ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > EIC คาดจีดีพีปีนี้โต 3% ท่องเที่ยว – การใช้จ่ายภาครัฐหนุน ระบุกังวลชั่วโมงทำงานหดสวนทางการจ้างงาน หวั่นกระทบบริโภค

EIC คาดจีดีพีปีนี้โต 3% ท่องเที่ยว – การใช้จ่ายภาครัฐหนุน ระบุกังวลชั่วโมงทำงานหดสวนทางการจ้างงาน หวั่นกระทบบริโภค

13 ตุลาคม 2016


นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์
นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขึ้นจาก 2.8% เป็น 3% โดยตัวเลขออกมาดีกว่าคาดในครึ่งแรกของปีจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยชั่วคราวจากภาครัฐต่างๆ เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เร่งให้เกิดการก่อสร้าง การเร่งใช้จ่ายประจำของรัฐและการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล รวมไปถึงการกระตุ้นยอดขายรถยนต์ของค่ายรถต่างๆ

“การปรับจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ตอนต้นปีเรามองว่าภาคท่องเที่ยวจะโตได้ 9% แต่มาตอนนี้เราคาดว่าจะโตได้ถึง 13-15% รวมไปถึงปัจจัยของมาตรการภาครัฐที่ได้ผล ทำให้การบริโภคปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ส่วนปีหน้า EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.3%” นางสาวสุทธาภากล่าว

อย่างไรก็ตาม หากดูในรายละเอียดของการบริโภค พบว่าแม้การจ้างงานจะอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณชั่วโมงการทำงานและการทำงานล่วงเวลา (OT) ที่ลดลงต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง โดยเป็นการลดลงทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งจุดที่น่าเป็นห่วงคือภาคบริการที่มีการเติบโตขึ้นสูงในแง่ของจีดีพี แต่ชั่วโมงการทำงานกลับสวนทางกัน อาจจะกระทบต่อการบริโภคของเอกชนในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม การบริโภคยังมีปัจจัยสนับสนุนบางส่วนจากการปลดหนี้รถคันแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อกลับมาอีกครั้ง ประมาณเดือนละ 7,000-8,000 บาท อย่างไรก็ตาม ต้องรอติดตามว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะหันไปกู้ซื้อบ้านต่อหรือไม่และจะกระทบต่อการบริโภคโดยรวมอย่างไร แต่โดยทั่วไปจะเป็นพฤติกรรมปกติที่ผู้บริโภคจะกู้ซื้อบ้านต่อหลังจากผ่อนรถหมดแล้ว

ขณะที่โครงการและมาตรการภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนจะไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้สามารถกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการลงทุนชองเอกชน นางสางสุทธาภากล่าวว่า โครงการรัฐที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กในต่างจังหวัด อาจจะทำให้ไม่เห็นผลมากนัก แต่ในระยะต่อไปเริ่มเห็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่กระจายตัวออกไปมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยชักนำการลงทุนของเอกชนให้ตามมาได้ในอนาคต นอกจากนี้ ภาครัฐเองยังมีช่องว่างทางการคลังที่จะดำเนินโยบายต่อไปอีกค่อนข้างมาก จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าภาครัฐจะหมดแรงไปก่อนหรือไม่

ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกยังเป็นความกังวลหลักต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีไปจนถึงปี 2560 การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยยังคงเป็นไปอย่างจำกัด จากลักษณะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างช้าๆ โดยอาศัยการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตยังชะลอตัว นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ที่สะสมและความเสี่ยงการเมืองที่เพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักยังได้สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน การใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหากลับเริ่มมีข้อจำกัด ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลก อีไอซีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในครึ่งปีหลังไปจนถึงปีหน้าราว 2-4 ครั้ง โดยคิดเป็นการปรับเพิ่มราว 0.5-1%

อย่างไรก็ตาม ไทยมีความสามารถในการรองรับความผันผวนด้านการเงินสูง จากเสถียรภาพที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเพียงพอ ด้านนโยบายการเงินของไทย อีไอซีมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ไปจนถึงสิ้นปี 2017 จากเศรษฐกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังต่ำ ประกอบกับความต้องการในการรักษาความสามารถทางนโยบาย (policy space) ไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป