ThaiPublica > คอลัมน์ > หากการค้าเสรีดีจริง…ทำไมถึงมีกระแสต่อต้าน

หากการค้าเสรีดีจริง…ทำไมถึงมีกระแสต่อต้าน

8 พฤศจิกายน 2016


ณภัทร จาตุศรีพทักษ์

ที่มาภาพ :  https://pixabay.com/en/container-ship-sky-clouds-dark-1044721/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/container-ship-sky-clouds-dark-1044721/

เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมนักเศรษฐศาสตร์แทบทุกคนถึงเชิดชูการค้าเสรีทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าคนจำนวนมาก (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) กำลังมีอคติกับแนวคิดนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะการค้าโลกถดถอยที่แย่ที่สุดตั้งแต่หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตั้งแต่ปี 1985 ถึง 2007 ปริมาณการค้าโลกโดยเฉลี่ยแล้วจะโตประมาณสองเท่าของอัตราเติบโตของ GDP โลก แต่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รายงานจากองค์กรการค้าโลกและ IMF พบว่า การค้าโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นซบเซาถึงขั้นน่าเป็นห่วงและคาดว่าการค้าโลกปีนี้จะขยายตัวเพียงแค่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราเติบโตของ GDP โลกที่คาดไว้เสียอีก นับเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเศรษฐกิจโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้มองไปทางไหนก็จะพบกับการระบาดของทัศนะคติทางลบต่อการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็นการปลุกระดมความเคียดแค้นต่อประเทศคู่ค้าโดยนักการเมืองอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ หรือชัยชนะของเสียงโหวตต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เราได้เห็นจากเหตุการณ์ Brexit เมื่อเดือนมิถุนายน ไปจนถึงการที่ขณะนี้ประชากรจำนวนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของสหภาพยุโรปกำลังถ่วงไม่ให้เกิดการเซ็นสัญญาการค้า CETA ระหว่างสหภาพยุโรปกับแคนาดาอีกด้วย

และทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่แค่เพียงหมอกควัน เพราะข้อมูลจาก Global Trade Alert Database พบว่าระหว่างปี 2009 ถึง 2015 ได้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าขึ้นมากกว่ามาตรการที่ส่งเสริมการค้าเสรีกว่า 3 เท่าตัว และพบอีกด้วยว่าปี 2015 เป็นปีที่มีจำนวนมาตรการกีดกันทางการค้าสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล

จึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า หากการค้าเสรีดีจริงตามตำราที่พร่ำสอนกันมา ทำไมถึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

บทความนี้จะอธิบายอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่าการค้าเสรีดีเพราะอะไร และชี้ให้เห็นถึงเหตุผลหลักๆ ที่เป็นชนวนของขบวนการต่อต้านการค้าเสรีในขณะนี้

ทำไมการค้าเสรีถึงดี

ไม่บ่อยครั้งที่การกระทำอะไรบางอย่าง ทำแบบอ้อมๆ ดีกว่าทำแบบตรงๆ

การค้าขายในระบบการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือระหว่างประเทศ เป็นเช่นนั้น

ทุกๆ ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยจะมีเหยื่อเคราะห์ร้ายหลายชีวิตที่กำลังเปิดตำราเศรษฐศาสตร์อย่างเบื่อหน่ายเพื่อหาคำตอบว่าทำไมการค้าเสรีถึงดี ส่วนหนึ่งของคำตอบที่อยู่ในทุกตำราคือทฤษฎี comparative advantage ที่ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้วโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ David Ricardo

ทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่า หากเราเปิดโอกาสให้เกิดการค้าเสรีขึ้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ประเทศ A จะทำการค้ากับประเทศ B โดยที่แต่ละประเทศจะเลือก specialize ในการผลิตสินค้าชนิดที่ตนเองผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าสินค้าชนิดอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับอีกประเทศ แล้วจึงนำผลผลิตเหล่านั้นมาแลกกันบนเวทีการค้าโลก อนึ่ง เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเองแบบอ้อมๆ โดยทำการ specialize ก่อนแล้วจึงค่อยแลก แทนที่จะผลิตทุกอย่างที่ต้องการบริโภคโดยตรง สุดท้ายการผลิตแบบอ้อมๆ ในระบบการค้าเสรีแบบนี้จะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถบริโภคสินค้าได้ในปริมาณที่มากขึ้นด้วยทรัพยากรเท่าเดิม

น่าเสียดายที่ทฤษฎีนี้มักถูกนำเสนอในรูปแบบของโลกจำลองอันแสนห่างไกลความเป็นจริงจนหลายคนอาจเข้าใจผิดว่ามันประยุกต์ใช้ได้จริงแค่กับในกรณีที่โลกมีแค่ 2 ประเทศ หรือในกรณีที่ทั้งโลกมีสินค้าไม่เกิน 2 ชนิดเท่านั้น

แต่ที่จริงแล้ว ประโยชน์ของการค้าเสรีนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในตัวอย่างในตำราเท่านั้น มันเป็นที่พบเห็นได้ในทุกที่ที่มีระบบตลาดเสรี (free market) อีกทั้งก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซูมออกไปมองจากระดับเศรษฐกิจมหภาค เพราะทุกๆ ครั้งที่คุณทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ยื่นเงินสดให้กับโชเฟอร์แท็กซี่ ขอให้เลขาช่วยนัดลูกค้า หรือซื้อข้าวแกงจากคุณป้าหน้าปากซอย คุณก็กำลังสัมผัสกับประโยชน์ของการค้าเสรีด้วยตัวคุณเองเช่นกัน

เคยสังเกตไหมครับว่า แม้บางคนที่คุณรู้จัก (หรือตัวคุณเอง) จะเป็นเหมือนซูเปอร์แมนหรือซูเปอร์วูแมนที่เก่งกว่าคนทั่วไปในหลายๆ ด้าน ทำไมพวกเขาถึงไม่ขับรถเอง ไม่จัดตารางนัดเอง และไม่ทำแกงเผ็ดเอง ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้น่าจะขับรถได้ดีกว่าโชเฟอร์ ละเอียดกว่าเลขา และมีฝีมือดีกว่าแม่ครัวทั่วไป

เหตุผลก็คือ ทุกหน่วยเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะใหญ่ระดับประเทศหรือเล็กระดับตัวเรา ต่างมี “ต้นทุนล่องหน” กันทั้งนั้น (นักเศรษฐศาสตร์เรียกมันว่าค่าเสียโอกาส) ซึ่งในบางกรณีนั้นก็สูงเกินกว่าที่จะคุ้มค่าต่อการสละเวลาและทรัพยากรอันจำกัดเพื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วยตัวเอง จากตัวอย่างเมื่อครู่ ต้นทุนล่องหนนี้ก็คือการที่คุณสามารถเอาเวลาและแรงกายที่จะเสียไปในการขับรถเอง จัดตารางนัดเอง และทำแกงเผ็ดเอง ไปสร้างมูลค่าในรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่ากับตัวคุณ อาจจะเป็นการเอาเวลาไปพัฒนาไอเดียธุรกิจใหม่ๆ หรือไปบริหารลูกทีม ซึ่งท้ายสุดคุณก็จะเอาผลตอบแทนบางส่วนนี้ไปแลกกับการไปไหนมาไหน การจัดตารางนัด และการประกอบอาหารกับโชเฟอร์ เลขา และแม่ครัว ในตลาดเสรี เท่ากับว่าการค้าเสรีอำนวยให้เกิดการปลดปล่อยทรัพยากรให้ไหลไปสู่กิจกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า และก่อให้เกิดการ “ผลิต” บริการเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อบริโภคแบบอ้อมๆ ไม่ต่างกับในตัวอย่างระดับประเทศที่ Ricardo เสนอไว้เมื่อ 200 ปีที่แล้ว

เพราะเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์แทบทุกคนถึงเห็นตรงกันว่าการค้าเสรีนั้นดีต่อเศรษฐกิจโลกและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนเป็นพันล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนได้ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา

ของดีกลับกลายเป็นแพะ

ที่มาภาพ : https://c1.staticflickr.com/9/8453/7983324834_e489e471a7_b.jpg
ที่มาภาพ : https://c1.staticflickr.com/9/8453/7983324834_e489e471a7_b.jpg

ปัญหาหลักอยู่ที่ว่า การค้าเสรีดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมแต่ก็ทำร้ายคนบางกลุ่มเหมือนกัน

ขณะนี้มีหลายปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่ากำลังทำให้เกิดภาวะการค้าโลกถดถอย เช่น การขยายตัวของภาคบริการ (ซึ่งเอามาค้าข้ามประเทศไม่ค่อยได้) ความซบเซาของเศรษฐกิจทั่วโลก และการปรับหางเสือของเศรษฐกิจจีนเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก

ปัจจัยเหล่านี้บางทีเป็นเรื่องที่ห้ามได้ลำบาก แต่ผู้เขียนคิดว่าสิ่งหนึ่งที่พอจะแก้ไขได้แต่กลับกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่น่ากังวลยิ่งคือกระแสต่อต้านการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์จากหลายมุมโลก

กระแสนี้น่ากังวลเนื่องจากเป็นการสร้างลมต้านต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นกระแสที่อันตรายในมุมมองการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์การเมืองโลกนั้นล่อแหลมและในช่วงที่ทั้งโลกต้องการแก้ปัญหาระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เราต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้น ไม่ใช่การเก็บตัว ตัดขาด หรือเกลียดชังเพื่อนร่วมโลกอย่างที่เรากำลังเห็นในขณะนี้ การค้าโลกยังเป็นสายสัมพันธ์สำคัญที่มีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดของสงครามอีกด้วย

แม้ว่าคอนเซปต์ต้นทุนล่องหนและทฤษฎี comparative advantage จะเป็นจุดแข็งของการค้าเสรีในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่ก็กลับกลายเป็นจุดอ่อนเชิงการเมืองในการผลักดันนโยบายการค้าเสรีเพราะสามเหตุผลต่อไปนี้

หนึ่ง คือ เพราะว่าต้นทุนนั้น “ล่องหน” การสร้างมูลค่าในรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าจึงอาจจับต้นชนปลายได้ยากว่าเป็นผลลัพธ์จากการที่ประเทศเราเลือกที่จะ specialize และทำการค้าจริงๆ ลองคิดดูนะครับว่า หากเมื่อยี่สิบปีที่แล้วสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการค้าแบบปกป้อง มัวแต่ทุ่มกำลังเหล่าวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์หนุ่มสาวไปช่วยกันผลิตฮาร์ดดิสก์หรือวอล์กแมนแข่งกับประเทศในเอเชีย คงเป็นไปไม่ได้เลยที่วันนี้จะมีบริษัทล้ำสมัยอย่าง Tesla Motors หรือบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ชาวโลกจะไม่มีวันได้เห็นรถยนต์ล้ำยุคของ Tesla หรือได้บริโภคสิ่งของอีกหลายชนิดได้ในราคาที่ต่ำอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

สอง คือ การค้าเสรีสร้างทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ในเศรษฐกิจ เพียงแต่ผู้ชนะอยู่กระจัดกระจายและมักไม่ทราบว่าตนเป็นผู้ชนะ (เพราะว่าประโยชน์จับต้องได้ยาก) ส่วนผู้แพ้มักเจ็บหนัก อยู่รวมกันเป็นกระจุก จึงมีกำลังมากกว่าในการช่วยกันล็อบบี้เพื่อนโยบายการค้าแบบปกป้องและต่อต้านการค้าเสรี นี่เป็นปัญหาที่น่าเสียดาย เพราะผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ที่จะมีอาชีพในอนาคตที่ดีกว่าบรรพบุรุษ ถือว่าล้วนเป็นผู้ชนะกันทั้งสิ้น เพียงแต่พวกเขาไม่รู้สึกว่าตนเป็นผู้ชนะ จึงไม่มีกำลังและไม่มีแรงใจในการลุกขึ้นต่อต้านการล็อบบี้ของธุรกิจที่ถูกกระทบหรือผู้ที่ตกงานจากการแข่งขันบนเวทีโลก

สาม คือ ความล้มเหลวของระบบสวัสดิการและการกระจายรายได้ในเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ในเมื่อการค้าเสรีสร้างผู้แพ้พร้อมๆ กับผู้ชนะ การกระจายรายได้จากผู้ชนะสู่ผู้แพ้โดยที่ไม่ทำให้ใครก็ตามในสังคมรู้สึกแย่กว่าก่อนเปิดเสรีควรเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการค้าเสรี นักเศรษฐศาสตร์ในอดีตหลายท่าน เช่น Paul Samuelson, Nicholas Kaldor และ John Hicks ได้ใช้เวลายาวนานในการครุ่นคิดถึงวิธีกระจายความมั่งคั่งจากผู้ชนะสู่ผู้แพ้ แต่ทุกวันนี้การกระจายรายได้ก็ยังคงเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติ เพราะว่าผู้ชนะมักไม่ยินยอมและรัฐบาลยังไม่มีวิธีที่สามารถแยกแยะได้อย่างแม่นยำว่าใครคือผู้ชนะและใครคือผู้แพ้จากการค้าเสรี

การกระจายรายได้หรือการให้สวัสดิการแก่ผู้แพ้นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง งานวิจัยล่าสุดพบว่า แรงงานราว 2.4 ล้านคน ต้องตกงานจากการที่สหรัฐฯ ทำการค้ากับประเทศจีนระหว่างปี 1999 ถึง 2011 การตกงานในเศรษฐกิจที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าการพัฒนาของทักษะมนุษย์ไม่ใช่เรื่องที่เดี๋ยวเดียวก็ผ่านพ้นไปสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง มันเป็นการพลิกชะตาชีวิตของคนหลายล้านคน คำว่า “temporary” ที่นักเศรษฐศาสตร์มักใช้เพื่อปลอบใจผู้แพ้มักยาวกว่าชั่วชีวิตของคนหนึ่งคน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกระแสต่อต้านการค้าเสรีถึงมีความรุนแรงอย่างที่เราเห็น

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมองว่ากระแสต่อต้านการค้าเสรีนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะสลายตัวไปสักนิด ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงจุดนี้ได้ดีที่สุดคือการที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ไม่มีทีท่าว่าจะสนับสนุนการค้าเสรีเลยแม้แต่น้อย เดิมทีฮิลลารี คลินตัน เคยสนับสนุนเขตการค้าเสรี TPP ขณะนี้ก็ไม่สนับสนุนแล้ว ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นยิ่งต่อต้านการค้าเสรีอย่างรุนแรง

น่าเสียดายที่ ณ เวลานี้นโยบายการค้าเสรีกำลังเป็นแพะรับบาปและตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองในหลายประเทศ ทั้งที่จริงๆ แล้วนโยบายที่ควรจะได้รับความสนใจและถูกพัฒนามากที่สุดคือนโยบายกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559