ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UPCYCLING  THE OCEANS THAILAND ครั้งแรกในไทยที่ขยะในทะเลจะถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าแฟชั่น

UPCYCLING  THE OCEANS THAILAND ครั้งแรกในไทยที่ขยะในทะเลจะถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าแฟชั่น

7 พฤศจิกายน 2016


upcycle1

UPCYCLING  THE OCEANS THAILAND ถือเป็นโครงการความร่วมมือครั้งใหม่ที่น่าสนใจ เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ บริษัท ปตท.เคมิคัล จำกัด (มหาชน) และอีโคอัลฟ์ (ECOALF) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืนชื่อดังของโลก เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะในทะเลของไทย โดยโครงการนี้เป็นการนำขยะจากท้องทะเลมาผลิตเป็นเส้นใย และผลิตเป็นสินค้า เสื้อ กระเป๋า รองเท้า เป็นการเพิ่มมูลค่าช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี เพื่อจะแก้ปัญหาขยะ สร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยทำงานในลักษณะพันธมิตรกับอีโคอัลฟ์ ซึ่งมีประสบการณ์การทำโครงการมาแล้วในระดับโลก

แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการระยะเวลาและจำนวนงบประมาณที่ทั้ง 2 องค์กรจะให้การสนับสนุนอย่างแน่ชัดในการเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา กระนั้นโครงการนี้ก็ถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะการนำประสบการณ์ของอีโคอัลฟ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะในทะเลในประเทศไทย

ภาพบรรยากาศการเปิดตัว UPCYCLING THE OCEANS THAILAND ความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท ปตท.เคมิคัล จำกัด (มหาชน) และอีโคอัลฟ์ (ECOALF)
ภาพบรรยากาศการเปิดตัว UPCYCLING THE OCEANS THAILAND ความร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท ปตท.เคมิคัล จำกัด (มหาชน) และอีโคอัลฟ์ (ECOALF)

“อีโคอัลฟ์” เป็นแบรนด์ไลฟสไตล์แฟชั่น ที่มีความเชื่อในเรื่อง “แบรนด์ที่ยั่งยืน” โดย จาเวีย โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งอีโคอัลฟ์ เริ่มต้นธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2012 หลังจากเขาเห็นการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล เขาอยู่ในธุรกิจแฟชั่นและหันหลังให้กับวงการแฟชั่นกระแสหลัก สู่เส้นทางแฟชั่นที่ยั่งยืน โดยพัฒนากระบวนการรีไซเคิลใหม่ซึ่งสามารถนำไปใช้กับวัสดุทุกประเภทที่เป็นของเหลือทิ้งตั้งแต่ขวดน้ำ พลาสติค ขยะในทะเล กากกาแฟ ฯลฯ ให้มาเป็นไนลอนและเส้นใยใหม่ๆคุณภาพดีที่สามารถผลิตเสื้อผ้า แจ็กเก็ต รองเท้า กระเป๋า สำหรับของทั้งผู้ชายและผู้หญิง

จาเวีย โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งอีโคอัลฟ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและโชว์เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลทั้ง100เปอร์เซ็นต์ ที่เขายืนยันว่าไม่สามารถมองออกว่าเป็นของรีไซเคิล
จาเวีย โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งอีโคอัลฟ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวและโชว์เสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลทั้ง100เปอร์เซ็นต์ ที่เขายืนยันว่าไม่สามารถมองออกว่าเป็นของรีไซเคิล

เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อครั้งมาเปิดตัวโครงการ UPCYCLING THE OCEANS THAILAND ว่า “ถ้ามองมันด้วยตาเปล่าคุณจะไม่สามารถมองแล้วรู้ว่านี่เป็นเสื้อผ้าที่มาจากของรีไซเคิล” นวัตกรรมและความเชื่อเป็นเหตุผลที่ทำให้ยอดขายของอีโคอัลฟ์เติบโตทุกปีเป็นเท่าตัวนับตั้งแต่เปิดบริษัท

การคลุกคลีกับขยะและต้นทางวัตถุดิบที่จะนำมารีไซเคิล เขาเริ่มมองเห็นปัญหาขนาดใหญ่ และเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ UPCYCLING  THE OCEANS เป็นครั้งแรกในปี 2016 ที่สเปน โดยมูลนิธิอีโคอัลฟ์ โครงการนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำขยะจากในมหาสมุทรมาเปลี่ยนเป็นเส้นใยคุณภาพในการจะนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเสื้อผ้า

อีโคอัลฟ์ เรียกสิ่งนี้ว่า ความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนวิธีในการจัดการกับขยะในมหาสมุทร ที่จะเริ่มต้นจากมหาสมุทรแอนตาคติคและมีเป้าหมายในการขยายไปยังมหาสมุทรทั่วโลก ในโครงการนี้นอกจากอีโคอัลฟ์จะใช้ประสบการณ์จากการธุรกิจรีไซเคิลในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากว่า 5 ปี โครงการยังทำงานกับพันธมิตรอีก 5 รายที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%82%e0%b8%a2%e0%b8%b0
ที่มาภาพ : http://ecoalf.com/us_en/upcycling-the-oceans
%e0%b8%82%e0%b8%a2%e0%b8%b0%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a5
ที่มาภาพ : http://www.huffingtonpost.com

“ทุกวันนี้เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับชาวประมง ทุกๆวันจะมีชาวประมงเอาขยะขึ้นมาให้เราประมาณ 400-600 กิโลกรัมต่อวันกลับขึ้นมาจากมหาสมุทรแอนแลนติคในโครงการนำร่องที่เราทำทางตอนใต้ของสเปน” จาเวีย กล่าว

ข้อมูลจากโครงการระบุว่าในแต่ละปีมีขยะที่อยู่ในทะเลมากกว่า 8 ล้านตันและนั่นเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของสัตว์น้ำรวมถึงนก โดยขยะ 20% จะลอยอยู่เหนือน้ำและขยะ 80% จะอยู่ใต้น้ำ การกู้คืนขยะเหล่านี้จากทะเลจึงเป็นภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหา โดยไม่เพียงแต่ Recycle เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำเท่านั้น แต่ในความหมายของโครงการ คือการยกระดับและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการมาใช้ซ้ำ หรือที่เรียกว่า Upcycling ด้วย ดังนั้นนอกจากจะทำให้มหาสมุทรสะอาดขึ้นแล้ว ของเสียส่วนหนึ่งที่กู้คืนขึ้นมายังจะถูกนำมาใช้มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติค  รวมไปถึงการรีไซเคิลให้เป็นเส้นใยที่มีคุณภาพที่จะนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า และของใช้ต่อไป

UPCYCLING THE OCEANs THAILAND จึงน่าจะเป็นโครงการนอกประเทศครั้งแรกของ UPCYCLING และเราหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มสำคัญที่ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างออกไปจากการเก็บขยะในทะเล ทว่าในอีกด้านหนึ่งนี่จะยังอาจช่วยจุดประกายเรื่องความยั่งยืนในแวดวงแฟชั่นที่ว่าด้วยความคิด “แฟชั่นที่ยั่งยืน” (Sustainable Fashion) ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน