ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกเผยไทยทำธุรกิจ “ง่ายขึ้น” จากอันดับ 49 เป็น 46 – แก้ปัญหาล้มละลายดีสุดในอาเซี่ยน

ธนาคารโลกเผยไทยทำธุรกิจ “ง่ายขึ้น” จากอันดับ 49 เป็น 46 – แก้ปัญหาล้มละลายดีสุดในอาเซี่ยน

26 ตุลาคม 2016


เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ธนาคารโลกเปิดรายงาน Doing Business 2017
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ธนาคารโลกเปิดรายงาน Doing Business 2017

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ธนาคารโลกเปิดรายงาน Doing Business 2017 จัดลำดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ ระบุประเทศไทยได้อันดับ 46 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3 อันดับ โดยมีคะแนนดีขึ้นจาก 71.42 คะแนน เพิ่มเป็น 72.53 คะแนน

สำหรับรายงานนี้ ธนาคารโลกได้ปรับวิธีการศึกษาใหม่โดยเพิ่มความเสมอภาคทางเพศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนเพื่อจัดอันดับ โดยมี 3 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การจดทะเบียนสินทรัพย์ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง รายงานพบว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ยังมีข้อจำกัดทางเพศใน 3 ตัวชี้วัดดังกล่าว

“การปรับวิธีการศึกษาใหม่ไม่ได้กระทบกับการจัดอันดับในปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากบางปัจจัยอาจจะไม่ได้มีน้ำหนักมากพอจะกระทบการทำธุรกิจ ดังนั้น การเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปียังคงใช้อันดับตามรายงานที่ได้ตีพิมพ์เป็นสำคัญมากกว่า ส่วนข้อมูลที่ปรับปรุงย้อนหลังจะใช้สำหรับการวิจัยศึกษาต่อไปในอนาคตภายในทีมวิจัยของธนาคารโลก” นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก กล่าว

ส่วนรายละเอียด ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจจนดีขึ้นอย่างชัดเจน 3 ด้านจากทั้งหมด 11 ด้าน ได้แก่ 1) การเริ่มธุรกิจในประเทศไทยสะดวกมากขึ้น (Starting Business) ด้วยการสร้างระบบการบริการจ่ายเงินลงทะเบียนจุดเดียวและลดระยะเวลาในการขอรับตราบริษัท ช่วยลดขั้นตอนการขออนุญาต 1 ขั้นตอน ลดระยะเวลาจาก 27.5 วันเป็น 25.5 วัน ส่งผลให้อันดับในปัจจัยนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 18 อันดับ จาก 96 เป็น 78 โดยมีคะแนนจาก 85.07 เพิ่มเป็น 87.01 คะแนน

2) การเข้าถึงสินเชื่อ (Getting Credit) โดยเริ่มให้ข้อมูลคะแนนสินเชื่อแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน ทำให้เพิ่มดัชนีความลึกของข้อมูลสินเชื่อจาก 6 เป็น 7 เต็ม 8 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อันดับเพิ่มขึ้น 15 อันดับ จาก 97 เป็น 82 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 5 คะแนน จาก 45 เป็น 50 คะแนน

3) แก้ไขปัญหาล้มละลาย (Resolving Insolvency) ด้วยการปรับโครงสร้างของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีของบริษัทให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้ความสำคัญกับฐานะการเงิน กระบวนการต่างๆ มีระยะเวลาลดลงจาก 2.7 ปีเหลือเพียง 1.5 ปี มีต้นทุนการจัดการลดลงจาก 36% ของมูลค่าสินทรัพย์เหลือเพียง 18% ส่งผลให้อันดับเพิ่มขึ้น 26 อันดับ จาก 49 เป็น 23 โดยมีคะแนนจาก 58.84 เป็น 77.08 คะแนน

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ประเทศไทยปรับปรุงได้ขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การปกป้องนักลงทุนรายย่อย (Protecting Minority Investors) มีอันดับเพิ่มขึ้น 9 อันดับ จาก 36 เป็น 27 โดยมีคะแนนจาก 63.33 เป็น 66.67 คะแนน, การค้าข้ามชายแดน (Trading Across Boarder) เพิ่มขึ้น 1 อันดับ จาก 57 เป็น 56 โดยมีคะแนนเท่าเดิมที่ 84.10 คะแนน และการบังคับใช้สัญญา (Enforcing Contracts) อันดับเพิ่มขึ้น 5 อันดับ จาก 56 เป็น 51 โดยมีคะแนนจาก 62.69 เป็น 64.54 คะแนน

ขณะที่ปัจจัยที่มีความยากและเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจมากขึ้นสูงที่สุด ได้แก่ การจ่ายภาษี (Paying Taxes) ที่อันดับลดลงไป 39 อันดับ จาก 70 เป็น 109 และมีคะแนนลดลงจาก 77.70 เหลือ 68.68 คะแนน

โดยในรายละเอียดพบว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่นำปัจจัยกระบวนการหลังยื่นภาษี เช่น การคืนภาษีหรือตรวจสอบการยื่นภาษี ซึ่งประเทศไทยได้คะแนนเพียง 47.32 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม เป็นตัวที่ฉุดอันดับของปัจจัยดังกล่าวลงมา นอกจากนี้ อัตราภาษีเพิ่มขึ้นจาก 27.5% เป็น 32.6% ระยะเวลาของกระบวนการภาษีเพิ่มขึ้นจาก 264 ชั่วโมงต่อปีเป็น 266 ชั่วโมงต่อปี อย่างไรก็ตาม จำนวนครั้งที่จ่ายภาษีได้ลดลงจาก 22 ครั้งต่อปีเหลือเพียง 21 ครั้งต่อปี แต่ไม่เพียงพอที่จะยกอันดับได้

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การเข้าถึงไฟฟ้า (Getting Electricity) อันดับลดลง 26 อันดับ จาก 11 เป็น 37 โดยคะแนนลดลงจาก 90.5 เป็น 83.22 คะแนน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าที่ยังล่าช้าอยู่บ้าง, การให้ใบอนุญาตก่อสร้าง ลดลง 3 อันดับ จาก 39 เป็น 42 แม้ว่าคะแนนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 75.64 เป็น 75.65 คะแนน, และการจดทะเบียนสินทรัพย์ (Registering Property) อันดับลดลง 11 อันดับ จาก 57 เป็น 68 อันดับ  โดยมีคะแนนลดลงจาก 71.33 เป็น 68.34 คะแนน

ทั้งนี้ ในอีกหนึ่งสัปดาห์ ธนาคารโลกจะออกรายงานเฉพาะประเทศไทย

นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก
นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก

สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รายงานพบว่า ประเทศในภูมิภาคฯ มากกว่า 2 ใน 3 จากทั้งหมด 25 ประเทศได้ดำเนินการปฏิรูป 45 เรื่องในปีที่ผ่านมา ทำให้การประกอบธุรกิจในภูมิภาคนี้มีความสะดวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ทำการปฏิรูปโดยเฉลี่ย 28 เรื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ดำเนินการปฏิรูปเพิ่มขึ้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น และมี 4 ประเทศในภูมิภาคฯ ที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน 10 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ นิวซีแลนด์ (1) ตามด้วย สิงคโปร์ (2) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (4) และ เกาหลีใต้ (5)

นอกจากนี้ ประเทศบรูไนดารุสซาลามและประเทศอินโดนีเซียยังเป็นอีก 2 ใน 10 ประเทศของโลกที่มีการปฏิรูปมากที่สุด โดยอินโดนีเซียได้ปฏิรูป 7 เรื่องในปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจง่ายขึ้นด้วยการลดจำนวนเงินทุนขั้นต่ำสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และยังได้ส่งเสริมให้มีการจองชื่อบริษัทผ่านระบบออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันการเริ่มต้นทำธุรกิจในกรุงจาการ์ตาจึงใช้เวลาเพียง 22 วัน เทียบกับ 47 วัน ในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ประเทศบรูไนดารุสซาลามได้ดำเนินการปฏิรูป 6 เรื่อง ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้นด้วยการนำระบบอัติโนมัติมาจัดการระบบการติดตามไฟฟ้าดับและการต่อเชื่อมกับไฟฟ้าใหม่ นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังสามารถขอใช้ไฟฟ้าได้เร็วขึ้นเนื่องจากการนำระบบพิจารณาการขอใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาใช้ ปัจจุบันนี้ ธุรกิจต่างๆ สามารถเชื่อมต่อไฟฟ้ากับโครงข่ายได้ในภายในเวลา 35 วัน เทียบกับ 56 วันในปีที่ผ่านมา

“การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ทำการปฏิรูปในด้านต่างๆ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจให้ดีขึ้น จากที่ได้มีการปฏิรูปที่สำคัญตั้งแต่ปีก่อน เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยังคงมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดบรรยากาศทางธุรกิจที่สะดวกสำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่น” นางริต้า รามาลโฮ ผู้จัดการ รายงาน Doing Business กล่าว

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำหรับภูมิภาคนี้ยังคงอยู่ที่ การเริ่มต้นธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ตัวอย่างเช่น โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 57 ชั่วโมงในการดำเนินการตามข้อบังคับเรื่องการค้าระหว่างประเทศในการส่งออก ซึ่งถือว่านานมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง

กรมบังคับคดีชี้การแก้ไขปัญหาการล้มละลายไทยดีสุดในอาเซียน

ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ได้เปิดเผยถึงรายงานดังกล่าวว่า กรมบังคับคดีมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ 9 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม และตัวชี้วัดที่ 10 ด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย (Resolving Insolvency) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในการจัดอันดับความความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก ซึ่งมีการจัดอันดับเป็นประจำทุกปี โดยวัดผลจากประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในรายงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีตัวชี้วัดในการจัดอันดับ 10 ตัวชี้วัด

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับในลำดับที่ 46 จาก 190 ประเทศ โดยมีอันดับที่ดีขึ้น 3 อันดับ จากเมื่อปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 49 จาก 189 ประเทศ และในตัวชี้วัดที่ 9 การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงที่กรมบังคับคดีดำเนินการร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม ประเทศไทยได้อันดับที่ดีขึ้น คือ อันดับที่ 51 จากอันดับที่ 57 เมื่อปีที่แล้ว ได้คะแนน 64.54 คะแนน ซึ่งคะแนนดีขึ้นจาก 62.69 คะแนนในปีที่แล้ว

และในตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ที่กรมบังคับคดีรับผิดชอบ ประเทศไทยได้อันดับที่ดีขึ้น คือ อันดับที่ 23 จากอันดับที่ 49 ในปีที่แล้ว ได้คะแนน 77.08 คะแนน ซึ่งคะแนนดีขึ้นจาก 58.84 คะแนนในปีที่แล้ว และอันดับของประเทศไทยในตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาการล้มละลายที่ประเทศไทยได้อันดับที่ 23 จาก 190 ประเทศ ถือว่าอันดับของประเทศไทยด้านนี้เป็นอันดับที่ดีที่สุดในอาเซียน (สิงคโปร์ได้อันดับที่ 29 และมาเลเซียได้อันดับที่ 46) และเป็นอันดับที่สี่ของเอเซีย (ญี่ปุ่นได้อันดับที่ 2 เกาหลีได้อันดับที่ 4 ไต้หวันอันดับที่ 22 และฮ่องกงได้อันดับที่ 28)

ปัจจัยหลักที่ส่งผลทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในภาพรวม และในตัวชี้วัดที่ 9 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และตัวชี้วัดที่ 10 ด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลายนั้น ได้แก่

1. กรมบังคับคดีได้ทำการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 การฟื้นฟูกิจการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้การแก้ไขปัญหาล้มละลายมีความสะดวกและง่ายขึ้น คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2558 ได้มีการลดขั้นตอน โดยกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ และมีการเปิดโอกาสให้มีการฟื้นฟูกิจการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นครั้งแรก โดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดเรื่องการฟื้นฟูกิจการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และได้นำหลักเกณฑ์สากล คือ การไม่สามารถชำระหนี้ มาใช้แทนการใช้หลักเกณฑ์เรื่องการมีหนี้สินล้นพ้นตัว

2. กรมบังคับคดีได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงาน เพื่อมุ่งให้เกิดความสะดวก ง่าย ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และประหยัด

3. กรมบังคับคดีได้ชี้แจงและนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ประเมินของธนาคารโลกได้อย่างละเอียดและชัดเจน และสามารถตอบคำถามต่างๆ และแสดงหลักฐานประกอบได้อย่างครบถ้วน

4. กรมบังคับคดีได้ประสานงานและสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับภาคเอกชนผู้ตอบแบบสอบถามอย่างต่อเนื่อง และได้ชี้แจงให้ภาคเอกชนได้ทราบถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกระบวนการทำงาน

กรมบังคับคดีจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน อันเป็นเป้าหมายของกรมบังคับคดีที่จะเป็นกลไกทางเศรษฐกิจในการเสริมสร้างให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทั้งทางแพ่งและล้มละลายที่ทันสมัย มีมาตรฐานสากล และกระบวนการบังคับคดีมีความสะดวก รวดเร็ว ง่าย และเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ และร่วมพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล