ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมราคาข้าวหอมมะลิลดฮวบ: ใครคือแพะ ???

ทำไมราคาข้าวหอมมะลิลดฮวบ: ใครคือแพะ ???

4 พฤศจิกายน 2016


นิพนธ์ พัวพงศกร
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

วันเก็บเกี่ยว ข้าวหอมมะลิ
วันเก็บเกี่ยว ข้าวหอมมะลิ

ตั้งแต่กลางตุลาคม 2559 เป็นต้นมา ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรุดฮวบแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราคาข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเก่าลดลงจาก 12,090 บาทต่อตันในเดือนกันยายน เหลือ 10,500 บาทต่อตันในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 หรือลดลง 13% เทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนปีนี้ที่ลดลงเพียง 2%

ราคาข้าวนี้เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี

สาเหตุสำคัญที่ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะราคาข้าวสารหอมมะลิส่งออกที่เป็นราคาล่วงหน้าในเดือนธันวาคม 2559 ลดฮวบมาเหลือเพียง 548 เหรียญสหรัฐเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ต่ำกว่าราคาตลาด (spot price) 720 เหรียญเมื่อ 28 ตุลาคม 2559 ผลคือ ราคาขายส่งข้าวสารหอมมะลิใหม่เดือนแรกของการเก็บเกี่ยว(พฤศจิกายน 2559) เฉลี่ยหาบละ 1,330 บาท เทียบกับราคาของปีที่แล้วหาบละ 1,750 บาท ลดลงไป 420 บาท เป็นการลดลงแบบผิดปรกติ

ทำไมราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจึงทรุดฮวบอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจข้อเท็จจริง 3 เรื่องก่อน เรื่องแรก คือ แม้จะยังไม่มีการเกี่ยวข้าวหอมในเดือนตุลาคม แต่ก็มีการซื้อขายข้าวเปลือกปีก่อนในภาคอีสานและเชียงรายแบบประปราย เพราะชาวนาบางคนที่มีข้าวเปลือกเก่าในยุ้งฉางของตน นำข้าวเปลือกออกขาย

ข้อสอง ราคาส่งออกข้าวสารหอมมะลิเป็นราคาซื้อขายล่วงหน้า (forward price) ของผู้ส่งออกข้าวไทยที่ไปเสนอขายให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ แล้วใช้เป็นฐานกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกในช่วงเก็บเกี่ยว เช่น เมื่อ 28 ตุลาคม 2559 ราคาล่วงหน้าของเดือนธันวาคม 2559 เท่ากับ 548 เหรียญสหรัฐ แปลว่าผู้ส่งออกตกลงจะส่งมอบข้าวสารหอมมะลิฤดูใหม่ให้ผู้ซื้อในเดือนธันวาคมในราคา 548 เหรียญสหรัฐ ราคานี้ไม่ใช่ราคาที่เปิดเผย แต่จะถูกเปิดเผยเมื่อผู้ซื้อต่างประเทศหันมาเจรจาขอซื้อข้าวจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ

ข้อสาม ราคาล่วงหน้าเป็นตัวกำหนดราคาข้าวเปลือกในวันนี้ แปลกดีใช่ไหมครับ ราคาล่วงหน้าเป็นราคาในอนาคตที่เกิดจากการคาดคะเนของพ่อค้าข้าวและโรงสี เกี่ยวกับอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (ผลผลิต) ของข้าวหอมมะลิในฤดูการผลิตใหม่ ถ้าพ่อค้าส่งออกคาดว่า การเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมจะมีอุปทานน้อย ขณะที่อุปสงค์เท่าเดิม ราคาล่วงหน้าก็จะสูงขึ้น เพราะเขาจะรีบสั่งซื้อข้าวเปลือกก่อนที่ราคาจะสูงขึ้น หลังจากนั้นถ้ามีพ่อค้าส่งออกคนอื่นเริ่มสั่งซื้อมากขึ้น โรงสีและพ่อค้าท้องถิ่นก็จะรีบกว้านซื้อข้าวเปลือกเก่าที่มีอยู่ในตลาดมาส่งให้พ่อค้าส่งออก เพราะข้าวเปลือกเก่าและข้าวใหม่ต่างก็ทดแทนกันได้ ฉะนั้น ราคาล่วงหน้าจึงกำหนดราคาข้าววันนี้ตามกลไกการเก็งกำไรในตลาด

ทำไมราคาล่วงหน้าข้าวหอมมะลิจึงทรุดฮวบ

ทีนี้ก็ถึงเวลาตอบคำถามว่าทำไมราคาล่วงหน้าของข้าวหอมมะลิจึงทรุดฮวบ คำตอบง่ายๆ คือ พ่อค้าส่วนใหญ่คิดว่าหลังเก็บเกี่ยวเราจะมีอุปทานจำนวนมหาศาล ขณะที่ความต้องการซื้อมีเท่าเดิม หรืออาจลดน้อยลงกว่าปีก่อน นี่คือผลของการเก็งกำไรของพ่อค้า ใครเก็งถูก (คือ เก็งว่าราคาตลาดเดือนธันวาคมจะต่ำกว่าราคาขายล่วงหน้าในเดือนตุลาคม) ก็รวย ใครเก็งผิดก็ขาดทุน เป็นเรื่องปกติของพ่อค้า เพราะกำไรของพ่อค้าข้าวส่วนใหญ่เกิดจากความสามารถในการเก็งกำไร

ปีนี้อุปทานข้าวหอมมะลิน่าจะมีมากผิดปรกติจาก 3 แหล่ง1 แหล่งแรก คือ ปริมาณผลผลิตที่กำลังจะเริ่มเก็บเกี่ยวในขณะนี้จนถึงเดือนธันวาคม จะมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก เพราะปีนี้ฝนในภาคอีสานดีมาก ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเราจะมีผลผลิตจำนวนเท่าไร แม้จะมีตัวเลขการพยากรณ์ผลผลิตของกระทรวงเกษตรฯ แต่พ่อค้าส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือตัวเลขเหล่านั้น2 ฉะนั้น พอถึงช่วงข้าวออกรวงก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน พ่อค้าส่งออกก็จะออกสำรวจพื้นที่ โดยการสอบถามจากโรงสีและพ่อค้าในท้องถิ่น ฉะนั้น พ่อค้าแต่ละคนย่อมประมาณการผลผลิตไม่เท่ากัน และจะไม่ถูกต้องแม่นยำ แต่ถ้ามีพ่อค้าจำนวนมากๆ ออกสำรวจ ค่าเฉลี่ยที่ได้ก็น่าจะใกล้เคียงของจริง

อุปทานแหล่งที่สอง คือ ข้าวเปลือกที่ค้างอยู่ในสต็อกของโรงสี พ่อค้าส่งออก และพ่อค้าบางรายที่ได้เงินอุดหนุนดอกเบี้ยในการซื้อข้าวเปลือกเข้าเก็บในสต็อกตั้งแต่ต้นปี 2559 คงจำได้ว่าตอนต้นปี 2559 เรามีปัญหาฝนแล้งจากภาวะเอลนีโญ พ่อค้าและโรงสีต่างก็คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิจะต้องถีบตัวขึ้นสูง จึงพากันกักตุนข้าวไว้ในสต็อก มิหนำซ้ำยังมาวิ่งเต้นขอร้องให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยอุดหนุนภาระดอกเบี้ย 3% โดยสัญญาจะซื้อข้าวเปลือกในราคา 14,000 บาท ปริมาณการสต็อกข้าวเปลือกในโครงการสูงถึง 3.35 ล้านตัน แต่หลังจากนั้นราคาข้าวหอมมะลิก็ลดลงตลอด เพราะเอลนีโญคลี่คลายในกลางกรกฎาคม ฝนในอีสานค่อนข้างดี การคาดคะเนปริมาณผลผลิตก็เปลี่ยนไป คนที่สต็อกข้าวไว้จึงขาดทุน ฉะนั้น พ่อค้าจำนวนมากจึงยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกจำนวนนี้ออกไป คาดว่าขณะนี้น่าจะยังมีข้าวเปลือกค้างในสต็อก (ทั้งข้าวหอมและข้าวขาว) อีกประมาณ 2 ล้านตัน โรงสีที่ยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกดังกล่าวจึงไม่ได้ชำระหนี้ธนาคาร ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีสภาพคล่องที่จะนำมาซื้อข้าวเปลือกในฤดูใหม่ ทำให้พ่อค้าคิดว่าปีนี้อุปสงค์จะลดลง

นอกจากนี้ พ่อค้ารายใหญ่บางรายก็กำลังประสบปัญหาการเงิน ทำให้ต้องหยุดซื้อข้าว ดังนั้น ปีนี้พ่อค้าที่จะมาแย่งซื้อข้าวตอนเก็บเกี่ยวก็คงจะมีจำนวนน้อยลง

ข้อมูลเหล่านี้แหละเป็นต้นตอของการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกดำดิ่งลงเหมือนกับเวลาราคาหุ้นลดฮวบช่วงขาลงเพราะนักลงทุนตื่นตกใจ สาเหตุที่พ่อค้าข้าวตื่นตกใจเกิดจากการที่พ่อค้าบางคนที่ออกสำรวจตลาดพบว่าปีนี้ผลผลิตจะมีมากกว่าปรกติ บวกกับอาจมีข้อมูลว่ายังมีข้าวเปลือกเก่าในสต็อกของโรงสีจำนวนมาก พ่อค้าเหล่านี้เริ่มคาดคะเนว่าตอนเก็บเกี่ยวข้าวราคาน่าจะตกต่ำมาก เช่น คิดว่าราคาจะลดลงเหลือ 550 เหรียญต่อตัน ก็เลยรีบไปเสนอขายต่างประเทศล่วงหน้าในราคา 610 เหรียญ (ราคาสมมุติ) เพราะถ้าราคาตอนเก็บเกี่ยวลดลงต่ำกว่า 610 เหรียญ เขาก็จะมีกำไร

แต่ราคาล่วงหน้าไม่ใช่ความลับ พ่อค้าบางคนที่รู้ว่ามีใครบางคนไปขายราคา 610 เหรียญ เริ่มตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงเริ่มตรวจสอบข้อมูล ถ้าได้ข้อมูลว่าผลผลิตจะเพิ่มมากจริงๆ ก็เลยเสนอหั่นราคาขายลง สมมุติว่าเหลือ 570 เหรียญ ข่าวเรื่องการขายราคาต่ำเริ่มแพร่สะพัดในปลายตุลาคม พ่อค้าส่วนใหญ่เริ่มตื่นตระหนกมากขึ้น บางคนก็เลยไปขายส่งออกล่วงหน้าในราคา 548 เหรียญ ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมลดลงเหลือแค่ 9,500-10,000 บาทต่อตันตอนสิ้นเดือนตุลาคม

แม้การเก็งกำไรจะเป็นเรื่องปกติในตลาดค้าข้าว คนที่เก็งผิดก็จะขาดทุน เราไม่ต้องห่วงเขา แต่ผลการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจกลับส่งผลเสียหายต่อเกษตรกรที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน ราคาข้าวที่เขาจะได้รับตกต่ำมาก

รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจึงเป็นห่วงเป็นใยชาวนา แต่เราก็ควรเข้าใจว่าราคาที่ลดลงนี้เกิดจากผลพวงของการเก็งกำไรของพ่อค้าในตลาด ลำพังแพะเพียงไม่กี่ตัว ไม่สามารถสร้างสถานการณ์นี้ได้

การที่พ่อค้าตื่นตกใจจนคิดว่าราคาจะต่ำมาก เกิดจากการที่ไม่มีใครมีข้อมูลที่แน่นอน ต่างคนต่างคาดคะเน พอเกิดภาวะตกใจ การเก็งกำไรกลายเป็นแบบไม่มีเหตุผล ในหลายกรณีราคามักตกต่ำกว่าที่ควร (overshooting) สถานการณ์ราคาจะเริ่มทรงตัวหรือขยับขึ้นนิดหน่อยหลังจากที่พ่อค้าเริ่มใช้สติพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน

สาเหตุสำคัญที่ราคาแปรปรวนไร้เสถียรภาพชั่วคราวเกิดจากการขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือและตลาดเพิ่งได้ข้อมูลใหม่ๆในช่วงตุลาคม ผู้ที่มีข้อมูลดีที่สุดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่คนที่มีเครือข่ายกว้างขวาง

นี่คือเหตุผลที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีภาคเกษตรขนาดใหญ่และมีระบบการค้าพืชผลการเกษตรแบบเก็งกำไรต้องหาหนทางแก้ไข โดยการสร้างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบทางการ (futures market) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้โรงงานแปรรูปและพ่อค้าสามารถป้องกันความเสี่ยง (hedging) จากความผันผวนของราคา นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกายังลงทุนสร้างระบบการพยากรณ์ผลผลิตการเกษตรและความเสียหายที่มีความน่าเชื่อถือป้อนให้แก่ตลาด โดยมีการปรับปรุงผลการพยากรณ์ทุกๆ เดือน

ถ้าเรามีระบบพยากรณ์ผลผลิตและรายงานสต็อกข้าวทั้งในมือรัฐบาลและเอกชนที่น่าเชื่อถือ พ่อค้าทุกคนในตลาดก็จะมีข้อมูลชุดเดียวกันตั้งแต่ต้นฤดู แน่นอนว่าตัวเลขการพยากรณ์จะเปลี่ยนไปทุกเดือนตามสภาวการณ์ แต่ถ้าภาวะดินฟ้าอากาศไม่ผิดปรกติ ตัวเลขพยากรณ์ในเดือนหลังๆ ก็จะไม่ต่างจากเดือนแรกๆ มากนัก เมื่อตัวเลขด้านอุปทานและอุปสงค์ค่อนข้างนิ่งและน่าเชื่อถือ ราคาก็จะไม่ผันผวนมากนัก เช่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ไทยยังมีปัญหาเอลนีโญ การคาดคะเนผลผลิตข้าวปีนี้จะค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อถึงปลายกรกฎาคม ภาวะเอลนีโญคลี่คลายกลับสู่ปกติ การคาดคะเนผลผลิตจะถูกปรับให้มากขึ้น ราคาล่วงหน้าก็จะค่อยๆ ลดลง จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ราคาจะไม่ผันผวนมากเหมือนที่เกิดในช่วงปลายตุลาคม 2559 ลองคิดดูว่าถ้าผลพยากรณ์ พบว่าผลผลิตข้าวหอมจะเพิ่มขึ้นจริงน้อยกว่าการคาดคะเนของพ่อค้า เช่น พ่อค้าคิดว่าจะมีอุปทานข้าวตอนเก็บเกี่ยว 12 ล้านตัน แต่การพยากรณ์ที่มีระบบน่าเชื่อถือคาดว่าจะมีอุปทานข้าวเพียง 10 ล้านตัน ราคาล่วงหน้าจะแตกต่างกันมาก

เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากความผันผวนของราคาข้าวหอมมะลิครั้งนี้

บทเรียนแรก การที่พ่อค้าบางคนไปเสนอขายข้าวในราคาต่ำเกิดจากระบวนการเก็งกำไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกลไกตลาด ไม่น่าจะเกิดจากปัจจัยการเมือง จริงอยู่พ่อค้าบางคนที่ไปเสนอขายข้าวราคาต่ำอาจจะเป็นนักการเมืองหรือเป็นหัวคะแนนนักการเมือง แต่คงไม่มีพ่อค้าคนใดเสี่ยงล้มละลายโดยตั้งใจขายข้าวจำนวนมากๆ ในราคาต่ำ เพราะถ้าราคาตลาดตอนเก็บเกี่ยวสูงกว่าราคาขายล่วงหน้า เขาก็จะขาดทุนหนัก3 เมื่อเป็นเรื่องของกลไกตลาด การใช้อำนาจรัฐเข้าไปตรวจโรงสีจึงไม่เหมาะสม ถ้าโรงสีจำนวนมากเกิดความกลัว ไม่กล้าซื้อข้าวในราคาต่ำ แต่ตัดสินใจหยุดซื้อพร้อมๆกัน ชาวนาจะเดือดร้อนมากขึ้น ราคาจะยิ่งตกลงไปอีก สู้ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อราคาถูก โรงสีและพ่อค้าจะมีแรงจูงใจซื้อมากขึ้น เพราะมีโอกาสทำกำไรได้ ราคาก็จะค่อยๆ ยกตัวขึ้น ส่วนการช่วยชาวนาที่ขายข้าวได้ราคาต่ำ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด เพราะทำให้ชาวนาไม่ขาดทุนและไม่บิดเบือนราคาตลาด

บทเรียนที่สอง คือ ตลาดข้าวไทยมีปัญหาด้านข่าวสารข้อมูลในตลาดข้าวที่น่าเชื่อถือตั้งแต่ราคาซื้อขายล่วงหน้า (ที่สมาคมการค้าต่างๆ ไม่เคยจัดทำอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นราคาที่ผู้ส่งออกไทยแต่ละคนไปตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ) ปริมาณสต็อกข้าวในคลังเอกชนและรัฐบาล ปริมาณความต้องการของตลาด และการพยากรณ์ผลผลิตข้าวของหน่วยงานรัฐที่ยังขาดความน่าเชื่อถือ รวมทั้งยังไม่มีการพยากรณ์ผลผลิตข้าวแยกตามชนิดข้าว (ข้าวเจ้าขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว) การไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือทำให้วงการค้าเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องเก็งกำไร พ่อค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุน มีเครือข่ายใหญ่ มีเส้นสาย ก็จะได้เปรียบคนอื่นๆ หน้าที่สำคัญของรัฐ คือ การลงทุนพัฒนาระบบการพยากรณ์ผลผลิตและสต็อกข้าวให้น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ตลาดมีข้อมูลถูกต้อง ลดความผันผวนจากการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจ และทำให้พ่อค้ารายเล็กมีข้อมูลใกล้เคียงรายใหญ่

แนวทางการพัฒนาการพยากรณ์จะต้องมีการระดมความร่วมมือของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สนเทศที่มีภาพถ่ายดาวเทียม แต่ภาพถ่ายบอกไม่ได้ว่าต้นข้าวเป็นข้าวชนิดใด จึงต้องมีการลงทุนสำรวจภาคพื้นดินที่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั้งประเทศ ลำพังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักมีทรัพยากรคนและเงินไม่พอ ต้องอาศัยกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร นอกจากนั้นยังต้องพึ่งอาจารย์ด้านเกษตรนักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญของกรมอุตุนิยมวิทยา กระบวนการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิตสต็อกข้าวและอุปสงค์ คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีจึงจะอยู่ตัวครับ

หมายเหตุ :

1. ซัพพลายแหล่งที่สาม คือ ข้าวหอมของเวียดนาม ที่คงมีมากขึ้น แต่จะเก็บเกี่ยวต้นปีหน้าแต่ปัจจัยนี้ไม่น่าสำคัญเท่าปัจจัยในประเทศ
2.หน่วยราชการให้ข้อมูลที่แตกต่างกันมาก หน่วยงานหนึ่งพยากรณ์ว่าผลผลิตนาปี (ข้าวทุกชนิด) จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านข้าวเปลือก อีกหน่วยงานคาดคะเนว่าผลผลิตข้าวหอมอย่างเดียวจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านต้น
3.แต่คงมีพ่อค้าการเมืองบางรายปลุกปั่นในโลกโซเซียลมีเดีย รัฐบาลก็ควรแยกแยะคนพวกนี้ออกจากโรงสีและผู้ส่งออกที่ค้าขายอย่างสุจริต ซึ่งไม่น่าจะตกเป็นแพะรับบาป