ThaiPublica > เกาะกระแส > วิธีการป้องกันการหาข้อมูลเข้าข้างตัวเองโดยไม่รู้ตัว

วิธีการป้องกันการหาข้อมูลเข้าข้างตัวเองโดยไม่รู้ตัว

26 พฤศจิกายน 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านเคยไปเชียร์บอลสดๆ ที่สนามบอลกับเพื่อนที่เชียร์ฝั่งตรงข้ามกันกับเราไหมครับ เเล้วเคยไหมครับ ที่ตอนกำลังเชียร์ไปเชียร์มาอยู่นั้น กองหน้าของฝ่ายตรงข้ามเลี้ยงลูกเข้ามาในจุดโทษของเราเเล้วโดนกองหลังของเราเข้าสกัดลูกเเบบสวยงาม เเต่อยู่ดีๆ ก็โดนกรรมการเป่าฟาวล์ให้เป็นลูกโทษเสียอย่างนั้น

คนที่เชียร์บอลเกือบทุกๆ คนก็อาจจะเคยมีความรู้สึกอย่างนั้น เเต่คุณเคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมเพื่อนของเราที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา ดูบอลก็ดูจากมุมเดียวกันกับเรา เขากลับมองเห็น เเถมเเน่ใจเสียอีกต่างหากว่าสิ่งที่เขาเห็นนั้นมันคือการฟาล์วกันชัดๆ เเละกรรมการเองก็ทำถูกเเล้วที่เป่าให้ทีมเขาได้ยิงจุดโทษ

เป็นไปได้ยังไงกันที่คนสองคนดูบอลจากมุมเดียวกันเเต่กลับเห็นคนละอย่างกัน

ที่มาภาพ : https://www.linkedin.com/pulse/i-confirm-my-confirmation-bias-gert-j-scholtz
ที่มาภาพ : https://www.linkedin.com/pulse/i-confirm-my-confirmation-bias-gert-j-scholtz

หลายๆ ท่านคงอาจจะเคยได้อ่านเรื่องที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับconfirmation biasมาบ้างเเล้ว confirmation bias ก็คือการที่คนเราชอบค้นหาเเละเสพเเต่ข้อมูลที่สนับสนุนในสิ่งที่เราเห็นด้วย เเละมองข้ามข้อมูลที่ไม่คล้องจองกันกับความเชื่อที่เรามีอยู่เเล้วตั้งเเต่ต้น (ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่ชอบ Donald Trump ก็มักจะเสพเเต่ข่าวที่ยุให้เรายิ่งเกลียด Trump เเละเลือกที่จะไม่อ่านข้อมูลที่สนับสนุน Trump เป็นต้น) ซึ่ง confirmation bias นี้เป็นปรากฏการณ์การการทำงานของภูมิต้านทานความผิดหวังของเรา (psychological immune systems) ที่เรามีเพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเสียใจมากกว่าควรที่จะเป็น

เเต่หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ภูมิต้านทานความผิดหวังของเรานั้นจะเริ่มทำงานเเล้วก่อให้เกิด confirmation bias ขึ้นก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไข หรือ condition บางตัวที่ทำให้มันสามารถเกิดขึ้นได้

condition ที่อำนวยที่สุดก็คือการที่สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมีความคลุมเครือ (ambiguity) ที่เพียงพอจะทำให้สมองของเรา exploit หรือใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้

เพราะถ้าสถานการณ์มีความคลุมเครือพอ อย่างเช่นการไปดูบอลสดๆ เเบบไม่มีรีเพลย์ล่ะก็ มันก็เป็นการง่ายที่สมองของเราเเละสมองของเพื่อนเราจะปั้นข้อมูลที่ขัดเเย้งต่อกันขึ้นมา เเต่ถ้าเราเเละเพื่อนของเราดูบอลด้วยกันในทีวีที่มี replay ของการฟาล์วนั้น ความชัดเจนก็จะทำให้ confirmation bias ของฝ่ายที่ผิดชัวร์ๆ เกิดขึ้นได้ยาก

ยกตัวอย่างงานวิจัยที่โชว์ให้เราเห็นว่าคนเรามักจะไม่ค่อยเสียใจเท่าไหร่จากการที่ไปสัมภาษณ์งานเเล้วไม่ได้งานถ้าคนที่สัมภาษณ์เรานั้นมีอยู่เเค่คนเดียว เเต่เรามักจะเสียใจมากกว่าถ้าในตอนสัมภาษณ์นั้นมีคนนั่งสัมภาษณ์เราอยู่หลายๆ คน (พูดง่ายๆ ก็คือ ถูกสัมภาษณ์โดย interview panel นั่นเอง)

ทำไมนะเหรอครับ นั่นก็เป็นเพราะว่าเราสามารถหาข้อมูลที่เข้าข้างตัวเองได้ง่ายกว่าเยอะในกรณีที่เราถูกคนเเค่คนเดียวปฏิเสธ (“ไอ้คนที่สัมภาษณ์เรานั้นตาถั่ว”) เมื่อเทียบกันกับกรณีที่เราถูกคนเป็นกลุ่มปฏิเสธ (“มันเป็นไปได้หรือที่คนทุกคนมันตาถั่วกันหมด”)

เพราะฉะนั้นเเล้ว ความชัดเจน ความโปร่งใส (transparency) ความเป็นรูปธรรม จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิด confirmation bias ของคนที่ผิดเเต่ยังคิดว่าตัวเองถูกต้องนะครับ