ThaiPublica > คอลัมน์ > Cosmos: A Spacetime Odyssey จักรวาลคือหลักฐานของความรุนแรง

Cosmos: A Spacetime Odyssey จักรวาลคือหลักฐานของความรุนแรง

19 พฤศจิกายน 2016


1721955

2

“มนุษย์ใช้เวลานับพันๆ ปีเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความรู้เรื่องจักรวาล ในหลายพันปีนั้นมีเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจโฉมหน้าของจักรวาลจริงๆ แต่ผิดถนัดหากคิดว่าคนสำคัญเหล่านั้นจะถูกยกย่องให้เป็นฮีโร่ในการไขความลี้ลับเหล่านี้ ตรงกันข้าม พวกเขากลับต้องแลกความรู้แจ้งมาด้วยการถูกจารึกว่าเป็นปีศาจร้าย พ่อมดหมอผี ผู้ต่อต้านพระเจ้า และขบถต่อศาสนจักร ซึ่งมีโทษตั้งแต่จำคุก ถูกทรมานสารพัดวิธีเท่าที่บรรดานักบวชคนดีในยุคมืดจะคิดค้นขึ้นมาได้ ไปจนถึงกับถูกเผาตายทั้งเป็นเลยก็มี”

คาร์ล ซาแกน ใน Cosmos: A Personal Voyage
คาร์ล เซแกน ใน Cosmos: A Personal Voyage

เรื่องเล่านี้ปรากฏอยู่ใน “Standing Up in the Milky Way” ตอนแรกของ Cosmos: A Spacetime Odyssey (2014) สารคดีทีวีชุด 13 ตอน ต่อจาก Cosmos: A Personal Voyage (1980) ซึ่งห่างกันนานถึงเกือบ 35 ปี โดยในชุดแรกมีพิธีกรเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาองค์การนาซา และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดัง คาร์ล เซแกน ส่วนในชุดหลังได้ นีล เดอ เกรสส์ ไทสัน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ผู้ได้รับแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ต่อมาจากเซแกนอีกที

เซแกนโด่งดังจากโครงการเซติ (The Search for Extraterrestrial Intelligence – SETI) อันเป็นการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลก ด้วยการตรวจตรา, เฝ้าระวัง, ตรวจจับสัญญาณจากห้วงอวกาศที่อาจส่งมาจากอารยธรรมต่างดาว ผลงานเด่นดังคือเขาเป็นผู้ริเริ่มการติดตั้งแผ่นป้ายโลหะ (Pioneer Plaque) บนยานไพโอเนียร์ 10 และแผ่นบันทึกเสียงทองคำบนยานวอยเอจเจอร์ (Voyager Golden Record) ที่เป็นเสมือนจดหมายจากโลกเพื่อพยายามจะติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว อันเป็นที่มาของนิยายวิทยาศาสตร์เล่มดังในปี 1985 ที่ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นหนังฮอลลีวูด เรื่อง Contact (1997)

Pioneer Plaque
Pioneer Plaque

ส่วน Cosmos: A Personal Voyage ก็คว้า 3 รางวัลเอ็มมี, รางวัลพีบอดี (รางวัลสูงสุดสำหรับผลงานที่มีเนื้อหาทางการศึกษายอดเยี่ยม) และรางวัลฮิวโก (รางวัลสำคัญด้านนิยายวิทยาศาสตร์) และตัวเซแกนเองนั้นก็คว้ารางวัลมาแล้วมากมาย รวมถึงรางวัลเหรียญตราพับลิกเวลแฟร์ อันเป็นรางวัลสูงสุดจากองค์การนาซา ในปี 1994 ในฐานะผู้อุทิศตนในการประยุกต์องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ

รางวัลเดียวกันนี้จากนาซา ยังได้มอบให้กับไทสันด้วยในปี2015 ซึ่งนอกจากไทสันจะเป็นที่ปรึกษาให้กับนาซาแล้ว เขายังเป็นผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลอง Hayden Planetarium อีกด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในนิวยอร์ก เขามีงานเขียนหลายเล่ม รวมถึง Origins: fourteen billion years of cosmic evolution (กำเนิดเอกภพ: จากวิวัฒนาการ 14,000 ล้านปี ถึงปัจจุบัน – ฉบับแปลไทย) เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ NOVA ScienceNOW นักจัดรายการวิทยุ StarTalk และคอลัมนิสต์ ในนิตยสาร Natural History กับ Star Date ภายใต้นามปากกาว่า “Merlin”

ส่วน Cosmos: A Spacetime Odyssey ก็ยังกวาดไปถึง 4 รางวัลเอ็มมี, รางวัลแอนนีแอนิเมชันชิ้นพิเศษยอดเยี่ยม, รางวัลคริติกชอยส์เทเลวิชันประเภทซีรีส์เรียลิตี้ยอดเยี่ยม กับพิธีกรรายการเรียลิตี้ยอดเยี่ยม, และรางวัลสูงสุดพีบอดี

ยานอวกาศใน Cosmos: A Spacetime Odyssey
ยานอวกาศใน Cosmos: A Spacetime Odyssey

อันที่จริงแล้ว สารคดีทีวีทั้งชุดของเซแกนกับไทสันมีเนื้อหาคล้ายกัน คือ เล่าความรู้เรื่องจักรวาลผ่านยุคสมัยต่างๆ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แต่ฉบับไทสันต่างไปตรงที่เป็นการอัปเดตข้อมูลที่มนุษย์รู้เพิ่มขึ้นในช่วง 35 ปีมานี้ รวมถึงมีการใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ ที่ให้ภาพจักรวาลดูสมจริงน่าติดตามยิ่งขึ้น

2 สิ่งที่เหมือนกันในสารคดีทั้ง 2 ชุด คือ การสมมติให้ผู้ชมไปนั่งอยู่บนยานอวกาศลำหนึ่งที่สามารถพาไปที่ไหนและเวลาใดก็ได้ กับอีกสิ่งคือ ปฏิทินจักรวาลที่บีบอัดเวลา 13,800 ล้านปี ให้ลงไปอยู่ใน 365 วัน โดยสมมติให้บิกแบง หรือวันกำเนิดจักรวาล เป็นวันที่ 1 มกราคม และให้ปัจจุบันเป็นเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม แล้วด้วยสเกลนี้ แต่ละเดือนในปฏิทินนี้จะมีเวลาเท่ากับ 1,000 ล้านปี หรือเท่ากับ 40 ล้านปีในแต่ละวัน อันเป็นวิธีที่ทำให้สารคดีชุดนี้เข้าใจง่ายขึ้นและดูสนุกยิ่งขึ้น

“จักรวาลตกอยู่ในความมืด 200 ล้านปี หลังจากบิกแบง จนกระทั่งดาวดวงแรกเปล่งประกายในวันที่ 10 มกราคม บนปฏิทินจักรวาล (เท่ากับ 400 ล้านปี หลังบิกแบง) แล้วในวันที่ 13 ดวงดาวต่างๆ ก็เริ่มจับกลุ่มกันกลายเป็นกาแล็คซี่เล็กๆ แต่กว่ากาแล็คซี่ของเราจะก่อตัวขึ้นก็ราว 11 พันล้านปีต่อมา หรือวันที่ 15 มีนาคม ในปีจักรวาล โลกถูกสร้างด้วยกลุ่มก๊าซและฝุ่นผงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ จากแรงปะทะชนกันครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้กลายเป็นซากปรักหักพังก้อนกลมๆ แล้วเมื่อโลกเริ่มเย็นตัวลง มหาสมุทรก็เริ่มก่อตัวขึ้นในราววันที่ 21 กันยายน ของปีจักรวาล หรือ 3.5 พันล้านปีก่อน แต่กว่าจะเกิดจุลชีพขึ้นบนโลกก็เมื่อผ่านไปนานถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน ก่อนจะมีต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์โบราณ และไดโนเสาร์ แต่เรายังคงไม่ปรากฏจนกระทั่งล่วงเข้าสู่วันสุดท้ายของปฏิทินจักรวาล เวลา 21.45 น. หรือ 3.5 ล้านปีนี้เอง มนุษย์จึงผุดขึ้นมาบนโลกใบนี้ และประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกมนุษย์บันทึกไว้ ทั้งสงครามและความรัก เหล่ากษัตริย์และเกมการต่อสู้ การโค่นบัลลังก์และการกดขี่ฆ่าฟันทำลายล้าง การอพยพและการประดิษฐ์คิดค้น ก็เกิดขึ้นในช่วงวินาทีสุดท้ายบนปฏิทินจักรวาลนี้เท่านั้นเอง”

ปฏิทินจักรวาล
ปฏิทินจักรวาล

สารคดีชุดนี้บอกเราว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กจ้อย สมาชิกรายล่าสุดในจักรวาลนี้เท่านั้น แล้วในขณะที่มนุษย์สร้างพระเจ้าขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการสร้างโลก เป็นแหล่งอำนาจเพื่อควบคุมมวลมนุษยชาติ เพื่ออธิบายว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล และมนุษย์เป็นพระฉายของพระเจ้า ในบรรดาผู้คนตลอดวินาทีสุดท้ายของปีจักรวาล มีเพียง ลูครีเซียส, นิโคลัส โคเปอร์นิคัส, จิออร์ดาโน บรูโน และกาลิเลโอ กาลิเลอี เท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดต่อความจริงที่พวกเขาได้ค้นพบว่า จักรวาลไม่ได้หมุนรอบตัวเรา และมนุษย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด

จักรวาลคือหลักฐานของความรุนแรง เพราะนอกจากคนเหล่านี้จะแลกความรู้มาด้วยความโหดเหี้ยมแล้ว จักรวาลเองก็ถูกแลกมาด้วยการโถมปะทะระเบิดอย่างรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่ามานานแสนนานนับหมื่นล้านปีด้วยเช่นกัน

จิออร์ดาโน บรูโน ในเรื่องถูกวาดเป็นแอนิเมชัน
จิออร์ดาโน บรูโน ในเรื่องถูกวาดเป็นแอนิเมชัน

สารคดีชุดนี้ถูกศาสนจักรจวกอย่างหนัก ทั้งกลุ่มคริสเตียนหัวรุนแรงที่ฮือขึ้นมาเดือดเพราะเนื้อหาขัดแย้งต่อบทปฐมกาลในไบเบิล ขณะที่ฟากคาทอลิกก็หัวฟัดหัวเหวี่ยงที่ดันไปขุดประวัติศาสตร์ฉาวโฉ่ออกมานำเสนอ โดยเฉพาะการเน้นเล่าเรื่องราวของจิออร์ดาโน บรูโน ที่ถูกล่าพ่อมดเผาเสียบประจาน เพียงเพราะเขายืนยันว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์

ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของมนุษย์ในเอกภพนี้ยังคงต้องดำเนินไปอีกยาวไกล ตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่เคยตระหนักได้สักทีว่า “โลกเป็นเพียงดาวดวงหนึ่งในแสนล้านกาแล็คซี และร่างกายของมนุษย์มีอะตอมมากกว่ากาแล็คซีทั้งหมดในจักรวาลที่เรารู้จักกัน”

นีล เดอ เกรสส์ ไทสัน
นีล เดอ เกรสส์ ไทสัน