ThaiPublica > คนในข่าว > อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมัน ผงาดขึ้นเป็นผู้นำ “โลกตะวันตก” คนสุดท้าย

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมัน ผงาดขึ้นเป็นผู้นำ “โลกตะวันตก” คนสุดท้าย

25 พฤศจิกายน 2016


ปรีดี บุญซื่อ

อังเกลา แมร์เคิลประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันสมัยที่ 4 ที่มาภาพ :  politico.eu
อังเกลา แมร์เคิล ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันสมัยที่ 4 ที่มาภาพ: politico.eu

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ได้ประกาศเสนอตัวที่จะชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมันที่จะมีขึ้นในปี 2017 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 11 ปี ในยามที่สหรัฐอเมริกาก้าวเข้าสู่ยุคหลังโอบามา อังกฤษกำลังยุ่งอยู่กับการที่จะถอนตัวจากสหภาพยุโรป และฝรั่งเศสก็กำลังประสบปัญหาการพุ่งขึ้นมาของกระแสทางการเมืองแบบประชานิยม ที่ “ต่อต้านผู้นำในระบบ” ทำให้บทบาทของผู้นำสตรีของเยอรมันโดดเด่นขึ้นมา จนหนังสือพิมพ์ New York Times พาดหัวข่าวว่า “ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์ ปล่อยให้อังเกลา แมร์เคิล กลายเป็นผู้ปกป้องโลกเสรีตะวันตกคนสุดท้าย”

ในคำแถลงที่เสนอตัวเป็นผู้นำของเยอรมันสมัยที่ 4 นางแมร์เคิลกล่าวถึงเหตุผลในการตัดสินใจดังกล่าวว่า เพราะการฟื้นตัวของกระแสวาทกรรมการเมืองที่มีลักษณะของ “ความเกลียดชัง” แต่ก็กล่าวว่าเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ที่เธอคนเดียวจะสามารถรับมือกับกระแสการเมืองประชานิยม ไม่มีใครทำสิ่งนี้ได้ แม้จะเป็นคนที่มีประสบการณ์มากที่สุด หรือเป็นถึงนายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่ประสงค์จะสร้างสิ่งที่ดีต่อเยอรมัน ยุโรป และโลก

ในการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU- Christian Democrat Union) ในกรุงเบอร์ลิน นางแมร์เคิลกล่าวถึงการเลือกตั้งของเยอรมันในปี 2017 ว่า จะเกิดขึ้นในบริบทของ “การท้าทายที่มีต่อยุโรปและนานาชาติ ต่อค่านิยมและผลประโยชน์ของเรา ในสถานการณ์ระหว่างประเทศ ที่โลกจะต้องปรับตัวภายหลังจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ต่อรัสเซีย”

อังเกลา แมร์เคิล ได้แสดงบทบาทเหมือนกับว่าเธอคือผู้นำโลกเสรีตะวันตกมาแล้ว เมื่อเธอแสดงความยินดีต่อชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่นายกรัฐมนตรีเยอรมันจะบรรยายเรื่องค่านิยมประชาธิปไตยให้กับคนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในจดหมายแสดงความยินดี นางแมร์เคิลกล่าวว่า “เยอรมนีและอเมริกาผูกพันกันด้วยค่านิยมร่วมกัน คือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ การเคารพหลักนิติธรรม และศักดิ์ศรีของคน โดยไม่มีการจำแนก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิวสี ความเชื่อ เพศ หรือทัศนะการเมือง ความร่วมมือในอนาคตของสองประเทศ จะตั้งอยู่บนค่านิยมดังกล่าว” จดหมายแสดงความยินดีของแมร์เคิลเหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า หากทรัมป์ไม่ปกป้องค่านิยมประชาธิปไตยที่เสรี เธอเองก็พร้อมที่จะทำหน้าที่นี้

อดีตที่เติบโตในเยอรมันตะวันออก

บ้านพักของครอบครัวอังเกลา แมร์เคิลในเยอรมันตะวันออก ที่บิดาเป็นบาทหลวงโปรเตสแตนด์ ที่มาภาพ : BBC
บ้านพักของครอบครัวอังเกลา แมร์เคิล ในเยอรมันตะวันออก ที่บิดาเป็นบาทหลวงโปรเตสแตนด์ ที่มาภาพ: BBC

ท่าทีของอังเกลา แมร์เคิล ที่มีต่อทรัมป์ อาจมาจากศรัทธาของตัวเธอในเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย มรดกทางความคิดที่เธอได้จากการมีชีวิตที่เติบโตในเยอรมันตะวันออก อดีตประเทศคอมมิวนิสต์ แมร์เคิลเกิดเมื่อปี 1954 ที่เมืองฮัมบูร์กในเยอรมันตะวันตก บิดาของเธอเป็นบาทหลวงโปรเตสแตนต์ในเยอรมันตะวันตก ชื่อ ฮอร์ส คัสเนอร์ (Horst Kasner) นิกายทางคริสต์ศาสนาที่อนุญาตให้บาทหลวงมีครอบครัวได้

เมื่อเยอรมันแบ่งเป็นสองฝ่าย องค์กรศาสนาเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่สามารถมีกิจกรรมได้ทั้งในเยอรมันตะวันตกและตะวันออก เมื่อมีตำแหน่งงานว่างอยู่ คัสเนอร์ตัดสินใจไปรับตำแหน่งบาทหลวงในเมืองเล็กๆ ของเยอรมันตะวันออกที่ชื่อเทมปลิน (Templin) ตั้งอยู่ใกล้กับเบอร์ลิน ทำให้อังเกลา แมร์เคิล ที่เกิดในเยอรมันตะวันตกได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายตามครอบครัวไปเติบโตและศึกษาในเยอรมันตะวันออก

ในช่วงเป็นวัยรุ่น อังเกลา แมร์เคิล เข้าร่วมองค์กรเยาวชนเยอรมันเสรี (Free German Youth) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรค Socialist Unity Party ที่ปกครองเยอรมันตะวันออก องค์กรนี้มีหน้าที่ปลูกฝังความคิดสังคมนิยมให้แก่เยาวชนในเยอรมันตะวันออก เยาวชนในเยอรมันตะวันออกแทบทุกคนจะเข้าร่วมกับองค์กรนี้ ไม่เช่นนั้น โอกาสในการศึกษาที่สูงขึ้นไปก็เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับอังเกลา แมร์เคิล การเป็นสมาชิกของครอบครัวบาทหลวงก็เป็นอุปสรรคมากอยู่แล้วในเรื่องความก้าวหน้าด้านการศึกษา

เยอรมันตะวันออกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ได้ชื่อว่าควบคุมและติดตามพฤติกรรมประชาชนอย่างใกล้ชิด หน่วยงานความมั่นคงที่มีชื่อเสียงของเยอรมันตะวันออกที่เรียกว่า Stasi มีสายลับแฝงตัวอยู่ในหมู่ประชาชนถึง 3 แสนคน คนพวกนี้ถูกดึงให้เป็นสายข่าวเพื่อทำหน้าที่รายงานพฤติกรรมของคนที่ตัวเองรู้จักว่าใครเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ Stasi เก็บข้อมูลประชาชนถึง 6 ล้านคน เยอรมันตะวันออกมีประชากร 16 ล้านคน หมายความว่า มีประชาชนถึง 1 ใน 3 ที่ถูกระแวงสงสัยจากรัฐ

ครอบครัวของอังเกลา แมร์เคิล ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรศาสนา หลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน แฟ้มข้อมูลบุคคลของ Stasi เปิดเผยให้เห็นว่า Stasi พยายามที่จะดึงคัสเนอร์ บิดาของแมร์เคิล ให้เป็นสายข่าว เพราะเขาทำในสิ่งที่เป็นข้อห้าม คือ สอนบาทหลวงรุ่นใหม่ๆ ให้อ่านงานของ Andrei Sakharov นักวิทยาศาสตร์รัสเซียที่พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ของโซเวียต ที่ต่อมากลายเป็นนักกิจกรรมสันติภาพ แต่คัสเนอร์ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับ Stasi

เมื่อ Stasi ไม่ประสบความสำเร็จที่จะดึงคัสเนอร์มาเป็นสายข่าว Stasi หันไปพยายามดึงอังเกลา แมร์เคิล ให้มาเป็นสายข่าวแทน แต่จากแฟ้มข้อมูลบุคคลของ Stasi อังเกลา แมร์เคิล บอกกับ Stasi ว่า เธอเป็นคนเก็บความลับไม่อยู่ จึงไม่สามารถเป็นสายข่าวที่ดีได้ ดูเหมือนว่า อังเกลาไม่ถูกลงโทษหรือถูกกลั่นแกล้งใดๆ แม้จะไม่ให้ความร่วมมือกับ Stasi

เหตุการณ์ดังกล่าวคงจะมีผลกระทบต่อท่าทีการแสดงออกของอังเกลา แมร์เคิล ในประเทศคอมมิวนิสต์ ที่ประชาชนไม่สามารถแสดงออกทางความคิดได้เสรี และถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดนั้น มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนได้หลายอย่าง เพื่อนนักเรียนของอังเกลา แมร์เคิล คนหนึ่งบอกกับ BBC ว่า ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว คนทั่วไปจะเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับความเงียบ ได้แต่หวังว่าฤดูหนาวจะผ่านพ้นไป และในที่สุด ใบไม้ก็เริ่มผลิ สำหรับอังเกลา แมร์เคิล ฤดูใบไม้ผลิของเธอเริ่มขึ้น เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในปี 1989

อังเกลา แมร์เคิลเติบโตและศึกษาในเยอรมันตะวันออก ทำให้พูดภาษารัสเซียได้คล่องในการเจรจากับปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่มาภาพ : wikipedia.2
อังเกลา แมร์เคิล เติบโตและศึกษาในเยอรมันตะวันออก ทำให้พูดภาษารัสเซียได้คล่องในการเจรจากับปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่มาภาพ: wikipedia.2

ช่วงที่เป็นเยาวชน อายุ 15 ปี อังเกลาเรียนภาษารัสเซียและชนะเลิศการแข่งขันประจำปีภาษารัสเซียของเมืองเทมปลิน ในปี 1973 เธอเข้าเรียนใน University of Leipzig มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1409 โดยเข้าศึกษาในสาขาวิชาฟิสิกส์และเคมี และจบในปี 1978 ต่อมาได้เข้าศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Central Institute for Physical Chemistry ในเบอร์ลิน และศึกษาจบในปี 1986 ทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำที่มีการศึกษาของเยอรมันตะวันออก

ในปี 1977 เธอเดินทางไปประชุมทางวิชาการที่สหภาพโซเวียต และได้พบกับนักศึกษารุ่นเดียวกันชื่อ อูลริช แมร์เคิล (Ulrich Merkel) ต่อมาทั้งคู่สมรส แต่ก็หย่ากันในปี 1982 ทุกวันนี้ อังเกลายังใช้ชื่อนามสกุลของเธอว่า “แมร์เคิล” อยู่ แม้ว่าในปี 1998 เธอจะแต่งงานใหม่กับอาจารย์ด้านฟิสิกส์ชื่อ โจชิม เซาเออร์ (Joachim Sauer)

เข้าสู่เส้นทางการเมือง

เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ที่มักเรียกกันว่าเหตุการณ์ 11/9 อังเกลา แมร์เคิล ก็เหมือนคนเยอรมันตะวันออกหลายแสนคนที่เดินข้ามไปยังเบอร์ลินตะวันตกในคืนดังกล่าว เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธออย่างสิ้นเชิง หากไม่มีเหตุการณ์ 11/9 เกิดขึ้น เธอคงจะใช้ชีวิตเรียบง่ายของการเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเยอรมันตะวันออก

อังเกลา แมร์เคิล คงไม่เคยมีความคิดมาก่อนว่า ชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์เคมีฟิสิกส์ของเธอจะจบลงอย่างฉับพลัน ในปี 2009 เธอกล่าวกับคนที่เขียนชีวประวัติของเธอว่า “ทันทีที่เกิดเหตุการณ์นี้ มีอยู่ 3 อย่างที่ปรากฏชัดเจนแก่ฉัน คือ ฉันต้องการเข้าไปนั่งอยู่ในรัฐสภา ฉันต้องการให้เยอรมันรวมกันเป็นเอกภาพอย่างรวดเร็ว และฉันต้องการเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด”

หลังจากที่กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง กลุ่มประชาสังคมหรือสภากาแฟต่างๆ ในเยอรมันตะวันออกล้วนกลายมาเป็นกลุ่มการเมืองแทบทั้งหมด สิ่งแรกที่อังเกลา แมร์เคิล ทำคือเข้าร่วมกลุ่มที่เรียกว่า Democratic Awakening (DA) หรือกลุ่มตื่นตัวทางประชาธิปไตย ที่มีเป้าหมายต้องการรวมเยอรมันตะวันตกกับตะวันออกอย่างรวดเร็ว เมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในเยอรมันตะวันออก ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เยอรมันตะวันออกจะดำรงอยู่เป็นประเทศอีกต่อไป ผิดกับกรณีของโปแลนด์ ที่หากระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศสูญสิ้นไป โปแลนด์ก็ยังคงอยู่ต่อไปได้

การเมืองของเยอรมันเป็นระบบรัฐสภา กลุ่มการเมืองต่างๆ จึงพยายามรวมกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางการเมืองขึ้นมา กลุ่ม DA ก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “พันธมิตรเพื่อเยอรมนี” (Alliance for Germany) ที่มีแกนนำคือพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) พรรคการเมืองที่ใหญ่สุดของเยอรมัน

การเลือกตั้งหลังภายหลังการรวมเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิลได้รับเลือกเข้าสภา และนายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี กระทรวงสตรีและเยาชน ที่มาภาพ : BBC
การเลือกตั้งภายหลังการรวมเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ได้รับเลือกเข้าสภา และนายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี กระทรวงสตรีและเยาชน ที่มาภาพ: BBC

หลังจากการรวมเยอรมันสองฝ่ายเป็นประเทศเดียว การเลือกตั้งที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1990 อังเกลา แมร์เคิล ก็ได้รับเลือกเข้าสภาในนามตัวแทนพรรค CDU และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชน ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล ที่ต้องการให้รัฐบาลหลังการรวมประเทศมีคนที่มาจากเยอรมันตะวันออก อังเกลา แมร์เคิล ได้รับแต่งตั้งก็เพราะมีคุณสมบัติเหมาะสม คือมาจากครอบครัวบาทหลวง ไม่มีมลทินเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์หรือองค์กร Stasi และเป็นสตรี

ในปี 1994 อังเกลา แมร์เคิล ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและพลังงานนิวเคลียร์ ในปี 1998 เมื่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล พ่ายแพ้การเลือกตั้ง เธอได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค CDU ในปี 2000 ได้รับเลือกเป็นประธานพรรค และในการเลือกตั้งปี 2005 ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล จึงเป็นผู้นำเยอรมันที่แตกต่างจากผู้นำที่ผ่านมาอยู่ 3 ประการ คือ เป็นสตรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเป็นผลิตผลจากเยอรมันตะวันออก