ThaiPublica > คอลัมน์ > เฟซบุ๊กกับการลำเอียงเข้าข้างตัวเอง (confirmation bias)

เฟซบุ๊กกับการลำเอียงเข้าข้างตัวเอง (confirmation bias)

21 พฤศจิกายน 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ไม่ทันข้ามวันนับจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่ลงสนามในนามพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ปี 2016 ชนิดหักปากกาเซียนทั้งโลกและโพลล์ทั้งหลาย นักวิเคราะห์แทบทุกคนก็ง่วนกับการหาคำตอบว่า “เกิดอะไรขึ้น”

หลายคนที่ช็อกกว่าใครเพื่อนดูเหมือนจะเป็นคนรุ่นใหม่ วัย 18-29 ปี หรือที่เรียกว่า “มิลเลนเนียล” (millennials) ที่เชียร์พรรคเดโมแครต ซึ่งวันนี้กลายเป็นฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย(มาก)ในสภา

เว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน สำนักข่าวชื่อดังจากอังกฤษ ลงข่าวน่าสนใจเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2016 ก่อนการเลือกตั้งหนึ่งเดือน อธิบายว่าเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ มีส่วน “ตอกย้ำ” ความลำเอียงทางการเมืองของชาวมิลเลนเนียลอย่างไร ผู้เขียนสรุปความและเรียบเรียงบางตอนมาเล่าสู่กันฟัง–

ภูมิทัศน์สื่อ (media landscape) บนเฟซบุ๊ก คือ เนื้อหาที่คนแชร์ คลิก และกดไลก์มากที่สุดคือสิ่งที่สอดคล้องกับอคติ สมมุติฐาน และความคิดทางการเมืองของผู้ที่เสพสื่อนั้นๆ

เฟซบุ๊กมีอิทธิพลสูงมากต่อชาวมิลเลนเนียล ผลการสำรวจของสถาบันวิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่าร้อยละ 61 ของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้อ่านข่าวการเมืองจากเฟซบุ๊กเป็นหลัก ทำให้เฟซบุ๊กซึ่งมีผู้ใช้ถึง 1,700 ล้านคนทั่วโลกเป็น “เวทีข่าว” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับมิลเลนเนียล แต่ระบบนิเวศของเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้ – ผู้ใช้ที่ไม่มีหรือแทบไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดทางการเมืองขั้วตรงข้ามกับตัวเองเลย!

เอมี มิทเชล (Amy Mitchell) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวารสารศาสตร์ของสถาบันวิจัยพิว อธิบายว่าจริงๆ แล้วคนวัยกลางคน หรือ เบบี้ บูมเมอร์ (baby boomers) มีแนวโน้มมากกว่าคนวัยอื่นที่จะได้เห็นเนื้อหาทางการเมืองบนเฟซบุ๊กที่ตรงกับความคิดความเชื่อของตัวเอง – ร้อยละ 31 ของคนกลุ่มนี้ สูงกว่ากลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และมิลเลนเนียล แต่เบบี้ บูมเมอร์ มีแนวโน้มน้อยกว่ามิลเลนเนียลมากที่จะได้ข่าวการเมืองจากเฟซบุ๊ก เพราะยังเสพสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ขณะที่มิลเลนเนียลเสพเนื้อหาทางการเมืองจากเฟซบุ๊กเป็นหลัก

สื่อที่คนต่างวัยในสหรัฐอเมริกาเสพ ที่มาภาพ: Pew Research Center
สื่อที่คนต่างวัยในสหรัฐอเมริกาเสพ ที่มาภาพ: Pew Research Center

การแห่กันแชร์ คลิก และกดไลก์เฉพาะเนื้อหาที่ “ตรงใจ” ตัวเอง รู้สึก “อุ่นใจ” ว่ามีคนอื่นไลก์และแชร์ตั้งเยอะแยะ มีส่วนทำให้เรายิ่งปักใจเชื่อว่าความคิดความเชื่อของเรานั้น “ถูกต้อง” แล้ว โดยไม่ระแคะระคายว่าตัวเองกำลังปิดกั้นมุมมองที่แตกต่าง และทำให้ความคิดตัวเองของคับแคบขึ้นเรื่อยๆ เพราะคุยแต่กับคนที่คิดเหมือนกัน (ผู้เขียนอยากเสริมว่า ยิ่งคิดคับแคบ ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะไปเยือนเนื้อหาของ(คนที่คิดเอาเองว่าเป็น) “ฝ่ายตรงข้าม” เพื่อรุม “ถล่ม” เอามันส์ ไม่ได้อยากจะไปแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นเพื่อเปิดโลกทัศน์ของตัวเองแต่อย่างใด)

นักจิตวิทยาบัญญัติศัพท์ “confirmation bias” หรือ “ความลำเอียงเข้าข้างตัวเอง” มาเรียกแนวโน้มที่เราทุกคนจะอ้าแขนรับข้อมูลใหม่ๆ เฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมของเรา ปฏิเสธข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ขัดหรือแย้งกับความคิดความเชื่อเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใดที่เราไปเจอเนื้อหาที่เราไม่ชอบบนเฟซบุ๊ก เราก็สามารถกดบล็อก อันเฟรนด์ หรือเลิกตาม (unfollow) คนคนนั้นหรือเพจเพจนั้นได้อย่างง่ายดาย แถมบริษัทเฟซบุ๊กเองก็ขยันป้อนแต่เนื้อหาที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของเราให้เห็นบนฟีด (feed) เพราะได้ค่าโฆษณาจากสปอนเซอร์ที่อยากตั้งเป้าโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย – ซึ่งข้อมูลมหาศาลของผู้ใช้ในมือของเฟซบุ๊กก็ทำให้สามารถเล็งเป้าได้ “แคบ” กว่าโฆษณาในสื่อชนิดอื่นๆ มาก

ผลลัพธ์สุดท้ายจึงหนีไม่พ้นการที่เฟซบุ๊กกลายเป็น “ห้องเสียงสะท้อน” หรือ echo chamber ห้องใหญ่ ที่เราได้ยินแต่เสียงตัวเอง (เสียงของคนอื่นมีค่าเท่ากับเสียงตัวเราเอง เพราะทุกเสียงเห็นตรงกันกับเรา) สะท้อนก้องไปมาอยู่ในนั้น

ในเมื่อมิลเลนเนียลสิงสถิตกันอยู่ในเฟซบุ๊ก จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็น “แหล่งรวบรวมข่าวออนไลน์” (news aggregators) ใหม่ๆ แปลกๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เฉพาะอเมริกาประเทศเดียวก็มีเพจเฟซบุ๊กที่ได้รับความนิยมสูงมาก อาทิ US Uncut, Occupy Democrats, Addicting Info, Make America Great และ The Other 98% แต่ละเพจมีจำนวนผู้ติดตามเป็นหลักล้าน กดไลก์กดแชร์เนื้อหากันถล่มทลายมากกว่าข่าวของสำนักข่าวกระแสหลักหลายเจ้า ยกตัวอย่างเช่น เพจ Occupy Democrats เพจซ้ายเกือบตกขอบ (วัดจากไม้บรรทัดการเมืองของอเมริกา) “แหล่งข่าว” ที่ผู้นิยม เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตชื่นชอบ มียอดคนกดไลก์เพจกว่า 4.5 ล้านคน มากกว่า MSNBC สื่อเอียงซ้ายกระแสหลักที่มีคนดูกว้างไกลกว่าในเฟซบุ๊กมาก ถึง 3 เท่า (MSNBC มียอดไลก์เพจ 1.6 ล้านคน)

เพจ Occupy Democrats บนเฟซบุ๊ก
เพจ Occupy Democrats บนเฟซบุ๊ก

“แหล่งรวบรวมข่าวออนไลน์” เหล่านี้ไม่ได้จ้างนักข่าวอาชีพมาทำข่าว ส่วนมากเพียงแต่รวบรวมลิงก์ไปยังคลิปวีดีโอ บทสัมภาษณ์ ข่าวและเนื้อหาจากแหล่งอื่นๆ ที่สะท้อนความคิดทางการเมืองของค่ายเดียวกัน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่า อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กจะทำให้คน “ใจแคบ” กว่าเดิม เพราะจะมีกี่คนที่อยากเปิดใจรับข้อมูลหรือความคิดเห็นที่แตกต่างจากตัวเอง ในเมื่อเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เห็นบนเฟซบุ๊กล้วนแต่ดูเหมือนจะยืนยันว่าความคิดของเราถูกต้องดีครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว?

หรือเราอาจถามด้วยภาษาของ เคธี โอนีล นักคณิตศาสตร์ที่ผู้เขียนสรุปแนวคิดมาตลอดสามตอนที่ผ่านมาว่า อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กเป็น “คณิตศาสตร์อานุภาพทำลายล้างสูง” หรือไม่?

ใช่ว่าทุกคนจะมองว่าเฟซบุ๊กกำลังทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียลใจแคบหรือมองโลกแบบ “สุดขั้ว” กว่าเดิม เจฟ จาร์วิส (Jeff Jarvis) อาจารย์วารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิตี้ กรุงนิวยอร์ก มองว่าเขายังไม่เห็น “หลักฐานที่เพียงพอ” ที่จะสรุปได้ว่าเฟซบุ๊กสร้าง “ห้องเสียงสะท้อน” หรือซ้ำเติมความลำเอียงเข้าข้างตัวเอง เขามองว่านักข่าวอาชีพที่เชื่อเช่นนี้อาจกำลังมีอคติต่อเฟซบุ๊กเสียเอง ด้วยความคิดแบบ “ยกตนข่มท่าน” ว่านักข่าวอาชีพนำเสนอเนื้อหาที่ “น่าเชื่อถือ” กว่าเนื้อหาที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กสร้างกันเอง เขาบอกว่าความคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักจำนวนมากก็เอียงขวาหรือเอียงซ้ายชัดเจน เพื่อเอาใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง

จาร์วิสเชื่อว่า เราไม่ควรดูถูกคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาคิดเองไม่เป็นและจะไม่แสวงหาแหล่งข่าวนอก “comfort zone” ของตัวเอง เพราะถ้าเราดูการโต้เถียงออนไลน์ตามกระทู้ต่างๆ ก็จะเห็นว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดต่างตลอดเวลาอยู่แล้ว

จริงไหม?

โปรดติดตามตอนต่อไป.