ThaiPublica > เกาะกระแส > แผนฟื้นฟูสหกรณ์ฯคลองจั่นรอเงินกู้ 10,000 ล้านจากภาครัฐ “ยังไม่มีคำตอบ” – จ่ายคืนเจ้าหนี้รอบ2-เตรียมรื้อคดีขายที่ดิน 477 ล้านให้”พิษณุโลก อีเทอร์นอล”

แผนฟื้นฟูสหกรณ์ฯคลองจั่นรอเงินกู้ 10,000 ล้านจากภาครัฐ “ยังไม่มีคำตอบ” – จ่ายคืนเจ้าหนี้รอบ2-เตรียมรื้อคดีขายที่ดิน 477 ล้านให้”พิษณุโลก อีเทอร์นอล”

22 ธันวาคม 2016


เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดที่ 31 และผู้บริหารแผนได้จัดประชุมเพื่อพบปะสมาชิกสหกรณ์ฯเพื่อแจ้งความคืบหน้าของผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่สมาชิก
เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดที่ 31 และผู้บริหารแผนได้จัดประชุมเพื่อพบปะสมาชิกสหกรณ์ฯเพื่อแจ้งความคืบหน้าของผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่สมาชิก

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดที่ 31 และผู้บริหารแผนได้จัดประชุมเพื่อพบปะสมาชิกสหกรณ์ฯเพื่อแจ้งความคืบหน้าของผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 31 ผู้บริหารแผน และคณะที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ ประกอบด้วยนายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการดำเนินการ,นางกรรณิการ์ อัคคะพู รองประธานกรรมการดำเนินการ,นางจรัญญา พงษ์สุทธิรักษ์ เหรัญญิกกรรมการดำเนินการ, นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ ขึ้นบนเวทีสนทนา และยังมีคณะกรรมการดำเนินการและที่ปรึกษาอีก 7 คน ผู้แทนข้าราชการจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายธนิต จันทร์ประทีป ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 และนายคีตวุฒิ นับแสง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ เข้าร่วมอยู่ในห้องประชุม มีรายละเอียดดังนี้

1.การจ่ายเงินชำระหนี้งวดที่ 2/2559 ได้ดำเนินการเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค.2559 ทั้งการเปิดให้รับเงินสดที่หน้าเคาน์เตอร์ สำนักงานคลองจั่น และผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ของสมาชิกพร้อมๆกัน ส่วนเงินค้างจ่ายของการชำระหนี้งวดที่ 1/2559 คณะกรรมการฯ ได้ส่งเช็คลงทะเบียนไปรษณีย์ให้กับสมาชิกเจ้าหนี้ ที่ไม่ไปรับเงินที่สหกรณ์ฯประมาณ 3,500 ราย มีจดหมายตีคืนกลับ ไม่มีผู้รับตามที่อยู่จำนวน 184 ราย ซึ่งสหกรณ์ฯ จะปรึกษากับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) กรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมสหกรณ์ฯ จะหยุดให้บริการในวันที่ 29 และ 30 ธ.ค. เพื่อปิดบัญชีประจำปี 2559 ซึ่งหลังจากนั้นจะดำเนินการส่งยอดบัญชีของแต่ละสมาชิกเจ้าหนี้ ที่มียอดเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปทางไปรษณีย์ เพื่อการตรวจสอบยืนยันยอดบัญชีอีกครั้งตามมาตรฐานปกติ คณะกรรมการฯ ขอความร่วมมือสมาชิกเจ้าหนี้ในการตรวจสอบและยืนยันกลับด้วย

2.รายงานผลประโยชน์การฝากเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด จำนวน 300 ล้านบาท ระยะเวลา 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.2% ได้ถอนเพื่อเตรียมใช้เงินส่วนนี้ในการชำระหนี้งวดที่ 2/2559 ในสัปดาห์นี้ ส่วนดอกเบี้ยรับจำนวน 3.76 ล้านบาท

“ทางสอ.ครูนครราชสีมามีมิตรไมตรีช่วยเหลือสหกรณ์ฯซึ่งนับว่าเป็นน้ำใจไมตรีอย่างดีเยี่ยม เพราะสถาบันการเงินธนาคารอื่นๆให้ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาก เช่นธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้ 1.25% ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ 3% หรือแม้กระทั่งบางธนาคารปฏิเสธการรับฝากเงินของเรา คงจะเกรงชื่อเสียงด้านลบ หรือไม่มั่นใจกับความบริสุทธิ์ของเงินของเรา ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายในอนาคตหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความยากลำบากของคณะกรรมการฯ ในการบริหารหาผลประโยชน์ และการแก้ไขภาพลักษณ์ของสหกรณ์ฯ”

นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า ” วันนี้คงจะยืนยันการตัดสินใจที่ถูกต้องของคณะกรรมการฯ ในการนำเงินก้อนนี้ไปสร้างดอกผลสูงสุดจากสอ.ครูนครราชสีมา ที่เป็นสหกรณ์เจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง มีสมาชิกบางคนบางกลุ่มกังวลใจว่า จะถูกริบเงินเอาไปชดใช้ชำระหนี้ วันนี้ไม่มีการริบยึดเงินจากเพื่อนสหกรณ์ ที่มีมิตรไมตรีให้เสมอมา”

ส่วนยอดเงินในบัญชีที่สูงขึ้นอีก 70 ล้านบาท เป็นเงินส่วนที่สหกรณ์ฯ ไปบังคับเรียกคืนจากธนาคารกสิกรไทย ที่ได้ดำเนินการอายัดเงินตามคำฟ้องสมาชิกเจ้าหนี้เกินเลย ทั้งๆที่คำสั่งศาลให้อายัดเพียง 1-2 ล้านบาทเท่านั้น เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คณะกรรมการฯ ต้องเสียเวลาและเสียค่าดำเนินการ ในการเรียกร้องจากธนาคารกสิกรไทยที่ดำเนินการเกินหน้าที่ และไม่ได้คิดจะช่วยเหลือสหกรณ์ใดๆเลย คณะกรรมการฯ ก็ได้ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องธนาคารกสิกรไทยต่อธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วรวมถึงการฟ้องละเมิดปฏิบัติต่อสหกรณ์ฯ ด้วย

ชนะคดีตามบี้เงินและทรัพย์สิน 3,811 ล้านบาทคืน

3.สรุปรายงานการฟ้องชนะคดี 1674/2557 และแผนการติดตามเงินและทรัพย์สินคืนจำนวน 3,811 ล้านบาท โดยศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ให้สหกรณ์ฯ ชนะคดี โดยให้จำเลยทั้ง 16 ราย ชดใช้เงินหรือทรัพย์สิน และปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่การจะได้เงินคืนครบ 3,811 ล้านบาทหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จำเลยส่วนใหญ่คงไม่มีเงินสดชดใช้คืนมากพอ ซึ่งสหกรณ์ฯ ก็คงต้องไปเรียกร้องจากการตามทรัพย์สินที่ยึดอายัดนำไปขายเปลี่ยนเป็นเงินแทน ขณะเดียวกันการขายทรัพย์สินเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ยอดเงินอาจจะต่ำ มีค่าใช้จ่ายตามขั้นตอน และใช้เวลา หากกรณีที่จำเลยไม่เห็นชอบให้ขายง่ายๆ และหากบังคับขายทอดตลาดก็จะมีผลกระทบด้านราคา และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามขั้นตอนทางกฎหมาย

โดยสหกรณ์ฯได้รวบรวมทรัพย์สินที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร มีที่ดินที่ถูกอายัดในคดีนี้ประมาณ 3,495 ไร่ใน 9 จังหวัด ราคาประเมินตามบัญชีเดิมมีอยู่เพียง 523 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ประสานและพิจารณาจ้างวานบริษัทเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการตรวจสอบจำนวนที่ดินและราคาในปัจจุบันแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนทางกฎหมายจำเลยมีสิทธิ์อุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 30 วัน จะมีกรอบเวลาถึงวันที่ 24 ธ.ค. 59 นี้ แต่เท่าที่คณะกรรมการฯ ปรึกษาเจรจากับทางทนายความของนายศุภชัย คาดว่าคงจะไม่มีการอุทธรณ์ และน่าจะพิจารณาที่จะหาทางชดใช้คืนสหกรณ์ฯ มากกว่า

สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

เอ็มโฮม.เอสพีวี 2 ชดใช้คืน 321.4 ล้านบาท

ส่วนกรณีการประนีประนอมชดใช้คืนของบริษัท เอ็มโฮม.เอสพีวี 2 จำกัด จำนวน 321.4 ล้านบาท สหกรณ์ฯ รับเงินก้อนแรกแล้วจำนวน 60 ล้านบาท คงเหลืออีก 261.4 ล้านบาท แต่ติดขัดเนื่องจากสัญญาประนีประนอมมีเงื่อนไขให้สหกรณ์ฯ ถอนอายัดที่ดินตามที่ฟ้องไว้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ก็ได้ดำเนินการถอนอายัดแล้ว แต่ติดที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หน่วยงานของภาครัฐยังคงไม่ยอมถอนอายัดเนื่องจากพิเคราะห์ว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องคดีฟอกเงิน ที่ได้ดำเนินการทางกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง คณะกรรมการฯ ก็ได้ติดตามและประสานกับ DSI ในการถอนอายัดที่ดินส่วนนี้ เพื่อรับเงินชดใช้ที่เหลือจำนวน 261.4 ล้านบาท มาใช้ในการชำระหนี้สมาชิกเจ้าหนี้และการฟื้นฟูกิจการต่อไป

โดยสรุปเงินชนะคดี 3,811 ล้านบาทนี้ คงต้องติดตามกันต่อว่า สหกรณ์ฯ จะได้รับการชดใช้เป็นจำนวนเงินทั้งหมดที่เท่าไหร่ เมื่อไหร่ และอย่างไร

เงินกู้ 10,000 ล้าน ไม่คืบ

4.เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 10,000 ล้านบาทเพื่อการฟื้นฟูกิจการ นับถึงปัจจุบันนี้ การอนุมัติเงินสนับสนุนจากภาครัฐล่าช้าไปจากกำหนด 3 เดือนแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อใด คณะกรรมการฯ ได้จัดทำหนังสือเตรียมยื่นถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทวงถามการสนับสนุนตามที่ฯพณฯเคยให้ข่าวสาธารณะไว้

“ขณะนี้ต้องมีการปรับแผนกำหนดเวลาอีกครั้งเพราะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ที่ทราบเรื่องสหกรณ์ฯ เราเป็นอย่างดี ก็มีการย้ายไปดูแลกระทรวงศึกษาธิการแทน ก็คงไม่เป็นไร แผนงานถูกกำหนดแล้ว เราจะเดินหน้าตามแผนการที่จะไปยื่นหนังสือถึงนายกต่อไป”

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางสหกรณ์ฯคลองจั่นได้ติดตามเรื่องโดยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พยายามหาทางช่วยเหลือประสานงาน เจรจาหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงธนาคารของภาครัฐ แต่ก็คงจะทราบกันดีแล้วว่าการดำเนินงานของข้าราชการ ยังติดขัดอยู่กับวิธีคิดวิธีทำแบบเดิมๆ เรื่องของเราจึงยังคงวนเวียนไปที่เดิม เพราะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบัน ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่อดีตรัฐมนตรี”ปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” ได้ออกหนังสือราชการของกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันการสนับสนุนทางการเงินในการฟื้นฟูกิจการ ซึงเป็นเอกสารที่ใช้ในการยื่นประกอบแผนฟื้นฟูกิจการ และสร้างความเชื่อมั่น ให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯ โดยหนังสือราชการระบุว่าจะเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณาแหล่งทุน ภายหลังแผนฟื้นฟูกิจการผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว

“ข่าวล่าสุดว่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ที่มีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง,ธนาคารแห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตร เพื่อศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อีก ซึ่งก็คงพูดได้ว่าเป็นการย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่มีคณะศึกษาพิจารณาจากหน่วยงานเดิมเหล่านั้น แต่ก็ไม่มีการเสนอผลักดันใดๆที่เป็นรูปธรรม ล่าสุดข่าวว่ายังไม่มีประกาศแต่งตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการอีกด้วย หลังปีใหม่นี้คงต้องมีการขับเคลื่อนทวงถามอีกต่อไป”

5.การถอนคดีและรับเงินคืนจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร คดียักยอกทรัพย์ 27 ล้านบาท สืบเนื่องจากคดีที่มีคำพิพากษา ตัดสินจำคุกนายศุภชัย 16 ปี กรณียักยอกทรัพย์สหกรณ์ฯ จำนวนเงิน 27 ล้านบาท ในช่วงที่เข้ามาบริหารเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 29 และสหกรณ์ฯเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจลาดพร้าว และต่อมา DSI รับเป็นคดีพิเศษทำสรุปสำนวนสอบสวน แล้วส่งให้อัยการยื่นฟ้องจนมีคำพิพากษาให้จำคุก ปัจจุบันนายศุภชัยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอผ่อนบรรเทาโทษ และให้ทนายความติดต่อคณะกรรมการฯ ว่าจะชดใช้เงินคืน 27 ล้าน บาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ประมาณ 7 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 34 ล้าน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้สหกรณ์ฯ ถอนคดีไม่เอาความ

คณะกรรมการฯ นำเรื่องเข้าประชุมร่วมกันถึง 5 ครั้งพินิจพิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย หากจะทำตามคำขอข้อแลกเปลี่ยนของนายศุภชัย

  • ยอมความแล้ว สหกรณ์ฯ ได้เงินคืน แต่ศุภชัยอาจจะถูกปล่อยจากการจองจำหรือไม่
  • ไม่ยอมความ ไม่ได้เงินคืน ศุภชัยถูกจองจำต่อ และอาจจะได้ลดหย่อนโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย และการอภัยโทษในวาระสำคัญ
  • ตามกระบวนการทางกฎหมายในคดีอาญา การยอมความของสหกรณ์ฯ จะมีผลทำให้คดีสิ้นสุดเลย หรือยังคงเป็นอำนาจดุลพินิจของอัยการและศาลในการพิจารณาสั่งถอนคดี
  • คณะกรรมการฯ ทั้งหมดยังคงต้องการให้ศุภชัยได้รับโทษ และถูกลงโทษอย่างหนัก ในการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสหกรณ์ฯ และสมาชิก แต่ถ้าหากมีการได้รับการชดใช้คืนในคดีนี้และคดีอื่นๆได้ ก็น่าจะเป็นผลดีกับสหกรณ์ฯ คดีที่เป็นคดีอาญาของนายศุภชัย ยังมีคดีที่อยู่ในกระบวนการถูกแจ้งความกล่าวโทษ ฟ้องดำเนินคดีอีก 13 คดี โดยล่าสุดอัยการสั่งฟ้อง 2 คดี ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้องโดยไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาร่วม (นางสาวศรัณยา มานหมัด และนางทองพิน กันล้อม) ซึ่งการไม่ให้ประกันตัว ตามการพิจารณาของศาล มีเหตุผลจาก

-กระทำความผิดหลายกระทง ยังมีการถูกสั่งฟ้องคดีอาญากรณีเดียวกัน ในคดีอื่นๆอีกหลายคดี

-คดีมีโทษสูง ความเสียหายเป็นวงกว้างจำนวนมาก เป็นภัยต่อเศรษฐกิจโดยรวม

-เกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ยกคำร้องขอประกันตัว

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้อง และไม่ให้ประกันตัวในคดีอาญาอื่นแล้ว คณะกรรมการฯ ก็มีความเชื่อมั่นว่านายศุภชัย ก็คงจะไม่มีโอกาสได้ออกมาจากคุก หรือจะได้รับการประกันตัว จากการที่มีคดีความอื่นๆที่เกี่ยวพันดำเนินคดีอยู่ และเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาคดีเงิน 27 ล้านก็น่าจะเป็นเรื่องที่สหกรณ์ฯ ควรจะรับเงินชดใช้คืนมาเสียก่อน โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการผู้บริหารแผนที่ต้องบริหารหาเงินมาฟื้นฟูกิจการ และก็ได้รับเข้าบัญชีเป็นจำนวนเงิน 34 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยปล่อยให้กระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของอัยการและศาลพิจารณาว่าจะลดโทษหรือปล่อยตัวในคดีนี้ เพราะไม่ว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างไร สหกรณ์ฯ ก็จะได้รับการชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขการคืนเงินกลับให้ศุภชัยอย่างแน่นอน

“จากการสอบถามสมาชิกประมาณ 100 คน ในที่ประชุมวันนี้มีสมาชิกออกเสียง 93 คน โดย 84 คน(90.3%)เห็นด้วยให้รับเงินคืนและถอนคดีมีสมาชิก 9 คน(9.6%)ไม่เห็นด้วยกับการรับเงินคืนและไม่ยอมถอนคดี”

ขณะที่นายธนิต จันทร์ประทีป ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 กล่าวในที่ประชุม แจ้งให้ทราบว่าในมุมมองของภาครัฐ มีความต่างกันทางกฎหมาย ที่การถอนคดีอาจจะมีผลยกเลิกความผูกพันในถ้อยคำของโจทก์ จำเลย และพยานของคดีนี้ ส่วนเรื่องการรับเงินชดใช้ก้อนนี้คืนนั้น ไม่มีการคัดค้าน เพราะคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ ศาลสั่งให้จำเลยคือนายศุภชัยชดใช้และถูกจองจำ ภาครัฐคงจะปล่อยให้การพิจารณาถอนคดีนายศุภชัยเป็นไปตามกระบวนการทางศาล

สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

เตรียมรื้อคดีขายที่ดิน 477 ล้าน

6.การรื้อคดีขายที่ดินของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ให้บริษัท พิษณุโลก อีเทอร์นอล จำกัด โดยเรื่องเดิมนายศุภชัย ขายที่ดินที่ถูกปปง. และ DSI อายัดไว้ในราคา 477 ล้านบาท ให้กับบริษัท พิษณุโลก อีเทอร์นอล เพื่อนำเงินมาชดใช้สหกรณ์ฯ แต่มีการชดใช้คืนเพียง 100 ล้านบาท โดยเป็นไปตามข้อตกลงและความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งปปง. และ DSI ทั้งๆที่ตามระเบียบ ปปง.ว่าด้วยการขายทรัพย์สินทอดตลาดแล้ว ต้องมีการตั้งคณะกรรมการฯ ขายทอดตลาดเข้ามาดูแลก่อน

ทางคณะกรรมการฯ วิเคราะห์เรื่องนี้พร้อมให้ข้อสังเกตความเสียหาย ที่กระทบการชดใช้คืน ถ้าไม่มีการถอนอายัด นำที่ดินออกขายเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 และสหกรณ์ฯได้รับการชดใช้เงินคืนเพียง 100 ล้านบาท ที่ดินแปลงนี้จะถูกรวมอยู่ในคดี 1674/2557 ที่สหกรณ์ฯ ยื่นฟ้องเมื่อ 1 พฤษภาคม 2557 เท่ากับทรัพย์ในคดีที่สหกรณ์ฯ ชนะตามคำพิพากษา 3,811 ล้านบาท จะได้ยอดรวมเพิ่มเป็น 4,288 ล้านบาท

“ราคาขายที่ดินในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อไร่ (ใกล้ถนนมิตรภาพ) จำนวนที่ดิน 1,838 ไร่น่าจะเป็นจำนวนเงินมากมายที่นำมาชดใช้คืนสหกรณ์ฯ ถึงจะถูกต้อง คณะกรรมการฯ มีมติให้รื้อคดี โดยสั่งการให้ทีมกฎหมายพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีเพื่อการชดใช้คืนให้สหกรณ์ฯ”

นอกจากนี้ที่ดินที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 1,616 ไร่ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการขาย สหกรณ์ฯ ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ทำการสำรวจพื้นที่และประเมินราคา ซึ่งคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท

ส่วนการหารายได้จากอาคารยูทาวเวอร์ ศูนย์ประชุมสหกรณ์และพื้นที่คลังสินค้า นายประกิต พิลังกาสา ยืนยันไม่มีการขายตึกยูทาวเวอร์อย่างแน่นอน กำลังพยายามหารายได้อยู่ บริเวณพื้นที่อาคารคลังสินค้า มีบริษัทเอกชนต้องการเช่าทำสนามฟุตซอล แต่ทำให้กระทบพื้นที่เสริมในการจอดรถ ในการจัดงานที่บริเวณศูนย์ประชุมสหกรณ์ คณะกรรมการกำลังพิจารณาความเหมาะสมอยู่ ส่วนที่ยูทาวเวอร์ก็มีการติดต่อเช่าพื้นที่จาก Big C Market เพื่อใช้พื้นที่เป็นห้าง Modern Trade แต่ฝ่ายกฎหมายของ Big C มีข้อความท้วงติงฝ่ายบริหารว่า สหกรณ์ฯ อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ การทำสัญญาใดๆ ทางกฎหมายอาจมีผลกระทบ หากการฟื้นฟูมีปัญหา