ThaiPublica > คอลัมน์ > การถ่ายรูป selfie ในการเลือกตั้ง

การถ่ายรูป selfie ในการเลือกตั้ง

15 พฤศจิกายน 2016


ทพพล น้อยปัญญา

อนุสนธิจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย นักวิเคราะห์ทั้งหลายก็ออกมาวิเคราะห์กันใหญ่ว่าเหตุใดที่ทำให้นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งโพลทุกสำนักออกมาว่าเธอจะเป็นผู้ชนะ แต่ไฉนผลออกมากลับกลายเป็นนายทรัมป์ไปได้

บทความนี้ไม่ได้ขอวิเคราะห์ด้วยอีกคนเพราะผู้เขียนไม่มีความรู้ แต่บทความนี้เป็นเรื่องของกฎหมายเลือกตั้งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ การถ่ายรูป selfie ของบัตรเลือกตั้งที่กาแล้วในหน่วยเลือกตั้ง

นายเอริค ทรัมป์ ลูกชายคนที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน อาจทำผิดกฎหมายของรัฐนิวยอร์ก ด้วยการส่งรูปบัตรลงคะแนนของเขาที่มีเครื่องหมายเลือกบิดาของเขาผ่านทางทวิตเตอร์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/726517
นายเอริค ทรัมป์ ลูกชายคนที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน อาจทำผิดกฎหมายของรัฐนิวยอร์ก ด้วยการส่งรูปบัตรลงคะแนนของเขาที่มีเครื่องหมายเลือกบิดาของเขาผ่านทางทวิตเตอร์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/726517

การถ่ายรูป selfie นั้นเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องก็ต้องมีกล้องถ่ายรูป จึงทำให้การถ่ายรูปเดี๋ยวนี้ขยายวงกว้างออกไปอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปคน รูปอาหาร ฯลฯ และยิ่งเมื่อมีสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram และอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้มีการถ่ายรูปแล้วก็แชร์ ทำให้รูปภาพเผยแพร่ออกไปมากยิ่งขึ้น

การถ่ายรูป selfie แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ก็เลยกลายเป็นประเด็นทางกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อมีการถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งโดยเฉพาะที่กาแล้วเผยแพร่ออกไป

Mindy Pava ได้เขียนบทความชื่อ But First, Let Me Take A Selfie: The Changing Legal Landscape On Ballot Box Photography ลงในบล็อกชื่อ Drye Wit ของสำนักกฎหมาย Kelley Drye & Warren LLP ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายรูป selfie ในหน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายอเมริกันไว้อย่างน่าสนใจ

บทความดังกล่าวได้อ้างข้อมูลของหนังสือพิมพ์ Washington Post ที่ทำการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีรัฐ 19 รัฐกับ District of Columbia (D.C.) ที่ยินยอมให้ถ่าย selfie ได้ ยกตัวอย่างเช่น รัฐ Rhode Island ซื่งคณะกรรมการเลือกตั้งออกกฎหมายใช้ทันเวลากับการเลือกตั้งครั้งนี้พอดี ยินยอมให้มีการถ่ายรูปในหน่วยเลือกตั้งได้ตราบเท่าที่ไม่ไปถ่ายภาพของผู้ลงคะแนนคนอื่น ในรัฐ Virginia อัยการของรัฐ (state attorney general) ได้ออกความเห็นทางกฎหมายเป็นทางการเมื่อเดือนที่แล้ว (ต.ค.) ว่า การถ่ายรูป selfie นั้นชอบด้วยกฎหมาย และผู้ลงคะแนนเสียงจะไม่ถูกจำกัดในการถ่ายรูปของตนเอง ผู้ลงคะแนนคนอื่น หรือบัตรลงคะแนน และรัฐทั้ง 19 รัฐนี้ไม่มีกฎที่ห้ามการถ่ายรูปในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่เลือกตั้งมีอำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในหน่วยเลือกตั้งได้

ในขณะเดียวกัน ในรัฐ 18 รัฐ การถ่ายรูป selfie กับบัตรลงคะแนนถือว่าผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะมีร่างกฎหมายที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐในเวลานี้อย่างรัฐ New Jersey กำลังจะออกกฎหมายยินยอมให้ผู้ลงคะแนนเสียงสามารถถ่ายรูปบัตรลงคะแนนของตนขณะที่อยู่ในคูหาเลือกตั้งได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่เลือกตั้งของบางรัฐ เช่น Alaska และ Massachusetts ก็ได้กล่าวว่า จะไม่ทำการห้ามการกระทำดังกล่าว มีรัฐ เช่น Illinois ที่มีกฎหมายห้ามการถ่ายรูปที่เข้มงวดที่สุด คือ การกระทำโดยจงใจให้ผู้อื่นเห็นบัตรลงคะแนนของตนถือเป็นความผิดอาญาและมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี

ส่วนในรัฐอื่นที่เหลือ กฎหมายค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ในรัฐ Maryland อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ถูกห้ามในหน่วยเลือกตั้ง แต่การถ่ายรูปบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์สามารถทำได้ ในรัฐ Oklahoma การถ่ายรูปในคูหาเลือกตั้งเป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีโทษที่จะลงแก่ผู้ฝ่าฝืน ในรัฐ California มีกฎหมายยกเลิกความผิดกรณีที่ผู้ออกเสียงลงคะแนนถ่ายรูปบัตรลงคะแนนของตน แต่กฎหมายก็ยังไม่มีผลบังคับจนกว่าวันที่ 1 มกราคม 2017 ในบางรัฐ เช่น Arkansas มีการแบ่งแยกระหว่างการถ่ายรูปในหน่วยเลือกตั้งซึ่งให้กระทำได้ กับการเผยแพร่รูปของบัตรลงคะแนนซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าให้ทำได้

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์สหรัฐเขตที่ 1 (U.S. Court of Appeals for the First Circuit) ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า กฎหมายของรัฐ New Hampshire ที่ห้ามการถ่ายรูป selfie บัตรลงคะแนนเป็นข้อห้ามในเชิงเนื้อหา (content-based restriction) ต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 (First Amendment) (ดูคดี Rideout, et al. v. Gardner, Case No. 15-2021 (1st Cir. Sept. 28, 2016))

ในคดีนี้ ศาลซึ่งมีองค์คณะผู้พิพากษา 3 คนเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นว่า การห้ามผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนแชร์รูปภาพของบัตรลงคะแนนเลือกตั้งของตนไม่ได้เป็นการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ Secretary of State ของรัฐ New Hampshire จะต่อสู้ว่ากฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการซื้อเสียงและการบังคับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน แต่ศาลก็เห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานใดที่มาสนับสนุนว่ารัฐ New Hampshire กำลังได้รับผลร้ายจากการซื้อเสียงหรือการบังคับผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนโดยอาศัยรูปภาพของบัตรลงคะแนนที่โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์

จัสติน ทิมเบอร์เลค นักร้องชื่อดังชาวอเมริกันอาจจะทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของรัฐเทนเนสซี หลังโพสต์รูปเซลฟี่หน้าคูหาเลือกตั้งลงโซเชียลมีเดีย ที่มาภาพ : http://www.sirkenayo.com/wp-content/uploads/2016/10/ZXXX2032.jpg
จัสติน ทิมเบอร์เลค นักร้องชื่อดังชาวอเมริกันอาจจะทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของรัฐเทนเนสซี หลังโพสต์รูปเซลฟี่หน้าคูหาเลือกตั้งลงโซเชียลมีเดีย ที่มาภาพ : http://www.sirkenayo.com/wp-content/uploads/2016/10/ZXXX2032.jpg

ตามความเห็นของศาล รัฐ New Hampshire ไม่สามารถพิสูจน์ได้แม้แต่กรณีเดียวว่ามีการซื้อเสียงหรือข่มขู่ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนจากการเผยแพร่รูปภาพของบัตรลงคะแนนซึ่งกาแล้วบนสื่อสังคมออนไลน์

ยิ่งไปกว่านั้น ศาลยังเห็นว่า การห้ามถ่ายรูป selfie บัตรลงคะแนนเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทุกคน

และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลของรัฐ Michigan ก็ระงับการมีผลของกฎหมายที่สั่งห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายรูป selfie กับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วนำไปเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียนั้น เพราะเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคโซเชียลมีเดีย ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ว่าด้วยสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเช่นเดียวกัน และในวันเดียวกันนั้น ที่รัฐ Colorado ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 คนยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐฯ ขอให้ยกเลิกกฎหมายรัฐ Colorado ที่ระบุว่า การแสดงบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วให้ผู้อื่นเห็น รวมทั้งเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นความผิดอาญา ทั้งคู่ให้เหตุผลแบบเดียวกับศาล Michigan ว่า การห้ามกระทำเช่นนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์วันที่ 25 ตุลาคม 2559)

ดูของสหรัฐอเมริกาแล้ว ย้อนมามองของประเทศไทยบ้าง ไม่รู้ว่าในบ้านเรา ตอนจะออกกฎหมายเลือกตั้งมีการถกกันถึงเรื่องยอมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายรูป selfie หรือเปล่า แต่กฎหมายเลือกตั้งฉบับสุดท้ายคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 73 ว่า “ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว” และในมาตรา 75 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกตั้งแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าได้ลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย”

ก็ดูเหมือนเป็นการกำหนดห้ามไว้ แต่เมื่อพลิกดูบทกำหนดโทษว่าถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษอย่างไร กลับไม่พบมาตราใดบัญญัติไว้ มีมาตรา 153 มาตราเดียวที่บัญญัติว่า “ผู้สมัครใดฝ่าฝืนมาตรา 73 หรือมาตรา 75 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” คือให้มีโทษแต่ “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” แทน ส่วนประชาชนคนอื่นไม่มีโทษ อ่านดูแล้วก็เหมือนกับจะยอมให้ถ่ายรูป selfie ได้

แต่ถ้าเป็นการออกเสียงประชามติอย่างที่พวกเราไปลงกันเมื่อเร็วๆ นี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ก็มีมาตรา 60 ได้บัญญติว่า “ผู้ใดกระทําการในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง ดังต่อไปนี้
……………..
……………..
(4) นําบัตรออกเสียงที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าได้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงโดยไม่มีอํานาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
(5) ทําเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรออกเสียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรออกเสียงของตน หรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียงที่ตนได้ลงคะแนนออกเสียงแล้วชอบด้วยกฎหมาย”
ทั้งสองกรณีนี้ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ