ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อหนังสือสิทธารถะ “เป็นวัตถุศิลป์มากกว่าเป็นหนังสือ” – เมื่อคนเต๋าเท่ากันมารวมตัวกัน

เมื่อหนังสือสิทธารถะ “เป็นวัตถุศิลป์มากกว่าเป็นหนังสือ” – เมื่อคนเต๋าเท่ากันมารวมตัวกัน

18 พฤศจิกายน 2016


งานเปิดตัวหนังสือสิทธารถะ
งานเปิดตัวหนังสือสิทธารถะ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ที่ CASE Space Revolution ซอยสุขุมวิท 49 มีงานเปิดตัวหนังสือ “สิทธารถะ” (เป็นภาษาสันสกฤตของ “สิทธัตถะ”) ประพันธ์โดย แฮร์มันน์ เฮสเซอ (Hermann Hesse) นักเขียนชาวเยอรมัน-สวิส สำนวนแปลของ “สดใส” (สดใส ขันติวรพงศ์)โดยภายในงานมีนิทรรศการเชิงศิลปะ ถ่ายทอดเนื้อหาของ “สิทธารถะ” มีงาน installation art และการเล่นดนตรี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “สิทธารถะ” ด้วย

งานเปิดตัวหนังสือมาจากแนวคิดของ แอนดี วอร์ฮอล ว่า “ในอนาคตทุกคนจะเป็นคนดัง แต่จะดังเพียงคนละ 15 นาที” คือ ผู้ร่วมสร้างสรรค์หนังสือ “สิทธารถะ” เวอร์ชันนี้ทั้ง 5 คน กล่าวเปิดงาน ถึงบทบาทที่ตัวเองทำ คนละ 3 นาที รวมแล้ว 15 นาที ภายใต้ชื่องาน “The Paper River คลื่นใจในธารกระดาษ” ที่นำพาผู้มีหัวใจเต๋าเท่ากันมารวมตัวกัน ได้แก่ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา กล่าวอารัมภบทในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์, สันติ ลอรัชวี ในฐานะ Concept Design, กนกนุช ศิลปวิศวกุล ในฐานะ Sculpture Design, พิชาญ สุจริตสาธิต ในฐานะ Photo Design และ ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ในฐานะ System Design

ผู้แปล-"สดใส"
ผู้แปล-“สดใส”

คำเชิญชวนในอีเวนต์ “The Paper River คลื่นใจในธารกระดาษ” ในเฟซบุ๊ก Openboobks ไม่ได้กล่าวถึง “ตัวงาน” ของสิทธารถะ เสมือนไม่ใช่งานเปิดตัวหนังสือ หากปรากฏเพียงการแสดง “รอบๆ” ของงานเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการเข้าถึงหนังสือ “แบบปกติ” ที่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหา หรืออธิบาย/เล่าเนื้อหาของหนังสือกับผู้ร่วมงาน

ปกติงานเปิดตัวหนังสือจะพูดถึงเนื้อหาของหนังสือ สาระ “หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร” “คนเขียนต้องการสื่ออะไร” หรือ “หนังสือเล่มนี้จะให้อะไรกับสังคม” และอาจเปิดให้คนในวงการที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนั้นได้ถกกันถึงประเด็นที่รายล้อมหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดในงานครั้งนี้เลย (อาจจะมีเพียงช่วงที่ให้ทีมงานอ่านบางวรรคบางท่อนของหนังสือ เพื่อประกอบกับดนตรีที่เล่นเท่านั้น)

สิ่งที่ปรากฏในงานสะท้อนถึงการมารวมกันของสายน้ำแต่ละด้านที่มารังสรรค์ให้เกิดงานศิลปะขึ้นมากกว่าเปิดตัวหนังสือ ได้แก่ 1. ดนตรีประกอบ โดยอโณทัย นิติพนและคณะ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสิทธารถะ ร่วมแสดง มีการอ่านสิทธารถะในวรรคที่เข้ากับดนตรีประกอบ 2. ชมชุดภาพถ่ายที่กลายเป็นปกของ “สิทธารถะ” 3. สัมผัสสายน้ำกระดาษขนาดใหญ่ ที่พรายน้ำสั่นไหวไปตามจังหวะของคนดู (ทำงานด้วยระบบเซนเซอร์ โดย ทีมงาน Craftsmanship)

สังเกตได้ว่า งานแสดงข้างต้นเหล่านี้นั้น เป็นผัสสะอื่นๆ นอกจากการอ่าน เป็นวิธีการเข้าถึงแบบอื่น “ฟัง” “ชม” “สัมผัส” “เคลื่อนไหว” และเมื่อรวมกันแล้ว ราวกับภิญโญมีหน้าที่เสมือน “ภัณฑารักษ์” งานศิลปะ มากกว่าจะเป็นเพียง “บรรณาธิการหนังสือ”

เมื่อเริ่มงานเปิดตัว ภิญโญ ในฐานะที่เป็นคนพูดคนแรก เดินไปที่กลางห้อง เอามือป้องปาก แล้วพูดด้วยเสียงดังว่า งานกำลังจะเริ่มแล้ว ไม่มีไมโครโฟนใช้ เป็นอันรู้กันว่าผู้ร่วมงานต้องให้ความร่วมมือด้วยการเงียบ ตั้งใจฟังเป็นพิเศษ

 ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาบรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาบรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์

ภิญโญเริ่มว่า…

“ร่ำเรียนอยู่เป็นนิจ มิน่ายินดีหรอกหรือ
มีมิตรสหายมาจากแดนไกล มิน่ารื่นรมย์หรอกหรือ
แม้นไม่มีใครรู้จัก ก็ไม่หวั่นไหว มิใช่วิญญูชนหรอกหรือ”

“ผมคิดถึงคำของท่านขงจื่อ เมื่อได้ทำหนังสือสิทธารถะเล่มนี้ สิทธารถะเล่มนี้ทำให้ผมและทุกท่านได้มาร่วมงานกัน ได้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้หลายต่อหลายสิ่ง ได้เริ่มบทเรียนใหม่ๆ ตลอดเวลา บทเรียนที่ว่า ได้แก่ หนึ่ง เราจะออกแบบหนังสือเล่มนี้อย่างไร เราจะทำภาพประกอบอย่างไร เราจะถ่ายภาพอย่างไร ให้ได้ตามที่เราคิดและจินตนาการเอาไว้ ยังไม่นับถึงขั้นตอนการผลิต ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียด และท่านที่ได้หนังสือไปแล้วจะได้เห็นทุกขั้นตอนของการรอคอยสิทธารถะเล่มนี้ ต้องอาศัยความละเอียดลออ และเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง มันเป็นงานของคนที่มีความรักในหนังสือ เป็นงานของคนที่มีศรัทธาในวรรณกรรม และมีวินัยในการออกแบบเท่านั้น ที่จะสามารถสร้างสรรค์งานในลักษณะเช่นนี้ได้ โชคดีที่เราได้ อาจารย์ติ๊ก สันติ ลอรัชวี และ Practical Design Studio มาช่วย อาจารย์ติ๊กมาร่วมงานกับเรา ขั้นตอนการผลิต และทำให้การผลิตหนังสือเล่มนี้เป็นไปอย่างลุล่วง ราบรื่นด้วยดี เราแทบไม่ได้คุยกันเลย คุยกันน้อยมาก เราใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดในการทำงาน นั่นคือ ไลน์ เราไลน์กันตลอดเวลา และเราก็คุยกันส่วนใหญ่ตอนที่ yes ส่งสติกเกอร์ไปมาระหว่างกัน เป็นสติกเกอร์โดเรมอนเคารพ จากสติกเกอร์โดเรมอน จากสิทธารถะ ทำให้คิดถึงอีกคำหนึ่งของท่านขงจื่อ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า

“คนที่เต๋าไม่เท่ากันนั้น ไม่อาจคิดวางแผนร่วมกันได้ คนที่จะทำงานใหญ่ร่วมกัน แล้วมีผลสั่นสะเทือนทางจิตใจต่อผู้คน ต่อสังคมได้ สำคัญที่สุดต้องมีเต๋าเท่ากัน”

thaipublica-คลื่นใจในธารกระดาษ

“ผมก็เลยได้ความคิดว่า หลายครั้งในชีวิต งานบางอย่างที่เราทำ มันไม่สามารถลุล่วงไปได้ หรือไม่สามารถราบรื่นไปได้ บางทีมันไม่ใช่ข้อจำกัดของงาน หากแต่หลายครั้งที่เราทำงานใหญ่ๆ แล้วทำไมเราเหนื่อยยาก ไม่ประสบความสำเร็จ พอย้อนคิดกลับมาหลายครั้ง เต๋าไม่เท่ากันระหว่างเพื่อนร่วมงาน เต๋าไม่เท่ากันกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง มันทำให้งานที่ง่ายที่สุดกลายเป็นงานที่ยากที่สุด งานที่ควรจะสุขและสนุกที่สุดกลายเป็นงานที่ทุกข์ยาก ทรมาน ซึ่งให้ตายเถอะ ผมไม่พบบรรยากาศแบบนี้ในการทำงานสิทธารถะเล่มนี้ นี่คือการเอาคนที่เต๋าเท่ากันมาทำงานร่วมกัน งานทุกอย่างราบรื่น ประสบความสำเร็จ ง่ายดาย แม้จะเต็มไปด้วยความเหนื่อยยาก เต็มไปด้วยความยุ่งยาก แต่ทั้งหมดให้ความสุข ให้แรงบันดาลใจ ให้ชีวิตชีวากับพวกเรา”

“ผมคิดว่านี่คือลักษณะของงานที่ดี ที่มันควรจะเป็น คืองานที่ให้ความสุข ให้แรงบันดาลใจ และสั่นสะเทือนต่อสังคม กับคนที่ทำงาน ไม่ใช่งานที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก และต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา นั่นมันไม่ใช่ลักษณะของงานที่ดี”

สิทธารถะเล่มนี้ตอบคำถามเราหลายต่อหลายเรื่อง และผมก็เชื่อว่ามันทำให้คนที่มาร่วมงานนี้คิดต่อไปได้อีกหลายเรื่อง เราจึงเรียกว่ามันเป็นแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาบรรจบกัน ณ ที่นี้ ที่ที่เรามาเจอกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการสังสรรค์ขึ้นมาจากงานหนังสือสู่งานออกแบบ และเป็นงานออกแบบระบบการจอง งาน installation ทั้งหมด ต้องขอบคุณทีม Opendream ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และคิดสร้างสรรค์จนงานเทคโนโลยีผนวกเข้ากับศิลปะได้อย่างกลมกลืน ถ้าท่านเดินเข้าไปในห้องนั้น หากคนไม่เยอะมาก แล้วท่านไปยืนอยู่ตรงกลาง เซนเซอร์จะจับไปที่ตัวท่าน และมันจะเริ่มทำงาน เป็นการแรนดอมของพรายน้ำที่จะเกิดบนแม่น้ำ (กระดาษ – ผู้เขียน)

“ทั้งหมดนี้ที่เราเล่าให้ฟัง มันเป็นการร่วมงานกันของหลายฝ่าย เราทำงานหนักแต่ก็สุขใจในการทำหนังสือเล่มนี้ เราแทบไม่เคยมีความทุกข์ใจเลย ไม่ว่าขั้นตอนไหน และน่าจะเป็นวิธีการทำงานที่ถูกต้องและสอนอะไรเราได้หลายต่อหลายอย่าง นี่คือสิ่งที่ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงคำของท่านขงจื่อที่เกริ่นในข้างต้น ประโยคสุดท้าย ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ งานที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีและน่าอภิรมย์ เช่น สิทธารถะนี้ ถือว่าเป็นพรจากพระเจ้า ถือว่าเป็นการนำวิญญาณที่รู้จักกันกลับมาเจอกัน ตามคำของรูมี่ ที่ท่านอาจารย์สดใส ผู้แปล กล่าวถึงบ่อยๆ”

ท่านขงจื่อบอกว่า “ร่ำเรียนอยู่เป็นนิจ มิน่ายินดีหรอกหรือ” เราได้พูดถึงวิธีการทำสิทธารถะ

“มีมิตรสหายมาจากแดนไกล มิน่ารื่นรมย์หรอกหรือ”

และวันนี้ทุกท่านได้มาพร้อมกันอยู่ที่นี่ เราคือมิตรสหายซึ่งกันและกัน วันนี้เป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง”

thaipublica-คลื่นใจในธารกระดาษ3

thaipublica-คลื่นใจในธารกระดาษ

thaipublica1

กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ๑๐๐๑ ราตรี ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ “วรรณกรรมไม่จำกัด” และเจ้าของร้านหนังสือ Books & Belongings กล่าวให้ความเห็นต่องาน “สิทธารถะ” ว่า “สำหรับผม การทำพรีออเดอร์สิทธารถะ หรืออะไรก็ตามมันประสบความสำเร็จ มันจบแล้ว (เว็บไซต์ล่ม สั่งซื้อถล่มทลาย ภายใน 12 ชั่วโมง ปิดการขายได้ทั้ง 1,000 เล่ม – ผู้เขียน) เพราะฉะนั้น งานที่มันสำเร็จอย่างสวยงาม ก็เป็นโอกาสของการทำสิ่งเหล่านี้ แล้วหนังสือนี้เข้าถึงคนได้ ก็เลยเป็นสิ่งที่สอดคล้องอยู่แล้ว แต่ถ้าสมมติว่างานไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ประสบความสำเร็จ ผมว่าก็ต้องนั่งพูด นั่งอธิบาย หรือเป็นงานเสวนาตัวงาน คือสิทธารถะนั้นจบในตัวเองตั้งแต่ตัวเนื้อหา สำนวนอาจารย์สดใสนั้นถูกพิสูจน์แล้ว”

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นวันนี้ พูดง่ายๆ มันคือศิลปะนั่นแหละ คือส่วนเกินออกมา การมานั่งฟัง ยืนฟัง ดนตรีหรือโอเปร่าแบบนี้ มันเป็นส่วนที่ไม่ต้องอธิบายกันแล้ว ไม่ใช่ทุกเล่มจะทำได้ ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นส่วนที่สัมพันธ์สอดคล้องกับตัวงานที่มันสำเร็จ คิดว่าตรงนี้เป็นงานที่โอเค มันจบในตัวเอง

“รูปแบบที่จัดวันนี้จึงถือว่ามีความพิเศษ ตอบตรงกับข้อเท็จจริง คือหนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว และยกระดับมันด้วยศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ ดีไซน์ และนิทรรศการ ซึ่งมันเป็นส่วนที่รายล้อมตัวหนังสือ ที่เข้าไปอยู่ในใจคนเรียบร้อยแล้ว”

เมื่อถามว่า เป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานลักษณะแบบนี้หรือไม่ กิตติพลกล่าวว่า “น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการผสมระหว่างรูปแบบของงานออกแบบร่วมสมัยกับงานวรรณกรรมที่เหมือนกับว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างดีไซเนอร์กับคนที่เป็นคนวรรณกรรม และเป็นวรรณกรรมที่เรียกว่าเกือบจะกึ่งๆ ปรัชญาศาสนาด้วยซ้ำ และทำออกมาให้มันร่วมสมัยได้ ซึ่งก็กลายเป็นอย่างที่เราเห็น มี installation มีหลายๆ อย่าง”

เมื่อถามว่า งานนี้เกิดได้ด้วยจังหวะที่ว่ากระดาษกำลังจะ “หายไป” หรือเปล่า กิตติพลอธิบายว่า “ความเป็นไปได้ว่าธุรกิจหนังสือมันเปลี่ยนไปก็เรื่องหนึ่ง แต่กระดาษยังไม่หมดไป หนังสือจะเป็นตัวกลาง (medium) ชนิดหนึ่ง แต่หนังสือมันเปลี่ยนตัวมันเป็น art object (วัตถุศิลป์) ไปแล้ว เพราะเราพูดกันง่ายๆ ว่า ก่อนหน้านี้ เราจะทำตำราก็ดี หนังสือมันเป็นสิ่งที่เราต้องเปิด แต่ทุกวันนี้เราเปิดสิ่งอื่นที่ไม่ใช่หนังสือ หนังสือคือเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีมันหมดหน้าที่ของความเป็นเทคโนโลยี เหมือนที่เราเห็นว่าแอร์ไม่เย็น มันคือ installation ถูกไหม หนังสือก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่อ่านมันก็คือวัตถุศิลป์ มันคือสิ่งที่คนสะสม ฉะนั้น 1,000 เล่ม ของสิทธารถะคือการซื้องานศิลปะ แต่จะเป็นงานศิลปะที่คนตีความอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่ามีคนซื้อไปเพื่อสะสม”

thaipublica-คลื่นใจในธารกระดาษ4

thaipublica-คลื่นใจในธารกระดาษ5