ThaiPublica > คอลัมน์ > Disruptive technology กับการลงทุน (2)

Disruptive technology กับการลงทุน (2)

2 พฤศจิกายน 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ในตอนที่แล้วผมพูดถึง disruptive technology หรือเทคโนโลยีใหม่ๆที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับผลิตภัณฑ์และตลาดแบบเดิมๆ จนทำให้ผลิตภัณฑ์และตลาดของสินค้าและบริการหลายประเภทล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตาเรา (ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิล์ม เทปและซีดีเพลง โทรศัพท์บ้าน ฯลฯ)

ในอนาคตอันใกล้ ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เราคงพอคาดเดากันได้ว่าจะมีสินค้าและบริการ ตลอดจนรูปแบบของตลาดที่จะต้องเปลี่ยนไปอย่างมาก นักลงทุนควรจับตาดูการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ไว้ให้ดีนะครับ เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรม บริษัท ทางเลือกในการลงทุน และชีวิตของเราอย่างมากเลยทีเดียว

ลองมาดูกันดีกว่าครับว่า ด้วยความรู้ที่เรามีอยู่ตอนนี้ เราเห็นอะไรที่มีโอกาสเป็น disruptive technology ได้บ้าง ผมขอยกตัวอย่างที่น่าจะมีผลกระทบต่อเราอย่างเห็นได้ชัดมาสักสามเทคโนโลยีนะครับ

ที่มาภาพ : http://optimise.kiatnakinphatra.com/investment_6.php
ที่มาภาพ : http://optimise.kiatnakinphatra.com/investment_6.php

เทคโนโลยีแรก คือ พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่กำลังจะเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจและวิธีคิดเกี่ยวกับพลังงานในอนาคตอันใกล้ จากเดิม เวลาเราคิดถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า เรามักจะคิดถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติในการผลิต หรืออาจจะนึกถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่มีต้นทุนการสร้างค่อนข้างสูง และมีต้นทุนแปรผันจากต้นทุนเชื้อเพลิง และส่งไฟฟ้าตามสายส่งไฟฟ้าแรงสูงมาแตกเป็นระบบสายส่งก่อนส่งต่อไปยังบ้านเรือนหรือธุรกิจ

แต่เทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ และมีต้นทุนแปรผันที่เป็นศูนย์ กำลังทำให้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่เริ่มสามารถแข่งขันในด้านราคากับพลังงานที่มาจากแหล่งอื่นๆได้ การกระจายการผลิตพลังงาน (แทนที่จะเป็นการรวมศูนย์การผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่) กำลังจะเป็น disruptive technology เหมือนกับที่อินเตอร์เน็ตเคยเปลี่ยนโลกมาแล้ว

ในหลายประเทศ การติดตั้งแผงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน อาคารสำนักงาน หรือโรงงาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะต้นทุนต่ำลงและคืนทุนเร็ว ที่สำคัญคือทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ใกล้กับแหล่งที่ใช้พลังงาน ความจำเป็นที่จะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และมีสายส่งที่มีต้นทุนสูงอาจจะมีน้อยลงเรื่อยๆ ในเยอรมนี มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากจนในบางช่วงราคาไฟฟ้าติดลบไปแล้ว (ผู้ใช้ไฟได้รับเงินเพื่อให้ใช้กระแสไฟฟ้า!)

การมองพลังงานแสงอาทิตย์เป็น “พลังงานทดแทน” หรือพลังงานที่ต้องได้รับการอุดหนุนจึงกำลังจะเป็นเรื่องล้าสมัย ในไม่ช้าแม้แต่ในประเทศไทย ถ้าประชาชนสามารถขายไฟที่ผลิตออกมาเกินความจำเป็นในการใช้ในที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างเสรี (แม้ไม่ต้องมีการอุดหนุนก็ตาม) เราอาจจะเริ่มเห็นคนหันมาติดแผงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต โรงไฟฟ้าอาจจะกลายเป็นเพียงแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำรอง และยิ่งถ้าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ได้รับการพัฒนาจนราคาถูกลงมากๆ เราอาจจะสามารถผลิต เก็บ และนำกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ใหม่โดยไม่ต้องง้อโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกเลยก็ได้ พอจะเริ่มนึกภาพออกไหมครับ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกในอนาคต

เทคโนโลยีที่สอง คือ รถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเริ่มเห็นนำมาใช้จริงบนท้องถนนแล้ว จริงๆแล้วรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ และการพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้ามีมานานจนมีประสิทธิภาพดีพอๆ หรือดีกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันมานานแล้ว แต่อุปสรรคใหญ่ของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ทำให้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าวิ่งไปได้ไม่ไกลด้วยตัวมันเอง การพัฒนารถยนต์แบบ hybrid จึงเป็นที่นิยมในช่วงที่ผ่านมา และทำให้อัตราการใช้น้ำมันของรถยนต์ลดลงไปได้พอสมควร

จนมาไม่นานมานี้ การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่เริ่มดีขึ้น Tesla กลายเป็นรถยนต์ยี่ห้อใหม่ที่ดังเป็นพลุแตก จนผลิตกันไม่ทัน เพราะเป็นรถยี่ห้อแรกๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต้นทุนการใช้และดูแลรักษาถูกกว่า และทนทานกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม

เป็นไปได้อย่างมากว่า ในอนาคตอันใกล้ ถ้าเทคโนโลยีแบตเตอรี่พัฒนาไปไกลขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ลิเทียมหรือใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบที่ญี่ปุ่นกำลังพัฒนา หรือมีเทคโนโลยีแบบอื่นๆ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันอาจจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมด เหมือนกับที่กล้องดิจิตอลมาแทนที่กล้องฟิล์ม หรือรถยนต์ใช้น้ำมันเคยมาแทนที่รถม้ามาแล้ว นอกจากนี้ เราอาจจะได้เห็นรถยนต์ไร้คนขับ ที่อาจจะมาเปลี่ยนรูปแบบการใช้รถยนต์แบบเดิมๆ ที่เราขับอยู่แค่วันละสามสี่ชั่วโมงแต่จอดทิ้งไว้อีกยี่สิบชั่วโมง!

ประเด็นที่น่าขบคิดต่อก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยที่ได้ชื่อว่า Detroit ของเอเชีย? เราเป็นแหล่งประกอบรถยนต์สำคัญของโลก นอกจากนี้ รถยนต์ในปัจจุบันมีส่วนประกอบมากซับซ้อน ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งรวมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากได้รับประโยชน์ แต่ในอนาคตรถไฟฟ้าจะมีระบบสำคัญแค่ ระบบขับเคลื่อน แบตเตอรี่ ระบบควบคุม และระบบช่วงล่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ผลิตฝาสูบ หม้อน้ำ น้ำมันเครื่อง สายพาน และชิ้นส่วนอื่นๆ? หรือธุรกิจปั๊มน้ำมันจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร? น่าคิดนะครับ

ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า อาจจะเหลือเท่านี้? ที่มาภาพ : Tesla
ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า อาจจะเหลือเท่านี้? ที่มาภาพ : Tesla

แล้วก็น่าคิดต่อนะครับ ว่าทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และรถไฟฟ้า อาจจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมากในโลกอนาคต และอาจจะเป็นการตอกย้ำคำกล่าวที่ว่า “ยุคหิน ไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะหินหมด และยุคของการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมัน อาจจะสิ้นสุดลงก่อนน้ำมันจะหมดโลก” รูปแบบธุรกิจและการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาจจะเปลี่ยนไปอย่างมากในอีกไม่กี่ปีจากนี้

เทคโนโลยีที่สามคือเทคโนโลยีการเงิน หรือ fintech ที่เราได้ยินกันบ่อยขึ้นมากในช่วงหลังๆ ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านต่างๆ โมเดลธุรกิจการเงินแบบเดิมๆ กำลังถูกสั่นคลอนในหลายมิติ

ต้นทุนธุรกรรมทางการเงินและข้อมูลที่ถูกลงเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กำลังทำให้รูปแบบของธนาคารกำลังเปลี่ยนไป เส้นแบ่งในธุรกิจภาคการเงินกำลังเลือนลางลงเรื่อยๆ ผู้เล่นรายใหม่ๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรมกำลังเข้ามาสู่ธุรกิจการชำระเงินที่เคยเป็นของธนาคาร และต้นทุนในการเปลี่ยนค่ายธนาคารก็จะถูกลงเรื่อยๆ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ เช่น การซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เราเริ่มเห็นรูปแบบใหม่ๆ ในการการระดม จัดสรร และติดตามการใช้ทรัพยากรทุน การพึ่งพาโมเดลธุรกิจสถาบันการเงินแบบเดิมๆ ลดน้อยลง และการพึ่งพาการใช้เงินสดก็คงมีน้อยลงด้วย

เราเห็นผู้เล่นใหม่ๆ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีกำลังเข้ามากินส่วนแบ่งของธุรกิจการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุน การบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล การจัดการ supply chain หรือการจัดการการปฏิบัติงานด้านหลังบ้านของสถาบันการเงิน เช่นการเคลียร์เช็คหรือการชำระบัญชี หรือแม้แต่บทบาทของธนาคารกลางก็อาจจะถูกสั่นคลอนได้ในอนาคต ถ้าเงินที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมาถูกท้าทายโดยเงินตราสกุลใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี

นอกจากที่ผมยกตัวอย่างมา ก็ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีนะครับที่อาจจะนับได้ว่าเป็น disruptive technology ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น 3D printing เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการผลิต การประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบ cloud หรือเทคโนโลยีอื่นๆที่กำลังจะเกิดขึ้นพร้อมกับอินเทอร์เน็ตที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มสำคัญที่เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังทำให้เกิดขึ้น คือการลดต้นทุน การลดความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ การแบ่งปันทรัพยากร และการลดการรวมศูนย์ในหลายๆเรื่อง

แต่น่าสังเกตนะครับ ว่าทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ผู้เล่นเจ้าตลาดรายเดิม ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ใช้จำนวนหนึ่ง อาจจะตอบสนองด้วยการปฏิเสธและปกป้องสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีต หรือพยายามกีดกันไม่ให้เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นได้ หรือปักใจเชื่อไว้ก่อนว่าคงไม่เปลี่ยนหรอก อาจจะเพราะมีการพึ่งพากับเทคโนโลยีแบบเก่ามานานจนไม่กล้าจะเสี่ยงย้ายทรัพยากรจากผลิตภัณฑ์เก่าๆ มายังผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ หรือกลัวจะทำร้ายธุรกิจเดิมของตัวเอง

แต่สุดท้ายก็มักจะต้านทานกระแสของการเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ และคงต้องเลือกว่าจะล้มหายตายจากไปพร้อมกับเทคโนโลยีเก่าหรือจะยอมเปลี่ยนแปลงและเกาะไปกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอนนั้น

นักลงทุนเองก็คงต้องอ่านกระแสของการเปลี่ยนแปลงให้ออก และเลือกลงทุนในธุรกิจที่เหมาะสม มีผู้บริหารที่ยืดหยุ่น และปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลง และการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนยังคงเป็นเรื่องสำคัญในภาวะที่มีความไม่แน่นอนครับ

หมายเหตุ:ตีพิมพ์ครั้งแรกในOptimise กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร