิสต์จีนล่มสลายเป็นแน่แท้

ความกังวลของสี จิ้นผิง คล้ายกับความกังวลของ ฟิเดล คาสโตร ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คอร์รัปชันจะทำให้ความศรัทธาต่อพรรคและการปฏิวัติสังคมนิยม “สิ้นมนต์ขลัง” ไป

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาค่าคะแนนความโปร่งใส (Corruption Perception Index หรือ CPI) ปรากฏว่า ค่า CPI ของคิวบาไม่ได้ขี้เหร่หรือเลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจกันเพราะตัวเลข CPI ย้อนหลัง 4 ปีล่าสุด ตั้งแต่ปี 2012-2015 คิวบาได้คะแนนเฉียด 50 จากคะแนนเต็มร้อย (ปี 2012 ได้ 48 ปี 2013 และ 2014 ได้ 46 และปี 2015 ได้ 47) เมื่อเทียบกับหลายประเทศในแถบคาริบเบียนแล้ว คิวบานับว่ามีความโปร่งใสดีกว่าไม่น้อย

ค่า CPI ย้อนหลังนี้ แสดงให้เห็นว่า ระบอบสังคมนิยมที่คาสโตรสร้างขึ้นกลับยังดูโปร่งใสกว่าหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสียอีก แม้ปัญหาคอร์รัปชันของคิวบาจะยังถูกซุกไว้ใต้พรมและไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมามากนัก

ขณะเดียวกัน คาสโตรเองก็เอาจริงเอาจังกับเรื่องปราบปรามคอร์รัปชันไม่น้อย เขาตั้ง Anti-Corruption Ministry ขึ้นมา (แปลตรงตัว คือ กระทรวงต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน) รวมทั้งใช้ Comptroller General Office (หรือ สตง.คิวบา เป็นเครื่องมือในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน)

ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี ที่ระบอบคาสโตรปกครองคิวบา คิวบาเองก็ยังมีปัญหาคอร์รัปชันไม่ต่างจากประเทศสังคมนิยมหรือประชาธิปไตย เข้าทำนอง “ไม่ว่าแมวสีไหน ก็หนีไม่พ้นต้องขโมยกินปลาย่างเหมือนกัน” (อันนี้ผู้เขียนเปรียบเปรยล้อเลียนวาทะเด็ดของเติ้ง เสี่ยวผิง)