ThaiPublica > คอลัมน์ > สรุปนโยบายเศรษฐกิจของคลินตันและทรัมป์

สรุปนโยบายเศรษฐกิจของคลินตันและทรัมป์

27 ตุลาคม 2016


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ :  http://fivethirtyeight.com/
ที่มาภาพ : http://fivethirtyeight.com/

ณ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559 simulation จากเว็บไซต์ fivethirtyeight ทำนายว่า ฮิลลารี คลินตัน มีโอกาสเอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ถึง 84 เปอร์เซ็นต์

แต่ด้วยความผ่าเหล่าของนโยบายที่ทรัมป์เคยเสนอต่อประชาชน และด้วยกิริยาท่าทางแนวคิดและคำพูดทั้งในและนอกการดีเบตของเขา ทำให้ “ความเป็นไปได้” ที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งยังเป็นอะไรที่หลายคนจะต้องกังวลไปอีกสองอาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

แม้ว่าในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมานี้นโยบายการเงินจะเป็นเหมือนพระเอกคนเดียวในการช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์หลากค่าย (และจากธนาคารกลางเอง) มองว่านโยบายการคลัง (fiscal policy) ที่สั่งตรงจากทำเนียบขาวจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทิศทางของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกนี้จะสามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอนในช่วง 10 ปีข้างหน้า

บทความนี้คัด 3 นโยบายเศรษฐกิจของผู้สมัครทั้งสองมาเพื่อสรุปและวิเคราะห์อย่างสั้นๆ ว่าเราควรจะคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเขาอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

คลินตัน 1: กฎหมายภาษีใหม่แบบ “โรบินฮูด”

การปฏิรูปนโยบายภาษีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของคลินตัน โดยมีสองใจความหลักๆ คือ

หนึ่ง จะมีการขึ้นภาษีของบุคคลที่มีรายได้สูงจากหลายช่องทาง เช่น “ภาษีบุฟเฟ่ต์” ที่หากใครมีรายได้ทั้งปีรวมแล้วสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์ จะต้องเสียภาษีอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 30% ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไปจนถึงการเก็บ “ภาษีคนมหารวย” แยกเพิ่มเป็นแบบ “a la carte” อีก 4% สำหรับคนที่มีรายได้เกิน 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี

สอง คือ จะมีการปิดช่องโหว่ภาษีมากมายเพื่อแก้พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของเหล่าบริษัทที่เคยเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมายมาก่อน ให้กลับมาเสียภาษีเพิ่มให้กับสหรัฐฯ ถือเป็นการบังคับให้ภาคเอกชนจ่ายภาษีอย่างแฟร์ขึ้น

หากทำทั้งหมดนี้ได้จริงๆ Moody’s Analytics คำนวนแล้วว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นทั้งหมดราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสิบปี และที่สำคัญคือ เกือบทั้งหมดนี้จะถูกไฟแนนซ์โดยกลุ่มครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุด 5% ของครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น ชนชั้นกลางและล่างแทบจะไม่รู้สึกถึงระบบภาษีใหม่ที่คลินตันนำเสนอ

ฮิลลารี คลินตัน ที่มาภาพ : http://www.washingtontimes.com/news/2015/dec/9/clinton-launches-trump-tweaking-quiz-campaign-site/
ฮิลลารี คลินตัน
ที่มาภาพ : http://www.washingtontimes.com/news/2015/dec/9/clinton-launches-trump-tweaking-quiz-campaign-site/

คลินตัน 2: ใช้จ่ายเพื่อส่วนรวมและปั้นเศรษฐกิจอนาคต

คลินตันไม่ได้มุ่งเน้นว่าจะเอาเงินภาษีใหม่ที่ได้มาลดการขาดดุลการคลัง (fiscal deficit) แต่หวังจะเอาเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้ไปลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติหลักๆ ต่อไปนี้

หนึ่ง คือ จะเอาเงินกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ไปลงทุนกับการพัฒนาการศึกษาชั้นปฐมวัยและชั้นก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะในรูปแบบของทุนการศึกษา universal preschool สำหรับเด็กอายุ 4 ขวบทั่วสหรัฐฯ และกองทุนช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา

สอง คือ ลงทุนราว 3 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงและสร้าง infrastructure ใหม่ๆ เช่น ถนนหนทางและการคมนาคมในประเทศ ซึ่งชาวอเมริกันทราบดีว่าถึงเวลารื้อของเก่าแล้วเพราะคุณภาพสู้เมืองใหม่ๆ ในเอเชียไม่ได้แล้ว

สาม คือ เอาอีก 3 แสนล้านดอลลาร์ ไปสนับสนุน paid family leave นั่นแปลว่าชาวอเมริกันจะสามารถลาไปเลี้ยงบุตรและยังได้ค่าตอบแทนอย่างน้อยคือ 2 ใน 3 ของเงินเดือนปกติ โดยคาดว่านโยบายนี้จะสามารถลดต้นทุนของการทำงานและเพิ่มอัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงานได้

คลินตัน 3: อ้าแขนรับแรงงานต่างแดน

คลินตันสัญญาว่าจะผลักดันกฎหมายปฏิรูปการตรวจคนเข้าเมืองอย่างเต็มที่ โดยจะมีข้อเสนอมากมายเพื่อดึงดูดให้แรงงานที่มีทักษะสูงและเป็นที่ต้องการ (เรียนจบปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์ หรือจบปริญญาเอกในสาขาใดก็ได้) เข้ามาทำงานในสหรัฐฯ มากขึ้นและเป็นระยะเวลาได้นานขึ้น บวกกับมีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนบุคคลที่สามารถขอ Green Card ต่อปีได้มากขึ้นอีกด้วย ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการนำระบบเก็บแต้ม (ใครการศึกษาดี พูดอังกฤษได้ดี ได้แต้มมากกว่า) เข้ามาใช้พิจารณาด้วยว่าใครสมควรได้รับสัญชาติอเมริกัน

นอกจากนี้ คลินตันยังเคยเสนอนโยบายโอบรับแรงงานไร้ทักษะเพิ่มขึ้นด้วย (แม้จะถูกคัดค้านอย่างรุนแรง) ว่าจะพยายามทำให้แรงงานนอกระบบที่ปกติก็ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ สามารถเคลียร์ตัวเองเพื่อบรรจุเป็นสัญชาติอเมริกันได้อย่างถูกกฎหมาย

ทั้งหมดนี้จะทำให้สหรัฐฯ มีจำนวนประชากรมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและยาว จะมีแรงงานทั้งที่มีทักษะและที่ไร้ทักษะจำนวนมากขึ้น อุปสงค์ก็จะมากขึ้นตามธรรมชาติ อีกทั้งการดึงดูดให้แรงงานมีทักษะเข้ามาได้ง่ายเป็นพิเศษก็จะมาเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว

ทรัมป์ 1: ปฏิรูปนโยบายภาษีเพื่อคนรวย

ในขณะที่คลินตันต้องการชึ้นภาษีเพื่อเพิ่มกำลังทุนในการลงทุนในโปรเจกต์ใหม่ๆ ของรัฐบาล จากการแถลงนโยบายภาษีเมื่อวันที่ 15 กันยายน ทรัมป์ต้องการ “หั่น” ภาษีเงินได้ให้กับชาวอเมริกันทุกชนชั้นและลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง ซึ่งสถาบันวิจัยเชิงนโยบาย Tax Foundation คำนวณว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รายได้ของชาวอเมริกันที่ยากจนที่สุด 80 เปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มขึ้นราว 0.8 ถึง 1.9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มคนมหารวยทอป 1 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับเงินหลังภาษีเพิ่มขึ้นราว 10 ถึง 16 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาอยู่ที่ว่า หากไม่มีเงินภาษีที่เคยเข้าไปหล่อเลี้ยงโครงการที่มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การศึกษาหรือ infrastructure ผลผลิตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลดลงอย่างแน่นอน

แต่หากทรัมป์ไม่ยอมลดรายจ่ายเหล่านี้ทั้งๆ ที่ก็ต้องการลดภาษี (ด้วยความกังวลว่าจะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ) จะมีโอกาสที่ภาวะการขาดดุลการคลัง (fiscal deficit) ของสหรัฐฯ จะทะยานทะลุเมฆขึ้นไปอีกที่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจสร้างความผันผวนในตลาดบอนด์ และเราอาจได้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่เด้งสูงขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อเจ้าหนี้

นั่นก็คือ จากการลดภาษีครั้งนี้ ทรัมป์จะต้องเลือกระหว่างการขยายตัวที่ติดขัดไปหลายปีเพราะรายจ่ายรายการสำคัญลดลง หรือเลือกภาวะความตื่นตระหนกในตลาดบอนด์ที่ยังไม่มีใครทราบว่าจะกลายพันธุ์ไปเป็นอะไรต่อ

ทรัมป์ 2: ปิดรับแรงงานต่างถิ่น

ในขณะที่คลินตันต้องการดึงดูดแรงงานต่างถิ่นเข้ามาเสริมทัพเศรษฐกิจ ทรัมป์ต้องการปิดกั้นและลดจำนวนแรงงานต่างถิ่นผ่านทางสองช่องทางหลัก หนึ่ง คือ มาตรการ “ไม้แข็ง” ตรวจจับแรงงานผิดกฎหมายเพื่อส่งกลับประเทศ สอง คือ ทำให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานต่างถิ่นถูกกฎหมาย (เช่น ผู้ถือวีซ่า H-1B) ได้ลำบากขึ้น โดยการเพิ่มความยากในการพิสูจน์ให้ได้ว่าบริษัทอเมริกันหาชาวอเมริกันมาทำงานนี้ไม่ได้จริงๆ ก่อนเปิดตำแหน่งให้แรงงานต่างถิ่น

สถาบันวิจัยเชิงนโยบาย American Action Forum คำนวนไว้ว่า นโยบายแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากในการไล่จับและขับไล่แรงงานนอกระบบกว่าสิบล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ จะสูญเสียแรงงานไปในจำนวนมาก ซึ่งสถาบันวิจัยนี้คาดว่าในระยะ 20 ปีจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สูญเสียแรงงานไปราว 11 ล้านคนและลด GDP ลงถึงกว่า 5.7 เปอร์เซ็นต์

โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาภาพ : https://static01.nyt.com/images/2015/09/16/us/16antitrump/16antitrump-master1050.jpg
โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาภาพ : https://static01.nyt.com/images/2015/09/16/us/16antitrump/16antitrump-master1050.jpg

ทรัมป์ 3: เปิดสงครามการค้า สั่งสอนจีนและเม็กซิโก

ในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าทรัมป์ต่อต้านการเจรจา NAFTA และ TPP มากกว่าคลินตัน (แม้ว่าเธอจะกล่าวอยู่เสมอว่าเธอไม่เห็นด้วยกับ TPP ในลักษณะที่มันเป็นอยู่ในขณะนี้) และต้องการปกป้องแรงงานอเมริกันด้วยการสั่งสอนประเทศจีนหรือประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่เคยดำเนินนโยบายการค้าแบบตุกติก

“การสั่งสอน” นั้นมีตั้งแต่การเจรจา NAFTA ใหม่เพื่อขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศเม็กซิโกไปที่ 35 เปอร์เซ็นต์ กดดันประเทศจีนไม่ให้ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าเกินจริง เพิ่มกำลังพลทหารในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศจีนไปที่ 45 เปอร์เซ็นต์

จริงอยู่ที่งานวิจัยล่าสุดพบว่า การค้ากับประเทศจีนเคยทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตตกงานไปกว่าหนึ่งล้านคนภายในแค่ระหว่าง ค.ศ. 2000 กับ ค.ศ. 2007 แต่สิ่งที่ทรัมป์คิดจะทำนั้นผ่าเหล่าเกินไป และจะย้อนศรมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

หนึ่ง คือ เมื่อทรัมป์เริ่มเปิดสงครามการค้า ประเทศจีนและเม็กซิโกจะโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหมือนกัน บริษัทอเมริกันทั้งหลายที่ทำการค้ากับสองประเทศนี้จะถูกกระทบเพราะขาด access ต่อตลาดส่งออกสำคัญ อาจถึงขั้นต้องโละแรงงานชาวอเมริกันที่ทรัมป์ต้องการจะช่วย เศรษฐกิจคู่ค้าของสหรัฐฯ เองก็จะถูกกระทบ จึงไม่แปลกที่เงินเปโซเม็กซิกันและแคนาดาดอลลาร์ถึงอ่อนไหวต่อทุกความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงโอกาสที่ทรัมป์จะเอาชนะคลินตันได้

สอง คือ เศรษฐกิจภาคอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งออกเลยสักนิดก็ยังสามารถถูกกระทบอีกต่อหนึ่งได้ด้วย เพราะการนำเข้าวัตถุดิบจะมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งแรงงานในภาคส่งออกก็จะเริ่มไม่มีรายได้ไปอุดหนุนธุรกิจอื่นๆ ในประเทศ อุปสงค์ก็จะแผ่วลงในหลายๆ ส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

Peterson Institute for International Economics พบว่า การใส่นโยบายการค้าของทรัมป์เข้าไปในโมเดลเศรษฐกิจจำลองทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นถึงเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โตแค่ -0.1 เปอร์เซ็นต์ภายในแค่สามปีหลังการเลือกตั้ง

สรุป

นโยบายเศรษฐกิจของคลินตันและทรัมป์แตกต่างกันมากถึงขั้นที่ยากจะเชื่อว่าผู้สมัครสองคนนี้กำลังหาเสียงในประเทศเดียวกัน

ทรัมป์มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยนโยบายที่พูดง่าย ถูกต้องในบางมิติ แต่สมการเศรษฐกิจไม่บาลานซ์ และเป็นนโยบายที่ทำแล้วมีโอกาสบานปลายไปทั่วทุกมุมโลกในรูปแบบที่ไม่มีใครเคยเห็น (หรืออยากเห็น) โดยรวมแล้วทุกฝ่ายฟันธงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดิ่งลงเหวแน่นอน

ส่วนคลินตันมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาวและต้องการลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยในขณะเดียวกัน โดยพลังของการขับเคลื่อนของนโยบายการคลังเกือบทั้งหมดจะมาจากการ “ปล้นคนรวยเพื่อใช้จ่ายให้คนส่วนมาก” ซึ่งผลโดยรวมของนโยบายหลักๆ คือจะทำให้คนส่วนมากมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีทักษะเพิ่มขึ้น บ้านเมืองมี infrastructure ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังจะมีแรงงาน “หน้าใหม่” เข้ามาสมทบอีกด้วย กลุ่มคนรวยแม้จะมีรายได้ลดลงแต่ผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวมไม่น่าเป็นห่วงนัก หากนโยบายที่สัญญาไว้ทำได้อย่างมีคุณภาพจริง มีการคาดไว้ว่านโยบายของคลินตันจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ในอัตราที่เร็วขึ้นและแข็งแกร่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยในช่วง 10 ปี ข้างหน้า

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าสองผู้สมัครจะสามารถเนรมิตนโยบายของตนออกมาเป็นความจริงได้โดยไม่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคในสภาคองเกรสเลย เครื่องยนต์เศรษฐกิจชิ้นสำคัญที่สุดของคลินตันคือการปฏิรูประบบภาษีซึ่งขัดกับอุดมการณ์ของพรรครีพับลิกันที่คุมสภาอยู่ หากทำไม่ได้ก็แปลว่าจะไม่มีเงินทุนพอที่จะดำเนินนโยบายทั้งหมดที่เธอสัญญากับประชาชนไว้ และถึงแม้ว่าทั้งหมดนี้จะผ่านสภาได้ ยังมีความไม่แน่นอนด้วยว่าครัวเรือน ทอป 5 เปอร์เซ็นต์ และผู้มีอิทธิพลจะยอมแบกภาระประเทศให้คลินตันจริงๆ โดยไม่หาช่องทางขัดขวาง โยกย้ายเงิน เลิกลงทุนในสหรัฐฯ หรือย้ายถิ่นฐานไปเลยเสียก่อน ส่วนทรัมป์เองก็ไม่ใช่ว่าจะได้อย่างใจในทุกเรื่องเนื่องจากแคมเปญของทรัมป์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวและศัตรูภายในพรรครีพับลิกันเช่นกัน

เว้นแต่ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์มองว่าประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจโดยไม่ถูกขัดขวางจากสภาคองเกรสได้มากกว่าเรื่องอื่นๆ ฉะนั้น หากรูปการณ์ในวันนี้ประกอบกับอคติของชาวอเมริกันต่อการค้าเสรียังคงเป็นแบบนี้ต่อไป สิ่งเดียวที่คงที่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ คือสหรัฐฯ หลังวันที่ 8 จะเป็นสหรัฐฯ ที่จะไม่สามารถดำเนินนโยบายการค้าแบบ outward-looking (มองไปยังโลกภายนอก) ได้อย่างสะดวกเท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป