ThaiPublica > คอลัมน์ > อิทธิพลของ “ข่าวปลอม” และ “ฟองสบู่ตัวกรอง” บนโซเชียลมีเดีย

อิทธิพลของ “ข่าวปลอม” และ “ฟองสบู่ตัวกรอง” บนโซเชียลมีเดีย

5 ธันวาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

หนึ่งเดือนผ่านไปหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ คนอเมริกันและกูรูทั่วโลกยังคงง่วนอยู่กับการค้นหาคำอธิบายปรากฎการณ์ช็อกโลกครั้งนี้กันอย่างขมักเขม้น

ทฤษฎีหนึ่งในบรรดาทฤษฎีจำนวนมากที่ลอยล่องอยู่ในโลกออนไลน์ คือ การชี้นิ้วไปยังโซเชียลมีเดียที่เราๆ ท่านๆ เสพติดกันงอมแงม (ซึ่งก็เป็นสื่อชนิดที่ชาวอเมริกันรุ่น ‘มิลเลนเนียล’ เสพสูงสุด ดังที่ผู้เขียนยกตัวอย่างในตอนที่แล้ว) ว่าเป็นตัวการสำคัญ เพราะมันไม่ได้ทำตามสัญญาที่เคยประกาศกร้าวไว้ว่า จะเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโลกทั้งใบและเปิดโอกาสให้เสียงทุกเสียงได้ส่งออกมาอย่างเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า โซเชียลมีเดียเหล่านี้มีส่วนทำให้ประชาชนแตกแยกเชิงอุดมการณ์กันมากกว่าเดิม (คือเพียงแต่เชื่อว่าใครเป็น “ฝั่งตรงข้าม” ก็จะปิดหูปิดตาไม่อยากฟังไม่อยากอ่านว่าเขาพูดอะไร) “ข่าวปลอม” และ “ข่าวลวง” ทั้งหลายกระจายเกลื่อนและทำให้คนจำนวนมากได้ข้อมูลผิดๆ และคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการ “ล่าแม่มด” และข่มขู่คุกคามนานัปการ

ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้ง่ายที่จะด่าเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียเจ้าดังอื่นๆ ว่า “ล้มเหลว” แต่บทความ “Facebook And Twitter Didn’t Fail Us This Election” บนเว็บ Buzzfeed ตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน 2559 จั่วหัวอย่างน่าคิดว่า อันที่จริงโซเชียลมีเดียเหล่านั้นอาจไม่ได้ “ล้มเหลว” เลยแม้แต่น้อย!

บทความชิ้นนี้เกริ่นนำแบบชวนให้มองอีกมุมว่า ตลอดสิบห้าเดือนก่อนวันเลือกตั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำงานตรงตามที่มันถูกออกแบบมาให้ทำ นั่นคือ กระจายข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทำให้คนมองเห็น ‘ชีพจร’ ของทั้งประเทศ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน และมีส่วนผลักดันขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงบางกลุ่มที่ไม่เคยมีใครได้ยิน ได้ส่งเสียงของพวกเขาออกมาดังๆ ซึ่งนั่นก็ตรงกับสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตแพล็ตฟอร์มเหล่านี้อยากเห็น – เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เรดดิด (Reddit) ฯลฯ เปรียบดังลำโพงที่ขยายการถกเถียง ความเห็น อุดมการณ์ และเรื่องราวต่างๆ ออกไป เพียงแต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มันได้ช่วยกระจายและขยาย ‘เสียง’ ของกลุ่มคนหัวอนุรักษ์นิยมที่เคยถูกละเลยหรือมองข้ามมาช้านาน – เพียงแต่เป็นกลุ่มคนที่นักเทคโนโลยี ผู้สังเกตการณ์ และนักวิชาการจำนวนมากไม่ชอบความคิดทางการเมืองเท่านั้นเอง!

ทว่า เพียงสองวันเท่านั้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ เลสลี ไมลีย์ (Leslie Miley) อดีตผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมของทวิตเตอร์ ก็ให้ความเห็นว่า “ผลกระทบของทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊ก นั่นคือ ความสามารถในการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วโดยไม่มีทางที่ใครจะประมวลผลก่อน คล้ายกับการสร้างโรงงานหรือผลิตรถยนต์ในปีแรกๆ ของศตวรรษที่ 20 โดยที่ไม่ตระหนักในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ …การวิ่งแข่งกันเพื่อสะสมผู้ใช้และเงินให้ได้มากที่สุดส่งผลให้ [ข้อมูลบางอย่าง] ที่ถูกแพร่กระจายออกไปไม่ถูกต้อง และคุณก็ไม่มีเวลาที่จะมีปฏิกิริยาอื่นใดกับมัน นอกจากใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง”

Leslie Miley
Leslie Miley

ด้าน วิเวียน ชิลเลอร์ (Vivian Schiller) อดีตซีอีโอของเอ็นพีอาร์ (NPR – National Public Radio) สถานีวิทยุสาธารณะของอเมริกา ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของทวิตเตอร์ มองว่าทวิตเตอร์ไม่ใช่ “ฟองสบู่ตัวกรอง” (filter bubble หมายถึงปรากฎการณ์ที่ซอฟต์แวร์ของโซเชียลมีเดียบางค่ายพยายามเดาว่าผู้ใช้อยากเห็นอะไร คอยป้อนแต่เนื้อหาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมในอดีตของผู้ใช้ เช่น เคยคลิกไลก์อะไร เคยอ่านอะไร จนสุดท้ายผู้ใช้จะไม่เห็นเนื้อหาใดๆ ที่เห็นต่างจากตัวเอง) เท่ากับเป็นแพล็ตฟอร์มที่ “เปลี่ยนอุดมการณ์เป็นอาวุธ” ข้อนี้เธอขยายความกับ Buzzfeed ว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าทวิตเตอร์มักจะถ่ายทอดเนื้อหาในเวลาจริง เอาสิ่งที่เป็นปัจจุบันขึ้นก่อน อดีตไว้ท้ายๆ แทนที่จะเรียบเรียงจากอดีตมายังปัจจุบันให้คนเห็นที่มาที่ไป และไม่มีการคัดสรรหรือกลั่นกรองเนื้อหาใดๆ ทั้งสิ้น แปลว่ายากมากที่เราจะหลบซ่อนตัวจากความคิดต่างๆ

“[การทำงานแบบนี้ของทวิตเตอร์]ทำให้เกิดผลข้างเคียงแย่ๆ หลายอย่าง เช่น การ ‘เกรียน’ หรือหาเรื่องกัน และการข่มขู่คุกคามกัน แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เคยเห็นความเห็นต่าง ทวิตเตอร์ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งปลอดจากความคิดที่ทำให้คุณไม่สบายใจแน่ๆ” พูดอีกอย่างคือ ความ ‘ดิบ’ ซึ่งบางครั้งปรากฏให้เราเห็นในรูปของการด่าทอหรือความใจแคบแบบที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์นั้น ถูกฝังอยู่ในโค้ดของทวิตเตอร์กันเลยทีเดียว

Vivian Schiller
Vivian Schiller

บทความ Buzzfeed เสนอต่อไปว่า ทวิตเตอร์ไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจจะให้กระจายความเกลียดชัง การเหยียดเพศ ความเกลียดกลัวคนต่างด้าว หรือการล่าแม่มด แต่ทวิตเตอร์เหมือนกันกับเรดดิด (Reddit) ตรงที่มันถือกำเนิดด้วยจุดยืนแบบ “เสรีภาพการแสดงออกเต็มแม็กซ์” (maximalist free speech) แบบอุดมคติ ไร้ซึ่งนิยามที่ชัดเจนหรือแนวทางที่จะกำหนดวิวัฒนาการ อดีตพนักงานของทวิตเตอร์คนหนึ่งบอกกับนักข่าว Buzzfeed ว่า ผู้บริหารทวิตเตอร์ซึ่งล้วนแต่เป็นคนผิวขาวฐานะดีไม่เข้าใจและมองไม่เห็นว่าใครจะใช้แพล็ตฟอร์มของพวกเขาไปในทางที่เลวร้ายได้อย่างไร และ “มักจะไม่สนใจความกังวลของผู้ใช้ในโลกที่พวกเขาไม่รู้จัก นั่นคือ ผู้หญิงและคนผิวสี”

อีธาน ซุคเกอร์แมน (Ethan Zuckerman) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อพลเมือง ห้องแล็บสื่อ ณ มหาวิทยาลัยเอ็มไอที (MIT) นักเทคโนโลยีที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดคนหนึ่ง มองว่าการที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ขยายขนาดอย่างรวดเร็วอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เขาบอกว่า แพล็ตฟอร์มเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เป็น ‘หมู่บ้าน’ แต่ต่อมาได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น ‘เมือง’ และ ‘ทวีป’ ในที่สุด โดยที่ทีมนักออกแบบไม่เคยวางแผนระยะยาวใดๆ ที่จะรับมือกับการใช้ระดับนี้เลย

Ethan Zuckerman
Ethan Zuckerman

ซุคเกอร์แมนยกตัวอย่างที่คนจำนวนมากต่อต้านกระแส “ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊ก และประณามเฟซบุ๊กที่ซ้ำเติมปัญหา “ฟองสบู่ตัวกรอง” หรือ filter bubble เพราะใช้โค้ดคอมพิวเตอร์ประมวลผลเนื้อหาที่ถูกกดไลก์และกดแชร์ ในการเลือกข่าวที่จะส่งขึ้นฟีด (feed) ของผู้ใช้ ซึ่งหลายข่าวเป็นข่าวปลอมและส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับความคิดทางการเมืองของผู้ใช้อยู่แล้ว เขาบอกว่า “ผมไม่คิดว่าใครสักคนในเฟซบุ๊กนั่งลงแล้วบอกว่า ‘เอาล่ะ เรามาสร้างเครื่องโฆษณาชวนเชื่อเพื่อลดความชอบธรรมของสื่อกระแสหลักกันดีกว่า!’ หรอกครับ”

ข้อนี้ชิลเลอร์เห็นด้วย เธอบอกว่า เราไม่ควรประณามเฟซบุ๊ก เพราะบริษัทเองก็ประกาศตัวชัดเจนอยู่แล้วว่ากำลังทำธุรกิจสร้าง “ฟองสบู่ตัวกรอง” – เป้าหมายหลักประการหนึ่งของเฟซบุ๊กคือการทำให้ผู้ใช้ได้เชื่อมต่อกับผู้คน สถานที่ และสิ่งต่างๆ ที่ พวกเขาอยากจะเชื่อมต่อ เริ่มต้นจากคนที่เป็น ‘เพื่อน’ บนเฟซบุ๊กด้วยกัน

ซุคเกอร์แมนเสนอว่า โซเชียลมีเดียทั้งหลายควรศึกษาตัวเองให้มากกว่านี้ ต้องถามตัวเองว่า “เราอยากให้เทคโนโลยีของเราสร้างสถานการณ์แบบนี้หรือ?” และ “เราอยากเป็นอะไรกันแน่?”

ตัวอย่าง "ข่าวปลอม" บนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่าง “ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊ก

ก่อให้เกิดคำถามว่า ทุกวันนี้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ กำลังทำอะไร มีแนวทางจัดการกับ “ข่าวปลอม” ทั้งหลายหรือไม่?

โปรดติดตามตอนต่อไป.