ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > อีไอซีวิเคราะห์ธุรกิจวัสดุก่อสร้างสีเขียว รับกระแสอาคารรักษ์โลก “green building”ของไทยเพิ่มพรวด

อีไอซีวิเคราะห์ธุรกิจวัสดุก่อสร้างสีเขียว รับกระแสอาคารรักษ์โลก “green building”ของไทยเพิ่มพรวด

17 พฤศจิกายน 2016


English Version

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง “เร่งปั้นวัสดุก่อสร้างสีเขียว รับกระแสอาคารรักษ์โลก” ได้รายงานว่า แม้การก่อสร้าง green building จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเพิ่มขึ้นของค่าเช่าอาคารนั้นเป็นสาเหตุให้ green building ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของจำนวนอาคารและพื้นที่การก่อสร้าง

อีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างโดยส่วนใหญ่มีการออกแบบและพัฒนาสินค้าของตนเองให้ตรงกับมาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) แต่มีเพียงผู้ประกอบการไม่กี่รายเท่านั้นที่มีการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างจริงจังว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นเป็น green materials ที่สามารถใช้ในการก่อสร้าง green building ได้ green building ในไทยยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างในสหรัฐฯ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนทั้งในรูปแบบของสิทธิพิเศษทางภาษีและการสนับสนุนด้านอื่นๆ

อาคารGreen Building SCG ที่มาภาพ : https://scgbuildingmaterials.com/
อาคารGreen Building SCG ที่มาภาพ : https://scgbuildingmaterials.com/

ท่ามกลางกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน อาคารเขียว (green building) หรืออาคารที่ได้รับการออกแบบมาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้งานทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้นเริ่มเป็นที่เห็นกันได้มากขึ้นในไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันผู้รับรองการเป็น green building อย่าง U.S. Green Business Council (USGBC) ผู้พัฒนามาตรฐาน Leading in Energy & Environment Design (LEED) ของสหรัฐฯ และ Thai Green Building Institution (TGBI) ผู้พัฒนามาตรฐาน Thai’s Rating of Energy and Environment Sustainability (TREE) ของไทย พบว่าจำนวนอาคารที่ได้รับการรับรองรวมถึงที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับรองให้เป็น green building ในไทยนั้นเพิ่มขึ้นมากในแต่ละปี จาก 6 อาคาร ในปี 2007 เป็น 243 อาคาร ในปี 2015 และคาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 294 อาคาร ในปี 2016 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 54% ต่อปี โดยมีพื้นที่การก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 4 หมื่นตารางเมตร ในปี 2007 เป็น 4.3 ล้านตารางเมตร ในปี 2015 และคาดว่าจะสูงเกิน 5.0 ล้านตารางเมตร ได้ในปี 2016 เติบโตเฉลี่ยถึง 71% ต่อปี (รูปที่ 1) ทั้งนี้ สามารถแบ่งประเภทของ green building ในไทยได้เป็นอาคารสำนักงานเกือบ 40% ร้านค้าปลีก ร้านขายของ 30% และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย โรงแรม และสถานศึกษาอีกประมาณ 30% (รูปที่ 2)

green-building1

green-building2

แม้ต้นทุนค่าก่อสร้าง green building จะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ประโยชน์ที่มากกว่าทำให้จำนวนอาคารขยายตัวขึ้นมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในด้านของต้นทุนการก่อสร้างพบว่า ค่าก่อสร้าง green building โดยเฉลี่ยในไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 20,700 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งสูงกว่าการก่อสร้างอาคารทั่วไปที่มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเท่ากับ 19,700 บาทต่อตารางเมตร หรือประมาณ 5.2% (รูปที่ 3) เนื่องจากการก่อสร้าง green building จำเป็นต้องมีการเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง การออกแบบอาคาร และงานระบบ รวมถึงค่าธรรมเนียมในการขอรับการรับรองตามมาตรฐาน LEED หรือ TREES ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

green-building3

อย่างไรก็ตาม เจ้าของ green building จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการใช้งานอาคารทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน โดยประโยชน์ในรูปตัวเงิน เช่น

1) การลดลงของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอาคาร เช่น ค่าไฟฟ้าและน้ำ ที่สามารถลดลงได้ราว 10% หรือประมาณ 90 บาทต่อตารางเมตรต่อปี ใน 1 ปี และสามารถลดได้สูงสุดราว 21% หรือประมาณ 180 บาทต่อตารางเมตรต่อปี ใน 5 ปี หลังการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ (รูปที่ 4) โดยตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างใกล้เคียงกับการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของ green building ที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง Energy Complex ซึ่งมีพื้นที่อาคารประมาณ 1.92 แสนตารางเมตร และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารอาคารได้ถึง 28 ล้านบาทต่อปี หรือราว 146 บาทต่อตารางเมตรต่อปี

2) อัตราค่าเช่าสำนักงานของอาคารที่สูงกว่าอาคารชั้นดีทั่วไปในพื้นที่เดียวกันอยู่ราว 30% หรือราว 230 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (รูปที่ 4)

green-building4

ในขณะที่ประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินนั้นสามารถวัดได้จากผลิตภาพของพนักงาน (productivity) ที่ทำงานอยู่ใน green building ที่สูงกว่าพนักงานที่ทำงานในอาคารทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนจากสถิติการลาและการเจ็บป่วยจากโรคภัยจากในอาคาร (sick building syndrome)

ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างควรปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐาน LEED และ TREES เพื่อรองรับความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green materials) ที่มากขึ้นตามการขยายตัวของ green building ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการควรนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาวัสดุก่อสร้างนั้นมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1) พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere: EA) เช่น การพัฒนากระจกอนุรักษ์พลังงานที่สามารถสะท้อนไม่ให้รังสีความร้อนเข้ามายังอาคาร ในขณะที่ยังยอมให้แสงผ่านเข้ามาในอาคารได้ เป็นการช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งจากเครื่องปรับอากาศและระบบแสงสว่างของอาคาร

2) วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources: MR) เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างให้มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล (recycled content) หรือในกรณีวัสดุก่อสร้างจำพวกไม้ก็จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (The Forest Stewardship Council: FSC) เพื่อลดความสิ้นเปลืองจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

และ 3) คุณภาพของสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality: IEQ) เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างจำพวกสีทาอาคาร ไม้แปรรูป และฉนวนกันความร้อน ให้มีการปล่อยสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) ในระดับต่ำ เนื่องจากสาร VOCs สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่อาศัยภายในอาคาร ทั้งโรคทางเดินหายใจ หรือทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย

ในปัจจุบันพบว่าวัสดุก่อสร้างของผู้ประกอบการบางรายนั้นมีคุณสมบัติตรงกับเกณฑ์การประเมินดังกล่าว หรือเรียกได้ว่าเป็น green materials แล้ว ไม่ว่าจะเป็น คอนกรีตผสมเสร็จ และกระจกฉนวนกันความร้อนโลว-อี ที่สามารถสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้ามายังภายในอาคารได้ สีทาอาคารที่ปล่อยสาร VOCs ในระดับต่ำมาก หรือ ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปที่ผ่านมาตรฐาน FSC เป็นต้น

ทั้งนี้พบว่ามีผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สื่อสารกับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นเป็น green materials รวมทั้งยังมีการนำเข้า green materials บางชนิดมาจากต่างประเทศ โดยวัสดุก่อสร้างจำพวกปูนซีเมนต์ คอนกรีต ไม้แปรรูป และกระเบื้องเซรามิก มีเพียงผู้ประกอบการอย่าง SCG เท่านั้นที่สื่อสารอย่างจริงจังว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็น green material ส่วนผลิตภัณฑ์จำพวกสีทาอาคารและสีทาบ้าน ก็พบว่ามีเพียง TOA เท่านั้นที่สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจนว่าเป็นสี Low VOCs ในขณะที่กระจกอาคารสำหรับ green building ที่นิยมใช้กระจกฉนวนกันความร้อนโลวอี 2-3 ชั้น นั้นพบว่าแม้ผู้ประกอบการบางรายในประเทศจะสามารถผลิตกระจกประเภทดังกล่าวได้ แต่การก่อสร้าง green building บางโครงการกลับเลือกที่จะนำเข้าจากต่างประเทศแทน เช่น ในการก่อสร้าง AIA Capital Center ที่เลือกนำเข้ากระจกจากสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพที่ดีกว่า

สุดท้ายแล้ว ความไม่ชัดเจนของการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา green building รวมถึง green materials ในไทย โดยในต่างประเทศนั้นพบว่า ภาครัฐมีมาตรการในการส่งเสริมการก่อสร้าง green building อย่างชัดเจน เช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุน green building ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น

green-building5
1) การลดภาษีรายได้ หรือภาษีสิ่งปลูกสร้างให้แก่เจ้าของอาคาร ทั้งนี้ อัตราการลดลงของภาษีนั้นอาจอยู่ในรูปแบบขั้นบันได อย่างในรัฐนิวยอร์ก (New York) หรือแบบคงที่อย่างในรัฐเนวาดา (Nevada) ตามระดับและอายุของ green building (รูปที่ 5)

2) การลดระยะเวลาการอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารอย่างในเมืองแซนดีเอโก (San Diego) ที่มีนโยบายในการลดระยะเวลาการอนุมัติการก่อสร้าง green building ประมาณ 7-10 วัน

และ 3) อนุญาตให้สามารถเพิ่มพื้นที่ก่อสร้างอาคารได้มากกว่าอาคารทั่วไปผ่านการปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) ให้มากขึ้นอย่างในเมืองอาร์ลิงตัน (Arlington) ทั้งนี้ การสนับสนุนดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการใช้ green materials ในสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2013 เป็น 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014 และคาดว่าจะขยายตัวถึง 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยเท่ากับ 9.5% ต่อปี

นอกจากนี้ รัฐบาลในบางประเทศยังให้การสนับสนุนผู้ผลิต green materials ผ่านสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและลดภาษีรายได้ให้กับบริษัทที่ผลิตคอนกรีตด้วยกระบวนการรีไซเคิล (recycled concrete) จากวัสดุก่อสร้างที่เหลือใช้ของจีน อย่างไรก็ตาม สำหรับในไทยนั้นกลับพบเพียงแค่การปรับเพิ่มค่า FAR ให้กับอาคารที่ก่อสร้างตามมาตรฐาน TREES ของ TGBI เท่านั้น โดยยังไม่พบการสนับสนุนในด้านของสิทธิพิเศษทางภาษี และการเร่งรัดการอนุมัติโครงการเหมือนที่ได้ยกตัวอย่างมาจากต่างประเทศ

อีไอซีแนะนำผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างว่าควรนำหลักเกณฑ์การประเมิน green building ตามมาตรฐาน LEED และ TREES มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาวัสดุก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวในความต้องการ green materials จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ green building ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ควรละเลยการสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นจัดเป็น green materials ที่สามารถใช้ในการก่อสร้าง green building ได้

รัฐบาลควรพิจารณามาตรการสนับสนุนการก่อสร้าง green building จากต่างประเทศเพื่อมาประยุกต์ใช้ในไทย ทั้งนี้ อาจเลือกการสนับสนุนบางรูปแบบที่คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการก่อสร้าง green building ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1) สิทธิพิเศษทางภาษี หรือ 2) การลดระยะเวลาสำหรับการอนุมัติให้ก่อสร้าง เป็นต้น