ThaiPublica > เกาะกระแส > Dine in the Dark คนตัวเล็กๆ ที่สร้างความยิ่งใหญ่ได้

Dine in the Dark คนตัวเล็กๆ ที่สร้างความยิ่งใหญ่ได้

30 ตุลาคม 2016


เส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกผลักดันและกำหนดกรอบให้ต้องทำอย่างชัดเจนตามเป้าหมายการพัฒนาแนวทางใหม่ขององค์การสหประชาชาติ เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนาของโลกนับจากนี้ไป 15 ปี ตั้งแต่กันยายน 2558 สิ้นสุดในปี 2573 ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย

ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องมาจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน นักวิชาการ และสังคมโดยรวม ไม่ใช่มีแต่ธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้นที่ทำได้และต้องทำ แต่คนตัวเล็กๆ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

จากงานสัมมนาของไทยพับลิก้าร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนาThailand SDGs Forum #2: Business 2030 Prepare For Your Future ด้วยโลกที่ไม่เหมือนเดิม ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรสู่ความยั่งยืนในอนาคต งานเสวนาในวันนั้นนอกจากถ่ายทอดมุมมองของธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังมีมุมมองของการทำงานกับคนเล็กๆ ที่สร้างผลลัพธ์ทางสังคม สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจได้เช่นกันในหัวข้อ How-to for the business in achieving SDGs? ทำอย่างไรที่จะทำธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายของ SDGs ได้

ในฐานะธุรกิจเล็กๆที่เป็นหน่วยเล็กๆ ในสังคม เป็น small player เราจะขับเคลื่อนสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ทั้งนี้มีตัวอย่างของ A Small Player with A Big Movement ของธุรกิจเล็กๆที่มาแลกเปลี่ยนให้ฟังเกี่ยวกับการทำธุรกิจอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย SDGs นั่นคือธุรกิจร้านอาหารในความมืด Dine in the Dark หรือชื่อ DID

นางสาวภัทราพร แย้มละออ กรรมการผู้จัดการด้านการเผยแพร่ความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้พูดคุยกับ Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID ว่า ธุรกิจร้านอาหาร “DID” ขนาดเล็กมี 35 ที่นั่ง นั่งรับประทานในความมืด จะมีไกด์ผู้พิการทางสายตามาคอยอำนวยความสะดวกลูกค้า ในเวลาปกติเขาอาจจะต้องพึ่งพาเรา กรณีอยู่ตามท้องถนนเราจะเป็นฝ่ายช่วยเหลือเขา แต่ที่นี่เราต้องพึ่งพาเขาแทน สลับหน้าที่กัน

Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID (ขวา) และนางสาวภัทราพร แย้มละออ กรรมการผู้จัดการด้านการเผยแพร่ความรู้  บริษัท ป่าสาละ จำกัด(ซ้าย)
Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID (ขวา) และนางสาวภัทราพร แย้มละออ กรรมการผู้จัดการด้านการเผยแพร่ความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด(ซ้าย)
Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID
Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID

Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID มาอยู่เมืองไทยหลายปีแล้ว เป็นลูกครึ่งสวิส-ฝรั่งเศส เกิดที่อังกฤษ เรียนจบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การพัฒนา การเมืองในระดับนานาชาติ กฏหมาย เป็นทนายด้านธุรกิจ มาทำงาน UNDP ที่เมืองไทย ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และกลับไปอยู่เป็นทนายที่อังกฤษ กลับมาที่เมืองไทยอีกครั้ง ปัจุบันเป็น Project Specialist ให้กับมูลนิธิเพื่อคนไทย และทำงานที่ร้าน DID

“จูเลียน” เล่าถึงไอเดียร้านอาหารในความมืดว่า ธุรกิจร้านอาหาร DID Dine in the Dark มาจากไอเดียการทำงานในภาค NGO มาตลอด มีความสงสัยว่าจะมีกระบวนการหารายได้อย่างไร หลายคนคงทราบว่าการหารายได้ของ NGO ไม่สม่ำเสมอ ค่อนข้างมีอุปสรรค จึงมองว่ามีเครื่องมืออะไรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่หารายได้มาใช้ในการทำงานอย่างยั่งยืน โดยการใช้การขายบริการ/ผลิตภัณฑ์ และยังคงสร้างคุณค่าทางสังคมได้ในเวลาเดียวกัน

ด้วยความที่เป็นคนสวิตเซอร์แลนด์ ร้านอาหารในความมืดที่แรกอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็เลยลองคิดว่าถ้าเอาคอนเซปต์ร้านอาหารในความมืด ที่มีการจ้างงานพนักงานที่เป็นผู้พิการทางสายตา มาปรับใช้กับบริบทของเอเชียจะทำยังไง

จริงๆ ร้านอาหาร หากบอกว่าทานข้าวในความมืด มืดมากแค่ไหน จูเลียนบอกว่ามืดมาก ถ้าใครเคยไปคงจะเข้าใจว่า มันจะไม่ใช่เราอยู่ในห้องนอนแล้วปิดไฟ มันมืดจริงๆ ข้อห้ามอย่างหนึ่งคือไม่สามารถเอาอุปกรณ์ที่ส่องแสงออกมาได้หรือมือถือเข้าไป ถูกเก็บตั้งแต่เราไปถึง พอไปถึงจะมีล็อบบี้ เราจะสามารถเลือกอาหารได้ เราจะไม่รู้ว่าทานอาหารอะไร แต่จะสั่งได้ว่าจะเอาประเภทอะไร เช่น อาหารไทย อาหารตะวันตก หรือมังสวิรัติก็สั่งได้

เราจะได้รับการแนะนำให้รู้จักไกด์ ซึ่งจะเป็นผู้นำทางเข้าไปในร้าน จะเกาะไหล่เข้าไป อาหารที่เสิร์ฟข้างในจะมีทั้งหมดสี่คอร์ส ต้องใช้ความสามารถพิเศษของเราในการเดาว่าเราทานอะไรไปบ้าง พอเราออกมาจากร้านอาหาร ทางพนักงานร้านอาหารจะนำภาพอาหารที่เราทานมาให้ดู หลายครั้งหลายคนจะเดาไม่ค่อยได้ เพราะปกติเราค่อนข้างจะใช้สายตาในการตัดสินรสชาติของอาหาร

ถ้าเราลองหลับตาแล้วทานข้าว เราก็ไม่พลาดตักใส่ปากอยู่ดี อาหารในร้าน DID กุ๊กหรือเชฟจะออกแบบให้เหมาะกับการทานในความมืดอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์เรา ว่าเราไม่ควรจับสิ่งนี้ในความมืด หรือว่าเข้าปากแล้วอันตราย ไม่มี

และคนมักจะถามบ่อยๆ คือราคาคนละ 1,450++ บาท โดยเฉลี่ยลูกค้าจะทานประมาณ 2,000 กว่าบาทขึ้นไปต่อคน แต่ไม่รวมค่าเครื่องดื่มต่างๆ

ที่มาภาพ : https://th.tripadvisor.com/Restaurant_Review
ที่มาภาพ: https://th.tripadvisor.com/Restaurant_Review

ตอนเริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2555 ตั้งอยู่ที่โรงแรมแอสคอทที่ถนนสาทร แต่มีเหตุขัดข้องบางประการเลยย้ายไปที่โรงแรงเชอร์ราตัน แกรนด์ อโศก-สุขุมวิท ในปี 2557 และในปี 2556 ก็ไปเปิดสาขาที่พนมเปญ ซึ่งเล็กกว่ามาก

เมื่อถามว่า เขามองเรื่องความสำเร็จของ DID อย่างไรบ้าง จูเลียนบอกว่า จริงๆ เขาอยากให้ DID เป็นกิจการเพื่อสังคมด้วย จึงมีวัตถุประสงค์สองด้าน คือ

1. ด้านธุรกิจ คือ จะอยู่อย่างยั่งยืนทางการเงินได้อย่างไร เขาบอกว่า ที่ร้านมีที่นั่งประมาณ 35 ที่ แต่รองรับได้ถึงวันละ 85 คน หัวละสองพันกว่าบาท ร้านเปิด 5 วัน/สัปดาห์ ทั้งหมดเกิดจากการลงทุนที่ใช้เงินน้อยมาก เนื่องจากร้านอาหารในความมืดจะใช้เงินในการลงทุนน้อยกว่าร้านอาหารกว่าปกติ เพราะหลายๆ รายละเอียดคนจะไม่ได้เห็น ไม่ว่าโต๊ะ เก้าอี้ หรือประเภทของจานต่างๆ การตกแต่งภายในอาจจะไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก

2. ประเด็นของการสร้างคุณค่าทางสังคม เขามีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ

1) ความตระหนักรู้และความสามารถของผู้พิการทางสายตา ถ้าใครได้ไปที่ร้านอาหาร จะเห็นว่าบทบาทจะต่างกัน ในโลกภายนอกปกติ เราต้องช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา แต่ถ้าอยู่ในร้านเขา เราจะช่วยตัวเองไม่ได้ เขาจะต้องช่วยเหลือเราแทน ทำให้เราเข้าใจความท้าทายในชีวิตของเขามากขึ้น และเข้าใจว่าจริงๆ เขาก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่เราทำไม่ได้

2) การฝึกฝนและพัฒนาความสามารถของผู้พิการทางสายตา เพราะการที่จะมาอยู่ที่ร้าน DID ได้ต้องผ่านการอบรมต่างๆ มากมาย หากใครได้ไปใช้บริการโรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพฯ จริงๆ กว่าจะเป็นพนักงานได้ก็ต้องจำรายชื่อไวน์ รู้วิธีในการเสิร์ฟ และพนักงานที่นี่ก็ต้องผ่านการฝึกเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน

และเรื่องที่ 3) การสร้างงาน พนักงานที่นี่ค่อนข้างมีความสามารถสูง ถ้าไม่ทำงานที่นี่เขาก็มีงานทำที่อื่นอยู่แล้ว แต่อยากสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีให้ผู้พิการทางสายตา

เมื่อถามว่าเรื่องผลประกอบการทางการเงินและผลลัพธ์ทางสังคมสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนไหม จูเลียนบอกว่ารายได้อยู่ได้ค่อนข้างดี และร้านอาหาร DID ติดอันดับท็อปเท็นร้านอาหารในกรุงเทพฯ มาตลอดตั้งแต่เปิดร้านที่เชอราตันฯ มา รวมไปถึงการเปิดที่พนมเปญ กัมพูชา ด้วย ถ้าใครมีโอกาสได้ไป และเสิร์ชหาร้านอาหารในทริปแอดไวเซอร์ (TripAdvisor) ก็จะเจอ DID อยู่ใน 10 อันดับแรกตลอด

เมื่อถามว่ามีวิธีอย่างไรที่จับมือกับโรงแรมเชอราตันฯ ซึ่งเชอราตัน แกรนด์ ที่อโศก เป็นระดับ 5 ดาว และการที่อยู่ๆ เสนอไอเดียที่แปลกว่าเป็นร้านอาหารในความมืด และจ้างงานคนพิการทางสายตา ทำไมบริษัทใหญ่ๆ ถึงร่วมมือด้วย เขาบอกว่าช่วงแรกๆ ก็ไม่ง่าย กว่าที่จะตกลงกันได้ ก็มีความท้าทายอยู่หลายประการ เชอร์ราตันฯ มองเห็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด การสร้างแบรนด์ สามารถช่วยได้ ทั้งฐานลูกค้าเดิมของเชอร์ราตันฯ ที่มีอยู่แล้ว หรือลูกค้าใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยมาเชอราตันฯ

ในส่วนที่เป็นเรื่องการเงิน เป็นธุรกิจมีกำไร ก็เป็นตัวที่น่าสนใจว่าควรเอาไอเดียนี้มาทำ เดิมทีเชอราตันฯ ทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาจ้างงานผู้พิการ แต่เคยมีการจ้างผู้พิการทางการได้ยินอยู่แล้ว 3 คน จึงไม่ใช่ไอเดียใหม่ของเขา และจูเลียนเสนอว่า หากจะซื้อไอเดียร้านอาหารในความมืด จะต้องมีการจ้างงานผู้พิการทางสาตาไปด้วย พอทำไปปีกว่าๆ ก็พอใจในการทำงานด้วยกันทั้งคู่ เชอราตันฯ ก็ได้ประโยชน์ จูเลียนก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกการทำร้านอาหาร DID ทำธุรกิจเพื่อสังคม เขาบอกว่าเดิมไม่ได้มีเป้าชัดเจน จูเลียนทำอะไรมาหลายอย่าง เขาเคยจัดงานเทศกาลดนตรีที่ขายตั๋วและทุกครั้งแบ่ง 30% ของรายได้เพื่อบริจาคการกุศล เขาก็เริ่มมองว่ามันมีวิธีหลายวิธีที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าจัดงานเองก็อาจจะทุกๆ สามเดือนหรืออาจจะหกเดือน ก็จะไม่ต่อเนื่อง ก็เลยเริ่มมองหาโอกาส และคิดว่าร้านอาหารน่าจะเป็นโอกาส รวมถึงการมองเห็น เหมือนจับผผลัดจับพลู

แต่จากการเริ่มทำงานกับผู้พิการทางสายตา มีโอกาสได้เข้ามาใกล้ชิดผู้พิการทางสายตา ก็เริ่มเห็นว่าเขามีปัญหาในการจ้างงาน รวมไปถึงเขาก็มีความสามารถมากมาย ก็เลยเป็นโอกาสทางการตลาดบวกกับเรื่องคุณค่าทางสังคม ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ทดลองมา 2-3 ปี จนเจอว่าใช้โมเดลนี้ในการทำให้มันยั่งยืนได้ มากกว่าที่จะออกตัวว่าใช้โมเดลนี้มาตั้งแรก

เมื่อถามว่ามีลูกค้าประจำมากน้อยแค่ไหน เขาบอกว่ามีลูกค้ากลับมาพอสมควร และมีนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก และต้องจองล่วงหน้า มีพนักงาน 13-14 คน ส่วนเชฟเป็นคนสายตาปกติ

Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID และทีมงานที่มาร่วมเสวนา
Julien Wallet-Houget ผู้ก่อตั้ง DID และทีมงานที่มาร่วมเสวนา

เมื่อถามว่ามีแผนที่จะขยายกิจการไหม และขยายโดยผู้พิการทางสายตาได้หรือไม่ โดยให้เขาสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง จูเลียนบอกว่าเป็นไอเดียที่คิดอยู่ เพราะถ้าขยาย DID คิดว่าที่พนมเปญก็มีความต้องการเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เป็นตลาดเล็ก คืนหนึ่งที่กรุงเทพฯ สามารถสร้างรายได้เท่ากับหนึ่งเดือนที่พนมเปญ เพราะขนาดตลาดแตกต่างกัน แต่เขามองเห็นศักยภาพของผู้พิการทางสายตา ถ้าทำงานในร้านอาหารในความมืดได้ ทำไมจะทำงานในร้านอาหารปกติไม่ได้

“ผู้พิการทางสายตามีศักยภาพอยู่แล้ว ถ้ามีองค์ความรู้ทางด้านการประกอบการธุรกิจ หรืออาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยหลายท่านก็เป็นผู้พิการทางสายตา ก็มีโอกาสที่จะทำได้”

จูเลียนบอกว่าเขาอาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการทำธุรกิจอาหาร ถ้าเราปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ผู้พิการทางสายตาก็อาจจะมีโอกาสทำงานในร้านอาหารเหมือนคนทั่วๆ ไปได้ ซึ่งถ้าใครที่สนใจจะหาไอเดียหรือลงทุนด้วยกันก็คุยกับเขาได้

ส่วนทีมงานผู้พิการทางสายตาของDID ซึ่งเป็นไกด์ผู้นำทางในร้านอาหารเล่าว่า “มีลูกค้ากลับมาเยอะพอสมควร มีนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลกมากันเยอะ แต่ต้องจองล่วงหน้า ถ้าไม่จองอาจจะต้องรอนาน การทำงานที่นี่แตกต่างจากที่อื่น ก่อนหน้านี้เคยทำงานในตำแหน่งโอปอเรเตอร์ แค่นั่งรับโทรศัพท์ ว่างๆ ก็มีถอดเทปบ้าง แต่ที่นี่ได้พูดคุยกับผู้คน ได้เคลื่อนไหวไปมา โดยถ้าอยู่ข้างนอกเราต้องอาศัยพวกคุณ แต่ข้างในเราดูแลคุณ แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นและได้ใช้ศักยภาพที่เรียนมา คือได้ใช้ภาษา อีกอย่างคือเราก็จะได้รู้ว่าคนข้างนอกมองยังไง ในการที่มีเราในสังคมด้วย”