ThaiPublica > เกาะกระแส > คืบหน้าฟื้นฟู “อิสลามแบงก์ ” คลังเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาท – หาพันธมิตร รุกธุรกิจมุ่งชาวอิสลาม

คืบหน้าฟื้นฟู “อิสลามแบงก์ ” คลังเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาท – หาพันธมิตร รุกธุรกิจมุ่งชาวอิสลาม

23 พฤศจิกายน 2016


นายชัยวัฒน์  อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (กลาง) แถลงข่าวความคืบหน้าแผนฟื้นฟู
นายชัยวัฒน์  อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (กลาง) แถลงข่าวความคืบหน้าแผนฟื้นฟู

หลังจากการยกเลิกหาพันธมิตรรอบแรกของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 เป็นหนึ่งในแผนดำเนินงานหลักของการฟื้นฟูกิจการตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เนื่องจากผู้สนใจเป็นพันธมิตรต้องการให้ไอแบงก์ปรับสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เป็น 0% ก่อนจะเข้าร่วมทุนกับไอแบงก์ ล่าสุดเริ่มมีความคืบหน้าอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 นายชัยวัฒน์  อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าของการฟื้นฟูกิจการ 3 ประเด็นว่า 1) กระทรวงการคลังเสนอแนวทางเพิ่มทุนแก่ไอแบงก์ด้วยการออกขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน มูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ BIS Ratio กลับมาที่ 0% จากเดิมติดลบไปถึง -27% โดยจะเสนอขายกับผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม ได้แก่ กระทรวงการคลัง 48.5%, ธนาคารออมสิน 39%, ธนาคารกรุงไทย 9% และผู้ถือหุ้นรายย่อยประมาณ 200 ราย 1% โดยจะประชุมผู้ถือหุ้นขอความเห็นชอบในวันที่ 21 ธันวาคม 2559

ในกรณีมีผู้ถือหุ้นไม่ซื้อหุ้นดังกล่าว กระทรวงการคลังจะรับผิดชอบอุดหนุนการซื้อหุ้นดังกล่าวด้วยวิธีการขายเฉพาะเจาะจง (Private Placement) แก่หน่วยงานของกระทรวงการคลัง โดยให้เสร็จในปี 2560 ทั้งนี้ไอแบงก์จะเจรจาหาพันธมิตรตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 ซึ่งจะเป็นไปตามจังหวะการเพิ่มทุนดังกล่าว โดยหลังจากที่ได้พันธมิตร กระทรวงการคลังจะขายหุ้นดังกล่าวคืนต่อไป ซึ่งหากดำเนินการได้ดีพออาจจะขายกลับโดยมีส่วนต่างกำไรได้

ส่วนการแยกหนี้ดีและหนี้เสีย ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. หรือ IAM) ขึ้นหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยจะเริ่มทยอยโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีเอฟ ที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม จำนวนประมาณ 100 ราย มูลหนี้ 50,000 ล้านบาท ขณะที่ไอแบงก์จะยังคงมีเอ็นพีเอฟ ซึ่งเป็นของชาวมุสลิมคงเหลืออยู่จำนวนประมาณ 10,000 ราย มูลหนี้รวม 3,500 ล้านบาท และมีสินเชื่อจัดชั้นปกติอีกประมาณ 46,500 ล้านบาท

“หนี้เอ็นพีเอฟที่เหลืออยู่ 3,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อในช่วงน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งหลายรายเข้าใจว่าเป็นเงินช่วยเหลือของรัฐบาล ไม่ต้องชำระคืน อีกส่วนหนึ่งจะเป็น microfinance ซึ่งลูกค้าบางรายยังเข้าใจผิดอยู่เช่นเดียวกัน ส่วนนี้จะต้องติดตามบริหารต่อไป ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐก็จะขอตัดออกเป็นกรณีพิเศษ แต่เรายังไม่ได้ทำแบบนั้น ตอนนี้เอาไว้ตรงนี้ก่อน แต่หลังจากทำ 2 เรื่องนี้คือเอ็นพีเอฟและเพิ่มทุนได้ รวมไปถึงการหาพันธมิตรได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ เขารอกรอบการเจรจาใหม่อยู่ ปีหน้าไอแบงก์จะพลิกจาก bad bank ไปเป็น good bank” นายชัยวัฒน์กล่าว

แผนธุรกิจ “หยุดขาดทุน-สร้างรายได้-ลดรายจ่าย”

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาเอ็นพีเอฟและเงินกองทุนฯ แล้ว ไอแบงก์มีแผนกลับไปดำเนินธุรกิจตามปกติได้แก่

1) หยุดการขาดทุน ปี 2557 ขาดทุนสุทธิ 9,737 ล้านบาท ก่อนลดลงมาเหลือ 4,712 ล้านบาทในปี 2558 และเหลือ 2,186 ล้านบาทใน 9 เดือนแรกของปี 2559 ทั้งนี้ หากไม่ต้องรับภาระตั้งสำรองหนี้ที่มีปัญหาในอดีต ปัจจุบันไอแบงก์มีผลประกอบการที่มีกำไรแล้ว และเชื่อมั่นว่าจะมีกำไรสุทธิได้ในปี 2560

2) เพิ่มรายได้ ไอแบงก์จะหารือกับกระทรวงการคลังให้สามารถปล่อยสินเชื่อรายใหญ่มากกว่า 200 ล้านบาทได้ ภายหลังจากกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งไม่ให้ไอแบงก์ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ในช่วงปี 2556 ซึ่งมีปัญหาเอ็นพีเอฟจากการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้ไอแบงก์ให้บริการแก่ชาวมุสลิมได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายย่อย รายใหญ่ หรือเอสเอ็มอี รวมไปถึงสามารถทำธุรกรรมแบบ cross-selling ได้ นอกจากนี้ ไอแบงก์ได้ร่วมมือกับบริษัทประกันภัยเพื่อออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยตามหลักศาสนาอิสลาม โดยปัจจุบันมีพนักงานของไอแบงก์ผ่านการอบรมสอบผ่านใบอนุญาตในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 800 ราย ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

“จากการประชุมคณะกรรมการล่าสุด เราเห็นว่ามีลูกค้าบางรายที่มีศักยภาพเพียงพอ แต่เรายังไปติดหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังไม่ให้ปล่อยกู้ได้ หลายรายเห็นเราแก้ไขปัญหาคืบหน้าก็อยากจะกลับมาใช้บริการของเรา ช่วยเหลือเรา ส่วนความกังวลว่าถ้าปล่อยรายใหญ่อีกจะมีปัญหาอีกหรือไม่ คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป้าหมายใหญ่คือไม่ขาดทุน การจะไม่ขาดทุนสินเชื่อต้องเติบโตได้ 10,000 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อรายละ 5-10 ล้านบาท คงไม่เพียงพอ ถ้ามีรายใหญ่เพิ่มขึ้นก็จะไปถึงเป้าหมายได้ ส่วนที่จะมีปัญหาหนี้เอ็นพีเอฟอีกหรือไม่ จากที่ทำงานเรื่องสินเชื่อมา มันอยู่ที่นโยบายสินเชื่อว่าอะไรเอาอะไรไม่ทำ ถ้าถูกต้อง ไม่ใช่ธุรกิจขาลง ก็ช่วยปกป้องได้เบื้องต้น ต่อไปคือต้องกำหนดผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ หลังจากนั้นต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้เหมาะสม มีการรับรองต่างๆ ดูสภาพธุรกิจที่มี มันก็ลดโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดสินเชื่อที่ไม่เหมาะสมได้ ตอนนี้ต้องใช้คำว่าเราจะเก็บผลไม้ที่เก็บได้ง่ายๆ ที่ดีไว้ก่อน”

3) ลดรายจ่าย เริ่มต้นจากลดผลตอบแทนเงินฝากที่ปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 1% ซึ่งสูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จึงไม่สามารถแข่งขันด้านสินเชื่อได้ นอกจากนี้ ไอแบงก์ยังมีแผนปิดสาขาที่ใหญ่เกินไปจำนวน 20 สาขาและมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น สาขาเซ็นทรัลพระรามเก้า ที่มีค่าใช้จ่าย 8 แสนบาทต่อเดือน เป็นต้น ขณะที่การให้บริการ ปัจจุบันไอแบงก์กำลังเจรจากับแบงก์รัฐอื่นๆ เพื่อจะขอไปใช้สาขาของแบงก์รัฐอื่นๆ ในพื้นที่ที่มีลูกค้าของไอแบงก์จำนวนน้อย รวมทั้งค่าใช้จ่ายบุคคลากรสูงมากเกือบ 50% ของรายจ่าย ไอแบงก์มีพนักงานประมาณ 1,800 คน และปรับหน่วยงานไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน

4) บทบาทของธนาคารอิสลาม ไอแบงก์ได้ไปขอคำแนะนำจากจุฬาราชมนตรีว่าให้เน้นที่สหกรณ์มุสลิม ให้การสนับสนุนการไปทำพิธีฮัจญ์ เป็นต้น โดยไอแบงก์จะเดินสายลงไปหาลูกค้าชาวมุสลิม อธิบายถึงสถานะและบทบาทของธนาคารในระยะต่อไป เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนชาวมุสลิมให้กลับมา

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ระบุถึงพันธกิจของไอแบงก์ว่า การประกอบธุรกิจทางการเงินในระบบสถาบันการเงินโดยทั่วไปผูกพันอยู่กับระบบดอกเบี้ย อันขัดหรือแย้งกับหลักการของศาสนาอิสลามซึ่งห้ามมิให้ดําเนินธุรกิจทางการเงินที่ผูกพันกับดอกเบี้ย จึงสมควรจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อประกอบธุรกิจทางการเงินและประกอบกิจการอื่นให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะส่งเสริมและสนับสนุนการระดมเงินออมและการ ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะเป็นการอํานวยประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ