ThaiPublica > คอลัมน์ > Grameen Bank จากสินเชื่อรายย่อย สู่พอร์ตการลงทุนของคนยากจน

Grameen Bank จากสินเชื่อรายย่อย สู่พอร์ตการลงทุนของคนยากจน

9 พฤศจิกายน 2016


ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.grameen.com/#
ที่มาภาพ : http://www.grameen.com/#

เศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่หลายๆ ประเทศมีมหาเศรษฐีเกิดใหม่เพิ่มขึ้นหลายร้อยคนในแต่ละปีนั้น ในอีกด้านหนึ่ง คนในวงการต่างๆ ทั่วโลกก็ตื่นตัวในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาความยากจนของคนจำนวนมากในโลก หลักเกณฑ์ของธนาคารโลกที่ระบุว่า คนยากจนในโลกคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 ดอลลาร์ กลายเป็นบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับกันทั่วๆ ไป ธนาคารโลกบอกว่ามีคน 2 ใน 5 ของประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มนี้ หรือราวๆ 2.6 พันล้านคน ในจำนวนนี้ เกือบ 1 พันล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์

คนยากจนที่มีรายได้วันละ 1-2 ดอลลาร์ ล้วนเป็นคนที่ไม่สามารถทำงานไม่เต็มเวลา หรือทำงานแบบจ้างงานตัวเองในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ปัญหาสำคัญต่างๆ ของคนเหล่านี้คือ ไม่ใช่ทุกวันจะมีรายได้ตามจำนวนที่ว่านี้ บางวันมีรายได้มากกว่านี้ บางวันไม่มีรายได้เลย คำว่ารายได้วันละ 2 ดอลลาร์ คือรายได้เฉลี่ย การช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐก็มีจำกัด เพราะฉะนั้น แหล่งสนับสนุนพึ่งพิงที่สำคัญของคนยากจนเหล่านี้ จึงมาจากครอบครัว ชุมชน และโดยการทำมาหากินที่อาศัยแรงงานของตัวเอง

พอร์ตการลงทุนของคนยากจน

ในหนังสือชื่อ Portfolios of the Poor: How the World’s Poor Live on $2 a Day ผู้เขียนที่ประกอบด้วย Daryl Collins, Jonathan Morduch, Stuart Rutherford และ Orlanda Ruthven กล่าวว่า แม้ว่าคนยากจนที่มีรายได้วันละ 2 ดอลลาร์ จะใช้เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอาหาร แต่ปัญหามีอยู่ว่า คนเหล่านี้จะวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างไรเพื่อให้มีอาหารกินทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะวันที่ตัวเองมีรายได้ จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินอย่างไร และจะเก็บออมอย่างไรสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต เช่น การศึกษาของลูก การปรับปรุงที่พักอาศัย หรือรายได้ที่เก็บออมบางส่วนเพื่อใช้ในยามที่ทำงานไม่ได้แล้ว สรุปก็คือ คนจนเหล่านี้มีการบริหารการเงินอย่างไร แม้ว่าจะมีอยู่เพียงน้อยนิดก็ตาม

grameen

ปัญหาการบริหารการเงินดังกล่าว เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนจำนวนนับพันล้านคนทั่วโลก แต่เวลาเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการมองหามาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะหาทางขจัดความยากจน รวมทั้งลู่ทางและโอกาสของภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะคิดหาหนทางใหม่ๆ เช่น การหาตลาดให้กับคนมีรายได้ 1-2 ดอลลาร์ต่อวัน หาเครื่องมือการเงินใหม่ๆ ที่คนยากจนเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงการบริการ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า แม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน แต่การบริหารการเงินก็เป็นปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งของคนที่ยากจน คือครอบครัวคนยากจนจะไม่ใช้เงินที่หาได้ในแต่ละวันหมดไปทันที พวกเขาจะเก็บออมเท่าที่ทำได้ และกู้เงินเมื่อมีความจำเป็น

การบริหารเงินของคนจนมีหลายวิธี เช่น เก็บเงินไว้ที่บ้าน ฝากไว้กับคนอื่น หรือกับสถาบันการเงิน การเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ และกู้ยืมจากจากเพื่อนบ้าน ญาติ นายจ้าง คนปล่อยเงินกู้ และสถาบันการเงิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น หากคนจนเหล่านี้สามารถเข้าถึงเครื่องมือการเงินที่ดี โอกาสที่พวกเขาจะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นก็จะมีมากขึ้น แม้ว่าการบริหารเงินของครอบครัวคนยากจนอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญกว่าการที่จะมีกินมีใช้ในแต่ละวัน หรือการมีสุขภาพดี สามารถทำงานได้ แต่การบริหารเงินก็เป็นเรื่องพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยคนยากจนให้สามารถบรรลุเป้าหมายหลายอย่างที่กล่าวมา

จากพฤติกรรมทางการเงินของคนยากจน ที่มีลักษณะเดียวกันกับการบริหารเงินหรือพอร์ตการลงทุนของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดพัฒนาการของสถาบัน “สินเชื่อรายย่อย” หรือ Microcredit ที่เริ่มจากการปล่อยกู้ให้กับคนยากจนที่ไม่มีหลักทรัพย์ใดๆ ค้ำประกัน มาเป็น “การเงินรายย่อย” หรือ Microfinance เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเงินของคนจน ที่ต้องมี (1) การบริหารเงินสด (cash flow) เพราะความไม่แน่นอนของรายได้ในแต่ละวัน (2) ต้องบริหารความเสี่ยง (risk) ในกรณีเหตุฉุกเฉิน ขณะที่ครอบครัวแทบไม่มีเงินเก็บสำรอง และ (3) การระดมเงินก้อน เมื่อมองเห็นลู่ทางหารายได้ เช่น เงินดาวน์เพื่อซื้อจักรเย็บผ้า เป็นต้น

Grameen I

ประเทศต่างๆ ในทุกวันนี้ให้ความสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกันระหว่างปัญหาความยากจนกับเรื่องเงินทุน และในหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการยอมรับมากขึ้นว่าสถาบันการเงินสามารถ “ทำธุรกิจ” กับครอบครัวคนที่ยากจน การเปลี่ยนแปลงทางความคิดดังกล่าวมาจากผลงานของ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank หรือ “ธนาคารหมู่บ้าน” ของบังกลาเทศ ที่ในปี 2006 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะผลงานในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาของเขาและ Grameen Bank ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ครอบครัวคนยากจนสามารถเก็บเงิน กู้เงิน และจ่ายคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ตรงเวลา ทุกวันนี้ คนในชนบทของบังกลาเทศมากกว่า 6 ล้านคน เป็นลูกค้า “สินเชื่อคนจน” ของ Grameen Bank

สำนักงานของ-Grameen-Bank-กรุงธากา ที่มาภาพ : wikipedia.jpg
สำนักงานของ-Grameen-Bank-กรุงธากา ที่มาภาพ : wikipedia.jpg

Grameen Bank ตั้งขึ้นมาในปี 1976 โดยไม่ได้เกิดจากการริเริ่มของนายธนาคาร แต่จากอาจารย์เศรษฐศาสตร์ของบังกลาเทศคนหนึ่งที่ชื่อมูฮัมหมัด ยูนุส จุดประสงค์ของยูนุสไม่ได้ต้องการทำธุรกิจการเงินเพื่อ “หากำไร” กับคนยากจน แต่ต้องการบรรเทาปัญหาความยากจนของคนในชนบทของบังกลาเทศ ประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามกลางเมือง เมื่อแยกตัวจากปากีสถานในปี 1972 การดำเนินงานของ Grameen Bank ได้รับการยอมรับมาตั้งแต่แรกจากองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญ นอกจากจะเป็นวิธีการใหม่ในการต่อสู้กับความยากจนแล้ว ยังเป็นรูปแบบใหม่ของการทำธุรกรรมการเงินอีกด้วย

วิธีการของ Grameen Bank ก็ง่ายๆ โดยให้ความสำคัญกับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด คือครอบครัวที่มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 1 ไร่ สมาชิกครอบครัวที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะถูกชักชวนให้มารวมกันเป็นกลุ่ม สมาชิกกลุ่มจะมีการประชุมสัปดาห์ละครั้งในหมู่บ้านกับพนักงานของ Grameen Bank เพื่อจ่ายคืนเงินกู้ สมาชิกกลุ่มต้องคอยตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกในกลุ่มเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกกลุ่มแต่ละคนสามารถชำระเงินกู้ การชำระเงินกู้ถูกกำหนดให้คืนใน 1 ปี โดยชำระเป็นตัวเงินตายตัวในแต่ละสัปดาห์ สมาชิกที่ชำระเงินกู้ตรงเวลามีสิทธิ์ได้รับเงินกู้ก้อนใหญ่ขึ้น

การปล่อยกู้ของ Grameen Bank ใช้การค้ำประกันที่เรียกว่า “หลักทรัพย์ทางสังคม” (social collateral) จึงมีการกล่าวว่าจุดแข็งของ Grameen Bank คือความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มลูกหนี้ (group solidarity) การปล่อยสินเชื่อของ Grameen Bank ที่ให้แก่วิสาหกิจรายบุคคลถือกันว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผลมากในการปลดปล่อยพลังความสามารถในการผลิตของคนในชนบทที่ติด “กับดักรายได้ต่ำและทักษะต่ำ” Grameen Bank สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวทั้งๆ ที่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 20% ต่อปี ซึ่งก็เป็นอัตราเดียวกันกับที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปคิดกับเงินกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น

Grameen II

เมื่อยูนุสเริ่มต้นงาน Grameen Bank เขาไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องการเงินรายบุคคล (microfinance) แต่เป็นเรื่องสินเชื่อรายบุคคล (microcredit) สินเชื่อรายบุคคลเป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการทำวิสาหกิจ คนที่กู้เงินนำเงินกู้ไปซื้ออุปกรณ์การผลิตเพื่อตั้งธุรกิจของตัวเองขึ้นมา สินเชื่อรายบุคคลจึงเกี่ยวพันกับวิสาหกิจรายบุคคล (microenterprise) ที่เจ้าของวิสาหกิจจะจ้างงานตัวเอง (self-employment) ไม่มีลูกจ้าง เช่น ลูกค้า Grameen Bank กู้เงินไปลงทุนเลี้ยงไก่ หรือเปิดร้านกาแฟ ร้านขายของชำ ในหมู่บ้าน เป็นต้น

พัฒนาการของ Grameen Bank จากเดิมที่มีเป้าหมายแคบๆ เรื่องสินเชื่อรายบุคคล มาเป็นธุรกรรมการเงินรายบุคคล เพราะมองเห็นว่า ครัวเรือนที่ยากจนมีความต้องการทั้งในเรื่องเงินกู้ การเก็บออม และการทำประกัน คนกู้เงินจาก Grameen Bank มีความต้องการที่มากกว่าการนำเงินไปลงทุนในวิสาหกิจของตัวเอง บางคนกู้เงินไปเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซื้อของใช้ในครัวเรือน จ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูก หรือการรักษาพยาบาล เป็นต้น กล่าวโดยรวมก็คือ การกู้เงินของคนยากจนก็เพื่อเอาไปใช้จัดการปัญหาชีวิตให้ดีขึ้น พัฒนาการของ Grameen Bank ไปสู่การให้บริการการเงินที่ครอบคลุมทั้งหมด (inclusive financial services) แก่คนยากจน จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

Grameen Bank เริ่มประสบปัญหาในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ลูกหนี้จำนวนมากขึ้นของธนาคารมีปัญหาการชำระคืนเงินกู้ให้ตรงเวลา พื้นที่ชนบทบางแห่งมีการชำระเงินกู้ตรงเวลาของสมาชิกลดลงเหลือ 75% แต่เดิมนั้น Grameen Bank เองเคยบอกว่า อัตราการชำระเงินกู้ตรงเวลาของสมาชิกสูงถึง 98% การปล่อยกู้ที่มีลูกหนี้เพียง 2% เท่านั้นที่ไม่สามารถชำระคืนคือ “ความใฝ่ฝัน” ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย ในปี 1998 บังกลาเทศประสบภัยจากไต้ฝุ่นลูกที่ร้ายแรงสุด สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของหลายล้านครอบครัว ส่งผลให้การชำระเงินกู้ตรงเวลาของลูกหนี้ลดต่ำลงไปอีก

สมาชิกของ Grameen Bank มีการประชุมในหมู่บ้านทุกสัปดาห์ เพื่อชำระเงินกู้
สมาชิกของ Grameen Bank มีการประชุมในหมู่บ้านทุกสัปดาห์ เพื่อชำระเงินกู้

ในปี 2001 Grameen Bank ประกาศนโยบายใหม่เรียกว่า Grameen II ที่เปลี่ยนบทบาทธนาคารจากการให้สินเชื่อรายย่อยแก่คนจนมาเป็นการให้บริการด้านการเงินแก่คนจน Grameen Bank ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ที่เคยกำหนดไว้ตายตัวว่า เงินกู้มีระยะ 1 ปี และต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในทุกๆ สัปดาห์ Grameen Bank เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพคล่องของคนยากจน เพราะคนพวกนี้ไม่ได้มีเครื่องมือการเงินต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องแบบเดียวกับเครื่องมือการเงินของคนที่มีฐานะ เช่น บัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม Grameen Bank จึงเปลี่ยนเงื่อนไขการกู้เงินแบบใหม่ ที่มีทั้งแบบระยะเวลากู้ 3 เดือน จนถึง 3 ปี กรณีมีปัญหาการชำระเงินกู้ สามารถกู้เงินเพิ่มได้ และสามารถขยายเวลาการชำระเงินกู้ให้นานออกไป เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองคือเรื่องการออม แต่เดิมนั้น สมาชิกเงินกู้ของ Grameen Bank ต้องออมเงินจำนวนหนึ่งในแต่ละสัปดาห์ แล้วฝากในบัญชีออมทรัพย์ของกลุ่มที่สังกัด สมาชิกจะถอนเงินฝากนี้ได้ต้องเลย 10 ปีไปแล้ว หรือลาออกจากการเป็นสมาชิก Grameen Bank นโยบายใหม่คือยกเลิกการออมแบบบังคับ และนำผลิตภัณฑ์การออมเงิน 2 แบบมาใช้แทน คือ สมาชิกแต่ละรายสามารถออมเงินในบัญชีเงินฝากตัวเองที่จะฝากและถอนเวลาใดก็ได้ ผลิตภัณฑ์การออมเงินอีกแบบหนึ่งมีชื่อว่า “การออมเงินเพื่อบำนาญ” หรือ Grameen Pension Saving ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสำหรับการฝากประจำทุกเดือน โดยมีการฝากขั้นต่ำ 1 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็นเวลา 5 หรือ 10 ปี

เครื่องมือการเงินแบบใหม่ของ Grameen Bank ทำให้ครอบครัวคนยากจนสามารถรับมือกับปัญหาสภาพคล่องได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีช่องทางที่ปลอดภัยในการเก็บออมเพื่อให้มีเงินก้อน ปี 2004 เป็นปีแรกที่พอร์ตด้านเงินฝากของ Grameen Bank มีมากกว่าพอร์ตการปล่อยกู้ จนถึงปี 2007 Grameen Bank เป็นลูกหนี้เงินฝากของสมาชิก 1.4 ดอลลาร์ ในทุกๆ ตัวเงินที่ปล่อยให้สมาชิกกู้ 1 ดอลลาร์ ความหมายก็คือว่า Grameen Bank สามารถเปลี่ยนจากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับวิสาหกิจรายย่อยมาเป็นธนาคารที่ทำธุรกิจกับลูกค้ารายย่อย (retail banking) อย่างแท้จริง แต่ก็ยังคงเน้นหนักกับฐานลูกค้าที่เป็นครอบครัวคนยากจน

บังคลาเทศเป็นประเทศยากจน รายได้เฉลี่ยนต่อคน 1,200 ดอลลาร์ แต่มีอุตสาหกรรมสินเชื่อคนยากจนที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดในโลก
บังคลาเทศเป็นประเทศยากจน รายได้เฉลี่ยนต่อคน 1,200 ดอลลาร์ แต่มีอุตสาหกรรมสินเชื่อคนยากจนที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดในโลก

ในประเทศที่มีการพัฒนาสูงขึ้นแล้ว การบริหารการเงินของบุคคล (personal financial management) มีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มความมั่งคั่ง การสร้างหลักทรัพย์ การแสวงหาทรัพย์สิน การวางแผนหลังเกษียณ และการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงบทบาทของ Grameen Bank จึงมีความหมายสำคัญที่ว่า เป้าหมายที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่คนยากจนจะสามารถบรรลุถึงได้เช่นเดียวกันหรือไม่

บังกลาเทศเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอุตสาหกรรมด้านสินเชื่อรายย่อยแก่คนจนที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดในโลก ความสำเร็จของ Grameen Bank ที่บุกเบิกอุตสาหกรรมนี้มาก่อนใครอาจมองได้จากหลายแง่มุม มุมมองหนึ่งคือความสำเร็จของ Business Model ที่ทำธุรกิจกับลูกค้ายากจนที่อยู่ที่ฐานพีระมิด โดยเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับกำลังซื้อของคนยากจน

แต่สำหรับบังกลาเทศ เป้าหมายของสินเชื่อรายย่อยหรือธุรกรรมการเงินรายย่อยมีขึ้นเพื่อขจัดปัญหาความยากจน สถาบันการเงินที่ให้บริการในเรื่องนี้จึงมุ่งไปที่คนยากจน สถาบันการเงินสินเชื่อเพื่อคนจนของประเทศนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ “ตลาด” ในขอบเขตที่กว้างขวาง บังกลาเทศเป็นประเทศที่ทุกครั้งที่มีข่าวเกิดขึ้นมักจะเป็นข่าวร้าย จนหนังสือคู่มือนำเที่ยวเขียนแนะนำว่า “การไม่มีข่าวเลยคือข่าวดี” ถ้าประเทศอื่นๆ จะเรียนรู้อะไรบ้างจากบังกลาเทศ สิ่งนั้นก็คือ “แบบจำลองของนวัตกรรมการเงินเพื่อคนยากจน”