ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธปท.” จับมือ “กสทช.” กำกับดูแลบริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ – “ฐากร” มั่นใจดูแลความเป็นส่วนตัวได้

“ธปท.” จับมือ “กสทช.” กำกับดูแลบริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ – “ฐากร” มั่นใจดูแลความเป็นส่วนตัวได้

20 ธันวาคม 2016


เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย)ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ (ขวา)เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย)ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ (ขวา)เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายหลังวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ที่ทั้งสององค์กรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำกับดูแลบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ รายละเอียดดังนี้

1) สำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือกำชับให้ผู้บริการมือถือดำเนินการโอนย้ายเลขหมายให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศอย่างเคร่งครัด โดยการออกซิมการ์ดใหม่หรือขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของซิมการ์ดหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริงประกอบเท่านั้น ซึ่งรวมไปถึงการมอบอำนาจมาทำการด้วย

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำมาตรฐานตรวจสอบและรับรองการพิสูจน์ตัวตนเรียบร้อยแล้ว โดยในอนาคตจะนำระบบสแกนลายนิ้วมือเข้ามาใช้ร่วมด้วย ซึ่งบุคคลที่ลงทะเบียนไปก่อนหน้านี้สามารถมาลงทะเบียนใหม่เพื่อใช้ลายนิ้วมือเป็นตัวพิสูจน์ตัวตนได้ด้วย นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงระบบให้ผู้ที่ใช้บริการที่มีบัตรประชาชนตัวจริงสามารถรับทราบหมายเลขมือถือลงทะเบียนที่ผูกอยู่กับบัตรประชาชนทั้งหมด และสามารถสั่งยกเลิกการใช้บริการหมายเลขอื่นๆ ได้ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

อนึ่ง ในกรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ฝ่าฝืนประกาศและกฎหมาย นอกจากจะได้รับโทษตามประกาศของสำนักงาน กสทช. แล้ว ยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการโอนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงเลขหมายที่ไม่ถูกต้องด้วย

2) สำนักงาน กสทช. และ ธปท. ตกลงและเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันเพื่อดูแลให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการโมบายแบงกิงและพร้อมเพย์ว่าจะได้รับการดูแลอย่างรัดกุม โดยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์มือถือเท่านั้น และไม่ปรากฏชื่อของผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใช้บริการแล้ว ทำให้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหมายเลขดังกล่าว ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะแจ้งไปยังสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจะรับทราบและปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด

3) สำนักงาน กสทช. และ ธปท. จะตกลงร่วมกันที่จะอำนวยความสะดวกในการขอรับคืนเงินค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินกรณียกเลิกการใช้บริการ ซึ่งจากเดิมที่ผู้ใช้บริการมือถือจะต้องดำเนินการผ่านการโอนเงินของธนาคาร หรือคืนเป็นเช็ค หรือโทรไปยังหมายเลขมือถืออื่น ขณะนี้จะสามารถรับคืนผ่าน e-wallet และบริการพร้อมเพย์ได้

ธปท. ปรับแบบฟอร์มธุรกรรม ป้องกันการเปิดเผยข้อมูล

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและบทลงโทษ ดร.วิรไท กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์มีการออกแบบระบบการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนไม่ให้ทุกคนในธนาคารสามารถเข้าถึงได้ รวมไปถึงเวลาส่งธุรกรรมระหว่างกันยังมีระบบป้องกันเหมือนกำแพงกันไม่ให้เห็นได้ทุกขั้นตอน รวมไปถึงระบบพร้อมเพย์ ขณะที่การกำกับดูแลภายในระดับเจ้าหน้าที่ ธปท. กำชับสถาบันการเงินให้มีระบบที่รัดกุม มีระบบการตรวจสอบภายในที่ดี และ ธปท. ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีความกังวลว่าธนาคารนำข้อมูลไปเปิดเผยเพื่อการ cross selling ดร.วิรไทกล่าวว่า กระบวนการยอมเปิดเผยข้อมูลยังมีช่องว่างที่ต้องเข้าไปดูแล ตัวอย่างเช่น การไปสมัครทำธุรกรรมบางอย่างกับธนาคารอาจจะมีช่องให้เลือกว่าอยากรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่ให้ความสำคัญกันมากนัก ดังนั้น ธปท. คงต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่าจะรักษาสิทธิอย่างไร รวมไปถึงทาง ธปท. กำลังหาทางออกแบบให้สามารถรักษาสิทธิได้ง่ายมากขึ้น เช่น ปรับแบบฟอร์มและมาตรฐานต่างๆ ใหม่ แต่หากประชาชนเลือกว่าอยากรับทราบข้อมูล กรณีนั้นคิดว่าสามารถนำเข้ามูลไปใช้ได้

“เรื่องหนึ่งที่อาจจะต้องฝากไว้คือ ในยุคที่ธุรกรรมดิจิทัลจะมีความสำคัญมากขึ้น เรื่องความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราจะป้องกันรักษาความปลอดภัยของการทำธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่จะต้องรู้วิธี เช่น ต้องรักษา username และ password เป็นความลับ ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ต้องเข้าใจว่าช่องทางที่ใช้ในการติดต่ออย่างไวไฟสาธารณะอาจจะมีความเสี่ยง หรือการจำกัดวงเงินการทำธุรกรรมที่ปัจจุบันสามารถทำได้ เหล่านี้เป็นกลไกการดูแลตนเอง เหมือนการกดเงินสดมา เราต้องคิดว่าจะกดมาใส่มากน้อยแค่ไหน” ดร.วิรไทกล่าว

กสทช. แจงติดตามกำกับใกล้ชิด – ส่วนใหญ่ปรับเรื่องสัญญาญล่ม

ด้านนายฐากรกล่าวว่า “การเปิดเผยข้อมูลของผู้ให้บริการมือถือไม่สามารถทำได้ตามกฎหมายของ กสทช. ซึ่งการเปิดเผยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น การนำส่งข้อมูลของระบบพร้อมเพย์หรือโมบายเพย์เมนต์ ผู้ให้บริการจะส่งแค่เลขหมายมือถือเท่านั้น ไม่ได้ส่งชื่อส่วนบุคคลไปทั้งหมด ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีนี้ ผู้ให้บริการหลายรายยังไม่อยากส่ง เพราะอาจจะเข้าข่ายความผิดได้”

“ต้องเรียนว่า ผู้ให้บริการมีความรัดกุมในการดำเนินการอยู่แล้ว ทางรองเลขาธิการฯ เข้าไปตรวจสอบระบบป้องกันทั้งหมดในขณะนี้ว่า ในกรณีที่พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ หากมีการนำข้อมูลออกไปแบบที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว อันนั้นเป็นความผิดส่วนบุคคล กสทช. ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานแล้ว และเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ แต่เป็นการที่ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่นั้นไปเปิดเผย ซึ่งเรื่องนี้ได้กำชับและมีกระบวนการที่รัดกุมและจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของพนักงานให้น้อยที่สุด”

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า แล้วกรณีไหนที่ผู้ให้บริการจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย นายฐากรกล่าวว่า “ในกรณีที่ขัดประกาศ เช่น การโอนย้ายเลขหมาย ที่ผ่านมาต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงไปใช้ในการโอนย้าย แต่ผู้ให้บริการใช้เพียงสำเนา แบบนี้คนไหนทำผิดก็ต้องรับผิดชอบ รวมไปถึงผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบด้วย เนื่องจากพนักงานเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจจากผู้ให้บริการด้วย ส่วนในกรณีมีข้อมูลหลุดออกไปก่อนหน้านี้ถือว่าต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งได้กำชับไปแล้วหลังจากเกินเหตุการณ์ครั้งที่ผ่านมา ตอนนี้ขนาดมีหน่วยงานความมั่นคงขอมาผู้บริการยังไม่กล้าให้เราเลย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา กสทช. ส่วนใหญ่มีเรื่องร้องเรียนอะไรบ้างและดูแลอย่างไร นายฐากรกล่าวว่า “บทลงโทษของ กสทช. ตามกฎหมายมีตักเตือน ปรับ สั่งพัก และเพิกถอนใบอนุญาต ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระทำผิด ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องสัญญาณโทรศัพท์หรือคุณภาพสัญญาณต่างๆ ที่เราลงโทษอยู่ เช่น สัญญาณล่ม เราปรับไปหลายราย 20-30 ล้านบาท แล้วแต่ความรุนแรง ส่วนการโอนย้ายเลขหมายที่ผิดพลาดยังไม่มี สำหรับเกณฑ์การปรับมีหลายตัวชี้วัดกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว โดยขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ประกอบการ จำนวนผู้ใช้บริการและความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสาธารณะ”