ThaiPublica > คอลัมน์ > ประธานาธิบดีทรัมป์!

ประธานาธิบดีทรัมป์!

11 พฤศจิกายน 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ทำเอาโลกช็อกกันไปตามๆ กัน เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ผลการสำรวจประชามติ เว็บไซต์การเมือง โมเดลทำนายผล ตลาดหุ้นทั่วโลก และเจ้ามือพนันทั้งหลาย ทำนายไปในทางเดียวกันว่า ฮิลลารี คลินตัน น่าจะชนะด้วยความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

แม้ว่าความน่าจะเป็นที่คลินตันจะชนะการเลือกตั้งจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสข่าวและกลยุทธ์ของทั้งสองฝ่าย แต่ก่อนการเลือกตั้ง หนังสือพิมพ์ New York Times ยังให้โอกาสที่คลินตันจะชนะสูงถึง 85% เว็บไซต์การเมือง fivethirtyeight.com คาดจากผลการสำรวจประชามติและข้อมูลย้อนหลังว่าคลินตันจะชนะด้วยความน่าจะเป็น 71%

แล้วเซียนทั้งหลายก็ปากกาหักกันไปตามๆ กัน (จะยกเว้นก็แต่ลิงในเมืองจีน กับหมีขาวในรัสเซีย นี่แหละ) ด้วยลีลาการพูดจาหาเรื่อง นิสัยแปลกๆ และชื่อเสียงในการดูถูกผู้หญิง เหยียดผิว และศาสนา หลายคนยังคงทำใจไม่ได้กับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จนมีการประท้วงกันอยู่ทั่วไปในสหรัฐฯ

ชนะ electoral vote แต่แพ้ popular vote

ที่น่าสนใจคือ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีโดยชนะคะแนนเสียงในรัฐต่างๆ จนได้รับคะแนนเสียงผู้เลือกตั้ง electoral vote เกิน 269 จาก 538 ไปก่อน แม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่คลินตันจะได้รับคะแนนเสียงจากคนทั้งประเทศมากกว่า เรียกว่าชนะคะแนน แต่แพ้น็อค คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับอัล กอร์ และกับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อการเลือกตั้งปี 2000

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : http://www.nytimes.com/elections/results/president
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : http://www.nytimes.com/elections/results/president

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของการวางแผนและวางกลยุทธ์อย่างแยบยล เพื่อเอาชนะตามระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ผลการเลือกตั้งตัดสินจากการชนะคะแนนเสียงในรัฐที่เป็นรัฐ swing state ที่ไม่ใช่ฐานเสียงที่แข็งแกร่งของพรรคใดพรรคหนึ่ง

ฝ่ายทรัมป์ใช้กลยุทธ์ “rust belt strategy” ที่เน้นหาเสียงจากกลุ่มคนขาวในรัฐที่มีเขตอุตสาหกรรมเก่าของสหรัฐฯ ที่เคยรุ่งเรื่อง แต่กลายเป็นเมืองเก่าเพราะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเพราะเทคโนโลยี กระแสโลกาภิวัตน์ ข้อตกลงการค้า และการค้าโลก รัฐเหล่านี้คือกลุ่มรัฐใกล้ทะเลสาบอย่างเพนซิลเวเนีย, ไอโอวา, อินเดียนา, วิสคอนซิน, และมิชิแกน

แม้รัฐเหล่านี้บางรัฐเคยเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตเสียด้วยซ้ำ แต่การเน้นย้ำข้อความต่อต้านการค้าโลก ต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านเม็กซิโก ในฐานะประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และต่อต้านประเทศทั้งหลายที่แย่งงานคนอเมริกันไป (เช่น จีน) ในการหาเสียงกลายเป็นแคมเปญโดนใจ ที่ทำให้ทรัมป์ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนชั้นแรงงาน แม้จะถูกก่นด่าจากคนครึ่งประเทศก็ตาม

และเป็นรัฐเหล่านี้ ที่ทรัมป์ทำคะแนนเสียงให้กับรีพับลิกันได้เพิ่มขึ้น และทำให้ทรัมป์เอาชนะการเลือกตั้งไปได้ในที่สุด (และต้องยอมรับว่าคลินตันเองก็มีส่วนทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งด้วย เพราะประวัติที่ไม่ค่อยสะอาดนัก มีเรื่องมาให้โจมตีได้หลายเรื่อง และบุคลิกที่อาจจะไม่ได้เป็นที่ไว้ใจของคนอเมริกาทั่วไปนัก)

พื้นที่ที่พรรครีพับลิกันและเดโมแครตได้รับคะแนนเสียงเพิ่ม เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012 ที่มาภาพ: http://www.nytimes.com/interactive/2016/11/08/us/elections/how-trump-pushed-the-election-map-to-the-right.html
พื้นที่ที่พรรครีพับลิกันและเดโมแครตได้รับคะแนนเสียงเพิ่ม เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012
ที่มาภาพ: http://www.nytimes.com/interactive/2016/11/08/us/elections/how-trump-pushed-the-election-map-to-the-right.html

กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์

ต้องยอมรับว่า กระแสอนุรักษนิยม ต่อต้านการค้าเสรี ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านการเมืองกระแสหลัก และกระแสกีดกันทางการค้า ตั้งกำแพงปกป้องตัวเองในสหรัฐอเมริกา ที่ดูเหมือนจะเป็นภาคต่อจาก Brexit เมื่อหลายเดือนก่อน กำลังเป็นกระแสที่กำลังลุกลามไปในหลายพื้นที่ และกำลังหมุนกลับกระแสโลกภิวัตน์ที่มุ่งจะทำให้โลกดีขึ้นโดยการทำให้เกิดการค้าเสรี ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

กระแสนี้อาจจะเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหาเรื่องของการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่ง และกระจายโอกาส ที่กำลังมีปัญหามากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเจริญเติบโตของโลกเริ่มโตช้าลง พายเริ่มจะไม่ใหญ่พอจะทำให้ทุกคนได้รับส่วนแบ่งที่เหมาะสมได้

ดูเหมือนว่ากระแสนี้จะขัดกับหลักการและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่เชื่อว่าทุกประเทศน่าจะดีขึ้นได้เมื่อมีการค้าเสรี และกระบวนการชดเชยผู้ได้เสียประโยชน์จากการเปิดการค้า จากผู้ที่ได้รับประโยชน์ ควรจะทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ภายใต้การค้าเสรี

แต่เมื่อกระบวนการดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง ประโยชน์ที่ได้รับจากการค้าเสรี (เช่น การซื้อของได้ถูกลง) ไม่ได้รับการส่งต่อไปหาผู้เสียประโยชน์ (เช่น คนที่ตกงานเพราะโรงงานย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ หรือผู้ที่ถูกแย่งงานเพราะผู้อพยพ) ความขมขื่นที่สะสมไว้ ก็รอที่จะปะทุเมื่อมีคนมาพูดความในใจ ปรากฏการณ์ Brexit และทรัมป์จึงเกิดขึ้น และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่อไปในที่อื่นๆ แม้จะเป็นการตัดสินใจที่คนภายนอกดูแล้วไม่ค่อยมีเหตุผลก็ตาม

แล้วทรัมป์จะทำอะไรต่อไป

ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนกันอย่างมากหลังจากทราบผลการเลือกตั้ง แต่หลังจากลบแบบดิ่งเหว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ปิดบวกหน้าตาเฉย แม้นโยบายของทรัมป์หลายอย่างจะเป็นบวกกับตลาดหุ้น แต่ความผันผวนน่ามาจากตลาดที่กังวลถึงความไม่แน่นอนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเอาสัญญาที่ผู้สมัครทรัมป์สัญญาไว้มาปฏิบัติได้ขนาดไหน

ถ้าไปดูสิ่งที่ทรัมป์สัญญาไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และ สัญญาประชาคม ที่ทรัมป์สัญญาว่าจะทำใน 100 วันแรก นโยบายที่ทรัมป์จะทำเป็นอย่างแรกๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจน่าจะมีสามส่วนใหญ่

หนึ่ง คงจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันทางการค้าอย่างที่ได้สัญญาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศขอเจรจาเงื่อนไข หรือขู่ว่าจะถอนตัวจาก NAFTA (ตอนหาเสียงมีพูดเรื่องถอนตัวจาก WTO ด้วย), ยกเลิก Trans-Pacific Partnership ที่เคยเป็นประเด็นฮ็อตเมื่อปีก่อน, จัดการกับจีนในฐานะผู้แทรกแซงค่าเงิน (currency manipulator) จัดการกับประเทศที่เอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ (จริงๆ แล้วมีขู่ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและจีนด้วย แต่ไม่ได้เขียนไว้) และเริ่มจัดการกับผู้อพยพเข้าเมื่องอย่างผิดกฎหมาย

ถ้าทำขึ้นมาจริงๆ นโยบายกีดกันทางการค้าเหล่านี้อาจจะทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงขึ้น (จากต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงในระยะแรก แต่ผลต่อเศรษฐกิจโลกอาจจะมีค่อนข้างมาก จากการค้าโลกที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และอาจจะก่อให้เกิดสงครามทางการค้าได้เลยทีเดียว และเป็นการเปลี่ยนทิศทางของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการค้าเสรีมาตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา

สอง คือ นโยบายการคลัง ที่ทรัมป์มีแผนจะปรับลดภาษีขนาดใหญ่ ทั้งปฏิรูปการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 35% เหลือ 15-20% และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

แผนด้านการคลังของทรัมป์นี้อาจจะทำให้เกิดการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล มีการประมาณ กันว่านโยบายของทรัมป์อาจจะทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอีกสิบปีข้างหน้า และอาจจะทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 100% ของ GDP ได้

ถ้าสังเกตดูอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งด้วยความกังวลนี้ แต่ทรัมป์เชื่อว่านโยบายของเขาจะทำให้เศรษฐกิจโต และลดภาระของงบประมาณได้

ประมาณการหนี้สาธารณของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายของทรัมป์และคลินตัน ที่มาภาพ: http://crfb.org/papers/promises-and-price-tags-preliminary-update
ประมาณการหนี้สาธารณของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายของทรัมป์และคลินตัน
ที่มาภาพ: http://crfb.org/papers/promises-and-price-tags-preliminary-update

และสุดท้าย คือ นโยบายด้านอื่นๆ เช่น การยกเลิก Obamacare การลงทุนด้านการทหาร การลงทุนด้านการพลังงาน (ทรัมป์ไม่เชื่อเรื่อง global warming และสนับสนุนให้มีการขุดสำรวจน้ำมัน)

สรุป ประเด็นสำคัญที่หลายคนกำลังจับตา คือ ทรัมป์จะทำนโยบายเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า และการใช้นโยบายการคลังที่เข้มข้นอย่างไร ซึ่งทั้งสองเรื่องจะมีผลต่อแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งก็จะมีผลต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไปด้วย และความเห็นที่ไม่ค่อยลงรอยกับเจเนต เยลเลน (Janet Yellen) ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อาจจะทำให้ความสัมพันธ์กับ Federal Reserve ไม่ค่อยราบรื่นนัก

ลองจับตาดูกันดีๆ ครับ แต่รู้สึกว่า “ความไม่แน่นอน” จะมีเยอะเหลือเกิน คงจะเป็นสี่ปีที่สนุกทีเดียว