ThaiPublica > เกาะกระแส > Urban movement เคลื่อนเมือง ให้เคลื่อนไป เพื่อเมืองที่น่าอยู่ โดยภาคประชาชน

Urban movement เคลื่อนเมือง ให้เคลื่อนไป เพื่อเมืองที่น่าอยู่ โดยภาคประชาชน

15 พฤศจิกายน 2016


คำถามในใจของคนทุกคน ในฐานะที่ต้องใช้ชีวิตเป็นอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งก็คือ ทำไมเมืองที่เราอยู่ถึงได้ไม่น่าอยู่ รถติดใช้เวลาเดินทางมากกว่าเวลาทำธุระ ขับรถไม่เคารพกฎจราจร มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า แผงลอยรุกล้ำทางเท้า ต้นไม้ในเมืองหายไปไหน ไม่มีที่พักผ่อนหย่อนใจ สายไฟสายโทรคมนาคมห้อยระโยงระยางไม่สวยงาม และอีกสารพัด ทำให้คนเมืองกรุง(เทพมหานคร) พยายามแก้ปัญหา หาหนทางว่า “ทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่กว่าเดิม?” สภาพเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร เรามีเครื่องมืออะไรบ้างในการแก้ไขสิ่งเหล่านั้น แล้วก่อนที่เราจะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง หากเรามีประเด็นที่คับข้องใจอยู่แล้ว เราพอจะทำอะไรไปได้บ้าง ไทยพับลิก้ารวบรวมกลุ่ม “คนเคลื่อนเมือง” มาบางส่วนเพื่อให้เห็นปรากฎการณ์ของคนเมืองที่เริ่มขับเคลื่อนเพื่อเมืองที่อยู่กันอย่างไรบ้าง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

uber-movement-2

ยุพินYouPin

ยุพิน (YouPin) สามารถเรียกอย่างลำลองได้ว่า “ป้ายุพิน” ภารกิจของกลุ่มนี้คือจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลจากผู้คนในแง่ที่ว่าเป็นเรื่องที่อยากเปลี่ยน เสียงคำบ่นของชาวกรุงเทพฯ ให้มารวมกันผ่านเว็บไซต์และ chatbot ให้เป็น crowdsourcing ขนาดใหญ่

สิ่งที่จุดประกายให้เกิดเป็นกลุ่มยุพิน คือ การที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งยุพินได้แจ้งไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านช่องทางโทรศัพท์ 1555

pain point ที่ยุพินจับ คือ ช่องทางการสื่อสาร ยุพินเชื่อว่าหลายๆคนย่อมต้องการมีส่วนร่วมในการรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นแก่คนที่จะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่การบอกนั้นบางครั้งมันยุ่งยากเหลือเกิน แพลตฟอร์มยุพินนี้จึงเข้ามาแก้ปัญหานั้น เชื่อมต่อเสียงประชาชนกับผู้ปกครอง ซึ่งความคิดเหล่านี้ก็ทำให้กลุ่มยุพินมีชื่อว่า “ยุพิน” คือ “ยุให้พิน (pin)” ปัญหาของคุณลงไป

จากที่บอกไปข้างต้นว่า “ยุพิน” บางครั้งก็เรียกว่า “ป้ายุพิน” นั้นก็ยังมีความหมายต่อไปว่า “ถึงจะเป็นป้าแก่ แต่เฟี้ยว เป็นหูเป็นตาเพื่อนบ้าน เวลาใครมีปัญหา ก็มาเล่าให้ป้าฟัง ป้าฟังหมด ไม่ตัดรำคาญ”

สำหรับผู้ก่อตั้งยุพิน เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ตั้งแต่นักออกแบบ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และอื่นๆ ผู้ที่สนใจอยากพินปัญหาที่ประสบ เชิญได้ที่นี่

Trash Hero

Trash Hero หนึ่งในภาระของรัฐ คือการรักษาความสะอาด สุขอนามัยของประชาชนเป็นเรื่องอันเพิกเฉยมิได้ แต่อย่างที่เห็นกันอยู่ ยังมีขยะอยู่ทั่วทุกหัวระแหง คนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อเก็บขยะโดยเฉพาะ โดยเป้าหมายหลักของ Trash Hero คือสร้างความยั่งยืน และเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะในระยะยาว

ภารกิจที่ Trash Hero ทำอยู่ขณะนี้มี 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. การกระทำและความตระหนักถึงปัญหา จากความเชื่อว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด Trash Hero เก็บขยะทุกประเภทในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นก้นบุหรี่ตามถนน กระทั่งถึงขยะที่พบเจอตามชายหาดยาว 20,000 กิโลเมตร
2. ความรู้ข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกจากประสบการณ์ทำงานจริง
3. โปรเจกต์ระยะยาว ที่ให้ชุมชนรวมตัวกัน กำจัดขยะและบริหารจัดการขยะของชุมชนเอง ทั้งในขณะนี้และในอนาคต
4. สร้างเครือข่ายใหม่ๆ กระตุ้นเสริมแรงบันดาลใจให้ทุกคนเป็น Trash Hero ในชีวิตประจำวัน

เพื่อให้เห็นภารกิจอย่างเป็นรูปธรรม Trash Hero มีทั้งกิจกรรมประจำสัปดาห์, การลดจำนวนขวด/ถุงพลาสติก, อาสาสมัครเก็บขยะในชุมชนรวมถึงทำให้คนลดการเผาขยะ สุดท้าย ด้านการศึกษา เพิ่มความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมตามโรงเรียนท้องถิ่น

Trash Hero ไม่ได้เป็นเพียงเครือข่ายในประเทศไทยเท่านั้น หากเป็นเครือข่ายทั่วโลก มีทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ได้ที่นี่

เครือข่ายพลเมืองเน็ตThai Netizen Network

เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เป็นกลุ่มพลเมืองที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนสิทธิพลเมืองในโลกออนไลน์บนหลักพื้นฐาน 5 ประการดังนี้ สิทธิการเข้าถึงข้อมูล, สิทธิการคิดและการแสดงออก, สิทธิความเป็นส่วนตัว, สิทธิในการร่วมออกนโยบาย และสิทธิการเป็นเจ้าของและใช้ทรัพยากร

กิจกรรมที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตทำอยู่ มีทั้งติดตามและสื่อสารประเด็นเทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชน วิจัยเชิงนโยบายและรณรงค์ขับเคลื่อน พัฒนาทักษะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อพลเมือง สุดท้ายเปิดพื้นที่ความคิดเห็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ นโยบายสื่อ และวัฒนธรรมดิจิทัล

Reading Room

ห้องสมุดศิลปะรีดดิ้งรูม (Reading Room) นอกจากจะเปิดให้บริการยืมหนังสือทางศิลปะ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีสื่ออื่นๆ อย่าง สูจิบัตรนิทรรศการ นิตยสารและสื่ออิเลกทรอนิกส์ต่างๆ อีกฟังก์ชั่นของห้องสมุดนี้เป็น “พื้นที่” สำหรับจัดกิจกรรมพูดคุย เสวนา ฉายภาพยนตร์ และเวิร์กชอปทางศิลปะและสาขาอื่นๆ เช่น วรรณกรรม ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ หรือแม้กระทั่งดาราศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความคิดและสร้างเครือข่ายของแต่ละกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น

ด้วยพื้นที่ที่เปิดให้กิจกรรมหลากหลายนี้ ทำให้ห้องสมุดนี้เป็นเสมือนแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความคิดจะผลักดันสังคมบางอย่าง ให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) คำนึงถึงสิทธิของตัวเองและผู้อื่น อันเป็นคุณสมบัติที่พึงมีของประชาชนที่จะพัฒนาคุณภาพเมืองในระยะยาว

ตัวอย่างกิจกรรม ได้แก่ โปรเจกต์ SLEEPOVER ที่เพิ่งจบไป ให้บุคคลและองค์กรด้านศิลปะวัฒนธรรมเข้ามาสร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลกัน และล่าสุด ซีรีย์เสวนา “Right Here, Right Now: ทำความเข้าใจแนวคิดฝ่ายขวา” เพื่อร่วมเรียนรู้ถึงแนวความคิดสำคัญของ “ฝ่ายขวา” ผ่านมิติต่างๆ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ การใช้อำนาจ เศรษฐกิจ ตลอดจนมิติทางสังคมวัฒนธรรม สามารถติดตามงานอื่นๆ ได้จากเฟซบุ๊ก

Trawell

Trawell เป็นกลุ่มคนที่มีความมุ่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชนเมืองด้วยการท่องเที่ยว ปัญหาที่กลุ่มนี้มองเห็น คือ การขยายตัวของภาคธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน อันก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวจากการทิ้งอาชีพหรือขายที่ทิ้งไป Trawell เป็น “บริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน” เป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบบหนึ่ง จึงมองว่า “นักลงทุน ชุมชน นักท่องเที่ยว” จะต้องมีความสมดุลกัน ให้เกิดรายได้โดยไม่ทำลายชุมชน (ไม่ทำลายเมือง) ใช้การดำเนินงานแบบ Co-ownership business (ธุรกิจแบบมีเจ้าของร่วม)

เป้าหมายของกลุ่มนี้ต้องการให้ชุมชนเป็นเจ้าของห่วงโซ่การจัดการท่องเที่ยว ด้วยการสร้างระบบการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีตัวอย่างของชุมชนที่ Trawell ทำงานอยู่ คือ ชุมชนป้อมมหากาฬ ในชื่อ “มหากาฬโมเดล” เหตุผลที่ตั้งชื่อเช่นนี้ เพราะหากโปรเจกต์นี้สำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลให้กับชุมชนรอบเกาะรัตนโกสินทร์อื่นๆ

โครงการ ASA-Community Act Network

โครงการ ASA-Community Act Network (สถาปนิก Young CAN) เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และสถาปนิกรุ่นใหม่จากหลายสถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้สอยพื้นที่สาธารณะ แล้วเก็บผลจากงานทดลองเชิงปฏิบัติการ จนเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักกัน และ ปัญหาในเชิงนโยบาย คือ ที่ผ่านมานโยบายของรัฐในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะมีปัญหาเรื่องการขาดการบูรณาการ ขาดการศึกษาและทำความเข้าใจเชิงภาพรวมในระยะยาว

ได้เป็น “Public Transit Lounge” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Ten for 90 นำเอาเสื่อ 40 ผืน และเบาะที่นั่งไปวางในพื้นที่ใจกลางสถานีรถไฟหัวลำโพง ขนาด 144 ตารางเมตร

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/tenforninety/photos/
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/tenforninety/photos/

หนึ่งในผู้ร่วมโครงการมองว่า “พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ของคน ที่สามารถแสดงตัวตนและแสดงความต้องการของตนเองได้ หลักคิดในการออกแบบในพื้นที่หัวลำโพงก็คืออยากให้มีการออกแบบเพื่อให้คนที่หลากหลายเข้ามาใช้ได้มากขึ้น”

GLab

GLab เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสังคม ที่อยู่ด้วยตัวเอง มีหน้าที่ 3 ประการ

1. สร้างสรรค์และพัฒนาหลักสูตร Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE) อยู่ภายใต้การบริหารของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา (School of Global Studies) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. ให้คำปรึกษาและขยายผลประโยชน์ทางด้านสังคม (Scale Social Impact) ให้กับผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในเชิงธุรกิจ
3. ดูแลโปรเจกต์ด้านสังคมที่มีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี ให้สามารถอยู่รอดในเชิงธุรกิจด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจอยากขอคำปรึกษาจาก GLab จะเป็นใครก็ได้ ทั้งองค์กรภาครัฐ เอ็นจีโอ เอกชน หรือคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากมีโปรเจกต์ที่ให้ผลประโยชน์แก่สังคม ซึ่งโปรเจกต์มหากาฬโมเดลของ Trawell ก็ปรึกษาจาก GLab เช่นกัน

เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ

เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly) เป็นองค์กรที่ร่วมมือระหว่างเครือข่ายที่สนใจการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ และชุมชน โดยองค์กรนี้มองว่าพื้นที่ริมน้ำที่คนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นจากถนนเส้นเล็ก เส้นใหญ่ หรือทางแม่น้ำ และต้องเป็นพื้นที่ที่ทำกิจกรรมสาธารณะได้

เป้าหมายของกลุ่ม คือ การสร้างกระบวนการการออกแบบและจัดการแม่น้ำอย่างมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคำนึงถึงการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นพื้นที่ริมน้ำที่ยั่งยืน สำหรับการทำงานมี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกลไกการทำงาน คือ 1. สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด และวิจัยองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ 2. ด้านนโยบายและโครงการ คือ สร้างกลไกการทำงานกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงผลักดันให้เกิดการทำผังแม่บทการพัฒนาแม่น้ำ และ 3. ด้านการสื่อสาร คือ สื่อสารกับหน่วยงานรัฐและสาธารณชน ทำงานร่วมกับชุมชน และขยายเครือข่าย ร่วมงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิดตัวอย่างที่ได้ออกมาขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำคือการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/friendsofthechaophrayariver/
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/friendsofthechaophrayariver/

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง “UddC”

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) ด้วยภาวะการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้อาศัยในเขตเมืองที่เติบโตมากกว่าเขตชนบทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งภาวะความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองนี้กระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

UddC เป็นกลุ่มสถาปนิกและอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย ที่รวมตัวกันพัฒนาพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ด้วยแนวคิด “ฟื้นฟูเมือง” (Urban Renewal) ทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ที่ตอบรับกับการขยายตัวของประชากรและความต้องการของผู้ใช้สอยมากขึ้น ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

โครงการที่ UddC กำลังทำอยู่ คือ โครงการเชิงประเด็น “โครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบและวางผังเมือง ซึ่งกลุ่มนี้มองว่าตัวชี้วัดของการเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย คือ เมืองที่คนสามารถเดินได้และเดินถึง กระทั่งสามารถพัฒนาเป็นเมืองที่ “เดินดี” คือ คนสามารถเดินชมเมืองได้

Big Trees

Big Trees เป็นกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองแบบไม่แสวงหากำไร ที่เกิดจากการตระหนักถึงการหายไปของต้นไม้ใหญ่ในเมือง โดยในเดือนพฤษภาคม 2553 มีข่าวว่าจะมีการตัดต้นไม้ที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 35 อันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล และ Big Trees พยายามเจรจาขอรักษาต้นไม้ไว้ ซึ่ง Big Trees มองว่า “มูลค่าของเมืองขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี”

สำหรับภารกิจสำคัญของกลุ่มนี้คือ การผลักดันให้เกิด “พระราชบัญญัติคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมือง” และเปลี่ยนทัศนคติของคนว่า การพัฒนาต้องแลกกับสิ่งแวดล้อมที่ดี

BIG Trees ทำงานในหลายรูปแบบด้วยกัน เริ่มจากเชิงนโยบายในการสร้าง เครือข่ายต้นไม้ในเมือง (Thailand Urban Tree Network) มีเป้าหมายต้องการเห็นเมืองร่มรื่นด้วยการตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกวิธี โดยไม่ได้มาชี้ว่าใครเป็นคนตัดต้นไม้ออกไปบ้าง

สำหรับกิจกรรมที่ผ่านมาของ Big Trees ได้แก่ “Urban Tree Care โรงเรียนต้นไม้แห่งประเทศไทย”, โปรเจกต์จัดร่วมกับ FabCafe “FabFarm ตลาด 100 โล” สร้างพื้นที่ของเกษตรกรต้นตอตัวจริงรัศมี 100 กิโลเมตร มารวมตัวใจกลางเมือง เป็นต้น

มูลนิธิโลกสีเขียว

มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงผลกำไร โดยทำงานร่วมกับเยาวชน นักการศึกษา ผู้นำชุมชน และองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ ผลิตสื่อ และทำศูนย์ข้อมูล บนแนวคิดว่า “สัตว์อยู่ได้ คนอยู่ได้” คือ หาจุดสมดุลของการอาศัยร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ ไม่ทำลายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ด้วยการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนที่สนใจเข้าใจวิธีการรักษาธรรมชาติด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย

ตัวอย่างโครงการที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพลเมืองเปลี่ยนกรุง อย่างแอปพลิเคชัน “ปั่นเมือง” ให้คนใช้จักรยานและคนเดินเท้าได้ส่งเรื่องราวอันเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรไป, โปรเจกต์เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ เช่น นักสืบสายน้ำ, นักสืบชายหาด และนักสืบสายลม