ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > กางหน่วยงานไหนดีขึ้น-แย่ลง จากอันดับ “ความยากง่ายทำธุรกิจ”  Doing Business ของไทย

กางหน่วยงานไหนดีขึ้น-แย่ลง จากอันดับ “ความยากง่ายทำธุรกิจ”  Doing Business ของไทย

8 พฤศจิกายน 2016


เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ธนาคารโลกเปิดรายงาน Doing Business 2017
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ธนาคารโลกเปิดรายงาน Doing Business 2017

ภายหลังจากธนาคารโลกเปิดรายงาน Doing Business 2017 เผยอันดับ “ความยากง่ายทำธุรกิจ” ของไทยเพิ่มขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 49 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 46 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมี 6 หัวข้อที่อันดับดีขึ้น ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ, ด้านการได้รับสินเชื่อ, ด้านการบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลง, ด้านการค้าระหว่างประเทศ, ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน และด้านการแก้ปัญหาล้มละลาย ขณะที่อีก 4 หัวข้ออันดับลดลง ได้แก่ ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง, ด้านการขอใช้ไฟฟ้า, ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน และด้านการชำระภาษี

กระบวนการล้มละลาย “ค่าใช้จ่ายสูง” – ฟื้นฟูได้เงินคืน 67.7%

ในรายละเอียดด้านการแก้ปัญหาล้มละลาย มีกรมบังคับคดีเป็นผู้รับผิดชอบหลัก อันดับเพิ่มขึ้นมากที่สุดจาก 49 เป็น 23 ที่คะแนน 77.08 คะแนน เทียบกับประเทศฟินแลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 93.89 และ 93.69 มีตัวชี้วัด 5 ประเภท

1) ผลลัพธ์ของการล้มละลาย (Outcome) ของไทยเปิดช่องทางให้ฟื้นฟูกิจการและลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ สอดคล้องกับประเทศอันดับ 1 ของโลก

2) ระยะเวลาของกระบวนการเริ่มต้นฟื้นฟูกิจการ 1.5 ปี เทียบกับ 0.6 ปีในประเทศอันดับ 1 ของโลก

3) ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการของไทยอยู่ที่ 18% ของมูลค่าหนี้ เทียบกับ 3.5% ในประเทศอันดับ 1 ของโลก

4) อัตราเงินต้นที่ได้คืนของไทยอยู่ที่ 67.7 เซนต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 90 เซนต์ต่อดอลลาร์สหรัฐในประเทศอันดับ 1ของโลก

5) ดัชนีความแข็งแกร่งเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการและฟื้นฟูกิจการ (คะแนนเต็ม 16) ประเทศไทยได้ 13 คะแนน เทียบกับ 14.5 คะแนนในประเทศอันดับ 1 ของโลก

เริ่มต้นธุรกิจ “ช้า-ค่าใช้จ่ายสูง-หลายขั้นตอน”

ในรายละเอียดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยอันดับเพิ่มขึ้นจาก 96 เป็น 78 มีคะแนนที่ 87.01 คะแนน เทียบกับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 99.96 คะแนน มีตัวชี้วัด 5 ประเภท

1) จำนวนขั้นตอนที่จะเริ่มต้นธุรกิจโดยถูกกฎหมายของประเทศไทยมี 5 ขั้นตอน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ใช้เพียง 1 ขั้นตอน

2) ระยะเวลาที่จะเริ่มต้นธุรกิจ ของประเทศไทยใช้เวลา 25.5 วัน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ใช้ระยะเวลาเพียงครึ่งวัน

3) ค่าใช้จ่ายในแต่ละขั้นตอนของการขออนุญาต (ร้อยละของรายได้ประชาชาติต่อหัว หรือ Income Per Capita) ของประเทศไทยอยู่ที่ 6.6% เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ 0.3% เท่านั้น

4) ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ของประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ สอดคล้องกับนิวซีแลนด์

5) ความเท่าเทียมทางเพศที่จะเริ่มต้นธุรกิจ ของประเทศไทยไม่มีความแตกต่าง สอดคล้องกับนิวซีแลนด์

ได้รับสินเชื่อ ข้อมูลเครดิตไม่ครอบคลุม

ในรายละเอียดด้านการได้รับสินเชื่อ มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยอันดับเพิ่มขึ้นจาก 97 เป็น 82  มีคะแนนที่ 50 คะแนน เทียบกับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 100 คะแนน มีตัวชี้วัด 4 ประเภท

1) ดัชนีความแข็งแกร่งของสิทธิทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้ผ่านกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ หรือการคุ้มครองเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันผ่านกฎมหายล้มละลาย (คะแนนเต็ม 12 คะแนน) ประเทศไทยได้ 3 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ได้ 12 คะแนน

2) ดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิต (คะแนนเต็ม 8 คะแนน) ประเทศไทยได้ 7 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ได้ 8 คะแนน

3) ความครอบคลุมของเครดิตที่จัดเก็บโดยภาคเอกชน ประเทศไทยอยู่ที่ 53% ของผู้บรรลุนิติภาวะ เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ 100%

4) ความครอบคลุมของเครดิตที่จัดเก็บโดยภาครัฐ ประเทศไทยอยู่ที่ 0% สอดคล้องกับนิวซีแลนด์ที่ 0% เช่นเดียวกัน

ปกป้องผู้ลงทุนรายย่อย ขาดสิทธิตัดสินใจ

ในรายละเอียดด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยอันดับเพิ่มขึ้นจาก 36 เป็น 27 มีคะแนนที่ 66.67 คะแนน เทียบกับประเทศนิวซีแลนด์และประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 83.33 คะแนนเท่ากัน มีตัวชี้วัด 6 ประเภท (คะแนนเต็ม 10 คะแนนทุกข้อ)

1) ดัชนีการเปิดเผยข้อมูล ประเทศไทยได้ 10 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ที่ได้ 10 คะแนน

2) ดัชนีความรับผิดชอบของผู้บริหาร ที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะสามารถฟ้องร้องและได้รับความใส่ใจจากผู้บริหาร ประเทศไทยได้ 7 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ที่ได้ 9 คะแนน

3) ดัชนีความง่ายในการฟ้องร้องของผู้ถือหุ้น ประเทศไทยได้ 7 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ที่ได้ 9 คะแนน

4) ดัชนีสิทธิของผู้ถือหุ้น ประเทศไทยได้ 4 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ที่ได้ 8 คะแนน

5) ดัชนีความเป็นเจ้าของและการควบคุม ประเทศไทยได้ 5 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ได้ 7 คะแนน

6) ดัชนีความโปร่งใสของบริษัท ประเทศไทยได้ 7 คะแนน เทียบกับสิงคโปร์ที่ได้ 8 คะแนน

การบังคับใช้ข้อตกลงผ่านศาล – ใช้เวลานานกว่า 1 ปี

ในรายละเอียดด้านการบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลง อันดับเพิ่มขึ้นจาก 56 เป็น 51 มีคะแนนที่ 64.54 คะแนน เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 84.15 คะแนนเท่ากัน มีตัวชี้วัด 3 ประเภท

1) ระยะเวลาในการฟ้องร้องจนถึงการบังคับคดี ประเทศไทยใช้ระเวลา 440 วัน โดย 380 วันเป็นการสืบพยาน ตัดสิน และบังคบคดี เทียบกับเกาหลีใต้ที่ใช้เวลาเพียง 290 วันทั้งกระบวนการ

2) ค่าใช้จ่ายใช้การบังคับให้เป็นตามข้อตกลงผ่านกระบวนการศาล (ร้อยละของมูลค่าหนี้) ประเทศไทยอยู่ที่ 19.5% เทียบกับเกาหลีใต้ที่ 12.7%

3) ดัชนีคุณภาพของกระบวนการพิจารณา (คะแนนเต็ม 18 คะแนน) ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างศาลและกระบวนการศาล, การจัดการคดี, กระบวนการอัตโนมัติของศาล (Court automation) และทางออกอื่นๆ นอกจากการใช้ศาล ประเทศไทยได้ 7.5 คะแนน เทียบกับเกาหลีใต้ที่ได้ 14.5 คะแนน

การค้าระหว่างประเทศ “ต้นทุนสูง-ใช้เวลานาน”

ในรายละเอียดด้านการค้าระหว่างประเทศ อันดับเพิ่มขึ้นจาก 57 เป็น 56 มีคะแนนที่ 84.10 คะแนน เทียบกับประเทศออสเตรีย (และประเทศอื่นๆ อีก 15 ประเทศ) ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 100 คะแนนเท่ากัน มีตัวชี้วัด 5 ประเภท

1) ระยะเวลาการตรวจสินค้าข้ามแดนของศุลกากร (ส่งออก/นำเข้า) ประเทศไทยใช้เวลา 51/50 ชั่วโมง และระยะเวลาการเตรียมและตรวจสอบเอกสารที่ 11/4 ชั่วโมง เทียบกับโปแลนด์ใช้เวลา 0/0 ชั่วโมงและ 1/1 ชั่วโมงตามลำดับ

2) ค่าใช้จ่ายในการตรวจสินค้าข้ามแดนของศุลกากร (ส่งออก/นำเข้า) ประเทศไทยมีต้นทุนที่ 223/233 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายในการเตรียมและตรวจสอบเอกสารที่ 97/43 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับโปแลนด์ที่มีค่าใช้จ่ายที่ 0/0 และ 0/0 ตามลำดับ

จ่ายภาษีหลายรอบ ใช้เวลานาน

ในรายละเอียดด้านการชำระภาษี มีกรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก อันดับลดลงจาก 70 เป็น 109 มีคะแนน 68.68 คะแนน เทียบกับประเทศการ์ตาและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 99.44 คะแนนเท่ากัน มีตัวชี้วัด 4 ประเภท

1) จำนวนครั้งที่ต้องยื่นภาษี (โดยคำนึงถึงการจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ) ประเทศไทยมีจำนวน 21 ครั้ง โดย 12 ครั้งเป็นการจ่ายเกี่ยวกับประกันสังคม เทียบกับการ์ตาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่จ่ายเพียง 4 ครั้ง

2) ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการจ่ายภาษี ประเทศไทยใช้เวลา 266 ชั่วโมงต่อปี เทียบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ใช้ระยะเวลาเพียง 12 ชั่วโมงต่อปี

3) อัตราภาษีรวม ประเทศไทยมีอัตราภาษี 32.6% ของกำไรรวม เทียบกับการ์ตาที่มีอัตราภาษี 11.3% เท่านั้น

4) ดัชนีภายหลังยื่นภาษี (Postfilling Index) จากคะแนนเต็ม 100 ประเทศไทยได้ 47.32 คะแนน ขณะที่การ์ตาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่มีข้อมูล

ขออนุญาตก่อสร้าง ระยะเวลานาน-ขั้นตอนมาก

ในรายละเอียดด้านการขออนุญาตก่อสร้าง อันดับลดลงจาก 39 เป็น 42 มีคะแนน 75.65 คะแนน เทียบกับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 87.40 คะแนน มีตัวชี้วัด 4 ประเภท

1) จำนวนขั้นตอนการขออนุญาต ประเทศไทยมีทั้งสิ้น 17 ขั้นตอน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่มี 10 ขั้นตอน

2) ระยะเวลาขออนุญาตทั้งหมด ประเทศไทยต้องใช้เวลา 103 วัน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ใช้เวลา 93 วัน

3) ค่าใช้จ่ายในการขออนุญาต ประเทศไทยมีค่าใช้จ่าย 0.1% ของมูลค่าสิ่งก่อสร้าง เทียบกับนิวซีแลนด์ที่มีค่าใช้จ่าย 2.2%

4) ดัชนีควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง (คะแนนเต็ม 15 คะแนน) ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของการกำกับดูแลการก่อสร้าง, คุณภาพของการควบคุมก่อน ระหว่าง และหลังก่อสร้าง, ระบบประกันภัย และใบอนุญาตของผู้ประกอบการก่อสร้าง ประเทศไทยได้คะแนน 11 คะแนน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนน 15 คะแนน

ที่มาภาพ : https://web.pea.co.th/
ที่มาภาพ : https://web.pea.co.th/

การขอใช้ไฟฟ้า ต้นทุนสูง-ระยะเวลามากกว่าเดือน

ในรายละเอียดของด้านการขอใช้ไฟฟ้า อันดับลดลงจาก 11 เป็น 37 มีคะแนน 83.22 คะแนน เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 99.88 คะแนน มีตัวชี้วัด 4 ประเภท

1) จำนวนขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า ประเทศไทยมีทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน เทียบกับเกาหลีใต้ที่มี 3 ขั้นตอน

2) ระยะเวลาการขอใช้ไฟฟ้า ประเทศไทยใช้เวลา 37 วัน เทียบกับเกาหลีใต้ที่ใช้เวลา 18 วัน

3) ค่าใช้จ่ายการขอใช้ไฟฟ้า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่าย 42.5% ของรายได้ประชาชาติต่อหัว เทียบกับเกาหลีใต้ที่มีค่าใช้จ่าย 38.3%

4) ดัชนีความน่าเชื่อถือในการจ่ายไฟฟ้าและความโปร่งใสของอัตราค่าไฟฟ้า (คะแนนเต็ม 8 คะแนน) ประเทศไทยได้ 6 คะแนน เทียบกับเกาหลีใต้ที่ได้ 8 คะแนน

จดทะเบียนทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายสูง

ในรายละเอียดด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน อันดับลดลงจาก 57 เป็น 68 มีคะแนน 68.34 คะแนน เทียบกับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก โดยมีคะแนน 94.46 คะแนน มีตัวชี้วัด 4 ประเภท

1) จำนวนขั้นตอนการจดทะเบียนทรัพย์สิน ประเทศไทยมีทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่มี 2 ขั้นตอน

2) ระยะเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สิน ประเทศไทยใช้เวลา 6 วัน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ใช้เวลา 1 วัน

3) ค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนทรัพย์สิน ประเทศไทยมีค่าใช้จ่าย 7.4% ของมูลค่าทรัพย์สิน เทียบกับนิวซีแลนด์ที่มีค่าใช้จ่าย 0.1%

4) ดัชนีคุณภาพของการบริหารที่ดิน (คะแนนเต็ม 30 คะแนน) ประเทศไทยได้ 15 คะแนน  เทียบกับนิวซีแลนด์ได้ 26 คะแนน