ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > On the New Silk Road กิจการที่บริษัทจีนกำลังกว้านซื้อในต่างประเทศ

On the New Silk Road กิจการที่บริษัทจีนกำลังกว้านซื้อในต่างประเทศ

29 พฤศจิกายน 2016


English Version

นายชวี หงปิน ผู้บริหารร่วม ส่วนวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Greater China ธนาคารเอชเอสบีซี ได้รายงานวิจัยเรื่อง “On the New Silk Road กิจการที่บริษัทจีนกำลังกว้านซื้อในต่างประเทศ”ว่า

  • การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ เนื่องจากบริษัทจีนต้องการขยายธุรกิจไปสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่อง
  • การลงทุนเหล่านี้กำลังแผ่ขยายจากธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีและแบรนด์สินค้าผู้บริโภค
  • บริษัทเอกชนจีนแซงหน้ารัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นนักลงทุนหลักที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ

การซื้อกิจการในต่างประเทศของจีนเริ่มต้นจากธุรกิจวัตถุดิบ ขยายเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานและการผลิต และขณะนี้จีนกำลังเริ่มเปลี่ยนจุดสนใจไปที่แบรนด์สินค้าผู้บริโภครายใหญ่ ๆ และบริษัทไอที แนวทางการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่ธุรกิจด้านการบริโภคและบริการใน “เศรษฐกิจยุคใหม่” เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น การลงทุนในต่างประเทศของจีนแต่เดิมเคยถูกขับเคลื่อนโดยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจสำรวจแร่เหล็กและทองแดง แต่ขณะนี้กลายมาเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่แทนที่เข้าซื้อกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์จากสหรัฐและธุรกิจแฟชั่นจากยุโรป ควบคู่ไปกับการเข้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยบริษัทจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

One Belt One Road ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/04/One_Belt_One_Road.png/640px-One_Belt_One_Road.png
One Belt One Road ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/04/One_Belt_One_Road.png/640px-One_Belt_One_Road.png
ที่มาภาพ : http://china.org.cn/business/node_7207419.htm
ที่มาภาพ : http://china.org.cn/business/node_7207419.htm

บทวิจัยนี้ ศึกษารูปแบบที่เปลี่ยนไปของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนในหลายมิติ ได้แก่ ขนาด กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และภูมิศาสตร์ รวมถึงนัยที่มีต่อภาคการเงินของประเทศ นอกจากนี้ เราเพิ่มการรายงานข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับแนวคิด One Belt One Road ที่จะก่อให้เกิดเส้นทางสายไหมใหม่อีกด้วย โดยเราพบว่า

  • การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (นอกภาคการเงิน) ของจีน เติบโตร้อยละ 53.7 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 1.34 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่ามูลค่าการลงทุนของปี 2558 ทั้งปี อยู่ที่ 1.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
  • ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 การลงทุนของบริษัทเอกชน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศรวมของจีน
  • ปัจจุบัน บริษัทจีนให้ความสนใจลงทุนในยุโรปและสหรัฐเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการมองหาการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีและแบรนด์สินค้าผู้บริโภค
  • ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นธีมการลงทุนที่สำคัญ โดย One Belt One Road เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในปี 2558 แต่การลงทุนในด้านการผลิตต่างหากที่เติบโตในลักษณะเร่งตัวขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Multilateral financial institutions) กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามแนวเส้นทางสายไหมใหม่ ในขณะที่ธนาคารรัฐของจีนมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนมาอย่างยาวนาน ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในประเทศจีนควรจะคว้าโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้นจากการที่วิสาหกิจของจีนขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนระยะต่อไป

ก่อนจะย่างเข้าสู่ปี 2560 ภาพรวมในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังดูอึมครึมเล็กน้อย ถึงแม้ว่าการเติบโตของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง การลงทุนในกลุ่มประเทศแถบเส้นทางสายไหมใหม่ได้ชะลอลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนลดลงร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับการเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 66.2 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นย่อมจะเป็นสาเหตุหนึ่ง เช่น กรณี Brexit ดังนั้น การที่ภาวะการเลี่ยงความเสี่ยงมีมากขึ้นหมายถึงการลงทุนใหม่ ๆ มีแนวโน้มสูงที่จะไหลเข้าสู่ตลาดที่พัฒนาแล้วมากกว่าตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ ปี 2558 ที่มีฐานการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งก็พอจะอธิบายได้ถึงการเติบโตในอัตราต่ำลงในปีนี้

อย่างไรก็ดี เรามองว่ายังมีการพัฒนาการที่จะสนับสนุนกระแสการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในภูมิภาคอีกหลายประการ เช่น มีโครงการใหม่ ๆ จำนวนมากที่อยู่ระหว่างการเจรจา หรือรอประกาศเพื่อดำเนินการ ซึ่งย่อมจะหมายถึงการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในอนาคตที่มีเสถียรภาพ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) มีโครงการอยู่ระหว่างพิจารณาถึงกว่า 900 โครงการที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหม คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสะสมรวม 800 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟระหว่างจีน-ยุโรปหลายเส้นทาง เช่น กวางโจว-ยุโรป เซินเจิ้น-ฮัมบูร์ก เฉิงตู-มอสโคว์ ชิไห่-แอนท์เวิร์ป คาดว่าจะเปิด หรือ เปิดดำเนินการแล้วในปี 2559 โดยที่ผ่านมา รถไฟเส้นทางจีน-ยุโรปซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก 17 มณฑลในจีนมีทั้งหมด 29 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางรถไฟเหล่านี้จะช่วยเพิ่มกระแสการค้าและการลงทุนในอนาคตของภูมิภาคได้

beit-and-road

ในท้ายที่สุด ความช่วยเหลือทางการเงินกำลังทยอยเข้ามามากขึ้น สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ 2 แห่ง คือ กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (The Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ในขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยที่ผ่านมา ธนาคาร AIIB ได้ให้การสนับสนุนเงินกู้ยืมแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 6 แห่งในเอเชีย รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 829 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ธนาคาร AIIB จะร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำแห่งอื่น ๆ ของโลกในการสนับสนุนเงินกู้ขณะเดียวกัน กองทุนเส้นทางสายไหมได้สนับสนุนโครงการลงทุน 3 โครงการในปี 2558 และ 2559 โดยมีแผนจะใช้การลงทุนแบบผสมผสานระหว่างตราสารทุนและตราสารหนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือใน4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน อุตสาหกรรม และความร่วมมือด้านการเงิน นอกจากนี้ ธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในประเทศจีนยังได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมในโครงการ Belt and Road อีกด้วย

กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ที่มาภาพ : http://www.silkroadfund.com.cn/enwap/resource/cms/2015/11/2015110815590411662.jpg
กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ที่มาภาพ : http://www.silkroadfund.com.cn/enwap/resource/cms/2015/11/2015110815590411662.jpg

โดยสรุป จากการที่เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น หลายโครงการกำลังเดินหน้าสู่ขั้นตอนการเริ่มมปฏิบัติ การเชื่อมโยงระหว่างพรมแดนกำลังมีความซับซ้อนมากขึ้น และการสนับสนุนทางการเงินก็ค่อย ๆ มีเพิ่มขึ้น เราคาดว่าการลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศแถบเส้นทางสายไหมใหม่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพใน 2-3 ปีข้างหน้า